อนุสรณ์ อุณโณ ผู้ใช้เวลาในชีวิตนานมากเพื่อเรียนรู้ว่ารังเกียจเผด็จการ

“ผมใช้เวลานานมากในชีวิตกว่าจะรู้ว่าสิ่งที่รักและสิ่งที่รังเกียจคืออะไร และผมก็ได้ตัดสินใจเลือกที่จะใช้ชีวิตไปตามความที่ผมรู้นั้น เสรีภาพและความเสมอภาคคือสิ่งที่ผมรัก และสิ่งที่ผมรังเกียจที่สุดในชีวิตคือเผด็จการ” อนุสรณ์ อุณโณ

 

หมวกใบหนึ่งของ อนุสรณ์ อุณโน คือคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมวกอีกใบคือนักวิชาการในเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองหรือ คนส. ซึ่งมีบทบาทในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย รวมทั้งคอยช่วยเหลือด้านการประกันตัวตัวให้แก่นักกิจกรรมประชาธิปไตยและผู้ต้องหาทางการเมือง

แต่ในช่วงเดือนกว่า อนุสรณ์ต้องตกเป็นผู้ต้องหาเสียงเองถึง 2 คดีในความผิดเดียวกันคือขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 จากกรณี We Walk และการชุมนุมวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ถนนราชดำเนิน

วันที่ 23 มกราคม 2561 อนุสรณ์โพสต์ในเฟสบุ๊คของตนเอง ภายหลังถูกฟ้องดำเนินคดีกรณี We Walk ว่า

“ผมใช้เวลานานมากในชีวิตกว่าจะรู้ว่าสิ่งที่รักและสิ่งที่รังเกียจคืออะไร และผมก็ได้ตัดสินใจเลือกที่จะใช้ชีวิตไปตามความที่ผมรู้นั้น เสรีภาพและความเสมอภาคคือสิ่งที่ผมรัก และสิ่งที่ผมรังเกียจที่สุดในชีวิตคือเผด็จการ”

อนุสรณ์ไม่ได้วิตกกังวลอะไรกับคดีความ ชีวิตโลดโผนในวัยหนุ่มทำให้เขามองเรื่องนี้เป็นเพียงเหตุการณ์ธรรมดาเหตุการณ์หนึ่งในชีวิต เป็นวิธีการซ้ำซากของรัฐบาลทหาร-เชือดไก่ให้ลิงดู-ที่อีกด้านหนึ่งสะท้อนความหวาดกังวลต่อสถานการณ์ความไม่พอใจของประชาชนที่มากขึ้นทุกวัน เขาเชื่อว่ายิ่งเชือด กระแสความไม่พอใจของประชาชนยิ่งขยายวง

นอกจากนี้ อนุสรณ์ยังย้ำเตือนถึงบทบาทของนักวิชาการต่อการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่ต้องขยับตัวมากขึ้น เป็นปากเป็นเสียงแก่ประชาชนมากขึ้น และการขับเคลื่อนของ คนส. ในอนาคตอันใกล้เพื่อปลุกพลังคนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้งที่กำลังมาถึง

ถึงเวลานี้คุณเป็นผู้ต้องหาแล้ว 2 คดี

ใช่ เป็นข้อหาเดียวกันคือละเมิดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. ซึ่งปัจจุบันข้อหาเช่นนี้ถูกใช้กว้างขวางมาก ผมไม่ใช่รายแรกและคงไม่ใช่รายสุดท้าย มันสะดวกและง่ายที่จะใช้ยับยั้งการชุมนุมหรือแสดงความคิดเห็นของผู้คน และทำให้เกิดความหวาดกลัวของผู้ที่จะมาร่วมชุมนุมในครั้งต่อไป

ในกรณีการชุมนุมที่ราชดำเนิน วันที่ 10 กุมภาพันธ์ คุณก็โดนข้อหาเดียวกัน วันนั้นคุณตั้งใจไปทำอะไร

ผมตั้งใจไปพบปะผู้คน ให้กำลังใจกันและกัน รวมถึงสังเกตการณ์ เพราะในแง่หนึ่งเราเป็นนักวิชาการ เราก็ทำ 2 ลักษณะคือศึกษาทำความเข้าใจและอธิบายแก่สังคม ขณะเดียวกันเราก็มีส่วนร่วมมากขึ้น วันนั้นผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้จัด ผู้จัดก็ไม่รู้ว่าผมจะไป ก็เดินอยู่ท่ามกลางผู้คน บัตรก็ไม่ได้ถูกถ่ายเพราะผมไปช่วงที่เขาผ่อนคลายแล้ว แต่ก็ไม่ได้แสดงตัวโดดเด่นอะไร แม้กระทั่งโปสเตอร์ที่แจกให้ถือ กิจกรรมต่างๆ เราก็ไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ

ประการสำคัญคือมันเกี่ยวโยงกับที่เราเป็นนักวิชาการที่ดูแลบัญชีเอ็มบีเค 39 ที่ใช้สำหรับประกันตัว เนื่องจากตอนกลางวันคุณเอกชัย หงส์กังวานถูกจับกุม แล้วมีการประสานว่าจะยังไม่ให้ประกันจนกว่าการชุนนุมที่ราชดำเนินจะเสร็จ และมีแนวโน้มว่าทั้ง 4 คน (เอกชัย หงส์กังวาน รังสิมันต์ โรม อานนท์ นำภา และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว) จะไปรับทราบข้อหาที่สถานีตำรวจ ผมก็เลยไปประสานงานระหว่าง 2 โรงพัก และผมไม่ได้อยู่จนเสร็จงาน เพราะต้องกลับไปเอาเงินสดที่ถอนออกมาเป็นเงินประกัน แล้วตรงไปที่ สน.ปทุมวันเลย

แปลกใจว่ากับแค่ไปสังเกตการณ์ ผมไม่มีสิทธิ์เดินตรงนั้นเหรอ มันไม่มีป้ายห้ามว่าถ้าผมเดินตรงนั้นแล้วจะโดนข้อหา มันเป็นถนนสาธารณะที่ใครก็เดินผ่านไปมาได้ แล้วก็ไม่มีคำสั่งห้ามใดๆ และคนที่ร่วมจะถูกตั้งข้อหา แล้วทำไมเราจะเดินไปไม่ได้ อีกข้อหนึ่ง เรากลับมายืนยันบนหลักการ มันคือการรวมตัวของผู้คนที่ต้องการพูดถึงปัญหาและความต้องการของเขาภายใต้รัฐธรรมนูญที่รองรับสิทธิอยู่แล้ว มันก็ไม่ผิดอีก จึงรู้สึกว่าโดนข้อหาได้อย่างไร

สองคือโกรธ ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไร จู่ๆ เราก็ถูกหยิบขึ้นมาทำนองเชือดไก่ให้ลิงดูหรือทำให้เราไม่กล้าเคลื่อนไหวต่อ มันแปลว่าสิทธิเสรีภาพของเราในการแสดงความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหวใดๆ จะสามารถถูกตีความเป็นความผิดทางอาญาได้หมด ตรงนี้ แทนที่เราจะเป็นฝ่ายตั้งรับ อาจจะหารือกันในทีมกฎหมายว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะฟ้องร้องดำเนินคดีกลับ คสช. ที่ตั้งข้อหามั่วซั่ว เหวี่ยงแห โดยไม่มีมูล และก่อให้เกิดผลกระทบกับเรา

วิตกกังวลกับการถูกดำเนินคดีหรือเปล่า

ผมไม่กังวล ข้อที่ 1 ตั้งแต่เรื่องความบริสุทธิ์ใจก่อน เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ถูกและมีความชอบธรรม ข้อที่ 2 เราคิดว่าในแง่กฎหมาย ปัจจุบันเรามีรัฐธรรมนูญรองรับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการรวมตัวกันของผู้คนเพื่อสื่อสารประเด็นปัญหาสู่สาธารณะ ดังนั้น ต่อให้มันผิดรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาล มาตรา 295 แต่มันไม่ควรจะใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ มันควรเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่กฎเกณฑ์ทั่วไป ตราบเท่าที่กิจกรรมที่เราทำไม่ละเมิดกฎหมายปกติ มันก็ควรที่จะทำได้

ประการต่อมา ผมคิดว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องกำลังใจด้วย เนื่องจากปัญหาเหล่านี้เราไม่สามารถรอความเมตตาหรือการสงเคราะห์จาก คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เป็นรายกรณีตามความเข้าใจของเขา ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็ผิดพลาดคลาดเคลื่อนและแก้อะไรไม่ได้ อีกข้อที่เราพบคือเราพบการสนับสนุนหรือกำลังใจจากผู้คนมากขึ้น เขาอาจจะชนะในการดำเนินคดี ทำให้ชีวิตเราวุ่นวายมากขึ้น แต่เราไม่เห็นความหวาดกลัวในการใช้มาตรการนี้เพื่อระงับยับยั้งผู้คนไม่ให้ลุกขึ้นมา กลายเป็นว่าเป็นการจุดประกายให้ผู้คนมีความเห็นอกเห็นใจและห่วงใยกันมากขึ้น ผมจึงคิดว่าในการเคลื่อนไหวทางสังคม เราไม่ใช่ฝ่ายที่ตั้งรับหรือเสียเปรียบ เรามีพี่น้องทั่วประเทศที่คอยหนุนและให้กำลังใจ ซึ่งผมเข้าใจว่าพร้อมจะออกมาเป็นระยะๆ สมมติในทางร้ายที่สุดว่ากลุ่มของพวกเราต้องถูกดำเนินคดี ต้องติดคุก ติดตะราง ผมมีความเชื่อว่าเรายังมีคนรุ่นต่างๆ ที่พร้อมจะออกมาต่อจากเรา

หรือนี่คือการแสดงออกว่ารัฐบาลทหารกำลังกังวลกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น?

ใช่ เขากังวล เนื่องจากมีกระแสความไม่พึงพอใจในสังคม 2 กระแสที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ คือหนึ่งกระแสความไม่พอใจการทุจริตคอร์รัปชั่นของคนใน คสช. ซึ่งโยงกับสิ่งที่เขาเคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกรณีทุจริตคอร์รัปชั่น นอกจากปัญหาคอร์รัปชั่นจะไปไม่ถึงไหนแล้ว ยังพบว่าดัชนีติดสินบนใต้โต๊ะขยาย 2-3 เท่า เป็นต้น วิธีการตอบคำถามก็ไม่กระจ่างชัด ตรงข้ามเลย ทำดูประหนึ่งว่าเขาไม่สนใจใยดีว่าความผิดของเขามันเป็นยังไง มันทำให้คนในสังคมรู้สึกถูกไม่เห็นหัว คุณจะพูดพลิกลิ้นอย่างไรก็ได้

ถ้าเราดูจาก New Voter อายุ 18-25 ปี จำนวน 10-15 ล้านคน ที่เกิดมายังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ถึงมีสิทธิ แต่ยังไม่เคยลิ้มรสการเลือกตั้ง ทำยังไงให้เขารู้สึกว่าสิ่งนี้หายไปจากชีวิตเขาและเป็นส่วนสำคัญในชีวิตในฐานะพลเมืองคนหนึ่งในประเทศไทย

ด้านที่ 2 คือ การเลือกตั้ง ในแง่หนึ่งเคยมีคำสัญญาว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จนบัดนี้การปฏิรูปก็ไม่ไปถึงไหน ขณะที่โรดแม็ปที่วางไว้ก็เลื่อนมาโดยลำดับสิบกว่าครั้งแล้วด้วยซ้ำ มันทำให้คนรู้สึกว่าเขาสามารถที่จะพลิกลิ้นรายวันได้ เมื่อสองสิ่งนี้ประกอบเข้าด้วยกัน ไม่ทำตามคำมั่นสัญญาและพลิกลิ้นผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคนที่คิดว่าหัวของเขาไม่ถูกมองอีกต่อไป ทำราวกับว่าเขาจจะทำอะไรก็ได้ในประเทศนี้ ประชาชนไม่มีความหมาย มันจึงเป็นกระแสความไม่พอใจที่ขยายตัวไปเรื่อยๆ

คสช. คงคิดว่าเชือดไก่ให้ลิงดู กำราบไม่ให้คนขึ้นมา แต่กระแสที่เกิดขึ้นไม่เป็นอย่างที่เขาคิด พอวันที่สองคนก็เริ่มมากขึ้น ถึงแม้คนกลุ่มแรกจะถูกดำเนินคดี ถูกตั้งข้อกล่าวหา แต่คนก็พากันมามากขึ้น ที่ราชดำเนินก็มีคนเพิ่มมากขึ้นอีก และยังมีคนที่เชียงใหม่ มีการนัดหมายของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ผมคิดว่ามันมีกระแสความไม่พอใจอย่างก้างขวาง ต้องดูว่าเขาจะรับมือกับความไม่พอใจเหล่านี้ที่ขยายตัวอย่างไร

สิ่งที่เขาให้คำมั่นสัญญาแต่พลิกลิ้นไป เข้าใจได้ว่าเหตุที่เขาเลื่อนอาจจะมีกลยุทธ์ทางการเมือง มีการเตรียมพร้อมฝ่ายตัวเองให้เข้าสู่สนามเลือกตั้ง จะเห็นการตระเวนไปตามที่ต่างๆ เห็นการจ่ายงบประมาณลงไป  มันดูประหนึ่งว่าที่ยืดไปไม่ใช่อะไรหรอก มันเพียงแค่ซื้อเวลาให้ คสช. สร้างฐานและขุมกำลังต่างๆ และกลไกอะไรต่างๆ เพื่อความมั่นใจว่าเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งฝ่ายเขาจะกำชัย สำคัญแต่เพียงว่าขณะนี้กระบวนการที่จะวางขุมกำลงตรงนี้มันยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้นและดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำไป เลยดูเหมือนยื้อกันไปเรื่อยๆ ในแง่ของกฎหมายก็คงยื้อกันไปให้ถึงที่สุดว่าเขาจะทำอะไรได้บ้าง

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ We Walk ได้รับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครอง ทำให้ คสช. ไม่พอใจที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้ราบคาบเหมือนเดิมได้?

ก็มีผล เพราะ คสช.เองก็พยายามกุมกลไกอำนาจรัฐทั้งหมด แต่กลไกอำนาจทั้งหมดก็ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน ในสังคมไทยก็เบียดขับกันมาตลอด ตอนนี้เรามีเนติบริกร มีตุลาการภิวัฒน์ ทำหน้าที่รับใช้ตรงนั้น แต่อย่าลืมว่าคนในแวดวงยุติธรรมหรือศาลก็ไม่ได้คิดแบบนั้นเสมอไป ผมเข้าใจว่าคนในระบบยุติธรรมยังมีคนที่มีใจและเชื่อในความเป็นธรรม คุณไม่ได้ถูกสอนมาให้เป็นเผด็จการ คุณถูกสั่งสอนมาให้อำนวยความยุติธรรมแก่ผู้คนและผมเข้าใจว่าสิ่งนั้นมันยังคงอยู่ ในแง่นี้ก็ใช่ว่า คสช. จะคุมศาลหรือกระบวนยุติธรรมได้ทั้งหมด ถาม มาตอน

จากกรณีมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ไม่อนุญาตให้ We Walk ใช้สถานที่จัดกิจกรรม บวกกับที่คุณเป็นส่วนหนึ่งของ คนส. คุณมองบทบาทสถาบันการศึกษาและนักวิชาการต่อสถานการณ์บ้านเมือง ณ เวลานี้อย่างไร

เราจำเป็นต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมมากขึ้นและเราต้องเกี่ยวข้องกับความเป็นไปของบ้านเมืองมากขึ้น การเพียงแต่สอนและทำวิจัยในชั้นเรียน มันคงไม่สามารถนำสังคมนี้ให้เดินไปข้างหน้าได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ เมื่อเราดูสถานะทางสังคมขอองนักวิชาการในประเทศไทย นอกจากจะมีศัพท์แสงในการอธิบายเป็นวิชาการแล้วยังได้รับการยอมรับ ได้รับความเกรงใจจากคนในสังคม เมื่อบวกกับความฉกรรจ์ของปัญหา สถานะทางสังคมที่คุณมีอยู่ยิ่งถูกคาดหวังมากขึ้นและจำเป็นต้องหยิบมาใช้

ช่วงแรกเรามีปัญหาในการจัดสัมมนาวิชาการในมหาวิทยาลัยในประเด็นที่มันเกี่ยวข้องกับรัฐประหารหรือการเมือง และในช่วงสองปีที่ผ่านมามีความผ่อนคลายมากขึ้น ไม่ได้แปลว่าเขาให้เสรีภาพเรามากขึ้น แต่เขามองว่าเรามีน้ำยาทำได้เท่านี้ เมื่อประเมินแบบนี้เราต้องขยับเพดานและเข้าไปเกี่ยวกับปัญหาสังคมมากขึ้น ลำพังงานเสวนาวิชาการให้ความรู้ความกระจ่างปัญหาก็ต้องทำ แต่มันไม่พอ ต้องแพร่กระจายความรู้ออกไปสู่นอกรั้วมหาวิทยาลัยมากขึ้น แต่วิธีการจะเป็นอย่างไรต้องคิดกัน หรือเราจะจัดงานในรั้วมหาวิทยาลัยแต่ต้องไปไกลกว่าการเสวนาวิชาการ หรือต้องมีประเด็นที่แหลมคมมากขึ้น

ในปีนี้จากสถานการณ์บ้านเมืองกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งไม่ช้าก็เร็ว เขาเองก็เตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งเราก็เห็นอยู่ว่าเขากำลังทำอะไรบ้าง ฉะนั้น เราก็ต้องเตรียมความพร้อมสังคมเพื่อให้เข้าสู่การเลือกตั้งที่มีคุณภาพ บริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่ว่ารัฐธรรมนูญที่เขียนมาจะเข้าข้างอะไรยังไง ในที่สุดมันก็คือพื้นที่ที่เราสามารถขยับได้ ไม่ใช่ในภาวะเช่นนี้ที่เราแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย อย่างน้อยที่สุดเราก็ดึงนักการเมืองมาแถลงนโยบายดึงผู้คนมาพูดปัญหา เราสามารถจะทำอะไรได้มากมายก่ายกองเมื่อมีวาระเช่นนั้น ฉะนั้น สิ่งที่เราจะทำต่อไปในแง่หนึ่งคือ จะให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของสังคม โดยเฉพาะในระยะสั้น 1-2 ปีนี้ที่จะเกิดการเลือกตั้ง

อีกข้อที่จะทำ คือทำกิจกรรมกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยพื้นฐานเราอยู่กับนักศึกษาอยู่แล้ว จะทำอย่างไรให้ภารกิจหลักเอื้อหรือเกื้อกูลกิจกรรมที่เราทำ เราจะหารือกันในกลุ่มและจะแถลงข่าวต่อไปว่าในระยะกลางและสั้น เราจะทำอะไรบ้าง น่าจะมีสองเรื่อง 1 การเลือกตั้ง 2 การทำกิจกรรมกับคนรุ่นใหม่ จะทำให้สิ่งที่เรียกว่าการเมืองที่ปลอดภัยและได้ใจคนรุ่นใหม่เป็นยังไง เพราะตอนนี้การเมืองถูกทำให้เป็นเรื่องน่ากลัวมาก ใครอยากมาเรียกร้องทางการเมืองจะถูก 3/58 เราจะต้องเปลี่ยนภาพหรือความเข้าใจเกี่ยวกับการเมือง ทำยังไงให้การมีส่วนร่วมทางการเมืองปลอดภัยและนอกจากนั้นต้องได้ใจวัยรุ่นด้วย ซึ่งถ้าเราดูจาก New Voter อายุ 18-25 ปี จำนวน 10-15 ล้านคน ที่เกิดมายังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ถึงมีสิทธิ แต่ยังไม่เคยลิ้มรสการเลือกตั้ง ทำยังไงให้เขารู้สึกว่าสิ่งนี้หายไปจากชีวิตเขาและเป็นส่วนสำคัญในชีวิตในฐานะพลเมืองคนหนึ่งในประเทศไทย

เนื่องจากว่าชีวิตผมผ่านความเสี่ยงมาหลายครั้งในวัยหนุ่มฉกรรจ์ ซึ่งผมควรจะยุติชีวิตตัวเองที่โลดโผนโจนทะยานตั้งแต่ 20 ต้นๆ ด้วยซ้ำไป ที่เหลือมันคือกำไร ก็ไม่เหลืออะไรให้เป็นกังวลอีกต่อไป นั่นเป็นข้อดีที่เราสามารถอุทิศหรือใช้ชีวิตและเวลาที่เหลืออยู่ทั้งหมดเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง

ในส่วนของนักวิชาการ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่กลุ่มนักวิชาการ ทั้งกลุ่มที่เคยพลาดพลั้งไป จะต้องออกมายืนแถวหน้ามากขึ้น เพราะตอนนี้เริ่มมีคนตัวเล็กตัวน้อยออกมาเผชิญสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงกว่าเราค่อนข้างมาก ผมอาจจะโดน 2 คดี แต่คิดว่าความเสี่ยงและแรงกระทบที่เกิดขึ้นอาจเทียบไม่ได้กับคนตัวเล็กๆ ซึ่งเขาไม่มีผนังทองแดงกำแพงเหล็กอะไรมาหนุนเขา จะมีแต่เพียงเครือข่ายประชาชนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ฉะนั้นจึงสำคัญมากที่คนที่มีสถานะทางสังคมอย่างนักวิชาการที่ต้องเข้ามาช่วยหนุนเสริมคนเหล่านี้

การเคลื่อนไหวของ We Walk ที่ผ่านพ้นไป คุณคิดว่ามีนัยสำคัญอะไรในเชิงการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนบ้าง

ผมเข้าใจว่า We Walk น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของขบวนการภาคประชาชนในสังคมไทย เพระถ้าเราย้อนกลับไปช่วงทศวรรษเศษที่ผ่านมา ภาคประชาชนมีความเชื่อทางการเมืองที่ต่างกัน มองปัญหาทางการเมืองต่างกัน มองเห็นแนวทางการแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน แต่ We Walk สามารถรวมกลุ่มคนที่ก่อนหน้านั้นกระจัดกระจายมารวมกัน กับข้อ 2 ที่น่าสนใจมากคือ เขาไม่ได้ปฏิเสธอีกต่อไปว่าปัญหาที่ตัวเองประสบไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตามไม่ได้ยึดโยงกับการเมือง ตอนนี้ทุกคนรู้ดีแล้วว่ามันเกี่ยวพันกันและไม่ปฏิเสธที่จะเอาเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งน่าจะเป็นนิมิตรหมายอันดีของขบวนการประชาชนในสังคมไทยซึ่งเคยเฟื่องฟูในทศวรรษ 2530 ก่อนที่จะถดถอยลงไป ผมคิดว่าเหมือนเป็นศักราชใหม่ เป็นบันทึกหน้าใหม่ของขบวนการภาคประชาชน ซึ่งของทั้งพวกเรากันเอง ทั้งนักวิชาการ และกลุ่มกิจกรรมทางสังคม ที่มาผนึกร่วมกันที่จะพาสังคมไทยไปให้ดีกว่านี้

คุณเคยโพสต์ว่าต้องใช้เวลาในชีวิตนานมากเพื่อที่จะรู้ว่ารังเกียจเผด็จการ อยากถามว่าทำไมคุณต้องใช้เวลานานขนาดนั้นเพื่อเรียนรู้ว่ารังเกียจเผด็จการ

ผมไม่ได้ฝักใฝ่ทางการเมืองมาตั้งแต่แรก สมัยเรียนก็ทุลักทุเลด้วยซ้ำไป ไม่ได้เป็นคนตั้งใจเรียนและมีจิตสำนึกเพื่อสังคมอะไรอย่างที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นกัน กว่าจะจบมัธยมก็กระท่อนกระแท่นเต็มทน สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ก็ไม่อยากจะมาเรียน เพียงแต่ว่าไม่รู้จะไปไหน สมัยเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยก็ไม่ตั้งใจเรียน กิจกรรมทางการเมืองก็ไม่มีอะไร ไม่ได้มีสำนึกทางการเมือง สำมะเลเทเมา ไม่ได้เข้าชมรม ไม่ได้เข้าค่าย ไม่เป็นโล้เป็นพาย จบได้ก็เก่งแล้วจบมาก็อยากเป็นศิลปิน เขียนหนังสือ แต่งนวนิยาย ไม่ได้มีสำนึกเรื่องความถูกต้องความเป็นธรรมอะไรเลย

จนกระทั่งจบปริญญาโท 2 ใบด้านวรรณคดีเปรียบเทียบและมานุษยวิทยา ตอนนั้นเริ่มรู้จักกับคนงานเคลื่อนไหวทางสังคมก็เลยได้มาทำงานวิจัยให้ จากนั้นก็ค่อยๆ ซึมซับมาเรื่อยๆ จนอายุ 35 ถึงรู้ว่าตัวเองจะไปทางไหน เส้นทางในอนาคตจะไปยังไง และควรจะอุทิศเวลาที่เหลือในชีวิตให้กับอะไร เริ่มตระหนักว่าผมอยากเป็นนักเขียน แต่การเรียนวรรณคดีคือเราไปอ่านงานเขียนของคนอื่น ขณะที่มานุษยวิทยามันเปิดโอกาสให้เราเขียนชีวิตและโลกด้วยแง่คิดมุมมองและลีลาภาษาอีกแบบ เลยคิดว่าจะนั่งอ่านงานเขียนคนอื่นทำไม เขียนเองดีกว่าในเมื่อเราอยากเป็นคนเขียนหนังสือ แต่เราเขียนในมุมของนักมานุษยวิทยาก็เลยเป็นเหตุให้ไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศและกลับมาสอนหนังสือ

อีกอย่างคือมานุษยวิทยาเน้นการสังเกตการแบบมีส่วนร่วม เมื่อเราเข้าไปในกลุ่มที่เราศึกษาก็ผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก มันเปิดโอกาสให้เราตระหนักถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมและอยากเข้าไปช่วยแก้ไข สองสิ่งนี้มันไปด้วยกัน อย่างที่หนึ่ง ด้วยความที่เราอยากเป็นนักเขียน มันทำให้เราสามารถเขียนได้ด้วยลีลามานุษยวิทยา สองคือด้วยวิธีการศึกษาแบบมานุษยวิทยา มันเปิดโอกาสให้เราเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้คนได้ ด้วยวิชาเช่นนี้ก็ทำให้เราออกไปสู่เส้นทางอย่างที่เห็นในปัจจุบัน พอเริ่มคิดได้ก็รู้ว่าต้องอุทิศให้กับสิ่งที่ผมเชื่อ ถึงบอกว่าผมใช้เวลาค่อนข้างจะนาน

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เห็นโลกมาค่อนข้างจะเยอะและเราผาดโผนมามาก ซึ่งนั่นอาจเป็นข้อดีที่ทำให้ผมมายืนแถวหน้าในการเคลื่อนไหวทางสังคมได้ มันทำให้ผมไม่รู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงกับแรงกดดันใดๆ ไม่ว่าจะในลักษณะไหน เนื่องจากว่าชีวิตผมผ่านความเสี่ยงมาหลายครั้งในวัยหนุ่มฉกรรจ์ ซึ่งผมควรจะยุติชีวิตตัวเองที่โลดโผนโจนทะยานตั้งแต่ 20 ต้นๆ ด้วยซ้ำไป ที่เหลือมันคือกำไร ก็ไม่เหลืออะไรให้เป็นกังวลอีกต่อไป นั่นเป็นข้อดีที่เราสามารถอุทิศหรือใช้ชีวิตและเวลาที่เหลืออยู่ทั้งหมดเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท