Skip to main content
sharethis

ยันเสียงแข็ง! “คสช.-รัฐบาล” ไม่เคยยืมเงินกองทุนประกันสังคม เชื่อเป็นการดิสเครดิต

จากกรณีแฟนเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” ได้เสนอผลสำรวจความคิดเห็นในประเด็น ‘ปี 2558 คสช. ในฐานะรัฐบาล ได้ยืมเงินกองทุนประกันสังคมจำนวน 200,000 ล้านบาท และยังไม่คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าว’ นั้น

ล่าสุดวันนี้ (4 มี.ค.) นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ยืนยันว่า คสช. และรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่เคยยืมเงินจากกองทุนประกันสังคมเลย อีกทั้งการลงทุนของสำนักงานประกันสังคมเป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการประกันสังคมและตามที่กระทรวงการคลังกำหนด เชื่อว่าประเด็นดังกล่าวต้องการดิสเครดิตรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคมจะได้มอบหมายให้กองกฎหมายพิจารณาข้อกฎหมายเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้เลขาธิการฯ ได้ชี้แจงผลการบริหารการลงทุนของกองทุนประกันสังคมในปี 2560 ที่ผ่านมา โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 สำนักงานประกันสังคมมีเงินลงทุนจำนวน 1,762,095 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินสมทบที่จัดเก็บจากผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล จำนวน 1.24 ล้านล้านบาท และดอกผลจากการลงทุนสะสม 524,347 ล้านบาท โดยเงินลงทุนสามารถแบ่งเป็นหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงร้อยละ 78 และหลักทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 22 ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมที่กำหนดกรอบการลงทุนในหลักทรัพย์เสี่ยงไม่เกินร้อยละ 40 และอยู่ภายใต้ค่าความเสี่ยงที่คณะกรรมการกำหนด และ ณ สิ้นปี 2560 สำนักงานประกันสังคมสามารถสร้างผลตอบแทนกองทุนประกันสังคมได้ประมาณ 58,000 ล้านบาท โดยคำนวณผลตอบแทนตามมาตรฐานบัญชีภาครัฐคิดเป็นร้อยละ 5.07 และมีผลตอบแทนตามมูลค่าตลาดเท่ากับร้อยละ 6.01 ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่มีอัตราร้อยละ 0.67 และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่มีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 1.37 สำนักงานประกันสังคมจะได้นำผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนไปพัฒนาดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้าง ผู้ประกันตน ให้ได้รับบริการที่ดีและได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบประกันสังคม เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันยังจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศ โดยยึดหลักการดำเนินงานที่โปร่งใส และตรวจสอบได้

ที่มา: สปริงนิวส์, 4/3/2561

พนง.กาสิโนฝั่งพม่าประท้วงให้หยุดงานชั่วคราวไม่แจ้งล่วงหน้า

เมื่อเวลา 01.00 น. วันที่ 3 มีนาคม 2561 แรงงานต่างชาติ ที่มีทั้งพนักงานชาวไทยชาวกัมพูชา และชาวไทย และชาวเมียนมาร์ จำนวน 70 คน ได้ชุมนุมประท้วงหน้าบ่อนกาสิโน ชื่อ ซันซิทตี้ ( Sun City ) จ.เมียวดี ของประเทศเมียนมา ตรงข้ามคลัง 27 บ้านท่าอาจ หมู่ที่ 3 ตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด โดยยื่นปิดทางเข้าหน้าบ่อน ทั้งนี้เพื่อประท้วงทางบ่อน ที่ให้หยุดงานชั่วคราวโดยไม่แจ้งล่วงหน้า

ในระหว่างเกิดเหตุ พ.ต.ไหนหม่อส่อ เลขานุการ กองกำลังพิทักษ์ชายแดน ( BGF ) บก.ควบคุมที่ 3 และ พ.ต.โกเซตอ บก.ควบคุมที่ ๒ ที่รับผิดชอบในพื้นที่ ได้รับฟังเรื่องจากพนักงาน และจะเสนอต่อ พ.อ.หม่องชิดตู่ ผู้บัญชาการควบคุมเขตพื้นที่ 3 และที่ปรึกษาเขตพัฒนาเศษฐกิจพิเศษ เพื่อให้ประสานกับผู้จัดการบ่อนฯ ให้แก้ปัญหาให้กับพนักงานชาวเมียนมาร์ สุดท้ายกลุ่มพนักงานได้พอใจ และยอมสลายตัว

สำหรับบ่อนกาสิโนฝั่งเมียนมาร์ ที่ จ.เมียวดี จะเปิดให้มีการเล่นการพนันตลอด 24 ชั่วโมง มีนักพนันข้ามไปมาระหว่างฝั่งไทย กับเมียนมาร์ตลอด โดยใช้เรือโดยสารข้ามน้ำเมยไป - มา ทำให้รถตู้ รถแท๊กซี่จำนวนมาก มีการส่งคนไปมาตลอดคืน

ที่มา: คมชัดลึก, 3/3/2561

เกิดอุบัติเหตุระหว่างทำงาน ประกันสังคมจ่ายสูงสุด 2 ล้านบาท

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สปส.ได้มีการปรับปรุงเพิ่มค่ารักษาพยาบาล โดยกำหนดให้ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นสูงสุด 2 ล้านบาท

ทั้งนี้ เบื้องต้นจะจ่ายไม่เกิน 5 หมื่นบาท ต่อการเจ็บป่วย 1 ครั้ง หากมีการบาดเจ็บรุนแรงหรือเรื้อรังตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายเพิ่มได้อีก 1 แสนบาท รวมแล้ว ไม่เกิน 3 แสนบาท หรือหากไม่เพียงพอสามารถจ่ายเพิ่มขึ้นได้อีก รวมแล้วไม่เกิน 5 แสนบาท โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์

อย่างไรก็ตาม หากยังไม่เพียงพอสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์พิจารณา คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนให้ความเห็นชอบ เว้นแต่ลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษา หรือสามารถเบิกเพิ่มสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้นายจ้างหรือลูกจ้างจะต้องแจ้ง สปส.ภายใน 15 วัน

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 2/3/2561

บอร์ดประกันสังคม มีมติไม่ปรับลดอัตราเงินสมทบจากกรณีขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ซึ่งมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสุด 308 บาท และสูงสุด 330 บาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 และมติคณะกรรมการค่าจ้างที่เห็นชอบมาตรการลดผลกระทบผู้ประกอบการจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยได้เสนอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละร้อยละ 1 เป็นเวลา 1 ปี เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนสถานประกอบการ ว่า เรื่องการปรับลดเงินสมทบดังกล่าว คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา เพื่อหารือเรื่องการปรับลดอัตราเงินสมทบตามมติคณะกรรมการค่าจ้างเสนอ และได้มีมติไม่ปรับลดอัตราเงินสมทบ เนื่องจากการลดอัตราเงินสมทบเป็นระยะเวลา 12 เดือน หรือชะลอการจ่ายเงินสมทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน จะส่งผลกระทบต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน และเสถียรภาพกองทุน

“ที่สำคัญยังขัดต่อกฎหมายของประกันสังคม และเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดจากค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นคณะกรรมการประกันสังคมได้ให้สำนักงานประกันสังคมเร่งเสนอโครงการลงทุนทางสังคมเพื่อช่วยเหลือนายจ้าง และลูกจ้าง SMEs ที่ได้รับผลกระทบ และนำมาเสนอคณะกรรมการประกันสังคมพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป” นพ.สุรเดช กล่าว

เลขาธิการสปส.กล่าวว่า จากข้อแนะนำของคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษาฯ ที่ได้เร่งให้สำนักงานประกันสังคมเสนอโครงการลงทุนทางสังคมนั้น ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษาฯ โดยพิจารณาโครงการที่มีประโยชน์ต่อ นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ให้ได้รับประโยชน์เป็นสำคัญ และขอให้นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนมั่นใจในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์หลักประกันชีวิตให้กับลูกจ้าง ผู้ประกันตนได้มีหลักประกันชีวิตที่มั่นคง ตลอดจนได้รับบริการที่ทันสมัย เชื่อถือได้ ทั่วถึง และเป็นธรรม พร้อมทั้งให้การดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง ผู้ประกันตน ให้ได้รับบริการที่ดี และประโยชน์สูงสุดจากประกันสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ อันจะส่งผลให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 2/3/2561

รมว.แรงงาน ตรวจศูนย์ OSS ใหม่วันแรก ชี้เหลือต่างด้าวเข้าศูนย์ฯ กว่า 1.4 ล้านคน จี้นายจ้างรีบพามาดำเนินการภายใน 31 มีนาคมนี้

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) เพิ่มอีก 2 แห่ง ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร คือ 1. ภายในห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี ชั้น 6 และ 2. บริเวณชั้นล่างกระทรวงแรงงาน เขตดินแดง โดยที่ห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี จะมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมให้บริการจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติ และอนุญาตทำงาน และจะมีโรงพยาบาลวชิระไปให้บริการนัดตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ จัดเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งแรงงานต่างด้าวสามารถดำเนินการได้ในขั้นตอนเดียว สำหรับศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ที่บริเวณชั้นล่างของกระทรวงแรงงานนั้น จะมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมให้บริการจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร สลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาให้บริการตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ ซึ่งแรงงานต่างด้าวสามารถดำเนินการได้ในขั้นตอนเดียวอีกเช่นกัน

ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวมาจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานแล้ว จำนวน 248,319 คน คงเหลือแรงงานต่างด้าวที่ต้องเข้าสู่กระบวนการฯ จำนวน 1,438,786 คน ขอให้นายจ้างเร่งพาลูกจ้างต่างด้าวฯ ไปดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานที่ศูนย์ OSS ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 นี้ เพราะหากไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด แรงงานต่างด้าวกัมพูชา ลาว เมียนมา จะไม่สามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยได้ ทั้งยังจะมีความผิดตามกฎหมายอีกด้วย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 2/3/2561

อีก 3 เดือน ประกาศใช้ "จรรยาบรรณแม่บ้านต่างด้าว"

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2561 นางบุญสม น้ำสมบูรณ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ นายครรชิต มโนวรางกูร ผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมตัวแทนสภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย ผู้แทนองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ จัดแถลงข่าวเปิดร่างจรรยาบรรณในการจ้างลูกจ้างทำงานบ้าน ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน หลังมีการประกาศใช้กฎกระทรวงแรงงาน ฉบับที่ 14 เพื่อคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน เมื่อพ.ย.2555 จนถึงปัจจุบัน พบว่าลูกจ้างทำงานบ้านหรือที่หลายคนเรียกว่า แม่บ้าน จำนวนมากเป็นแรงงานต่างด้าวไม่ได้รับการคุ้มครองตามที่กฎกระทรวงกำหนด นายจ้างจำนวนมากที่ทำผิดกฎหมายมักกระทำโดยไม่ตั้งใจ เนื่องจากไม่ทราบรายละเอียดของกฎกระทรวง

ดังนั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง จัดทำ “จรรยาบรรณในการจ้างลูกจ้างทำงานบ้าน” เพื่อถือเป็นแนวปฏิบัติตามหลักความสมัครใจ โดยเน้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความพึงพอใจ สอดคล้องกับมาตรฐานของกฎหมายทั้งที่บังคับใช้ในประเทศและข้อตกลงอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ จะนำเสนอต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อประกาศใช้จากนี้ไปภายใน 3 เดือนและดำเนินการเผยแพร่สู่สาธารณชนได้รับทราบต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของจรรยาบรรณฯ ได้กำหนดขอบเขตใช้กับงานบ้านที่หมายถึง งานที่ทำเพื่อครัวเรือนไม่ว่าจะมีกี่ครัวเรือน เช่น ซักรีด ทำอาหาร ทำความสะอาด ดูแลบ้าน คน ทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน โดยงานบ้านดังกล่าวต้องไม่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย มีเนื้อหาคลอบคลุม 6 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.การทำสัญญามาตรฐาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันทั้ง 2 ฝ่ายมีความชัดเจนในขอบเขตของงาน 2.การตั้งครรภ์ที่สามารถลาไปตรวจสุขภาพและลาคลอด 3.การส่งเสริมเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน 4.การไม่เลือกปฏิบัติ การเคารพความเป็นส่วนตัว 5.การให้โอกาสในการพัฒนาทักษะอาชีพ และการศึกษา และ 6.การห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี

นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดด้วยว่าจะทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์มีวันหยุดตามประเพณี ไม่น้อยกว่า 13วันต่อปี วันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่า 6 วันต่อปี ทำงานวันหยุดต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่า 1 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมงสำหรับลูกจ้างรายเดือนหรือไม่น้อยกว่า 2 เท่าของลูกจ้างรายวัน ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริงโดยได้รับค่าจ้างไม่เกินปีละ 30 วันทำงาน โดยมีใบรับรองแพทย์กรณีที่ลาป่วยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป นายจ้างบอกเลิกจ้างล่วงหน้าอย่างน้อย 1 งวดการจ่ายค่าจ้างและลูกจ้างมีสิทธิได้รับใบผ่านงาน

นางบุญสม กล่าวอีกว่า นายจ้างยอมรับที่จะจ้างลูกจ้างทำงานบ้านที่ถูกต้องตามกฏหมาย โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบทางสังคม และสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานสากลที่เกี่ยวข้องกับงานบ้าน ตลอดจนหลักสิทธิมนุษยชน โดยสนับสนุนให้ลูกจ้างเข้าถึงหลักประกันทางสังคม หรือสวัสดิการอื่นๆ เช่นสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วย ประสบอันตราย หรือถึงแก่ชีวิตมิใช่เนื่องจากการทำงาน

ทั้งนี้ในภาพรวม หลายประเทศมีการจัดทำจรรยาบรรณของนายจ้างที่มีลูกจ้างทำงานที่บ้าน แต่ในประเทศไทย เป็นครั้งแรกที่ริเริ่มจัดทำฉบับร่างขึ้นมา เนื่องจากการจ้างงานทำงานที่บ้าน หรือจำนวนแม่บ้านที่จ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แรงงานมักอาศัยอยู่รวมชายคาเดียวกับนายจ้าง ซึ่งจรรยาบรรณฉบับร่างนี้จะมีส่วนช่วยให้การทำงานในบ้านของลูกจ้างสามารถทำงานเกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย และยังเป็นการคุ้มครองแรงงานให้สามารถทำงานได้เต็มกำลังความสามารถ

แม้ว่างานบ้านไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจโดยตรง แต่ก็เป็นงานที่อำนวยประโยชน์ให้กับสมาชิกในครัวเรือน งานบ้านจึงเป็นงานที่สนับสนุนทั้งเศรษฐกิจของประเทศและของโลก และยังเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะหลายๆ ด้าน ต้องอาศัยความซื่อสัตย์สุจริต ความน่าเชื่อถือไว้วางใจ การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน หรือจะเรียกได้ว่า ต้องทำงานด้วยจิตใจที่ดี งานบ้านจึงไมใช่งานที่ต่ำต้อยหรือด้อยค่าแต่อย่างใด

ที่มา: คมชัดลึก, 28/2/2561

สหภาพ กสท ยื่นฟ้องดีอีต่อศาลปกครอง ปมตั้งบริษัทลูก-บังคับโอนทรัพย์สินโทรคมฯ

นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) กล่าวว่า เมื่อวานนี้ ( 27 ก.พ.)ตนพร้อมทนายความและตัวแทนพนักงาน กสท โทรคมนาคม ได้เดินทางไปยังศาลปกครองกลาง เพื่อยื่นคำฟ้องในฐานะสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท โทรคมนาคม ต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) คดีดำ ที่ 571/2561 เพื่อให้มีคำสั่ง 2 เรื่อง คือ 1. ยกเลิกหรือเพิกถอนการจัดตั้ง บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC Co.) และ บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN Co.) 2.ระงับหรือยกเลิกการแยกหรือโอนทรัพยากรที่มีค่าของรัฐวิสาหกิจ กสท โทรคมนาคม ไปให้บริษัทลูก NGDC Co. และมีคำสั่งระงับหรือยกเลิกการแยกหรือโอนทรัพยากรที่มีค่าของรัฐวิสาหกิจ บมจ. ทีโอที (TOT) ไปให้บริษัทลูก NBN Co.

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ที่ผ่านมา สหภาพฯ ต่อสู้ และคัดค้านเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด มีความพยายามในการทำหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องมาแล้วมากกว่า 20 ฉบับ ทั้ง กระทรวงดีอี ผู้บริหาร กสท โทรคมนาคม คณะกรรมการบริษัท สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตลอดจนนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่หนังสือที่ตอบกลับมามีเพียงหนังสือจากฝ่ายบริหารที่ตอบมาแบบไม่ตรงคำถามเพียง 4 ฉบับเท่านั้น

ล่าสุดสหภาพฯยังให้เส้นตายกับกระทรวงดีอีในการตอบความชัดเจนดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 ต.ค.60 ที่ผ่านมา โดยให้เวลาตอบหนังสือกลับมาภายใน 15 วัน แต่เรื่องก็เงียบเหมือนเคย ทำให้ฟางเส้นสุดท้ายของเราขาด และไม่รู้จะพึ่งใครนอกจากศาล และมั่นใจว่าศาลจะเป็นที่พึ่งได้ ภายใน 15 วันนี้จะได้รู้คำตอบว่าศาลจะมีความเห็นอย่างไร ซึ่งตนเองก็หวังว่าจะให้มีการยกเลิกหรือคุ้มครองชั่วคราวไปก่อน

"หนังสือคัดค้านและสอบถามข้อเท็จจริงหลายฉบับที่เราทำ มติ ครม.เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2560 ก็ให้กระทรวงดีอีเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับพนักงานและสหภาพฯ แต่ก็ไมได้รับการชี้แจงหรือคำตอบแต่อย่างใด การแยกทรัพย์สิน มันขัดต่อนโยบาย ไม่ใช่การเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ทำให้ทั้ง 4 บริษัท คือ บริษัทแม่และบริษัทลูกอ่อนแอ รัฐจะขาดเครื่องมือดำเนินธุรกิจแทนรัฐ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะและในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีการถ่วงดุลราคา เอกชนจะผูกขาดในกิจการโทรคมนาคม ผู้ใช้บริการ หรือประชาชนจะถูกเอาเปรียบ"นายสังวรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ตนเองในฐานะตัวแทนสหภาพฯมีความมั่นใจว่าสามารถมีสิทธิ์ในการเป็นโจทย์ยื่นฟ้องต่อกระทรวงดีอีได้ ตามพ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 มาตรา 40 (4) ที่ระบุว่า "สหภาพฯสามารถดำเนินการและให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ" เพราะไม่เพียงแต่พนักงานจะเสียประโยชน์เท่านั้น องค์กร และประชาชน รวมถึงประเทศชาติ ก็จะเสียประโยชน์ในการตั้ง 2 บริษัทลูก

เนื่องจากการต้องโอนทรัพย์สินไปให้บริษัทลูกโดยที่บริษัทแม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเช่าเพื่อใช้งานโครงข่ายของบริษัทลูก เท่ากับว่า นอกจากจะทิ้งหนี้สินที่บริษัทแม่ต้องรับผิดชอบแล้ว บริษัทแม่ยังไม่มีรายได้จากการให้บริการโครงข่าย แถมยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการเช่าทรัพย์สินที่เคยเป็นของตนเองอีกด้วย และหากคู่สัญญาที่เช่าอุปกรณ์ของบริษัทแม่เกิดปัญหา ต้องให้บริการเพื่อความสะดวกแก่ประชาชน บริษัทแม่จะไม่สามารถบริหารจัดการได้ เพราะทรัพย์สินได้ถูกแยกไปอยู่ที่บริษัทลูกหมดแล้ว สุดท้ายประชาชนก็เดือดร้อน ที่สำคัญโครงข่ายด้านโทรคมนาคมของประเทศควรเป็นของรัฐเพื่อสร้างความมั่นคงให้ประเทศ แต่กลับตกไปอยู่ในมือของเอกชน อย่างนี้แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเอกชนจะช่วยรัฐในการสร้างความมั่นคงให้ประเทศ

นายสังวรณ์ กล่าวว่า การดำเนินการแยกทรัพย์สินที่เป็นโครงข่ายหลักและบริการไปยังบริษัทลูกยังไม่มีความชัดเจนจากแผนปรับเปลี่ยนธุรกิจและแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการที่อยู่ระหว่างบริษัทที่ปรึกษาพิจารณาดำเนินการ และที่ต้องจัดทำแผนดำเนินการที่สมบูรณ์ เพื่อให้สะท้อนมูลค่าทรัพย์สินประมาณการณ์รายได้ ค่าใช้จ่าย และผลตอบแทนทางการเงินที่แท้จริง เหล่านี้ ยังไม่เห็น แผนถ่ายโอนทรัพย์สิน แผนการโอนย้ายพนักงาน และแนวทางในการกำกับดูแลการดำเนินการ รวมถึงแผนเพิ่มประสิทธิภาพของบริษัทแม่ ก็ไม่ปรากฎ จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดแย้งกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2550 เรื่องหลักเณฑ์การจัดตั้ง/ร่วมทุนและกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ กล่าวคือ บริษัทในเครือต้องไม่ดำเนินกิจการที่เป็นภารกิจหลักของรัฐวิสาหกิจแม่ และต้องพิจารณาผลกระทบและประโยชน์ที่บริษัทแม่จะได้รับก่อนจึงจะขออนุมัติความเห็นจาก ครม.ต่อไป

ดังนั้นการจัดตั้งบริษัทลูกที่เห็นชอบในหลักการซึ่งได้รับการยกเว้นเหมือนที่บริษัทแม่ได้รับเมื่อตอนแปลงสภาพเป็นบริษัทจำกัดตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ดังนั้นหากจะมีการโอนทรัพย์สินออกจาก บริษัทแม่ จะต้องดำเนินการตามกฎหมายก่อน เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและรัฐวิสาหกิจ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 (9) โดยให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เป็นอันดับแรก และต้องมีการกำหนดกิจการ สิทธิ์ หนี้ ความรับผิดชอบและสินทรัพย์ที่จะโอนไป ให้มีขั้นตอนความชัดเจน โปร่งใส และปฎิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน

เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐมนตรีกระทรวงดีอี ไม่ได้นำหลักเกณ์ คำสั่ง กฎ ระเบียบ และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องมาปฏิบัติเลย รวมถึงคำแถลงนโยบายของครม.ข้อ 6.14 ที่ระบุว่า "พัฒนาและปรับปรุงระบบบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายและมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจเพื่อให้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพของรัฐในการพัฒนาประเทศ และพัฒนากลไกการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศส่วนรวม คุ้มครองผู้ใช้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ " ด้วย

ส่วนทางด้านสหภาพแรงงานฯทีโอที กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและดูท่าทีของสหภาพฯกสท โทรคมนาคม ก่อน ว่าศาลจะมีความเห็นอย่างไร จากนั้นจึงค่อยพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากฝ่ายบริหารของสหภาพฯทีโอทีแบ่งเป็นสองฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกรงว่าจะเสียผลประโยชน์กับฝ่ายบริการทีโอที แต่ทั้งนี้ก็ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งหมดให้กับสหภาพฯกสท โทรคมนาคม ในการเป็นโจทย์ยื่นฟ้องกระทรวงดีอีต่อศาลในครั้งนี้

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 28/2/2561

กระทรวงแรงงานช่วยเหลือ 2 แรงงานไทย ถูกแรงงานกัมพูชาแทงที่เกาหลีใต้

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก "จินตนา ไชโยธา" ได้โพสต์และแชร์คลิปวิดีโอนี้มาจากประเทศเกาหลีใต้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยผู้บาดเจ็บทั้ง 2 คน เป็นแรงงานไทย ที่ถูกกลุ่มแรงงานชาวกัมพูชา 7-8 คน รุมทำร้ายและใช้มีดแทง ก่อนที่ตำรวจจะเข้าช่วยเหลือและนำตัวส่งโรงพยาบาล

1 ในผู้บาดเจ็บคือ นายลำเลียง พลศรีลา เป็นชาวจังหวัดอุดรธานี ซึ่งทางบ้านทราบข่าวและเฝ้าคอยติดตามอาการของลูกชายอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะแม่ของนายลำเลียง มีอาการตกใจจนช็อก กินไม่ได้นอนไม่หลับถึง 2 วัน จนเมื่อวานได้รับข่าวดีว่าลูกชายและเพื่อนอาการปลอดภัยแล้ว

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานได้ประสานสำนักงานจัดหางานจังหวัดอุดรธานี ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยและชี้แจงสิทธิ์การดูแล ตลอดจนค่ารักษาพยาบาลต่างๆ โดยเบื้องต้นจะประสานทางการทูตเพื่อให้เข้าไปดูแล 2 แรงงานไทย อย่างใกล้ชิด

ที่มา: ch7.com, 28/2/2561

กกจ.เปิดรับชายไทย เพื่อไปทำงานช่างที่ "ไต้หวัน" รายได้ดีตกเดือนละกว่า 2.4 หมื่นบาท ระยะเวลา 3 ปี สมัครฟรีวันนี้ ถึง 6 มีนาคม 2561

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รับสมัครชายไทยไปทำงานที่ไต้หวันในตำแหน่งช่างเชื่อม ช่างประกอบ จำนวน 25 อัตรา กับนายจ้างบริษัท FORMOSA HEAVY INDUSTRIES CORPORATION สัญญาจ้าง 3 ปี สมัครด้วยตนเองได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ดำเนินการโดยรัฐจัดส่งไม่เสียค่าสมัครหรือค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้น

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า กรมการจัดหางานเปิดรับสมัครคนหางานไปทำงานในไต้หวันกับนายจ้างบริษัท FORMOSA HEAVY INDUSTRIES CORPORATION จำนวน 25 คน ตำแหน่งช่างเชื่อม 17 คน และช่างประกอบ 8 คน อัตราค่าจ้าง 22,500 เหรียญไต้หวัน หรือประมาณ 24,241.82 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 26/02/2561 : 1 TWD = 1.08 บาท) ระยะเวลาจ้างงาน 3 ปี

ทั้งนี้ นายจ้างรับผิดชอบค่าโดยสารเครื่องบินกลับประเทศไทยเมื่อทำงานครบสัญญาจ้างและค่าบริการดูแลรายเดือนที่ต้องจ่ายให้แก่บริษัทจัดหางานไต้หวัน

คุณสมบัติเป็นเพศชาย อายุ 22-45 ปี ไม่จำกัดส่วนสูงและน้ำหนัก ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา สายตาดีไม่บอดสี ไม่มีประวัติอาชญากรรม และมีประสบการณ์ด้านการเชื่อมและถังโลหะ หลักฐานที่ใช้ในการสมัคร ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบผ่านการเกณฑ์ทหาร (สด.8 หรือ สด.43) รูปถ่าย 2 นิ้ว จำนวน 1 รูป สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) ใบรับรองการผ่านงาน (ถ้ามี)

โดยนายจ้างจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการทดสอบฝีมือให้กับคนหางานทุกคน ผู้สนใจสมัครด้วยตนเองพร้อมหลักฐานการสมัคร ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน อาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ชั้น 10 ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

นายอนุรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การไปทำงานไต้หวันในครั้งนี้เป็นการจัดส่งโดยรัฐ คนหางานไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ได้รับการคัดเลือกไปทำงานจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ได้แก่ ค่ารูปถ่าย ค่าทำหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ ค่าตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ค่าวีซ่า ค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นไม่เกิน 15,000 บาท

ดังนั้น จึงขอเตือนว่าอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้างว่าสามารถจัดส่งไปทำงานได้ โดยต้องเสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทั้งนี้ การไปทำงานต่างประเทศจะต้องไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยขอให้ตรวจสอบกับกรมการจัดหางานก่อน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2245 1034 หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: คมชัดลึก, 26/2/2561

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net