Skip to main content
sharethis

เครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สนับสนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จี้รมว.พลังงานยกเลิก MOU ชี้เสียงค้านเป็นคนส่วนน้อยที่เอ็นจีโอหนุนหลัง ย้ำจะรอติดตามผลอยู่ที่กรุงเทพ และจะมีผู้ชุมนุมมาสนับสนุนอีก

16 มี.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ผ่านมา เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'ฅนเทพา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน' เผยแพร่การถ่ายทดสดวิดีโอกิจกรรมของเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนเดินทางมาบริเวณ ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล

สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า หลี สาเมาะ ประธานเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมพวกกว่า 100 คน เดินทางมาที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามความคืบหน้า การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 

ประธานเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า การเดินทางมาในครั้งนี้ เพื่อ ย้ำจุดยืนเดิมของกลุ่มคนในพื้นที่ ให้รัฐบาลอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่พวกเรารอคอยมา 4 ปีแล้ว ทุกคนต่างเดินทางมาด้วยความเต็มใจ เพราะปรารถนาความเจริญในพื้นที่ ที่จะได้พัฒนาต่อไป และคนเทพาที่มาต่างถือบัตรประชาชนทุกคนแสดงให้เห็นว่าเป็นคนในพื้นที่จริง ๆ อยากฝากถึงรัฐบาลให้ได้รับรู้ว่าพวกเราชาวเทพาหลายหมื่นคนสนับสนุนให้สร้างโรงไฟฟ้าและขอให้รัฐบาลอนุมัติการก่อสร้างโดยเร็ว

หลี กล่าวว่า ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้พิจารณาเหตุผลและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีข้อสรุป คือ ขอให้บรรจุโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไว้ในแผนหลักของแผน PDP ใหม่เหมือนเดิม และ ล้มเลิก MOU  เพื่อสร้างความมั่นใจต่อคนเทพาในการวางแผนพัฒนาอนาคตของคนเทพาต่อไป ให้เร่งรัดดำเนินการพิจารณาผลการศึกษา EHIA ทั้งของโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือให้เป็นไปตามขั้นตอน และอนุมัติให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเดินหน้าโดยเร็วต่อไป และให้รับฟังเสียงส่วนใหญ่ที่สนับสนุนอย่างมีเหตุมีผลด้วยหลักการประชาธิปไตยมากกว่าการรับฟังเสียงคัดค้านส่วนน้อยที่ถูกชักนำและครอบงำจากกลุ่มกรีนพีซ และ NGOs ภายนอกพื้นที่ 

หลี กล่าวว่า ชาวเทพาพร้อมให้ความร่วมมือและช่วยเหลือรัฐบาลและ กฟผ. ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ในพื้นที่ให้หมดไป และพวกตนจะรอติดตามผลอยู่ที่กรุงเทพ และจะมีผู้ชุมนุมมาสนับสนุนอีก

ทั้งนี้เมื่อ วันที่ 12 - 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ – เทพา ของประชาชนเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้วยการอดอาหารและเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ณ บริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ จนได้มีการลงนามระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกับผู้แทนเครือข่ายฯ เพื่อหาทางออกของปัญหาร่วมกัน และให้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic environmental assessment : SEA) เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของโครงการก่อน เป็นผลให้เครือข่ายฯ ยุติการชุมนุม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net