ความพยายามหลังฉากของเหล่านักการทูต กว่าจะทำให้เกาหลีเหนือเข้าร่วม 'โอลิมปิกฤดูหนาว'

กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในครั้งนี้มีความสำคัญประการหนึ่งต่อการทูตและความมั่นคงของโลก คือเรื่องที่มันกลายเป็นการพยายามสานสัมพันธ์เชิงสันติภาพระหว่างประเทศเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ ทว่าหนทางของการโอลิมปิกในฐานะ "มหกรรมกีฬาแห่งสันติภาพ" ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และมีการต่อสู้ทางการทูตมายาวนาน โดยเฉพาะจากฝ่ายเกาหลีใต้ที่ต้องแบ่งรับแบ่งสู้จากความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็มีการประเมินว่าโอลิมปิกจะช่วยทำให้เกิดการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์ได้จริงหรือไม่

ธงรวมชาติเกาหลี (ที่มา: วิกิพีเดีย)

ชเวมุนซุน ผู้ว่าราชการจังหวัดคังวอน เกาหลีใต้ (ที่มา: 최광모/Wikipedia)

 

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2561 รายงานในเว็บไซต์นิวยอร์กไทม์ ชวนสำรวจเส้นทางการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือทางการทูตในการจัดการปัญหาวิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ ทำให้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งล่าสุดทางการเกาหลีเหนือส่งตัวแทนเข้าร่วมด้วยทำให้มองว่าความสัมพันธ์อันแสนยะเยือกของเกาหลีเหนือกับประเทศโลกเสรี

นิวยอร์กไทม์ระบุถึงกรณีที่ชเวมุนซุน ผู้ว่าราชการจังหวัดคังวอน ซึ่งอำเภอพย็องชัง ที่ตั้งของสถานที่จัดงานโอลิมปิกฤดูหนาวอยู่ในจังหวัดนี้ เขาเคยเดินทางไปคุนหมิง ประเทศจีน พร้อมกับลูกทีมฟุตบอลเยาวชนอายุไม่เกิน 15 ปี ของเกาหลีใต้เพื่อขอสานสัมพันธ์ และหลังจากที่เขากลับสู่เกาหลีใต้แล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ส่งสัญญาณในเชิงยื่นมือให้กับเกาหลีเหนือต่อด้วยการเลื่อนการซ้อมรบกับสหรัฐฯ ชั่วคราว จากที่ผู้นำเกาหลีเหนือประณามการซ้อมรบของพวกเขามานานแล้ว

ในช่วงต้นปีนี้ ความพยายามของเกาหลีใต้ก็เป็นผล คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือประกาศว่าจะส่งนักกีฬาเข้าร่วมโอลิมปิกฤดูหนาวรวมถึงร่วมเดินขบวนในพิธีเปิดภายใต้ธงรวมชาติของเกาหลีเหนือ-ใต้ จนกลายเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของคาบสมุทรเกาหลีที่แบ่งแยกกันมานาน

ทว่าการโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือเข้าร่วมก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่มาจากการดำเนินการทางการทูตหลังฉากที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานเกือบปี ในช่วงเวลานั้นเองก็มีเหตุการณ์ความขัดแย้งหน้าฉากที่ชวนให้สะเทือนความสัมพันธ์อย่างการทดลองยิงขีปนาวุธข้ามพรมแดนของเกาหลีเหนือจนทำให้ผู้นำสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เคยประกาศว่าจะโต้ตอบเกาหลีเหนือด้วย "เปลวเพลิงและความเดือดดาล" 

แต่ท่ามกลางสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการยกระดับเป็นความรุนแรงเช่นนี้เองเกาหลีใต้และคณะกรรมการโอลิมปิกก็ยังพยายามกู้วิกฤตนิวเคลียร์ผ่านช่องทางการสื่อสารกับผู้นำเกาหลีเหนือที่มีอยู่น้อยนิด การวางสถานที่จัดโอลิมปิกเองก็พยายามขับเน้นนัยยะของ "กีฬาเพื่อสันติภาพ" ตามแนวคิดดั้งเดิมของกรีซโบราณ โดยยกให้เมืองพย็องชังที่อยู่ติดกับพรมแดนความขัดแย้งเป็น "จุดขาย"

อย่างไรก็ตามในอดีตมีหลายครั้งที่เกาหลีเหนือพยายามขัดขวางมหกรรมกีฬา ไม่ว่าจะเป็นการวางระเบิดสายการบินในช่วงโอลิมปิกฤดูร้อนในกรุงโซลปี 2531 ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2545 ที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นร่วมเป็นเจ้าภาพก็มีเหตุจมเรือลาดตระเวณของเกาหลีใต้ในเขตน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาท

กระนั้น โทมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลก็ยังคงพยายามเชื้อชวนเกาหลีเหนือให้เข้าร่วม มีการเข้าพบกับเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือมาตั้งแต่ปี 2559 ในช่วงโอลิมปิกฤดูร้อนที่ริโอเดอจาเนโร โดยวางแผนว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางการขนส่งลำเลียงเพื่อให้นักกีฬาเกาหลีเหนือเดินทางไปพย็องชังได้โดยไม่ละเมิดการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ รวมถึงในปีที่แล้วก็มีการเชิญเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการในการเสนอจ่ายค่าเดินทางการสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักกีฬา แต่เกาหลีเหนือก็ยังคงรั้งรอ

ต่อมาเกาหลีใต้ก็เกิดการชุมนุมต่อต้านผู้นำปาร์กกึนเฮ ในช่วงนั้นเองบาคก็พยายามเข้าหาผู้นำจีนสีจิ้นผิง แม้ว่าการเจรจาต่อรองผ่านมื้ออาหารค่ำจะทำให้สีจิ้นผิงรับฟังในเรื่องนี้ แต่ผู้นำจีนก็พูดถึงความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับเกาหลีเหนือที่แสดงให้เห็นว่าอิทธิพลต่อเกาหลีเหนือของพวกเขาก็เป็นไปอย่างจำกัดเช่นกัน ทำให้บาคพยายามหันไปหาประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ แทน แต่ในช่วงที่พยายามโน้มน้าวในเรื่องนี้เองก็เกิดวิกฤตเกาหลีเหนือทดลองขีปนาวุธขึ้นในช่วงกลางปี 2560

ในช่วงที่เกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านทางการเมืองแบบเป็นประชาธิปไตยทำให้ได้ผู้นำผ่านการเลือกตั้งคนใหม่เป็นพรรคหัวก้าวหน้าเอียงซ้ายนำโดยมุนแจอิน และผู้นำคนนี้ก็ชูแนวทางการทูตแบบเกลี้ยกล่อมเกาหลีเหนืออยู่เสมอแม้แต่ท่ามกลางวิกฤตที่เกาหลีเหนือทดลองขีปนาวุธในปีที่แล้ว เกาหลีใต้ยุคมุนแจอินร่วมมือกับคณะกรรมการโอลิมปิกในการโน้มน้าวในเกาหลีเหนือเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง ผ่านทางสุนทรพจน์ที่เบอร์ลิน ขณะที่กรรมการโอลิมปิกพยายามเข้าหาทางจีนอีกครั้ง แม้ว่าจะล้มเหลวเพราะจีนประกาศแสดงความไม่พอใจการทดลองอาวุธของเกาหลีเหนืออย่างชัดเจน

วิกฤติเริ่มส่อเค้าลางทะมึนมากขึ้นอีกเมื่อเกาหลีเหนือทดลองนิวเคลียรใต้ดินในช่วงเดือน ก.ย. ทำให้ชาติตะวันตกบางส่วนอย่างแคนาดา ฝรั่งเศส และออสเตรเลียกังวลในเรื่องความปลอดภัยและพิจารณาว่าอาจจะไม่ส่งตัวนักกีฬาไปเข้าร่วมถ้าหากไม่มีการการันตีความปลอดภัย แต่บาคก็ยังคงยืนยันจะไม่ย้ายสถานที่จัดการแข่งขันโดยบอกว่าถ้าเขาย้ายมันจะขัดกับแนวคิดเรื่อง "สันติภาพการการทูต" ของตัวเอง

ส่วนมุนแจอินก็เคยกล่าวเกี่ยวกับแผนการจัดโอลิมปิกที่พย็องชังในที่ประชุมสหประชาชาติไว้ว่า "หัวใจของผมจะเต็มไปด้วยความเปี่ยมปิติเมื่อผมได้จินตนาการเห็นนักกีฬาเกาหลีเหนือเดินขบวนเข้าสู่สนามแข่งในช่วงพิธีเปิด"

อย่างไรก็ตามปัญหาของมุนแจอินคือ เขาไม่มีช่องทางที่จะเข้าถึงการสื่อสารกับคิมจองอึนได้จากการที่เจ้าหน้าที่บางส่วนที่เกาหลีใต้เคยใช้ติดต่อกับเกาหลีเหนือถูกกวาดล้างโดนคิมจองอึนหรือไม่ก็เกษียณอายุและในช่วงสมัยปาร์กกึนเฮความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็แย่ลง การทดลองอาวุธอีกครั้งหนึ่งในช่วงเดือน พ.ย. 2560 ก็ทำให้ความหวังของโอลิมปิกเพื่อสันติภาพดูริบหรี่ลงไปอีก

ในช่วงนั้นเองมุนแจอินพยายามโน้มน้าวผู้นำสหรัฐฯ เพื่อความร่วมมือกับโอลิมปิกเพราะเกาหลีเหนือแสดงท่าทีอยากทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ เท่านั้นในกรณีการเจรจาอาวุธนิวเคลียร์ ทรัมป์ให้คำมั่นกับมุนแจอินว่าเขาตกลงจะพยายามทำให้โอลิมปิกเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับมุนแจอินก็ดูไม่ดีนัก ทรัมป์ยังเคยแสดงความไม่สบอารมณ์ในความนิยมของมุนแจอินถึงขั้นกล่าวหาว่าเขา "พะเน้าพะนอ"

อย่างไรก็ตามในเดือน ธ.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ะดับสูงของสหประชาชาติ เจฟฟรีย์ เฟลด์แมน ก็ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลทรัมป์ในการเดินทางไปเปียงยาง เกาหลีเหนือ เพื่อพบปะกับทูตที่นั่น และหวังจะใช้โอลิมปิกเป็นสิ่งเชื่อมต่อเพื่อการเจรจาหารือกันได้ และต่อมารัฐบาลทรัมป์ก็ตกลงเลื่อนการซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้ตามข้อเสนอของมุนแจอิน ที่แม้เจ้าหน้าที่บางส่วนจะมองว่าเป็นการยอมตามให้คิมจองอนมากเกินไป แต่หลังจากกระบวนการการทูตทั้งหลายฝ่ายสหรัฐฯ ก็เลื่อนการซ้อมรบขณะที่เกาหลีเหนือก็ประกาศจะส่งนักกีฬาเข้าร่วม

การออกมาประกาศข่มขู่จะ "ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ทีละมากๆ" ของเกาหลีเหนือในช่วงปีใหม่ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศโลกเสรีทั้งหลายย่อท้อต่อความพยายามในการทูตโอลิมปิก สหรัฐฯ เองยังปกป้องการเลื่อนซ้อมรบเพื่อให้เกาหลีใต้ได้เน้นการรักษาความปลอดภัยในโอลิมปิก และแรงเหวี่ยงของสถานการณ์ความสนใจก็หันมาอยู่ที่โอลิมปิกแทนการข่มขู่

สิ่งเหล่านี้ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่สร้างความประหลาดใจให้ผู้คนอย่างการปรากฏตัวของคิมโยจอง น้องสาวของคิมจองอึนเข้าร่วมในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ถือเป็นครั้งแรกที่สมาชิกครอบครัวผู้นำรุ่นปัจจุบันของเกาหลีเหนือมาเยือนในเกาหลีใต้

ท่ามกลางแสงไฟที่ส่องไปยังโอลิมปิก นิวยอร์กไทม์ก็ระบุว่าการแก้ไขปัญหานิวเคลียร์คงไม่เกิดข้นง่ายๆ จากการที่รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ของสหรัฐฯ พูดถึงเกาหลีเหนือในเชิงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเมื่อไม่นานมานี้ นักวิเคราะห์บางส่วนก็มองว่าโอลิมปิกจะทำให้เกาหลีเหนือมีเวลาในการซ่อมแซมเพือประเมินผลการทดลองนิวเคลียร์ของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ซู มี เทอร์รี นักวิจัยอาวุโสที่ศูนย์เพื่อการศึกษาด้านยุทธศาสตร์และนานาชาติในสหรัฐฯ กล่าวว่า โอลิมปิกฤดูหนาวในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่เกาหลีเหนือจะได้แสดงออกตัวเองในฐานะประเทศธรรมดาทั่วไปแทนที่จะเป็นประเทศนอกคอก

มุนแจอินเชื่อว่าการเข้าร่วมโอลิมปิกขของเกาหลีเหนืออาจจะทำให้เกิดการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคตได้ ขณะเดียวกันเขาก็ให้เครดิตกับโดนัลด์ ทรัมปฺ์ ที่ช่วยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นซึ่งทรัมป์ก็รับหน้าและคุยโวเรื่องที่ว่าโอลิมปิกที่มีเกาหลีเหนือเข้าร่วมเกิดขึ้นได้เพราะตัวเอง

 

เรียบเรียงจาก

The Quiet Diplomacy to Save the Olympics in a Nuclear Standoff, The New York Times, 08-02-2018

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท