อาสาสมัครสร้างสรรค์กับการสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรมในมะนิลา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การเกิดของพื้นที่ทางเลือกของปฏิบัติการศิลปะและวัฒนธรรมที่ริเริ่มโดยเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เกิดขึ้นทั่วเอเชียในรอบไม่กี่ปีที่ผ่าน เราจะเห็นว่าพื้นที่เหล่านี้ล้วนมีกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบที่ขึ้นอยู่กับความถนัดของสมาชิก ซึ่งจำนวนเป็นศิลปินแต่อีกส่วนหนึ่งก็ไม่ใช่ หากแต่เป็นเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมทำกิจกรรมด้วยการเป็น “อาสาสมัคร” ในข้อเขียนชิ้นนี้ผู้เขียนสนใจกลุ่มอาสาสมัครที่เข้าร่วมทำกิจกรรมที่ 98B Collaboratory ที่อยู่ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์[1] ทำไมถึงต้องเป็นที่ประเทศนี้ เหตุผลก็คือฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ของกิจกรรมกลุ่มอาสาสมัครมาอย่างยาวนาน
 

(1)

ผู้เขียนได้ให้ความสนใจที่จะศึกษากิจกรรมอาสาสมัครของ 98 B : Collaboratory ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นพื้นที่ที่เพิ่งทำกิจกรรมมาไม่นาน ประกอบกับก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสรู้จักกับมายุมิ ฮิราโน(Mayumi Hirano)นักวิจัยชาวญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันเป็นภัณฑารักษ์ของที่นี้ ปัจจุบัน 98B ตั้งอยู่ในห้องในชั้น 2 ของ First United Bldg. อาคารเก่าอายุกว่า 90 ปีในย่านชุมชนธุรกิจเก่าที่เคยเป็นย่านชุมชนชาวจีน บนถนน Escolta St ในกรุงมะนิลา มายูมิได้กล่าวว่า 98 B เป็นอาร์ตสเปซที่เธอร่วมทำกับมาร์ค ซาลวาตัส (Mark Salvatus) วิชวลอาร์ติสชาวฟิลิปปินส์ซึ่งปัจจุบันเป็นสามีของเธอ โดยเริ่มกิจกรรมขึ้นในกลาง ปี ค. 2012 โดยได้ไอเดียจากการคุยกับเพื่อนๆในระหว่างทำอาหารกินที่บ้าน ทั้งหมดพบว่ากิจกรรมวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ทั้งเธอ กับมาร์คและเพื่อนๆสร้างสรรค์กันนั้น ค่อนข้างหาพื้นที่ทำกิจกรรมหรือจัดแสดงยาก ด้วยเหตุผลที่ว่าสถานที่จัดแสดงไม่ว่าแกลเลอรี่หรืออาร์ตสเปซต่างๆมักให้ความสำคัญกับการแสดงของศิลปินที่มีชื่อเสียง และภัณฑารักษ์ที่ดูแลการคัดเลือกงานมักไม่เปิดกว้างกับการรับงานศิลปะและกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายสไตล์  ดังนั้น เธอ มาร์คและเพื่อนๆจึงริเริ่มกิจกรรมแรกโดยใช้ห้องพักของมาร์คที่ 98 B Cubao ที่อยู่ไม่ไกลจากที่ปัจจุบันมากนัก และได้กลุ่มเพื่อนๆที่มาทำอาหาร่วมกันมาช่วยทำกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ร่วมก่อตั้ง 98 B ทั้งหมด 7 คน เธอพูดติดตลกว่าห้องพักของมาร์คคือสตูดิโอศิลปะที่ถูกขับเคลื่อนด้วยไอเดียที่เกิดมาจาก “ห้องครัว”

Picture 10

 

 (2)

การเปิดพื้นที่ห้องในบ้านของมาร์คเพื่อทำกิจกรรมศิลปะ วัฒนธรรมและการแสดง เริ่มแรกจึงเป็นแค่เพื่อให้โอกาสเพื่อนศิลปินเข้ามาแสดงงานที่ตนอยากแสดง ผู้ที่เข้าร่วมชมก็ยังคงเป็นคนในแวดวงศิลปะมายุมิบอกว่า 98 B เกิดจาก“ความร่วมมือกัน”( collaboration) จึงไม่ได้วางกรอบในเรื่องของประเภทการทำกิจกรรมไว้ แต่มีเป้าหมายการทำงานอยู่ใน 5 แนวทางเพื่อก่อให้เกิดเป็นชุมชุน เครือข่าย ห้องสมุด ครัวและร้านจำหน่ายสิ่งขอ (community, network, library, kitchen, shop) โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มศิลปินเข้ามาใช้พื้นที่สร้างสรรค์งานและกิจกรรมต่างๆ โดยไม่มีค่าตอบแทนให้ และสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและสาธารณะ โดยศิลปินที่เข้าร่วมที่ผ่านมาจะมีทั้งกลุ่มคนทุกคนต้องคำนึงถึงหลักการ แบ่งปัน ถกเถียงและร่วมมือ ( sharing, discussion and collaboration) นอกจากที่กลุ่มศิลปินและนักกิจกรรมทั้ง 7 ที่เป็นผู้ก่อตั้งแล้ว ในปัจจุบันได้นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ศิลปินหรือคนสร้างสรรค์อื่นๆ เช่นนักดนตรี นักศึกษา ภัณฑารักษ์ นักการศึกษา กราฟฟิคดีไซน์ เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครทำกิจกรรมหรือช่วยทำกิจกรรมต่างๆ โดยมีวาระคนละ 1 ปี โดยทั้งหมดทำงานโดยไม่มีผลตอบแทน อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือเนื่องด้วยห้องที่ใช้เป็นห้องในอาคารที่พักอาศัยซึ่งทำให้เป็นที่สนใจของคนชุมชน การเกิดปฏิสัมพันธ์กับชุมชนเพื่อนบ้านจึงเกิดตามขึ้นมาหลังจากกิจกรรมมีขึ้นไม่นานเพื่อนบ้านในย่านนั้น ที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและเด็กๆก็เริ่มสนใจ บ้างก็เข้ามาร่วมทำกิจกรรม บ้างก็เข้ามาพูดคุยแบ่งปันความคิดมากขึ้น บ้างก็เข้ามาเป็นอาสาสมัครทำโน่น ทำนี้ แล้วแต่ที่จะช่วยได้

 หลังจาก 5 ปี จากการริเริ่มทำงานของ 98 B จากห้องพักของมาร์ค พวกเขาได้เข้าไปสร้างพื้นที่ศิลปะ HUB Make Lab ร่วมกับคนทำงานสร้างสรรค์อื่นๆที่ตึก First United Bldg 97 

ซึ่งหลังจากย้ายมาที่นี้ก็ได้ริเริ่มกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น และได้รับความร่วมมือจากกลุ่มคนที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมและคนในชุมชนเอง เราจะเห็นว่ากิจกรรมสร้างสรรค์ที่พวกเขาทำเหล่านี้ได้ร่วมกันทำขยายจากเรื่องของ “พื้นที่ส่วนตัว”ออกไปสู่”ชุมชน” ที่สนองตอบต่อประโยชน์สาธารณะมากขึ้นเป็นลำดับ พร้อมกันนั้น 98 B ก็ดำเนินการด้วยหลักการ “แบ่งปัน ถกเถียงและร่วมมือ”โดยกลุ่มศิลปินและเพื่อนบ้านในชุมชนที่เข้าร่วมด้วยการเป็นอาสาสมัคร ที่ผู้เขียนขอนิยามไว้ว่าเป็น “อาสาสมัครสร้างสรรค์” ( creative volunteer)ที่สนใจการทำงานร่วมกัน (collaborative work) ได้ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ที่น่าสนใจปัจจุบันกิจกรรม 98 B Collaboratory ไม่ได้ได้รับเงินสนับสนุนหลักจากที่ไหน (ได้รับเป็นกรณีๆไปหรือแล้วแต่ศิลปิน/นักกิจกรรมวัฒนธรรมที่เข้าร่วมจะหาทุนมาได้)
 

 (3)

