Skip to main content
sharethis

เมื่อได้รับชัยชนะเหนืองานวิจัย EHIA ชาวบ้านจากกระบี่-เทพาเชื่อว่า เบื้องหลังชัยชนะหน้าองค์การสหประชาชาติคือการยกเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นวาระของประเทศไทย ทำให้ได้ใจคนกรุงเทพฯ พร้อมเดินหน้าสร้างมวลชนในพื้นที่ต่อเพื่อเป็นกำลังในการต่อสู้ครั้งต่อไป แกนนำระบุ โดนปัดขอร่วมแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย

ชาวเทพาใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้พวกเขาต้องปกป้องพื้นที่เอาไว้

เป็นเวลา 9 วันนับตั้งแต่เครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน เข้ามาชุมนุมหน้าองค์การสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในทั้งสองพื้นที่ จนเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2561 ทางเครือข่ายฯ ก็ได้รับชัยชนะที่คาดไม่ถึง เมื่อ รมว.พลังงานยอมออกมาเจรจาด้วย จนนำไปสู่การยกเลิกรายงานการประเมิน วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ฉบับล่าสุด เครือข่ายฯ จึงยุติการชุมนุมและเดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ

รมว.พลังงาน เซ็นสัญญาหยุดโรงไฟฟ้ากระบี่-เทพา ให้เวลาศึกษาความเหมาะสม 9 เดือน

กสม.ชมรัฐบาลฟังความคิดเห็น ปชช.หลังเซ็น MOU กลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา

ชาวกระบี่-เทพาเจรจายูเอ็น เชื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินจะยุติ แม้ไร้ท่าทีจากรัฐบาล

วงเสวนาชี้ ขั้นตอน EIA มีปัญหา รณรงค์สิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชนแยกการเมืองไม่ได้

“การมาครั้งนี้เราพูดถึงเรื่องทรัพยากรมาก เพราะมันเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องของทุกคนในประเทศ”

มัธยม ชายเต็ม ชายชาวเทพา แกนนำกลุ่มเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กล่าวกับผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2561 ชี้ให้เห็นว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นวาระของคนทั้งชาติ เพราะการขึ้นมาชุมนุมครั้งนี้ทำให้ตนได้รับการสนับสนุนจากคนกรุงเทพฯ ที่มีใจรักสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคอาหารและสิ่งของ การเข้ามาพูดคุยให้กำลังใจ หรือแม้แต่การได้สร้างเครือข่ายกับสื่อมวลชนในกรุงเทพฯ ด้วย นอกจากนั้นยังได้รับเชิญให้เข้าไปพูดเรื่อง “ประชาธิปไตยกับพลังงาน” ณ องค์การสหประชาชาติ ที่มีผู้เข้าร่วมงานจากหลายประเทศ

มัธยม ชายเต็ม 

“ถ้าเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นก็จะเกิดเป็นนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ขึ้นมา จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ภูเขา ทะเล แม่น้ำ จะกระทบหมดเลย เราเลยพยายามยกเรื่องนี้เป็นวาระของภาคใต้ หมายความว่าหลังจากนี้พอคนในภาคใต้เขาตามข่าวเรา เขาจะเห็นว่าภาคใต้ของเราอุดมสมบูรณ์นะ ไม่สมควรกลายไปเป็นโรงงาน เป็นนิคมอุตสาหกรรม เพราะว่าขึ้นมาสามปีเราก็พูดเรื่องนี้ตลอด” มัธยมกล่าว เชื่อมั่นว่าการยกประเด็นนี้ขึ้นมานำไปสู่การทำข้อตกลงระหว่างฝ่ายตนกับกระทรวงพลังงาน

สำหรับบันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงพลังงาน กับเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่หน้าสหประชาชาตินั้น มีสาระสำคัญ 4 ประเด็น ดังนี้

1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถอนรายงาน EHIA โรงไฟฟ้าทั้ง 2 โครงการ ออกจากการพิจารณาของสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายใน 3 วัน และให้ กฟผ. ส่งหนังสือแจ้งรับทราบการขอถอนรายงานไปยังเครือข่าย

2. ให้กระทรวงพลังงานจัดทำรายงานผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อศึกษาว่าพื้นที่จังหวัดกระบี่ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ โดยจะต้องจัดทำด้วยนักวิชาการทีมีความเป็นกลางที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับร่วมกัน และหากการศึกษาชี้การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินว่าไม่เหมาะสม กฟผ. ต้องยุติการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองพื้นที่ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 9 เดือน

3. หากผล SEA ชี้ว่าพื้นที่มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในขั้นตอนการจัดทำ EHIA จะต้องจัดทำโดยคนกลางที่ยอมรับร่วมกัน

4. ให้คดีความระหว่าง กฟผ. และเครือข่ายเลิกแล้วต่อกัน

ทั้งนี้ มัธยมกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ที่จริงฝ่ายของตนขอทำข้อตกลงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทั้งหมดห้าข้อ แต่ข้อสุดท้ายว่าด้วยการขอมีส่วนร่วมในการจัดการแผนพลังงาน PDP (แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย) ไม่ได้รับการอนุมัติ               

“เรายื่นไปห้า อีกตัวที่หายไปคือ เราขอมีส่วนร่วมในการจัดการแผนพลังงาน PDP แต่เขาไม่ให้ คือเราจะเข้าไปดูตัวแผนพลังงานตั้งแต่โครงสร้าง  แผนพลังงานนี้เป็นเรื่องของไฟฟ้าเหลือหรือไม่เหลือ แล้วจะเกิดโรงไฟฟ้าตรงจุดไหนบ้าง คือนักวิชาการจากฝั่งเราก็อยากเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย อยากเข้าไปดูข้อมูลว่าจริงๆ มันเป็นยังไงกันแน่ แต่ก็คงเป็นข้อมูลที่เขาต้องปิด” มัธยมกล่าว

ภาพระหว่างการชุมนุมหน้ายูเอ็น

ถึงแม้รายงาน EHIA ฉบับล่าสุดนี้จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องน่าห่วงสำหรับมัธยม คือขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ที่ถึงแม้จะมั่นใจว่าพื้นที่เทพาไม่เหมาะสมจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แต่หากรายงาน SEA ออกมาว่ามีความเหมาะสมจะทำอย่างไร เพราะถึงแม้จะอยากรักษาพื้นที่ส่วนนี้ไว้เพียงใดแต่ก็ต้องเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนอื่นๆ เข้ามามีบทบาทในรายงานนี้ด้วยเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

“ถ้าศึกษาไปแล้วเหมาะสม ก็ต้องตั้งกรรมการกลางขึ้นมาให้มาศึกษา คือไปจ้างบริษัทที่เป็นกลางมาทำรายงาน EHIA เราก็เรียกร้องไปว่าตอนที่ศึกษา SEA เราขอใช้กรรมการที่ทั้งเราทั้งเขายอมรับกันได้ด้วย แต่ถ้าส่วนกลางบอกว่าเหมาะสมที่จะสร้าง จะต้องให้ กฟผ. ทำ EHIA ใหม่ ทีนี้การทำรายงานตัวนี้ก็ต้องกรรมการที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับเช่นเดียวกัน เพราะที่ผ่านมา กฟผ. ไปจ้างบริษัทของเขา พอมาสำรวจเขาก็ให้ผ่านหมด เป็นข้อที่เราถกกันมานาน พอถึงตอนนี้เราก็เลยตั้งหลักการว่าจะต้องเป็นบริษัทที่เป็นกลางเท่านั้น ต้องศึกษาอย่างตรงไปตรงมาว่ามีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน” มัธยมอธิบาย

อีกหนึ่งสิ่งน่ากังวลสำหรับกลุ่มเครือข่ายฯ คือการเข้าพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ที่ทำได้ยากมาตลอด เห็นได้จากจำนวนประชาชนที่ขึ้นมาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ ที่เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ จากคำบอกเล่าของมัธยม มีประชาชนจากเทพาประมาณ 50 คนเท่านั้นในการชุมนุมครั้งนี้ ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่เข้าไปพุดคุยทำความเข้าใจกว่า 3 ปี โดยมัธยมเชื่อว่าที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากมีกลุ่มนายทุนหลักฝังตัวอยู่ในพื้นที่ และมีกลยุทธ์ในการสร้างมวลชนเช่นเดียวกัน ในประเด็นนี้กลุ่มเครือข่ายฯ ต้องการพูดคุยกับ รมว.พลังงาน เพื่อให้ถอนกลุ่มทุนออกจากชุมชน แต่ยังหาโอกาสเจรจากันไม่ได้

“มันสร้างความแตกแยก เราทำมวลชนยากมาก เป้าหมายของเราคือต้องการมวลชนในพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน พอมีเขาอยู่เราทำยากมาก สมมติเราไปทำมวลชนช่วงเช้า ตอนเย็นเขาก็ลงต่อเลย แล้วก็ไปชี้แจงว่าพวกเราถูก NGO จ้างมา โกหกทั้งนั้น หรือถ้ามีเงินก็ซื้อ ให้ค่าตอบแทน ซื้อใจกันด้วยเงิน สามปีที่ผ่านมาเราทำมวลชนยากมากเพราะเขาอยู่ข้างใน ถ้าหลังจากนี้เขายังอยู่ข้างในอยู่เราจะเหนื่อยแน่” มัธยมเล่าอย่างกังวล

มัธยมเล่าต่อไปว่า กลุ่มทุนสามารถเข้าถึงคนในชุมชนได้มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา หรือชาวบ้านทั่วไปในชุมชนเอง การเข้าถึงคนในระดับผู้นำได้ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าคิดต่อต้าน ไม่ทราบว่ามีผลกระทบต่อตนเองอย่างไร นำไปสู่การไม่ให้ความร่วมมือในการสร้างมวลชนของคนเทพาด้วยกันเอง ซึ่งยังไม่น่าพอใจเท่าไรสำหรับคนที่พยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตลอดสามปีอย่างมัธยม

“คือคนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเยอะนะครับ แต่พอถึงเวลาคับขันเขาก็ไม่ได้ออกมาร้อยเปอร์เซ็นต์ เวลาจัดเวทีใหญ่ๆ แต่ละครั้งก็มากัน 300-400 คน เราหวังระดับพันคน ถ้ามีสักสามพันคนในพื้นที่ก็จะสร้างความมั่นใจให้เราได้มากกว่านี้ เวลามีกระบวนการอะไรที่ลงพื้นที่สามพันคนนี้จะได้เป็นกำลังหลักต้านได้”

แกนนำกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าเล่าว่า ในการเดินหน้าพัฒนาชนบท ภาครัฐมักใช้วาทกรรม “เอางานมาให้” เพื่อโน้มน้าวใจชาวบ้านให้ยอมโอนอ่อนตาม โดยเฉพาะการสร้างโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมา มัธยมมองว่าในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์อย่างเทพานั้น การทำประมงน้ำตื้นตามวิถีชีวิตดั้งเดิมย่อมดีกว่าการไปเป็นลูกจ้างในโรงงานเป็นไหนๆ เพราะตนเคยมีประสบการณ์การทำงานเป็นลูกจ้างมาก่อนเช่นกัน

“ผมออกทะเลหาปลา สัปดาห์หนึ่งก็มีเงินเก็บประมาณ 3,000-4,000 บาท นี่คือเก็บใส่กระปุกออมสินหลังจากเหลือจากใช้จ่ายแล้ว ก็อยู่กันแบบนี้แหละ เวลาออกทะเลเราก็ไปนอน ไม่ได้ทำงานตลอดเวลา เราแค่วางอวนแล้วนอนพัก พอถึงเวลาก็เก็บอวน ขายเสร็จก็พักผ่อนต่อ ไม่อยากพักก็ไปเที่ยว คือเวลาว่างเยอะ แต่งานเราน้อย ผมเคยทำงานลูกจ้างที่สะเดาได้เงินวันละ 250 บาท กินข้าวสามมื้อก็หมดไปแล้วหนึ่งร้อย ใช้ไปใช้มามันก็หมด ทำไป 4-5 ปี ไม่มีเงินเหลือเก็บเลย กลับมาก็อยู่บ้าน เมื่อก่อนเราอยู่บ้านเรารู้สึกว่าเท่านี้ยังไม่พอ ถ้าไปอยู่ในเมืองมันหรูหรา มันเหลือใช้ เลยลองไปอยู่แต่มันไม่ใช่ นี่ผมพูดในระดับคนไม่มีการศึกษานะ ตอนนั้นผมไม่เหลืออะไรเลย พอกลับบ้านมามันเหลือใช้”

“เด็กที่เรียนไม่เก่งเขาก็ไม่อยากเรียน จบ ม.6 ก็ออกทะเลกับพ่อ กำไรดีกว่าไปเป็นครูเป็นอาจารย์ซะอีก พอเขารู้อย่างนี้เขาก็ไม่เรียน เขาออกทะเลดีกว่า เพราะเขาเห็นชัดว่าพอออกทะเลแล้วมันได้กำไรกว่า ส่วนคนที่ชอบเรียนก็เรียนไป นี่คือความได้เปรียบถ้าเรายังมีทรัพยากรอยู่ ถ้าไม่มีทะเลก็ไม่มีกิน” มัธยมกล่าว

ฟังเสียงจากผู้สนับสนุนชาวกระบี่-เทพาในกรุงเทพฯ แคร์เรื่องสิ่งแวดล้อม กระบวนการมีส่วนร่วม

           

กลุ่มผู้ชุมนุมได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนกรุงเทพฯ เสมอมา (ภาพ: เมธาวจี สาระคุณ)

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ตัวแทนคนกรุงเทพฯ บางส่วนที่ไปร่วมให้กำลังใจผู้ชุมนุมหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ เพื่อเป็นการตอบข้อสงสัยว่าทำไมการชุมนุมถึงได้รับการสนับสนุนจากคนและเครือข่ายจากกรุงเทพฯ อย่างอบอุ่น

“มันเป็นทรัพยากรของโลกแล้ว ถ้าทำลายมันสร้างใหม่ไม่ได้นะ เพราะถ้าจะมาสร้าง (โรงไฟฟ้าถ่านหิน) ปริมาณที่จะต้องดูดน้ำจากทะเลไปเลี้ยงโรงงานถ่านหิน เพราะมันมีความร้อน มันต้องเลี้ยงให้ไม่ร้อน แล้วพอการผลิตมันเย็นลง ก็ปล่อยน้ำตรงนั้นลงทะเล แล้วชาวบ้านเขาจะทำอะไร อาหารที่เขาหา กุ้งหอยปูปลา เขาก็ส่งกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นอย่านึกว่าสร้างตรงนั้นแล้วกรุงเทพไม่กระทบ อย่าคิดสั้นๆ แบบนั้น มันกระทบทุกคน ทั้งประเทศและทั้งโลก” แม่บ้านวัย 57 ปี ชาวกรุงเทพฯ กล่าว แสดงความกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นเหตุผลสำคัญที่เธอออกมาร่วมให้กำลังใจชาวกระบี่-เทพา

ธนัชชา กิจสนาโยธิน อายุ 21 ปี มองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมควรเป็นเรื่องของทุกคนในประเทศ ไม่ใช่เพียงเรื่องของคนในพื้นที่เท่านั้น “เทใจให้เทพาเพราะการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้สร้างผลกระทบแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง มลพิษ จะฟุ้งอยู่ในอากาศ ปะปนกลายเป็นเมฆ และเมื่อฝนตก น้ำก็จะปนเปื้อน และเมื่อน้ำปนเปื้อน ไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบเรื่องระบบทางเดินหายใจ แต่สิ่งแวดล้อมจะเสียหายหมด ท้องทะเลและชีวิตของคนและสัตว์ในพื้นที่ และสุดท้ายสัตว์ที่กลายมาเป็นอาหารทะเลก็จะถูกกระจายไปในอีกหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบไปทั่ว”

สิรารมย์ เตชะศรีอมรรัตน์ อายุ 22 ปี เห็นว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ไม่โปร่งใส และขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน “ เรายังไม่ได้อ่าน EHIA ไม่รู้ว่ามันจริงหรือเท็จยังไง แต่จากหลักฐานเรื่องการประชุมเพื่อทำประชาพิจารณ์ก็รู้สึกว่า มันไม่ใสสะอาดอย่างที่ควรจะเป็น เราไม่รู้ว่าสิ่งแวดล้อมที่เทพายังมีอยู่น้อยเยอะแค่ไหน แต่ถ้าเอาจากใจ คือ คนเทพาก็เป็นพลเมืองไทย รัฐต้องออกมาพูดคุยกับประชาชน ถ้ามันบริสุทธิ์ไร้ผลกระทบจริง ก็ทำไป แต่นั่นแปลว่าต้องผ่านการทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้เขาเจ็บปวดและเรียกร้องโดยที่คุณนิ่งเฉย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net