Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บางตอนจาก: ธงชัย วินิจจะกูล, “งานทางปัญญาในสังคมจนปัญญา”, ปาฐกถา “ศิลปะกับสังคม” 2559, ณ สถาบันปรีดีพนมยงค์, 24 กันยายน 2559, ตีพิมพ์ในหนังสือ, ปรีดีศึกษาและปาฐกถาศิลปกับสังคม, กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และ สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2560.

………


ถ้าหากในทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ในทางการเมือง ในขณะที่พลเอกประยุทธ์ชอบกล่าวว่า เราติดกับดักประชาธิปไตย หมายถึง มัวแต่คิดถึงประชาธิปไตย ผมกลับเห็นว่า เราติดกับดักกึ่งประชาธิปไตยต่างหาก กล่าวคือ ประมาณ 30-40 ปีที่ผ่านมาเราพยายามไปให้พันภาวะประชาธิปไตยครึ่งใบที่มาในรูปต่างๆ มีทีท่าว่าจะพ้นไปได้เมื่อสถาบันการเมืองประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้ง พรรคการเมือง รัฐธรรมนูญ รัฐสภา ฯลฯ มั่นคงขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ

ระบอบการเมืองในอนาคตใกล้ๆนี้ คาดได้ไม่ยากว่าจะอยู่ในลักษณะประชาธิปไตยปลอมๆ แน่นอน หมายความว่า 40 ปีที่ผ่านมากับอีก 10-20 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย การเมืองไทยติดกับดักกึ่งประชาธิปไตยในรูปต่างๆและไปไม่พ้นภาวะนี้

ผมเห็นว่า ในด้านวัฒนธรรมทางปัญญาความรู้ สังคมไทยเติบโตพัฒนาการด้านนี้มาระดับหนึ่ง แต่ลงท้ายก็ติดกับดักวัฒนธรรมทางปัญญาระดับปานกลางหรือระดับ “พอเพียง” ซึ่งผมขอเรียกว่า “สังคมจนปัญญา” เราไปไม่พ้นภาวะดังกล่าวนี้ ตัวอย่างหลายกรณีที่จะกล่าวถึงในที่นี้น่าจะชี้ให้เห็นภาวะสังคมจนปัญญาในหลายๆ ด้าน 

เรามาเริ่มต้นดูที่กรณีรูปธรรมสำคัญๆ ด้านต่างๆ ที่พอจะเป็นตัวชี้วัดกันก่อนดีกว่า

กรณีที่ 1 นักศึกษาไทยอ่านหนังสือไม่เป็น …

กรณีที่ 2 สื่อมวลชน …

กรณีที่ 3 มหาวิทยาลัย …

กรณีที่ 4 มนุษยศาสตร์ …

กรณีที่ 5 นักแสดงตลกเสียดสี …


กรณีที่ 6 นิยายประวัติศาสตร์

ทำไมนิยายประวัติศาสตร์ดีๆ ไม่มีและเกิดยากในสังคมไทย? ตอบ: เพราะประวัติศาสตร์ไทยศักดิ์สิทธิ์เกินไปตายตัวเกินไป เป็นกรอบและเพดานจำกัดจินตนาการและศิลปะที่อิงกับประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งนักวิชาการที่พบความรู้ใหม่ๆ แต่แย้งความรู้มาตรฐานที่รัฐและกรมวิชาการยึดถือ จะเสนอให้เปลี่ยนแปลงก็ยากแสนยาก ถ้าไม่เชื่อลองถามคุณสุจิตต์ วงษ์เทศดู

เรารู้จักแต่อดีตหรือประวัติศาสตร์ชนิดที่ถือว่าเป็นความจริงแบบศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ชนิดที่เป็นผลผลิตของคำถาม ตีความ ให้เหตุผล มุมมอง จินตนาการ มิต้องพูดถึงประวัติศาสตร์ในแง่ที่เป็นเรื่องแต่ง หรือเป็นวรรณกรรมชนิดหนึ่ง เพราะความรู้ประวัติศาสตร์ที่ผลิตขึ้นใน 100 ปีที่ผ่านมามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างชาติ ต่อการดำรงอยู่ของชาติ ต่อสถานะและอำนาจของชนชั้นนำในสังคมไทย

ด้วยเหตุนี้องค์ประกอบสำคัญๆ ของอุดมการณ์ความเชื่อทางประวัติศาสตร์จึงเป็นสิ่งห้ามหักล้างห้ามปฏิเสธ ได้แก่เรื่องเล่าแม่บท โครงเรื่อง มโนทัศน์หลักและกรอบความคิดที่ใช้เข้าใจอดีต เหตุการณ์สำคัญๆ ที่เป็นตัวแทนสร้างความหมายให้แก่อดีตของไทย (อาทิ เช่น เรื่องของพ่อขุนรามคำแหงและจารึกหลักที่ 1 การประกาศอิสรภาพของพระนเรศวรและการชนช้าง เป็นต้น) เพราะอุดมการณ์ราชาชาตินิยมย่อมถูกกระทบกระเทือนสั่นคลอน คุณลักษณะเช่นนี้เองที่ผมเรียกว่าเป็นความรู้ประวัติศาสตร์ชนิดที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์

เราจึงมีนิยายประวัติศาสตร์ที่ใช้ประวัติศาสตร์ในแค่ 2 แบบหลักๆแค่นั้นคือ

แบบที่หนึ่ง ใช้ประวัติศาสตร์เป็นแค่ฉากหลังของเรื่องโรแมนซ์รักริษยาอาฆาต หมายถึงเรื่องโรแมนซ์ที่สามารถใส่ลงไปบนฉากหลังชนิดใดๆ ก็ได้ไม่ว่าปัจจุบันหรืออดีต ไม่ว่าไทย ล้านนา อียิปต์ ออสเตรีย อังกฤษ ฯลฯ เรื่องเหล่านั้นก็ยังสามารถดำเนินไปได้เช่นเดิม ประวัติศาสตร์ไทยที่ตายตัวเป็นฉากหลังของโรมานซ์ที่เป็นสากล นั่นหมายความว่า “นิยายประวัติศาสตร์” ของไทยมี foreground หรือตัวเรื่องที่ไม่เป็นประวัติศาสตร์เลย ตัวเรื่องไม่ต้องเกี่ยวพัน (engage) กับประวัติศาสตร์เลย แต่ background หรือฉากหลังต่างหากที่ต้องพยายามทำให้ถูกต้องตามที่เชื่อกันว่าเป็นความจริงในอดีตมากที่สุด foreground จะเป็นอย่างไรก็ได้ตราบเท่าที่ไม่ไปแตะต้อง ไม่ engage กับประวัติศาสตร์ที่เป็นฉากหลังซึ่งศักดิ์สิทธิ์นอกเหนือการตีความหรือใช้จินตนาการ

แบบที่สอง ใช้กรอบตายตัวของชาตินิยมหรือราชาชาตินิยมผลิตนิยายวีรกรรมปกป้องชาติบ้านเมืองให้พันจากอันตรายด้วยน้ำมือของต่างชาติและของผู้ร้ายภายในชาติ วีรกรรมนี้เกิดในยุคสมัยใดก็ได้แม้แต่ในยุคที่ยังไม่มีชาติก็ตาม จะจินตนาการตัวละครผู้รักชาติอย่างไรก็ได้ตราบเท่าที่อยู่ภายใต้กรอบดังกล่าว นิยายประวัติศาสตร์ทั้งสองแบบจะถูกประเมินตรวจสอบ ชื่นชมหรือตำหนิติเตียนตรงที่ความถูกต้องมากหรือน้อยต่อ “ความจริง” ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเอาเข้าจริงหมายถึงถูกต้องตรงตามความเชื่อที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมไทย ถูกต้องลงรอยกับเรื่องเล่าแม่บท โครงเรื่องและมโนทัศน์หลัก

ดังนั้นนิยายประวัติศาสตร์ไทยจึงห้ามใช้จินตนาการตีความประวัติศาสตร์เกินขอบเขต ไม่ใช้จินตนาการไปยุ่งกับประวัติศาสตร์เลยก็ดี อนุญาตให้ใช้จินตนาการได้กับตัวเรื่องเท่านั้นเพราะไม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ หรืออนุญาตให้ใช้กับรายละเอียดเพื่อทำให้ “ความจริง” ตามที่เชื่อกันมีชีวิตขึ้นมา ไม่สั่นคลอนไม่ท้าทายต่ออุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ ไม่กระทบกระเทือนเรื่องราวแม่บท ไม่เปลี่ยนโครงเรื่อง ไม่สงสัยตั้งคำถามกับมโนทัศน์และคุณค่าต่างๆ ที่ประวัติศาสตร์เป็นฐานรองรับอยู่

แต่ความรู้ประวัติศาสตร์และนิยายประวัติศาสตร์ในภาษาอื่นๆ มากมายได้พัฒนาการเลยออกไปไกลโขจากความรู้ที่ค้ำจุนชาตินิยมค้ำจุนอำนาจ ความรู้ประวัติศาสตร์ในสังคมที่มีวุฒิภาวะทางปัญญาเป็นความรู้วิพากษ์วิจารณ์ เพื่อสร้างบุคคลที่มีคุณภาพทางปัญญา รู้จักแยกแยะหลักฐานข้อมูล รู้จักฟังหูไว้หูไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่ยอมรับความศักดิ์สิทธิ์หรือการอวดอ้างใดๆ ง่ายๆ

ความรู้ประวัติศาสตร์ชนิดนี้เป็นผลผลิตของปัจจุบันที่ตั้งคำถามแล้วหาหลักฐานเพื่ออธิบายความเปลี่ยนแปลงในเรื่องหนึ่งๆ คำถาม มุมมอง มโนทัศน์ โครงเรื่องและการอธิบายจึงเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จินตนาการกับการตีความแยกกันไม่ออกและจำเป็นอย่างมากต่อการสร้างคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามการศึกษาความรู้ทางประวัติศาสตร์ยังต้องอิงอยู่กับหลักฐาน การตีความและจินตนาการจะไปได้ไกลเท่าที่มีหลักฐานประกอบ ความแตกต่างกับนิยายประวัติศาสตร์อยู่ตรงนี้ 

ในขณะที่ประวัติศาสตร์ตามหลักวิชาการมีข้อจำกัดด้วยหลักฐาน ไม่สามารถจินตนาการหรือตีความเกินกว่าที่สนับสนุน ตรงนี้เองคือภารกิจของนิยายประวัติศาสตร์ที่ดี กล่าวคือต้องอาศัยความรู้ประวัติศาสตร์เป็นฐาน เป็นจุดเริ่มต้นที่จะจินตนาการเลยออกไปจากที่หลักฐานอนุญาต เลยออกไปจากเพดานจำกัดของหลักฐาน เพื่อช่วยให้สามารถจินตนาการถึงความน่าจะเป็น สร้างความเข้าใจที่น่าจะเป็นในประวัติศาสตร์โดยไม่จำเป็นที่เราต้องถือว่าเป็นความจริง นิยายประวัติศาสตร์ที่ดีจึงสามารถช่วยให้ผู้อ่านผู้เสพนิยายนั้นเติบโตทางปัญญาขึ้นไปอีก คิดต่ออดีตได้หลากหลายแง่มุมมากขึ้นไปอีก

การวิพากษ์วิจารณ์คุณค่าของนิยายประวัติศาสตร์ที่ดีจึงไม่ได้อยู่ตรงที่ความสามารถของนิยายนั้นที่จะตอกย้ำขนบหรือกรอบความเชื่อเดิมๆ แต่อยู่ที่ความสามารถของนิยายนั้นที่ช่วยให้เราสามารถเห็นอดีตเลยออกไปจากขนบหรือกรอบความเชื่อเดิม ก้าวล่วงเข้าไปสู่ดินแดนที่นักประวัติศาสตร์ไม่สามารถเข้าไปถึงได้


กรณีสุดท้าย การถกเถียงแบบพวกเคร่งศาสนาในหมู่นักต่อสู้ทางการเมือง …

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net