Skip to main content
sharethis

หวังสื่อถึงความสำคัญของประชาธิปไตยต่อประเด็นปาตานีและสิทธิชุมชนเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ชี้เป็นเงื่อนไขสำคัญต่อสิทธิการกำหนดตนเองของประชาชนปาตานี ภายใต้สันติภาพที่ยึดโยงกับประชาชน

ภาพจากเพจ เครือข่ายเยาวชนอิสระจังหวัดชายแดนใต้ - IRIS

จากเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา เครือข่ายเยาวชนอิสระจังหวัดชายแดนใต้ (IKATAN REMAJA INDEPENDENT SE-PATANI: IRIS)  จัดกิจกรรมรณรงค์ ‘อยากเลือกตั้ง’ บริเวณอาคารเรียนรวม 19 และโรงอาหารลานอิฐ, ลานประดู่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีการชูป้ายพร้อมถือหีบบัตรเลือกตั้งเป็นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งของประชาชน

จากกิจกรรมดังกล่าว นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นการขับเคลื่อนในบรรยากาศการเมืองไทยที่มีกระแสเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง อาริฟ ดาเล็ง ฝ่ายกิจกรรมและการเมืองเครือข่ายฯ ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุของกิจกรรมดังกล่าวดังนี้

ที่มาของกิจกรรม ‘อยากเลือกตั้ง’

อาริฟ กล่าวว่า กิจกรรมอยากเลือกตั้งต้องการสื่อถึงความสำคัญของประชาธิปไตยต่อประเด็นปาตานีและสิทธิชุมชนเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อีกทั้ง ต้องการให้รัฐบาล คสช.คืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็ว กิจกรรมของเครือข่ายฯ จึงเป็นการขับเคลื่อนสองประเด็นภายใต้วาระความต้องการให้เกิดประชาธิปไตยในสังคมการเมือง โดยประชาธิปไตยถือเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อสิทธิการกำหนดตนเองของประชาชนปาตานี ภายใต้สันติภาพที่ยึดโยงกับประชาชนปาตานีว่าเราจะอยู่กันแบบไหน อย่างไร ต่อไปในอนาคต

“หากสังคมการเมืองไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย สิทธิดังกล่าวรวมถึงสันติภาพในพื้นที่ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้” อาริฟ กล่าว

ผลการตอบรับกิจกรรมเป็นอย่างไร?

เกี่ยวกับผลตอบรับ อาริฟ กล่าวว่า มีนักศึกษาและประชาชนที่มีส่วนร่วมให้ความร่วมมืออย่างดี มีจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงทั้งสิ้น 204 คน มีจำนวน 200 คน อยากเลือกตั้ง และ 4 คน ไม่อยากเลือกตั้ง มีนักศึกษาลงคะแนนเสียง 90 เปอร์เซ็นต์ อีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นประชาชนทั่วไป โดยส่วนใหญ่เป็นอาจารย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัย

อาริฟ ยังกล่าวต่อ ว่าภายหลังกิจกรรมเสร็จสิ้น ทางเครือข่ายฯได้โพสต์ถึงกิจกรรมดังกล่าวในเพจ มีคนให้ความสนใจ และมีเสียงสะท้อนหลายมุมมองว่าประเด็นที่นักศึกษาขับเคลื่อนมีความเชื่อมโยงอย่างไรกับประเด็นสันติภาพปาตานีและโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีการทักมาในเพจว่าหลังจากกิจกรรมนี้ทางกลุ่มมีจุดประสงค์การทำกิจกรรมดังกล่าวเพื่ออะไร และมีแนวทางการขับเคลื่อนประเด็นต่อไปอย่างไร

ประชาธิปไตยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนปาตานีอย่างไร?

อาริฟ เล่าว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มมีการติดตามและขับเคลื่อนประเด็นกฏอัยการศึกและกฏหมายพิเศษว่ามีความเชื่อมโยงอย่างไรกับรัฐบาล คสช. ต่อประชาชน อย่างไรก็ตาม การถูกคุกคามของประชาชนในพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่ใด้เกิดขึ้นแค่ยุครัฐบาล คสช. แต่มีมาก่อนหน้านั้นแล้ว จนกระทั่งการขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐบาลโดย คสช. พบว่าประชาชนถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง การจัดกิจกรรมนี้จึงมีความเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนปาตานีอย่างชัดเจน เพื่อให้รัฐบาลได้คืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองแก่ประชาขน

หากไม่มีการเลือกตั้ง ?

อาริฟ กล่าวว่า การอยู่ต่อไปของรัฐบาล คสช. ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าสังคมเป็นประชาธิปไตย และหากรัฐบาลไม่ให้เราเลือกตั้ง เราเองก็ต้องพิจารณาว่าจะรับมืออย่างไรต่อไป

“ชาวปาตานีควรขับเคลื่อนประเด็นประชาธิปไตยร่วมกับคนในสังคมไทยเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง เพื่อจะได้มีรัฐบาลที่ฟังเสียงนโยบายประชาชนมากยิ่งขึ้น สำหรับนักศึกษาด้วยกันอยากให้ศึกษาประเด็นการเมืองไทยให้มากกว่านี้ รวมถึงการตระหนักประเด็นปาตานีของนักศึกษาในพื้นที่ว่าเป็นหน้าที่ เพื่อร่วมกันกำหนดอนาคตทางการเมืองว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป” อาริฟ กล่าวทิ้งท้าย

เครือข่ายเยาวชนอิสระจังหวัดชายแดนใต้ (IKATAN REMAJA INDEPENDENT SE-PATANI: IRIS) เป็นกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาอิสระ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 โดยขับเคลื่อนประเด็นหลักเกี่ยวกับสันติภาพ สิทธิมนุษยชนปาตานี และประเด็นอื่นๆ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรกิจกรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

สำหรับ อัฐพล ปิริยะ ผู้รายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 2/2560 จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีความสนใจด้าน One Piece, Star Wars, วรรณกรรม, การเมืองวัฒนธรรม และการศึกษา 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net