Skip to main content
sharethis

คุยกับรังสิมันต์ โรม หลังประกาศเคลื่อนไหวใหญ่วาระครบ 4 ปีรัฐประหาร ถามชัดๆ เลื่อนเลือกตั้งแค่ 3 เดือนทำไมรอไม่ได้ ทำไมถึงอยากเลือกตั้งนักหนา ทำไมเรียกร้องให้นักการเมืองมาสู้ด้วย และทำไมถึงเชื่อมั่นกับการเมืองบนท้องถนน

เริ่มต้นปี 2561 ได้ไม่ถึงเดือนความเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกรั้วรัฐสภาก็ดูจะกลับมาคึกคักกันอีกครั้ง หลังจากบรรยากาศการเมืองไทยตกอยู่ภายใต้ภาวะอึมครึมมาปีกว่า วันที่ 27 มกราคม ปีนี้ประชาชนหลักร้อยนัดรวมตัวที่สกายวอล์คปทุมวัน หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติผ่านวาระ 3 ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยกำหนดให้กฎหมายมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศลงในราชกิจานุเบกษา 90 วัน นั่นหมายความว่า การเลือกตั้งที่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารสัญญาเอาไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2561 อาจจะเลือนออกไปอีก 3 เดือน

การลงมติของ สนช. ในครั้งนั้นให้เหตุผลโดยอ้างความห่วงใยว่า การจัดตั้งพรรคการเมืองที่ต้องเริ่มตนทำระบบสมาชิกพรรคการเมืองกันใหม่อาจจะเสร็จสิ้นไม่ทันเวลา จึงเห็นว่าจำเป็นต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน แต่แท้จริงแล้วต้นเหตุที่ทำให้การเลือกตั้งไม่อาจจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2561 อาจอยู่ที่การไม่ยอมปลดล็อคให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ คำสั่งที่บังคับให้พรรคการเมืองไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองเช่นการจัดประชุมพรรค หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมตัวสู่การเลือกตั้ง เป็นคำสั่งที่ออกมาโดยหัวหน้าคสช.

ความกลัวว่าจะเตรียมเลือกตั้งไม่ทัน แต่กลับไม่ยอมปลดล็อคพรรคการเมือง แล้วเลือกที่จะขยายเวลาเลือกตั้งออกไป ดูจะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลกันสักเท่าไหร่นัก และในขณะที่การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ คสช. สนช. กรธ. และองค์กรต่างๆ ที่ถูกตั้งขึ้นโดยอำนาจของคณะรัฐประหารก็ยังคงอยู่ต่อไป พร้อมๆ กับเงินเดือนที่มาจากภาษีของประชาชน ยังไม่นับรวมค่าเสียทางโอกาส และค่าเสียเวลาหรือค่าเสียอนาคต  ที่ไม่อาจคำนวนเป็นตัวเลขได้ ท่ามกลางภาวะชงเอง กินเอง เสียงๆ หนึ่งก็ดังออกมา “คสช. ออกไป”

แม้พันเอกบุรินทร์ ทองประไพ  นายทหารพระธรรมนูญ จะพยายามทำให้เสียงที่ดังขึ้นอีกครั้งเงียบลงโดยการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทั้งหมด 39 คน ขณะที่พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะพยายามทำหน้าที่รักษากฎหมายอย่างแข็งขันโดยกำชับให้พนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว ยื่นคำร้องของฝากขังแกนนำทั้ง 7 คนต่อศาล แต่สิ่งที่ตามมาคือการยกคำร้องขอฝากขัง และตามมาด้วยการชุมนุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 ก.พ. ที่มีประชาชนมาร่วมชุมนุมหลักพัน หลักจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ รังสิมันต์ โรม หนึ่งในแกนนำที่จัดการชุมนุมประกาศเดินหน้าการชุมนุมต่อไป ทั้งระบุว่าจะมีการชุมนุมใหญ่ในช่วงเดือนพฤษภาคม ในวาระครบรอบ 4 ปีการรัฐประหารของ คสช.

นี่คือครั้งแรกหลังจากรัฐประหารเป็นต้นมาที่มีการประกาศชุมนุมทางการเมืองต่อต้าน คสช. ที่มีระยะเวลานานข้ามคืน มีหลากหลายคำถามเกิดขึ้นทั้งจากคนที่เห็นด้วยกับจุดยืนของกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องการเลือกตั้งในเวลานี้ และคำถามจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย ประชาไทหยิบคำถามที่ลอยอยู่เหล่านั้นมาหาคำตอบกับรังสิมันต์ ผ่านบทสนทนาเคล้ากลิ่นชา และกาแฟ

“ผมชอบบทสนทนาแบบนี้ว่ะ” รังสิมันต์ พูดขึ้นก่อนที่เราจะถามคำถามแรกจบ “คิดซะว่าผมป็นพี่ดี้ก็แล้วกัน” เราตอบก่อนถามต่อ

0000000

ประชาไท: ดูเหมือนว่าตอนนี้จะมีการขยับโรดแมปการเลือกตั้งออกไปอีกไม่เกิน 3 เดือนจากเลือกตั้งประมาณเดือน พ.ย. 2561 ไปเป็นเลือกตั้งไม่เกิน ก.พ. 2562 ซึ่งดูจะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ทำไมถึงรู้สึกว่ายอมไม่ได้

รังสิมันต์: มีอะไรรับประกันได้บ้างว่ามันจะเลื่อนแค่ 3 เดือนจริง ตอนนี้ไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่าเราจะมีการเลือกตั้งตามที่เขาสัญญาไว้ ประเด็นตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องของเวลา แต่มันเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากเริ่มหมดความอดทนกับการที่อยู่ต่อไปโดยที่ไม่รู้ว่าตกลงแล้วประเทศนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป และการที่เราไม่มีหลักประกันตรงนี้เลยมันทำให้คนอดคิดไม่ได้ว่าตกลงแล้วเราจะมีเลือกตั้งไหม ประเด็นของเรื่องมันจึงไม่ใช่แค่ขอเลื่อนไปอีก 3 เดือนแล้วยอมไม่ได้ แต่มันอยู่ตรงที่สรุปแล้วเราจะมีหรือไม่มีเลือกตั้งกันแน่ และถ้ามีการเลือกตั้งมันจะเป็นการเลือกตั้งแบบไหน

การที่เราออกมาเรียกร้องครั้งนี้ก็เพียงต้องการให้มันชัดเจนว่า การเลือกตั้งมันต้องเกิดขึ้นปีนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่คุณประยุทธ์เองก็สัญญาเอาไว้ และมันเป็นการสัญญาที่แตกต่างจากการสัญญาครั้งอื่นๆ เพราะคนคาดหวังกับคำสัญญานี้สูง และตอนนี้ก็ไม่เหลือเหตุผลอะไรแล้วที่จะผิดสัญญาอีก เงื่อนไขต่างๆ มันแทบจะหมดสิ้นไปแล้ว ดังนั้นนี้คือเหตุผลที่คนออกมาเรียกร้องกันเพราะคุณประยุทธ์ได้สัญญาไว้แล้ว มันเป็นการทวงสัญญา

สำหรับผมเวลาสัญญาอะไรกับใครไว้มันเป็นเรื่องสำคัญมาก แล้วนี่คือคนระดับผู้นำ คุณสัญญาอะไรว่ะ คุณเปลี่ยนตลอดเวลา แล้วมันไม่มีสถานการณ์อะไรที่เอามาอ้างได้อีกแล้ว 3 เดือนที่ว่าจะเลื่อนไปมันเลื่อนจากการที่ สนช. แก้กฎหมายการบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ถามจริงๆ เถอะว่าคิดว่าคนจะเชื่อเหรอว่า คสช. ไม่สามารถควบคุมสภาได้ ไม่มีใครเชื่อหรอก ฉะนั้น 3 เดือนที่จะขยับออกไปมันไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่รู้มันเลื่อนจากอะไร แล้วถ้าครั้งนี้เลื่อนได้โดยไม่มีสาเหตุ แล้วทำไมในอนาคตจะเลื่อนอีกไม่ได้ สำหรับคนที่เป็นประชาชนมันเข้าใจไม่ได้หรอก 

หลายคนในประเทศนี้ยังห่วงว่าหากมีการเลือกตั้งเร็วเกินไปอาจจะทำให้บ้านเมืองกลับไปวุ่นวายอีก

ผมเข้าใจว่าคนเรามีสิทธิที่จะกลัวว่าบ้านเมืองเราในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่คำถามต่อไปที่ต้องถามควบคู่กันคืออยู่กันต่อไปแบบนี้เรามีอนาคตเหรอ เรากลัวว่าจะอนาคตมันจะเกิดอะไรขึ้น เราเลยเลือกที่จะอยู่แบบที่ไม่มีอนาคต มันไม่เมคเซนต์ และมันไม่แฟร์กับคนรุ่นใหม่

พวกผมเกิดมาเกิดมาเราไม่ได้อยู่กับความขัดแย้ง ตอนเสื้อแดงเสื้อเหลือง ผมยังเรียนมัธยมอยู่เลย ยังเล่นการด์ยูกิกับเพื่อน คำถามง่ายๆ คือ ทำไมเราต้องรับมรดกความขัดแย้งของคนรุ่นเก่า และด้วยความที่คนรุ่นเก่า เขากลัวว่าอนาคตมันจะไม่ดี ดังนั้นคนรุ่นใหม่ก็จะต้องกลัวว่าอนาคตมันจะไม่ดีด้วย อย่างนั้นเหรอ สำหรับผมมันไม่ใช่ ผมคิดว่าอนาคตมันดีได้ ด้วยกำลังของคนรุนใหม่เราสมารถที่จะสร้างอนาคตของเราได้ ใครที่ไม่พร้อมจะที่ก้าวไปด้วยกันก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่คุณมาห้ามไม่ให้เราเดินไปหาอนาคตไง

ผมเพิ่งอายุ 25 ผมต้องอยู่กับประเทศนี้อีกนานนะ สมมติว่าอายุ 60 ผมตาย ผมต้องอยู่กับมันอีก 35 ปี ฉะนั้นผมก็ควรมีสิทธิกำหนดว่าอนาคตที่ผมต้องการคืออะไร ผมจะไม่ยอมให้คนแก่ๆ ที่อีกไม่นานจะต้องลาจากโลกนี้ ซึ่งเป็นคนที่หวาดกลัวอนาคต มาใช้วิธีการควบคุมเรา มาทำให้คนรุ่นเราต้องหวาดกลัวอนาคตไปด้วย

สำหรับผมไม่กลัวอนาคต ผมเชื่อมั่นว่าประชาชนชาวไทยสามารถทำให้อนาคตของประเทศนี้มันดีได้ ผมเชื่อว่ากำลังความสามารถของคนรุ่นใหม่เราสร้างประเทศนี้ให้น่าอยู่ได้

แต่มีบางคนยังเชื่อว่าการสร้างอนาคตที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบอบการเมือง แม้ตอนนี้เราอยู่ในภายใต้รัฐบาลของคณะรัฐประหาร แต่รัฐบาลก็กำลังปฏิรูปในหลายๆ เรื่อง และยังมีช่องทางต่างๆ ที่รัฐจัดไว้ให้เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็น

มันต้องแยกกัน เอาอย่างนี้ก่อน เรื่องเศรษฐกิจอย่างไรมันก็มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง ประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยก็พิสูจน์อะไรหลายๆ อย่างว่า มันไปไม่รอดหลายคนที่ชอบยกตัวอย่างจีน หรือสิงคโปร์ ขอโทษนะนั่นคือประเทศส่วนน้อย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะเป็นแบบนั้นได้

ในส่วนของเรื่องสิทธิทางการเมือง การปกครอง เวลาบอกว่ารัฐบาลมีการรับฟัง ผมไม่มีคิดว่าการรับฟังนั้นจะมีความหมายนะ คืออย่างแรกเลยเราตั้งถามว่าเขารับฟังจริงๆ หรือเปล่า ถ้ารับฟังจริงๆ คงไม่มีการจับกุมกันเกิดขึ้น คงไม่มีการดำเนินคดีเกิดขึ้น วันนี้ผมอายุ 25 ปี ผมมี 7 คดี ถ้าลงโทษสูงสุดทุกคดีผมมีโทษทั้งหมด 32 ปีมากกว่าอายุผมตอนนี้อีก นี่คือการรับฟังใช่ไหม

คำถามอีกข้อหนึ่งที่ต้องถามคือที่ว่ามีการรับฟัง มันเพียงพอใช่ไหม ผมคิดว่าไม่ เพราะสุดท้ายแล้ว คสช. รัฐบาล ก็มีดุลยพินิจที่จะฟังหรือไม่ฟังก็ได้ หรืออาจจะฟังๆ ไปแต่ไม่ทำตาม ประเด็นมันไม่ใช่เรื่องที่ว่าฟังหรือไม่ฟัง แต่มันเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับความเปลี่นเปลี่ยนของโลก เขาควรจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง ในการพัฒนาประเทศในการกำหนดอนาคตของประเทศได้ ซึ่งในวันนี้มันไม่มีโอกาสที่จะทำอะไรได้เลย

ยกตัวอย่างง่ายๆ สนช. บางคนมารับตำแหน่งต้องมีคนช่วยกันห่าม นี่เหรอคนแบบนี้เหรอที่จะเป็นคนกำหนดอนาคตของพวกเรา คนแบบทหารเกษียณแล้วซึ่งพูดคำหยาบคายตลอด คนแบบนี้เหรอที่จะมาเป็นคนที่ดูแลพวกเรา ผมคิดว่าประเทศมันเดินหน้าต่อไปแบบนี้ไม่ได้ บางคนบอกว่าเราไม่สามารถปล่อยให้ประเทศนี้พังไปต่อหน้าต่อตา ผมไม่เห็นด้วยเพราะตอนนี้ประเทศเราพังไปต่อหน้าต่อตาของพวกเราแล้ว มันพังไปตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 ในความเห็นผมวันนี้เราไม่ได้ต้องการแค่หยุดไม่ให้มันพังไปต่อหน้าต่อตา แต่เราต้องสร้างมันใหม่จากซากหรักหักพังที่มันได้พังลงไป

วันนี้คนรุ่นใหม่ต้องเป็นกำลังสำคัญในการก้าวข้ามความขัดแย้ง ต้องเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมใหม่ขึ้นมาให้ได้ ถ้าเรายังมัวไปยึดติดกับความขัดแย้งของคนรุ่นไหนก็ไม่รู้ประเทศนี้ไม่มีทางมีอนาคต ทางเลือกของคนรุ่นใหม่มีสองทางเราจะหวาดกลัวอนาคตเหมือนกับ Old Generation หรือเราจะสร้างสังคมใหม่แล้วก้าวไปด้วยกัน นี่คือทางเลือกของพวกเรา และหนทางเดียวที่จะเริ่มสร้างอนาคตได้คือ ต้องเอาพลเอกประยุทธ์ และ คสช. ออกไปให้ได้ มีการเลือกตั้ง ไม่มีการสืบทอดอำนาจ นี่คือการเริ่มต้นทำลายกำแพงและทำให้สังคมมันเดินหน้าต่อไปได้ แน่นอนมันจะเต็มไปด้วยขวากหนาม ไม่มีการโปรยกลีบดอกกุหลาบ ไม่มีสังคมไหน ไม่มีประเทศไหนที่การเปลี่ยนแปลงมันราบรื่น สิ่งที่จะต้องเจอจะมีแต่ความท้าทาย ถ้าเราเข้มแข็งพอ ถ้าเรามีพลังมากพอ เราจะฝ่าฟันมันไปได้ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ผมเรียกร้องกับคนรุ่นใหม่เสมอคือ มันถึงเวลาที่เราจะต้องทิ้งคนที่อยู่กับความหวาดกลัวอนาคตไป ถ้าเราไม่ทิ้งเราเดินหน้าไม่ได้ ซึ่งคนเหล่านั้นต้องเลือกว่าจะถูกทอดทิ้งหรือตามพวกเรามา 

นั่นแปลว่าการเลือกตั้งจะเป็นจุดเริ่มต้น ของการสร้างอนาคตที่ดีกว่า แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็วางรากฐานของอนาคตอีกแบบไว้เหมือนกัน อนาคตที่คาดหวังว่าจะสร้างขึ้นมาจะทำได้จริงๆ เหรอ

ผมคิดว่าถึงที่สุดแล้วเราเป็นใคร เราเป็นประชาชนเราไม่ได้มีกำลัง ไม่ได้มีอาวุธ พูดง่ายๆ คือเรามีแค่ สองมือเปล่า กับเสียงที่ดังหน่อย การเปลี่ยนแปลงมันต้องไปทีละขั้นตอน เราจะพูดถึงเรื่องอื่นได้อย่างไร ในเมื่อเลือกตั้งเรายังไม่ได้เลย จะให้เราพูดถึงเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ในเวลานี้เหรอ ทั้งที่เราจะเอาใครไปร่างยังไม่รู้เลย สุดท้ายมันเป็นเรื่องที่จะตามมาหลังเลือกตั้ง ผมยอมรับว่ากลไกรัฐธรรมนูญมีปัญหา ผมเป็นคนหนึ่งที่รณรงค์โหวตโนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จริงๆ รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้อยู่นี้ก็เป็นคนละฉบับกับที่ลงประชามติ แต่ผมไม่อยากพูดถึงรายละเอียด แต่เอาเป็นว่าผมไม่เห็นด้วยกับสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่ๆ มันก็ต้องแก้กันไป เพียงแต่ว่าขั้นตอนนั้นมันจะเป็นกระบวนการต่อไป มันต้องอาศัยพลังของภาคประชาชน ในความหมายที่ว่า เราอาจจะต้องตั้ง สสร. หรือเปล่า? อันนี้ผมไม่รู้ ก็ขึ้นอยู่กับอนาคตว่าเราจะเอายังไงกับวิธีการที่จะออกจากระบบนี้อย่างถาวร

ดังนั้นพันธกิจหรือพันธกรณีของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตมันจะต้องตอบโจทย์ตรงนี้  ดังนั้นทำไมผมจึงเรียกร้องให้นักการเมืองมาสู้กับภาคประชาชน เพราะถ้านักการเมืองไม่มาสู้กับประชาชน ประชาชนจะรู้ได้ไงว่ามีพันธกิจเหล่านี้ที่คอยขจัดระบอบเหล่านี้ออกไป ผมไม่อยากให้เรามาซ้ำรอยกับในอดีตที่ว่า สุดท้ายเราสู้เราเอาเผด็จการ คสช. ออกไป สุดท้ายเราก็กลับมาสู่ระบอบเดิม ดังนั้นนี่คือเหตุผลว่าทำไมผมถึงเรียกร้องให้นักการเมืองหรือคนที่จะลงเลือกตั้งมาสู้ด้วยกันกับพวกเรา นี่คือช่วงเวลาที่ประชาชนจะได้รีวิวพวกคุณ จะได้ดูว่าพวกคุณจะตอบสนองพันธกิจของประชาชน ในวันนี้ที่เขาต้องการออกจากระบอบแบบนี้ให้ได้

สำหรับผม ผมจะไม่มีวันเลือกนักการเมืองที่ไม่ออกมาสู้กับพวกเรา ไม่จำเป็นต้องมาในนามของพรรคการเมือง มาในนามส่วนตัวก็ได้ ถ้าไม่มาคุณจะไม่ใช่นักการเมืองของประชาชนอีกต่อไป เพราะว่าคุณไม่ได้มีพันธกิจเดียวกับประชาชนที่เขาต้องการออกจากระบอบแบบนี้ คุณไม่ได้เป็นคนที่พร้อมจะเดินหน้าไปกับคนรุ่นใหม่ คุณไม่ได้พร้อมที่จะสร้างอนาคตร่วมกัน ดังนั้นคุณก็อาจจะต้องเป็นคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ถ้าคุณไม่เดินหน้าไปกับเรา

การไปชวนนักการเมืองออกมาเคลื่อนไหวด้วย ไม่กลัวเหรอว่าจะถูกมองว่าได้รับท่อน้ำเลี้ยง หรือถูกมองว่าการเคลื่อนไหวไม่บริสุทธิ์เพราะมีนักการเมืองหนุนหลัง

สำหรับผมนักการเมืองก็คือประชาชน ผมไม่เชื่อว่าใครจะมา dominate มาควบคุมความคิดนะ บางคนชอบบอกว่าเรื่องรับตังค์ บ้านผมก็ไม่ได้จนขนาดนั้น อย่างแรกคือดูถูกกันมากเลย อันที่สอง ผมให้เงินคุณแสนนึง ให้ผมไปติดคุก โดนคดีโทษสูงสุด 32 ปี เป็นคุณเอาไหมละ ? มันไม่มีใครเอาหรอก

ผมเกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง ถ้าผมคิดว่าไม่ต้องทำอะไรก็ได้ เรียนจบ นิติฯ ธรรมศาสตร์ ไปทำงาน เงินเดือน 3-4 หมื่นขั้นต้นก็น่าจะพอได้ แต่ผมรู้สึกว่าชีวิตเรามันแค่นั้นเหรอ ผมตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลาว่า ตกลงแล้วเราเกิดมาเราได้อภิสิทธิ์จำนวนมากจากสังคม สังคมจ่ายเงินให้ธรรมศาสตร์ จากภาษีประชาชน แล้วผมได้เรียนมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ แล้วผมไม่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ต่อเงินภาษีของคนยากคนจนที่เขาเสียภาษีอะไรอย่างนั้นเลยหรอ ผมทำใจไม่ได้ เราควรทำบางอย่าง

แล้วมากไปกว่านั้นในอนาคตถ้าลูกหลานของผมไม่ได้โชคดีขนาดนั้น ถ้าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แล้วมันไม่มีสวัสดิการอะไรเลย แล้วใครจะดูแลเขา ผมไม่อยากจะทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง สังคมมันต้องไปด้วยกัน แต่ว่ารัฐบาล คสช. ไม่อนุญาตให้เราเป็นแบบนั้น ไม่อนุญาตให้สังคมมันเดินหน้า วันนี้เราต้องพูดว่า คสช. ขโมยอนาคตของเราทุกคน เราต้องการอนาคตของเราคืน

เราถึงต้องการการเลือกตั้งเพื่อนับหนึ่ง วันนี้เรายังไม่ถึงหนึ่งนะ ติดอยู่ที่ศูนย์ อาจจะติดลบด้วยซ้ำไป ใครจะบอกว่าผมรับเงิน ผมไม่แคร์ แต่นักการเมือง ถ้าท่านไม่เข้ามาท่านจะเสียกว่าผมด้วย เพราะท่านไม่ได้สู้เพื่อประชาชน ดังนั้นผมคิดว่า มันถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมมือร่วมใจกัน วันนี้มันไม่มีคนอื่น มันมีแค่ คสช. กับประชาชน 

ถึงจะยังไม่มีนักการเมืองคนไหนออกมา แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งประชาธิปัตย์ เพื่อไทย หรือพรรคอื่นๆ ก็พยายามที่จะเร่งรัดให้มีการเลือกตั้งอยู่เรื่อยๆ เท่านี้ไม่พอเหรอ

โทษนะคือผมเข้าใจ แถลงการณ์ผมก็ออกได้ ผมโพสต์ฟซบุ๊กได้ แต่มันไม่พอไง คือถึงที่สุดประชาชนนี่เสี่ยงนะ เสี่ยงมากๆ เลยนะ ในการที่จะเอาระบอบของเขาคืนมา นักการเมืองแค่ออก statement แล้วก็จบ สำหรับผมมันไร้สาระ วันนี้มันไม่เหลือวิธีการไหนแล้ว สำหรับผมไม่เชื่อวิธีการอื่นแล้ว ผมรู้สึกว่าเราทำมาทุกอย่างแล้ว พิสูจน์กันมาเยอะมาก เราลองใช้กลไกทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้ประเทศเรามันเดินหน้าอีกครั้ง แต่ว่ามันไม่ได้ผล เหลือวิธีเดียวที่เรายังไม่เคยทำ คือลงถนน ดังนั้นผมจึงคิดว่า นักการเมือง หรือใครก็แล้วแต่ ควรลงมาสู้กับประชาชน ทวงสิทธิของประชาชนคืนมา แล้วคุณจะได้รับการยอมรับจากประชาชน ไม่มาก็ไม่เลือกในปีหน้า ถ้าปีหน้ามีเลือกตั้งผมก็จะไม่เลือกเขา แล้วผมก็ขอเชิญชวนให้ประชาชนไม่เลือกคนเหล่านี้ด้วย

ทำไมถึงเชื่อมั่นกับการเมืองบนท้องถนน ถ้าดูจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย 14 ตุลา 2516 ที่เราบอกว่าเป็นชัยชนะของประชาชนเอาเข้าจริงแล้วเผด็จการออกไปไม่ใช่เพราะพลังประชาชนล้วนๆ แต่มีพลังอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 6 ตุลาคม 2519 ก็ชัดเจน พฤษภาคม 2535 ก็ชัดเจนว่ามันจบได้ด้วยอะไร ปี 2549 กลุ่มพันธมิตรออกมาไล่ทักษิณสุดท้ายจบตรงที่กองทัพออกมารัฐประหาร ปี 2553 นปช. ออกมาไล่อภิสิทธิ์จบลงด้วยเลือดกับความตาย ปี 2557 กปปส. ออกมาไล่ยิ่งลักษณ์สุดท้ายจบลงด้วยศาลรัฐธรรมนูญ และการรัฐประหาร คือจะเห็นได้ว่ามันไม่ได้จบที่ถนน แต่มีพลังอื่นๆ เข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเสมอ

ใช่ ผมเห็นด้วยว่ามันต้องอาศัยพลังทุกภาคส่วน แล้วถ้าเราจะพูดในตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา บางคนอาจจะเรียกว่ามันเป็นความล้มเหลวหรืออะไรก็แล้วแต่นะ มันก็เป็นความสำเร็จระดับหนึ่งไหม อย่างน้อยๆ มันเป็นการสร้างพื้นที่เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นของอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งอันนี้คือสิ่งเดียวกัน คือตอนนี้เราไม่มีเสรีภาพอะไรเลย อย่างน้อยๆ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็ได้เอาเผด็จการออกไปก่อน ให้มันมีพื้นที่ของเสรีภาพในการแสดงออก ในการพูด ในการทำอะไร

เพียงแต่ว่าเราก็ต้องยอมรับว่าถัดไปจากประชาชน ภาคส่วนอื่นมันมีปัญหา แล้วมันไม่ค่อยจะถูกแตะต้องหรือว่าพูดถึงมากเท่าที่ควร มันทำให้ภาคส่วนเหล่านี้กลายเป็นแดนสนธยา ไม่ได้รับการแก้ไข ผมยกตัวอย่างเช่น ‘กองทัพ’ เรามีปัญหากับกองทัพมาโดยตลอด แต่เราก็ไม่เคยเข้าไปแก้ไขจนถึงรากของปัญหาจริงๆ ว่าตกลงแล้วมันคืออะไร เราอาจจะเอาเผด็จการออกไปในช่วงเวลาหนึ่ง แต่กองทัพก็ยังเป็นเหมือน ‘รัฐซ้อนรัฐ’ ที่อยู่ในอำนาจตลอดเวลา แล้วคอยควบคุมบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา อันนี้คือสิ่งที่มันเป็นไป แต่ว่าวันนี้สิ่งหนึ่งที่เราอาจจะต้องพูดกันให้ชัดก็คือว่า หลังจากมีการเลือกตั้ง บุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในระดับรัฐสภา ที่จะต้องทำต่อไปคือการจัดการองคาพยพต่างๆ ของ คสช. ของกองทัพหรืออะไรก็แล้วแต่ ให้มันสูญสลายไปด้วย ดังนั้นเริ่มต้นเวลาเราพูดจาก 1-100 เราจะต้องนับ 1 ก่อน วันนี้ภาคประชาชนต้องนับ 1 ด้วยการเลือกตั้ง จากนั้นเราถึงจะไปทีละเสต็ป เป็น 2-3-4 จนถึงความฝันที่มันเป็น 100 มันถึงจะเกิดขึ้น เราไม่อาจไม่ที่ 100 โดยที่ไม่มี 1 หรือ 2 ผมถึงย้ำว่าการเลือกตั้งมันเป็นแค่จุดเริ่มต้น

คิดว่ามันจะมีการกดดันให้มีการเลือกตั้งในปีนี้ได้จริงๆ เหรอ กับพลังของประชาชนที่จะออกมา

ทำไมละ มันต้องมีสิ ผมนึกไม่ออกว่ามันจะไม่มีได้ไง 

ยกตัวอย่างเรื่องคุณประวิตร นาฬิกาเรือนนึงสิบกว่าล้าน สื่อทุกช่องทุกสำนัก เล่นข่าวนี้หมด ผู้คนพูดถึงทั่วบ้านทั่วเมือง แต่สุดท้ายก็ยังอยู่เหมือนเดิม ปปช. ก็เลื่อนแถลงข่าว สรุปคือตอนนี้ก็รอ รออะไรก็ไม่รู้

เพราะมันไม่มีภาคประชาชนออก มาอย่างขนานใหญ่ไง ผมถึงบอกไง ในด้านหนึ่งมันก็เป็นการยืนยันสิ่งที่ผมพูดหรือเปล่า ว่าการที่สื่อเล่นทุกอย่าง คนพูดกันทั่วบ้านทั่วเมืองมันไม่พอ โพสต์เฟซบุ๊กไม่พอ ลงหนังสือพิมพ์ไม่พอ แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยทำใน 4 ปีที่ผ่านมาภายใต้ระบอบ คสช. คือ การลงถนน คือการที่ประชาชนออกมาแสดงพลังกันอย่างต่อเนื่อง แล้วเอาจริงเอาจังกับมัน ไม่ใช่แค่เชิงสัญลักษณ์อีกต่อไป แต่มันคือความหนักแน่นของข้อเรียกร้องว่าเราต้องการอะไรกันแน่ ถ้าไม่มีข้อเรียกร้อง ที่เราเรียกกันไปไม่ได้ เราก็ไม่ยอม สู้ต่อไป ตราบใดที่ประชาชนหนักแน่นแบบนี้ จำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ ผมคิดว่าความหวังที่เราจะเห็นการเลือกตั้ง มันจะเกิดขึ้นปีนี้ มีแน่ๆ

ดังนั้นเงื่อนไขอยู่ที่ประชาชน ประชาชนเอาด้วยกับผม เรามีลุ้น แต่ถ้าประชาชนไม่เอาด้วย สมมติว่าผมยกตัวอย่าง วันที่ 24  (24 ก.พ. 2561) ที่จะถึง ประชาชนมากันหลักร้อย โอกาสที่เราจะเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้น หมายถึงจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปีนี้ ก็ยาก ตอนนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องการพลังจากทุกภาคส่วน มาร่วมด้วยช่วยกันสู้ ช่วยกันทำ ผมอาจจะยืนอยู่บนรถไฮปาร์คพูด แต่ผมคนเดียวไม่พอ ผมไม่ได้เก่งมาจากไหน ผมก็แค่สู้เท่าที่ผมสู้ได้ ผมต้องการให้ทุกคนมาร่วมด้วยช่วยกันสู้ วันนี้ผมเอาตัวเขาเสี่ยง เพราะผมเชื่อว่าผมจะทำได้ อย่างน้อยๆ ผมเชื่อว่าผมได้ประโยชน์จากแผ่นดินนี้มาเยอะ แล้วผมต้องการตอบแทนแผ่นดินที่ผมอยู่ ผมรักประเทศไทย ผมรักประเทศไทยมากกว่าที่หลายคนได้ตราหน้าเอาไว้ ดังนั้นผมจะพยายามทำทุกวิถีทางให้แผ่นดินนี้ กลายเป็นแผ่นดินของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มันเป็นแผ่นดินที่มีเสรีภาพ มันต้องมีความเท่าเทียมกัน มันจะต้องมีความยุติธรรมให้กับทุกคน และที่สำคัญเลยคือจะต้องมีประชาธิปไตย เพื่อเป็นหลักยืนยันว่าสามสิ่งข้างต้นมันจะเกิดขึ้นได้จริง

โรมเรียกร้องให้ประชาชนออกมาบนท้องถนน คำว่าประชาชนของโรมหมายถึงใคร ?

ก็หมายถึงทุกคน

แต่ว่าถ้าเราดูจากคนที่ที่ไปร่วม ปฏิเสธไม่ได้ว่า มวลชนเกือบ 80% เป็นคนที่เคยร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดงมาก่อน เป็นคนที่ออกมาคัดค้านรัฐประหารในช่วงแรกๆ

ผมอาจจะตาบอดสีก็ได้นะ แต่ผมเห็นแค่ สามสี น้ำเงิน ขาว และแดง ผมเห็นแค่นี้ ผมไม่เห็นสีอื่น ทุกคนมีสามสีนี้ ผมไม่สนใจว่าใครจะเคยมีประวัติความเป็นมายังไง สิ่งที่ผมสนใจมีเพียงแค่เรื่องเดียว เราจะทำเพื่อประเทศชาติของเรา คือการเอาสิทธิของประชาชนกลับคืนมา นั่นคือการเลือกตั้ง

โรมชวนคนทุกฝ่ายมา แต่ก็เคยถูกโจมตี ป้ายสี จากคนอีกฝั่ง...

ผมว่าไม่มีคนอีกฝั่งนึงนะ ผมคิดว่าผมไม่ได้เป็นฝ่ายตรงข้าม แต่ถ้าถามว่าผมเป็นขั้วตรงข้ามกับใคร ผมเป็นขั้วตรงข้ามกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมเป็นขั้วตรงข้ามกับพลเอกประวิตร ถ้าใครรู้สึกว่าคุณเป็นขั้วตรงข้ามกับสองคนนี้ กับ คสช. เราคือพวกเดียวกัน สำหรับผมไม่มีขั้วตรงข้ามอย่างอื่น

เข้าใจว่ามีการนัดชุมนุมใหญ่ เดือนพฤษภาคม 3 คืน 4 วัน ข้อเรียกร้องในการชุมนุมใหญ่คืออะไร

เหมือนเดิม แต่ผมไม่ปฏิเสธว่าข้อเรียกร้องอาจจะเปลี่ยน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข คือถึงที่สุดเราก็ไม่ได้อยากจะไปถึงจุดนั้น ถ้า คสช. กำหนดวันเลือกตั้งและการันตีให้ประชาชนรู้สึกมั่นใจได้ว่า เราจะมีการเลือกตั้ง ไม่สืบทอดอำนาจอีก แต่ก็เหมือนที่หลายคนคิดไว้ว่า คสช. ก็คงไม่ทำ เราก็คงต้องเดินหน้าต่อไป ผมก็ตั้งคำถามไปกับ คสช. คุณมาอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งคุณก็รู้ดี คุณอยากจะไปแบบไหน คุณอยากจะไปแบบดีๆ ลงจากอำนาจเอง หรือคุณจะไปอย่างที่ประชาชนไล่ ถ้าคุณไปแบบที่ประชาชนไล่ ก็เสี่ยงกันหน่อย

มีความมั่นใจแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาทางกลุ่มไม่เคยมีการจัดชุมนุมใหญ่ มีความพร้อมแค่ไหนที่จะชวนคนมาร่วมเสี่ยงด้วย

ความพร้อมของเรามันอาจจะไม่ใช่แค่ผม มันเป็นความพร้อมของประชาชนที่จะถามว่า เราพร้อมไหมถ้าประเทศนี้มันไม่มีอนาคต เราพร้อมไหมถ้าเรามีลูกหลานแล้วต้องมารับมรดกแบบนี้จากเรา เราพร้อมไหมกับการที่จะให้คนกลุ่มหนึ่งทุจริตคอรัปชั่น เกื้อกูลให้กับญาติพี่น้อง สามารถเปิดธุรกิจในค่ายมีนาฬิกา 25-26 เรือน ถ้าเราคิดว่าเราพร้อมแบบนี้ พร้อมที่จะให้เขาอยู่แบบนี้ อยู่บ้านก็ได้

หรือถ้าใครไม่เห็นด้วยกับวิธีการผมไปทำอย่างอื่นก็ได้ ผมไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยตรงกันทั้งหมด เพียงแต่ว่าอย่างที่ผมย้ำไปว่าเราไม่มีวิธการอื่น ผมถึงบอกว่าเราจะต้องรวมพลังกันเป็นหนึ่ง เพื่อสู้ไปด้วยกัน แต่ถามว่าในด้านหนึ่งผมก็ต้องบอกทุกท่านอย่างแฟร์ๆ ว่า เสี่ยงไหม เสี่ยงแน่นอน แล้วผมก็คิดว่าคนที่เข้ามาร่วมเขาก็ประเมินแล้วว่าเสี่ยง ผมไม่ได้เป็นเจ้าของมวลชน ผมคิดว่าชาวบ้าน พี่น้องประชาชนที่มาร่วมด้วยกันทั้งวันที่ 27 มกราคม วันที่ 10 กุมภาพันธ์ และตอนนี้เริ่มมีประชาชาออกมาแสดงพลังในหลายๆที่ เชียงใหม่ นครปฐม ราชบุรี โคราช สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าพี่น้องประชาชนที่มาร่วม เขาก็รู้ดีว่ามันเสี่ยง เขาก็รู้ว่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาต้องแลก ในแง่ของอนาคต อยู่แบบไม่มีอนาคต มันก็คุ้ม ไม่ใช่คุ้มในแง่ของการชั่งน้ำหนัก สำหรับผมเราไม่สามารถเอาอนาคตประเทศ มาชั่งน้ำหนักกับสองมือ สำหรับผมประเทศชาติสำคัญที่สุด สำหรับผมอนาคตของประเทศชาติเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่มีคุณค่า ไม่มีสิ่งอื่นใด สามารถเทียบอนาคตของประเทศชาติได้เลย เพราะมันไม่ได้หมายถึงวันนี้พรุ่งนี้ แต่มันหมายถึง 5 ปี 10 สิบหรืออาจจะตลอดไป แม้กระทั่งเราสิ้นลมหายใจไปแล้ว สิ่งที่เราทำวันนี้มันก็อาจจะยังคงอยู่ ดังนั้นอนาคตของประเทศชาติมันจึงเป็นสิ่งที่นิ่งใหญ่และสำคัญ ดังนั้นผมจึงทำทุกทางเท่าที่สติปัญญาจะนึกออกได้ ความเสี่ยงมี แต่สำหรับผมยังไงก็ลุยต่อ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net