Skip to main content
sharethis

ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ระบุการวางตัวของกองทัพที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ให้เป็นเรื่องของการเมือง ทางทหารเราทำหน้าที่ของตนเองไป ส่วน สมช. เป็นเจ้าภาพทำ MOU แก้ปัญหาชายแดนไทย-มาเลย์

16 มี.ค. 2561 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะ สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงบทบาททำหน้าที่ของกองทัพ ว่า เราได้มีการพัฒนามาตามลำดับ โดยรับผิดชอบภารกิจในหน้าที่ และการสนับสนุนรัฐบาลในมิติต่างๆ รวมถึงการพัฒนาและการช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ยังมีการขยายผลงานในมิติต่างๆเพื่อให้เป็นรูปธรรมทั้งโครงการไทยนิย ยั่งยืน

"เราก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของการเมือง ทางทหารเราทำหน้าที่ของเราไป ถ้าในบทบาทของประชาชนสิทธิหน้าที่ของแต่ละคนมีอย่างไรก็ทำไป" ผบ.ทสส. ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงการวางตัวทางการเมืองของกองทัพที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง

ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองหลายภาคต้องการให้มีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ของ คสช.นั้น พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงไปแล้ว

ด้าน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองเรียกร้องให้ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศการเลือกตั้ง ว่า คสช.ผ่อนคลายอยู่แล้ว แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอน โดยนายกรัฐมนตรีไม่ได้กำชับอะไร แต่อะไรที่ทำให้บ้านเมืองไปได้ดี ทุกคนก็ต้องช่วยกัน

สมช.เป็นเจ้าภาพทำ MOU แก้ปัญหาชายแดนไทย-มาเลย์

สำหรับผลประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย - มาเลเซีย (General Border Committee : GBC) ครั้งที่ 54 เมื่อวานนี้ (15 มี.ค.) ผบ.ทสส. กล่าวว่า ได้หารือในหลายประเด็นและมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการลงนาม MOU เรื่องที่เป็นปัญหาระหว่างกันทั้งหมด ส่วนการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลุ่มก่อการร้ายไอเอส ปกติเรามีการแลกเปลี่ยนข่าวกรองด้านอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงเรื่องปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ อยู่แล้ว ส่วนการแก้ปัญหาบุคคล 2 สัญชาติ เริ่มมีการพูดคุยเรื่องความมั่นคงตามแนวชายแดน โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะเป็นหน่วยงานหลักจัดทำ MOU ร่วมกันและหาแนวทางที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ คาดว่าใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากไทยและมาเลเซีย ตั้งใจและร่วมมือกันเพื้อให้เกิดเป็นรูปธรรม

พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการฝึกร่วมผสมระหว่างไทย-มาเลเซีย ขณะนี้มีหลายระดับ ทั้งการฝึกในระดับกองทัพไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย นอกจากนี้ยังมีการฝึกทางทะเล ทางเรือ การฝึกรบพิเศษ การฝึกกำลังทหารราบ หรือ กองร้อยทหารราบในระดับเหล่าทัพ ที่ครอบคลุมมิติทางบก เรือ และอากาศ ด้วย

พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวด้วยว่า ในการประชุม GBC ไทย-มาเลเซีย ไม่ได้พูดถึงสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ได้หารือในประเด็นความร่วมมือเกี่ยวกับรถยนต์รับจ้างข้ามแดน, ด่านชายแดน และการขยายเส้นทางระหว่าง 2 ประเทศ

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์และสำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net