ส่งตัว 'แซม โสกา' กลับกัมพูชา สะท้อนสถานะผู้ลี้ภัยที่อ่อนแอและความสัมพันธ์รัฐที่ชื่นมื่น

กรณีที่ทางการไทยจับกุม แซม โสกา นักเคลื่อนไหวแรงงานเมื่อวันที่ 5 ม.ค.61 แล้วส่งกลับไปให้กัมพูชาเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา สร้างความกังวลให้และข้อกังขากับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร และมีการคาดการณ์ว่า เป็นดีลลับระหว่าง ฮุน เซน กับรัฐบาลทหารไทย ในการแลกเปลี่ยนผู้ลี้ภัยทางการเมือง

ภาพ ซ้าย : แซม โสกา นักเคลื่อนไหวแรงงาน, ภาพขวา : ฮุน เซน หารือทวิภาคี กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 9 ต.ค.59 (ที่มาภาพเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

การทำงานร่วมกันของตำรวจไทยกับกัมพูชาในการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศที่เกิดขึ้นโดยฉุกละหุก นับตั้งแต่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม แซม โสกา ในวันที่ 5 ม.ค. 2561 และส่งตัวกลับในวันที่ 8 ก.พ. 2561 ใช้ระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนกว่า ในระหว่างนี้ ทนายความของแซม โสกา ได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์ข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และพยายามให้มีบันทึกว่าเธอปฏิเสธที่จะเดินทางกลับกัมพูชา แต่สุดท้าย แซม โสกาก็ถูกส่งตัวกลับ

แม้ บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การส่งตัว แซม โสกา กลับประเทศ เป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ของไทย และเป็นความร่วมมือระหว่างตำรวจทั้งสองประเทศ และเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการพิจารณาเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบแล้วว่าการส่งตัว แซม โสกา กลับไปกัมพูชา จะไม่เป็นภัยต่อบุคคลดังกล่าว แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่า แซม โสกา ถูกศาลกัมพูชาพิพากษาลับหลังว่าเธอมีความผิดข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และปลุกปั่นยุยงเพื่อสร้างความแตกแยก มีโทษจำคุก 2 ปี จากกรณีที่มีวิดีโอของเธอขว้างรองเท้าใส่ป้ายที่มีภาพของ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี และเฮง สัมริน ประธานสภา

เหตุการณ์นี้ทำให้เครื่องหมายคำถามตัวโตว่าทางการไทยมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยทางการเมืองมากน้อยขนาดไหน เพราะขนาดผู้ลี้ภัยที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของ UNHCR ที่สะท้อนว่าชีวิตของบุคคลนั้นจะอยู่ในภาวะอันตรายหากอยู่ในประเทศต้นทางก็ยังถูกส่งกลับ แล้วผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาจำนวนมากในไทยที่ไม่มีสถานะผู้ลี้ภัยจะต้องเผชิญชะตากรรมอย่างไร แม้ไทยไม่ได้ผูกพันกับอนุสัญญานานาชาติเรื่องการรับผู้ลี้ภัย แต่จารีตประเพณีระหว่างประเทศเรื่องการไม่ส่งตัวผู้ที่หนีภัยอันตรายจากประเทศต้นทางกลับไปก็ยังเป็นที่ผูกพันกับไทยและกัมพูชาในฐานะสมาชิกของประชาคมโลก

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า ประเทศไทยตระหนักเป็นอย่างดีว่า แซม โสกาได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัย แต่ก็ยังส่งตัวเธอกลับไปกัมพูชา ซึ่งมีความเสี่ยงที่เธอจะได้รับโทษจำคุกเนื่องจากการแสดงความเห็นทางการเมือง “เป็นเรื่องน่าเศร้าแม้จะไม่น่าประหลาดใจที่รัฐบาลทหารเอาอกเอาใจรัฐบาลเผด็จการเพื่อนบ้าน แต่พวกเขาก็ไม่ควรกระชับความสัมพันธ์ต่อกันโดยเอาผู้ลี้ภัยมาเป็นเหยื่อ”

ผู้ลี้ภัยกัมพูชาหลบมาไทยจำนวนมาก

แหล่งข่าวจากองค์กรที่ช่วยเหลือทางกฎหมายกับผู้ลี้ภัย ให้ข้อมูลกับประชาไทว่า สถานการณ์ของกัมพูชาค่อนข้างเข้มมากขึ้นหลังมีข่าวที่สภาผ่านกฎหมายให้ยุบพรรคฝ่ายค้านเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้มีผู้ลี้ภัยกัมพูชามาไทยจำนวนมาก

ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยกับทางข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จึงไม่ได้เป็นประเทศที่รับผู้ลี้ภัยให้มาตั้งถิ่นฐานในประเทศได้ถาวร เป็นเพียงประเทศทางผ่านไปยังประเทศที่สามเท่านั้น ทางเลือกของผู้ลี้ภัยในไทยภายใต้กระบวนการการขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจึงมีอยู่สองทาง หนึ่ง เดินทางกลับประเทศที่ออกมา สอง ขอสถานะผู้ลี้ภัยแล้วรอไปอยู่ที่ประเทศที่สาม แหล่งข่าวรายเดิมระบุว่า กระบวนการในการที่ผู้ลี้ภัยจะขอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ตั้งแต่แรกเริ่มจนไปสุดกระบวนการก็ใช้เวลา 1-2 ปี หากไม่ติดขัดในขั้นตอนใด หากได้รับการปฏิเสธและจะอุทธรณ์ก็ต้องใช้เวลามากกว่าเดิม

การอาศัยอยู่ในประเทศทางผ่านอย่างไทยมีแรงกดดันต่อผู้ลี้ภัยหลายประการ ผู้ลี้ภัยบางกลุ่มเข้ามาโดยผิดกฎหมาย เช่น เข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ และจะมีกลุ่มที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย ก็คือเข้ามาด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวแต่ว่าอยู่เกินระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนั้น การที่ไทยบังคับใช้ พ.ร.ก. การบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ทำให้นายจ้างตื่นตัวเรื่องการพิสูจน์สัญชาติของลูกจ้างต่างด้าวมากขึ้นก็ทำให้ผู้ลี้ภัยมีความเสี่ยงต่อการถูกตรวจพบมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่เข้าเมืองและทำงานอย่างผิดกฎหมาย ไม่สามารถมีเอกสารที่จะใช้พิสูจน์สัญชาติได้

ผู้ลี้ภัยไทยในกัมพูชา หวั่น ถูกส่งกลับไทย เพราะดีลแลกตัว

ในขณะที่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยในกัมพูชาคนหนึ่ง นามสมมติ สมชาย บอกกับประชาไทว่า สถานการณ์ผู้ลี้ภัยไทยในกัมพูชายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับการรับรองดูแลจากรัฐหรือมีสถานะผู้ลี้ภัยที่รับรองโดยรัฐบาลกัมพูชา สามารถอยู่ในกัมพูชาไปได้เรื่อยๆ หากไม่ได้ทำผิดกฎหมายหรือก่อความวุ่นวาย เขากล่าวว่า รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่นักเคลื่อนไหวกัมพูชาถูกประเทศไทยส่งกลับ “ผมก็รู้สึกเขินๆ อายๆ ว่า เรามาแอบที่นี่ได้ แต่คนเขมรที่ไปแอบที่ไทยกลับถูกส่งกลับ ถ้าเราไปอยู่ที่อื่น ความรู้สึกตรงนี้คงจะไม่มี”

สมชายหลบมาอาศัยที่กัมพูชาเพราะถูกกล่าวหาว่า ละเมิดมาตรา 112 หรือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อถามว่า การที่กัมพูชาออกกฎหมายหมิ่นฯ เองยิ่งทำให้สมชายรู้สึกกลัวว่าจะถูกส่งกลับไทยหรือไม่ เขาตอบว่า “ก็อาจจะเกี่ยวก็ได้ ก็คาดไว้ห้าสิบห้าสิบว่าเขาจะใช้อันนี้เป็นข้อต่อรองแลกเปลี่ยนผู้่ลี้ภัยทั้งสองฝ่ายหรือเปล่า แต่ก็ได้ยินว่า กฎหมายนี้รัฐบาลกัมพูชาเอาไว้ใช้กับนักกิจกรรมกัมพูชามากกว่า”  

เขากล่าวต่อว่า สถานการณ์นี้ยิ่งบีบให้เขาต้องเร่งหาทางลี้ภัยไปประเทศที่สาม เพราะไม่อยากถูกส่งกลับไทย

ส่วนผู้ลี้ภัยไทยที่ไม่ขอระบุชื่ออีกคนซึ่งไม่ต้องการลี้ภัยไปประเทศที่สาม กล่าวว่า ถ้ามีการส่งตัวกลับก็ยินดีเข้าสู่กระบวนการ ถือว่ายังคงอยู่ในกระบวนการต่อสู้ การออกมาอยู่ข้างนอกไม่ได้หมายความว่ายุติการต่อสู้ การถูกส่งตัวกลับก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้อยู่ดี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท