Skip to main content
sharethis

บรรดาคณาจารย์ นักวิชาการหลายสถาบันร่วมอภิปรายปัญหาหลักเกณฑ์ทางวิชาการของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) พบหลักเกณฑ์มุ่งจัดระเบียบมากเกินไป ล่าช้า ยึดติดวุฒิการศึกษา ทำให้ไม่เกิดอิสระและความหลากหลายทางความรู้ ร่วมลงแถลงการณ์ 323 รายชื่อ ทบทวนเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ ชั้น 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ ‘เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษากับอนาคตอุดมศึกษาไทย’ โดยกลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ พร้อมมีการกล่าวแถลงการณ์ตอนท้าย

อนุสรณ์ อุณโณ

อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีและผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษาย่อมมีอุดมคติในแง่ของการพัฒนาสังคม แม้จะมีการแทรกแทรงจากสถาบันภายนอกทั้งโดยระเบียบหรือค่านิยมความเชื่อ การให้การศึกษาในพื้นที่อุดมศึกษาดำเนินไปได้จะต้องคำนึงประเด็นหลัก ได้แก่การมีอิสระในการจัดการเรียนการสอน และมีความรู้เท่าทันความเป็นไปในโลกภายนอก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมือง โดยสองประเด็นที่กล่าวมามีความสำคัญในการอภิปรายต่อปัญหาการจัดการเรื่องเกณฑ์มาตรฐานการจัดระเบียบพื้นที่ทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาในสังคมไทย

อนุสรณ์กล่าวต่อไปว่า จากเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาปี 2558 พบว่ามีอาจารย์พิเศษต้องมีชั่วโมงสอนไม่เกินร้อยละ  50 ของรายวิชา อาจทำให้นักศึกษาไม่ได้รับความรู้ด้านประสบการณ์มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะสาขาวิชาที่เป็นวิชาชีพหรือเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์จริงตามแต่ความรู้นั้นได้ ในขณะที่ความรู้โลกภายนอกมีการเคลื่อนไหวอัพเดทอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกัน การนำบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นอาจารย์มีตำแหน่งทางวิชาการแต่ทำงานอยู่ในวิชาชีพนั้นๆ เข้ามาเป็นคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พบว่ามีหลักเกณฑ์ที่สูงเกินไป มีกระบวนการที่ยุ่งยากและล่าช้า ทำให้การประเมินผลงานของนักศึกษาเองขาดการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านนั้นโดยตรงไป

ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร นำเสนอผลสะท้อนในฐานะผู้รับผิดชอบหลักสูตรและการสอนวิชาทางศิลปะอย่างสถาปัตยกรรมโดยระบุว่า กฏเกณฑ์ที่ออกมาไม่ว่าการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาปริญญาโทต้องมีตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์(ผศ.) หรือดอกเตอร์(ดร.) หรืออาจารย์ที่ปรึกษาระดับปริญญาเอกต้องมีตำแหน่ง ผศ. เป็นขั้นต่ำ ทำให้ขาดผู้สอนที่มีความประสบการณ์ตรงจากวิชาชีพ ขณะเดียวกันผู้รับผิดชอบหลักสูตรมักได้จากหลักเกณฑ์ที่อิงกับคุณวุฒิทางวิชาการมากกว่าความสามารถในการจัดการหลักสูตรและการบริหาร ทำให้ผลการจัดการไม่เหมาะสมเท่าที่ควร การเรียกร้องบุคลากรทางวิชาการที่เก่งทุกด้านนั้นเป็นเรื่องที่เกินจากความเป็นไปได้ของคนทั่วไป

“เราไม่ได้ต้องการอาจารย์ที่เขียนหนังสือเก่งอย่างเดียวและจะทำให้งานออกแบบทางสถาปัตยกรรมดีได้ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมเป็นสาขาที่ต้องการคนที่ออกแบบทางสถาปัตยกรรมและมีความสามารถทางวิชาชีพด้วย(ในการให้ความรู้แก่นักศึกษา)” ชาตรี กล่าว

สุริชัย หวันแก้ว

สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการและศาสตราจารย์ ประจำศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ กล่าวว่ามาตรฐานหลักเกณฑ์อุดมศึกษาที่ออกมาถือว่าเป็นโจทย์ร่วมกันของทุกมหาวิทยาลัย เพราะมาตรฐานดังกล่าวมีลักษณะเป็นเชิงเดี่ยว คับแคบ มุ่งการจัดระเบียบมากเกินไปโดยไม่คำนึงถึงความซับซ้อนและหลากหลายทางสังคม ก่อให้เกิดความเลยเถิดแก่การให้อิสระทางความรู้

ซ้ายไปขวา: ฉลอง สุนทรวานิช อรรถจักร สัตยานุรักษ์

ขณะที่ ฉลอง สุนทรวานิช ศาสตราจารย์อาวุโสด้านประวัติศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นการนำผู้ทรงคุณวุฒิมาพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการว่าไม่ควรมาจากภายนอก แต่ควรมาจากสาขาวิชาหรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านหนึ่งด้านใดที่เกี่ยวข้องกับผู้ขอรับตำแหน่งโดยตรง ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่ากรณีที่มีการตั้งหลักเกณฑ์ว่างานศึกษาจะต้องมีหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณอย่างเป็นทางการจึงจะถือเป็นงานวิจัยได้นั้น เป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่

อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ยังพบในแพทยศาสตร์ เวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ชุมชนก็พบปัญหานี้ โดยมองว่าประเด็นปัญหามีที่มาจากกรอบคิดวิทยาศาสตร์ที่ล้าสมัย ขาดการเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่น และ สกอ.จะต้องรับฟังคณาจารย์นักวิชาการในมหาวิทยาลัย โดยการตั้งคณะกรรมมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อหารือในการแก้ไขปัญหาอุดมศึกษาไทยที่กำลังเผชิญอยู่

ในช่วงท้ายของการเสวนา มีการกล่าวแถลงการณ์ โดยมีคณาจารย์และนักวิชาการ รวมทั้งสิ้น 324 คน จาก 48 สถาบัน ร่วมลงนามจากการรวบรวมรายชื่อก่อนหน้า

แถลงการณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net