Skip to main content
sharethis
สื่อเดอะสตาร์จากมาเลเซียรายงานว่าในที่ประชุมเกี่ยวกับเรื่องสิทธิสตรี ประเทศมุสลิมประเทศอื่นๆ วิพากษ์วิจารณ์มาเลเซียในเรื่องที่ยังคงอนุญาตให้มีการขลิบอวัยวะเพศหญิง และเรียกร้องให้มีการยกเลิกประเพณีเช่นนี้
 
ในการประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ครั้งที่ 69 เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมามีกลุ่มตัวแทนชาวมุสลิมตั้งคำถามต่อการที่มาเลเซียยังคงอนุญาตให้มีประเพณีขลิบอวัยวะเพศหญิง
 
ตัวแทนชาวมุสลิมจากบังกลาเทศ อิสมาต จาฮาน กล่าวว่าประเพณีขลิบอวัยวะเพศหญิงนั้นไม่ใช่ประเพณีของอิสลามและเรียกร้องให้มีการยกเลิกประเพณีนี้ จาฮานบอกว่าในฐานะที่เขามาจากบังกลาเทศซึ่งเป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม การตัดปุ่มกระสันของผู้หญิงโดยอ้างศาสนาอิสลามนั้นถือเป็นเรื่องรบกวนจิตใจเขาอย่างมาก
 
นีลา กับร์ จากอียิปต์ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่าการขลิบอวัยวะเพศหญิงเป็นประเพณีของชาวแอฟริกันและไม่เกี่ยวข้องอะไรกับอิสลาม อย่างไรก็ตามในประเทศแอฟริกันและมุสลิมส่วนมากก็ไม่ได้ทำตามประเพณีนี้อีกต่อไปแล้ว กับร์บอกอีกว่าในประเทศอียิปต์มีการสั่งห้ามการขลิบอวัยวะเพศหญิงแล้วไม่ว่าจะมาจากคำสั่งของหมอหรือครอบครัวก็ตาม อีกทั้งเสนอว่าควรจะมีการศึกษาเปรียบเทียบเรื่องเหล่านี้กับประเทศมุสลิมอื่นๆ เพื่อความเข้าใจมากขึ้น
 
อย่างไรก็ตามตัวแทนจากมาเลเซียซึ่งเป็นคนจากสำนักงานอธิบดีกรมอัยการกล่าวว่าการขลิบอวัยวะเพศหญิง "เป็นส่วนหนึ่งของคำสอนศาสนาอิสลาม" และควรจะให้ชาวมุสลิมรับทราบการตัดสินใจของคณะกรรมการฟัตวาประจำชาติมาเลเซีย และบอกว่ามันสามารถยกเว้นได้ถ้าหากมันจะทำอันตรายต่อเด็กผู้หญิง อย่างไรก็ตามตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซียก็อ้างว่าการตัดปุ่มกระสันออกเป็นสิ่งที่ "ไม่เป็นอันตราย" ถ้าหากทำตามกระบวนการของทีกระทรวงวางไว้
 
อย่างไรก็ตามกลุ่มแนวร่วมองคกรภาคประชาชนในมาเลเซีย 37 องค์กรแถลงว่ามีสมาชิก 6 รายจากองค์การแห่งความร่วมมืออิสลาม (OIC) ที่ทั้งหมดไม่เห็นว่าการขลิบอวัยวะเพศหญิงจะเกี่ยวข้องกับอิสลามแต่อย่างใด อีกทั้งยังมองว่าเป็นการที่รัฐบาลพยายามจะ "ควบคุม" ความต้องการทางเพศของผู้หญิงไว้
 
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าการขลิบอวัยวะเพศหญิงหมายถึงการตัดหรือนำชิ้นส่วนบางส่วนจากอวัยวะเพศออกรวมถึงการสร้างความเสียหายต่ออวัยวะเพศนั้นๆ โดยที่ไม่ใช่ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ สำหรับชาวมุสลิมในมาเลเซียแล้วมักจะทำการขลิบอวัยวะเพศหญิงในแบบที่ 1 คือการตัดหนังหุ้มของคลิตอริสออก แต่ก็มีบางส่วนที่กระทำในแบบที่ 4 คือ การจี้หรือตัดคลิตอริสออก
 
โดยที่ในปี 2555 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติผ่านร่างมติที่ระบุว่าการกระทำเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเรียกร้องให้นานาชาติสั่งห้ามการกระทำเช่นนี้
 
มาเลเซียเป็นประเทศที่ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบตั้งแต่ปี 2538 และจะต้องรายงานความคืบหน้าทุกๆ 4 ปี

เรียบเรียงจาก
 
Malaysia urged to abolish female genital mutilation, The Star, 22-02-2018

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net