หากเราย้อนไปเพื่อทำความเข้าใจภาพกลุ่มอาสาสมัครและภาคประชาสังคมในฟิลิปปินส์ เราจะพบว่า กลุ่มอาสาสมัครในฟิลิปปินส์เกิดมากลุ่มศาสนาคริสต์และกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองเป็นสำคัญ โดยเริ่มตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงศตวรรษที่ 20 แต่ถ้าเรามองในภาพของประวัติศาสตร์สังคมร่วมสมัยโดยเฉพาะในช่วงระหว่างทศวรรษ 70 – ทศวรรษที่ 80 ภาพของอาสาสมัครในฟิลิปปินส์จากกลุ่มต่างๆนั้นล้วนแล้วแต่มีอุดมการณ์ที่ต้องการเห็นเสรีภาพ ประชาธิปไตยและความยุติธรรมในสังคม จุดนี้ได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวในเชิงการเมืองอันนำมาซึ่งการต่อต้านระบบเผด็จการมาร์กอส และนำไปสู่ยุคประชาธิปไตยเบิกบานในยุคของนางคอราซอน อาคีโน โดยเฉพาะในยุคของอาคีโนจากการที่ภาคประชาสังคมในฟิลิปปินส์เติบโตเป็นอย่างมาก บทบาทของอาสาสมัครในกิจกรรมการเมืองต่างๆยิ่งมีมากขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน ด้วยการที่อาสาสมัครจะจัดอยู่ในกลุ่มประชาสังคม กิจกรรมของอาสาสมัครจึงมักถูกมองไม่ต่างจากกลุ่มนักพัฒนา (NGO worker)จากองค์กรพัฒนาต่างๆ หรือนักเคลื่อนไหวทางสังคมจากทั้งองค์กรชุมชนและองค์กรศาสนา จากสภาพการเมืองร่วมสมัยดังที่กล่าวทำให้คำอธิบายถึง “การเป็นอาสาสมัคร” ( volunteerism) ของฟิลิปปินส์จึงให้ความสำคัญกับกิจกรรมเชิงทางสังคมและการเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งใหญ่เป็นกิจกรรมที่รัฐไม่อาจเข้าไปจัดการได้ และภาคธุรกิจไม่สนใจในการลงทุน เราอาจกล่าวรวมได้ว่า“อาสาสมัครฟิลิปปินส์” ( Filipino volunteers) แยกไม่ออกจากวัฒนธรรมการเมือง
 

(4)

หากเราย้อนมาในกรณีของ 98 B Collaboratory ผู้เขียนเห็น “ความเป็นอาสาสมัคร”ของพวกเขาต่างไปอาสาสมัครของฟิลิปปินส์ในยุคก่อนหน้านี้ พวกเขาสร้างตัวตนบน “พื้นที่ทางวัฒนธรรม”แทน “พื้นที่ทางการเมือง” ในขณะเดียวกันเราก็อาจกล่าวได้เช่นกันว่า “พื้นที่ทางวัฒนธรรม”ก็มี “ความเป็นการเมือง”ในมุมมองของพวกเขาเช่นกัน เพราะการทำกิจกรรมของพวกเขาไม่ได้จำกัดรูปแบบการทำกิจการด้านศิลปะ วัฒนธรรม รวมถึงการแสดงที่ตายตัว หรืออาจกล่าวได้ว่ามี “ กระบวนการเป็นประชาธิปไตยของการผลิตทางวัฒนธรรม” ( democratization of cultural production) อยู่ค่อนข้างมาก ที่จริงเราอาจเรียกกลุ่มเหล่านี้ว่าเป็น “องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร” (Non–profit organization:NPO) ซึ่งเป็นคำที่ใช้ต่างออกไปจากกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO: Non-government Organization) ผู้เขียนเห็นว่าเรายังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ “อาสาสมัครสร้างสรรค์”อยู่อีกมาก ไม่ใช่แค่เพียงในในฟิลิปปินส์ หากรวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในเอเชียด้วย พวกเขาอาจเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมที่เคลื่อนตัวไปแล้ว แต่(ด้วยกรอบความคิดเดิม)ทำให้เรามองพวกเขาไม่เห็น

 

 

เชิงอรรถ

[1] โครงการวิจัยจิตอาสาในเอเซียนที่ผู้เขียนได้ร่วมทำวิจัยในกรณีศึกษาประเทศฟิลิปปินส์ โครงการนี้ได้รับสนับสนุนทุนจากศูนย์คุณธรรม และมีสถาบันเอเชียจุฬาลงกรณ์เป็นผู้ดำเนินการวิจัย ผู้เขียนได้ทำการวิจัยภาคสนามในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท