Skip to main content
sharethis

เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยรวมตัวหน้ากระทรวงเกษตรฯ กว่า 70 คน เรียกร้องรัฐบาลแก้ไขพระราชกำหนดการประมง และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เอื้อประโยชน์ให้ประมงเชิงพาณิชย์ ล่าสุดได้ทำ MOU รัฐมนตรีรับปากจะแก้กฎหมายภายใน 6 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2561 เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยกว่า 70 คน ได้รวมตัวกันหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล แก้ไขพระราชกำหนดการประมง ปี พ.ศ. 2558 เนื่องจากกระทบกับชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศจำนวนหลายแสนคน โดยตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการประมง ปี พ.ศ.2558 รัฐบาลอ้างว่า หลักการกฎหมายประมงเป็นไปเพื่อสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้าน แต่กลับพบว่ามีข้อกำหนดอยู่หลายประการที่เป็นการจำกัดสิทธิชาวประมงพื้นบ้าน และเอื้อประโยชน์ให้กับประมงแบบพาณิชย์มากกว่า เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายอนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการประมงพื้นบ้านออกทำประมงจากชายฝั่งได้ในระยะเพียง 3 ไมล์ทะเล โดยทั่วประเทศมีผู้ที่ทำประมงพื้นบ้านเทียบกับผู้ทำประมงเชิงพาณิชย์เป็นสัดส่วนร้อยละ 85 : 15

ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้เคยยื่นเรื่องร้องเรียนแก่กระทรวงเกษตรฯ มาแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2561 แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหามาจนถึงวันนี้(15 มี.ค. 2561) จึงได้รวมตัวกันเพื่อกดดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา โดยออกแถลงการณ์ระบุว่า

1. รัฐบาลต้องแก้ไข พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 โดยให้มีหมวด “ว่าด้วยการประมงพื้นบ้าน” เป็นการเฉพาะ โดยมีรายละเอียดตามที่เคยเจรจากัน

2.ต้องออกประกาศยกเลิกการใช้เครื่องมือประมงที่มีสภาพทำลายล้างเพิ่มเติม และประกาศกำหนดขนาดพันธ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนทุกชนิดที่ห้ามจับขึ้นเรือประมง

3. รัฐบาล และหัวหน้า คสช. ต้องแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 24/2558 เพื่อเปิดให้จดทะเบียน เรือประมงพื้นบ้านได้

4. ต้องกำกับให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการดำเนินการเข้มงวดการประมงอวนรุน อวนลาก ลอบคอนโด อย่างจริงจังเพราะไม่มีการตรวจจับหรือจัดการให้เป็นไปตามกฎหมาย

ต่อมาช่วงบ่ายของวันที่ 16 มี.ค. 2561 ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้เข้าหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และได้ทำการบันทึกข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย โดยในบันทึกข้อตกลงระบุว่า

ตามที่เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบยื่นหนังสือร้องเรียนและใต้ประชุมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2561 และได้หารือกันแนวทางการปฏิบัติอีกครั้งในวันที่ 16 มี.ค. 2561 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงพื้นบ้านในภาพรวมทั้งประเทศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตกลงดำเนินการดังนี้

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับรองว่า จะเสนอหลักการขอแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับขาวประมงพื้นบ้านเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา ภายใน 6 เดือน โดยมี สาระสำคัญที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

(1) แก้ไข นิยามประมงพื้นบ้าน ในมาตรา 5 ใหม่

(2) ยกเลิกมาตรา 34 เกี่ยวกับการห้ามผู้ได้รับอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงนอกเขต ทะเลชายฝั่ง

(3) แก้ไขสาระเกี่ยวกับ คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด เกี่ยวกับสัดส่วนกรรมการ กระบวนการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อย่างชัดเจน โปร่งใส เป็นมาตรฐานเดียวกัน

(4) สาระเกี่ยวกับข้อ (1) และ (2) ให้ใช้มติของคณะทำงานในคณะอนุกรรมการแก้ไข กฎหมายอันส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของชาวประมงและผู้ประกอบการด้านการประมง ที่แต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ

(5) สาระรายละเอียดเกี่ยวกับข้อ (3) ให้จัดทำรายละเอียดร่วมกันระหว่างเครือข่ายประมงพื้นบ้าน กับกรมประมง

2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับรองว่า จะแก้ไขปัญหาการประมงจับปลากะตัก ด้วยเครื่องมือครอบ ซ้อนยก ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในเวลากลางคืน และการประมงอวนลาก ซึ่งเป็น เครื่องมือ การประมงที่มีประสิทธิภาพสูงที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสัตว์น้ำ และชาวประมงพื้นบ้าน โดย จะดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานวิชาการให้เสร็จสิ้นภายใน เดือน มี.ค. 2561 โดยมีองค์ประกอบที่กรม ประมงและเครือข่ายประมงพื้นบ้านเห็นชอบร่วมกัน เพื่อศึกษารวบรวมงาน วิชาการที่เกี่ยวข้อง และ/หรือ ศึกษาผลกระทบจากการทำประมง จับปลากะตักด้วยเครื่องมือครอบ ข้อน ยก ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ในเวลากลางคืน และการประมงอวนลาก ทั้งที่มีผลต่อทรัพยากรประมงและต่อสังคมรวมทั้งการประกาศ กำหนดขนาดพันธุ์สัตว์น้ำ เศรษฐกิจวัยอ่อนทุกชนิดที่ห้ามจับขึ้นเรือประมงโดยกำหนดเป็นสัดส่วนที่จับได้โดยบังเอิญตาม ที่เหมาะสมทั้งนี้เพื่อบรรเทาปัญหาในเบื้องต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะประกาศกำหนดขนาดลูกปลาทู-ลังให้เสร็จสิ้นภายในเดือน พ.ค. 2561 และทยอยประกาศพันธุ์สัตว์น้ำชนิดอื่นลำดับต่อๆไป และในระหว่างการศึกษาทางวิชาการ จะไม่มีการอนุญาตให้เพิ่มจำนวนการทำประมง ด้วยเครื่องมือดังกล่าวทุกกรณี

3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับรองว่า จะทำข้อเสนอถึงหัวหน้า คสช. เพื่อขอแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่24/2558 เพื่อเปิดให้จดทะเบียน เรือประมงพื้นบ้านได้ โดยให้กรมประมงร่วมกับเครือข่ายประมงพื้นบ้านและอื่นๆตามที่จำเป็น จัดการประชุมกลางเดือน เม.ย. 2561 เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ และดำเนินการแล้วนำเสนอ คสช. เพื่อแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 24/2558 ต่อไป โดยให้จดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน ขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอสได้ทั่วประเทศ โดยให้เรือ ที่จดทะเบียนประมงพื้นบ้านสามารถประกอบกิจการ ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ควบคู่กันได้ และให้กรมประมงร่วมกับเครือข่ายประมงพื้นบ้านและอื่นๆ ตามที่จำเป็นจัดการประชุมกลางเดือน เม.ย. 2561 เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการและดำเนินการจัดทำ “หนังสือรับรองการประกอบอาชีพชาวประมงพื้นบ้าน”

4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้อง จะทำหนังสือยืนยันนโยบายรัฐบาล เกี่ยวกับการปฏิบัติ ตามกฎหมายที่เกี่ยวกับเครื่องมือประมงอวนรุน ลอบพับ (คอนโด, ไอ้โง่) เรืออวนลาก ผิดกฎหมาย ที่มีการ ลักลอบทำการประมง ถึงจังหวัดชายฝั่งทะเลทุกจังหวัด ภายในวันที่ 19  มี.ค. 2561

5. มอบหมายให้นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง และนายสะมะแอ เจะมูดอ ผู้แทนชาวประมงพื้นบ้านมีอำนาจหน้าที่ติดตามผลการดำเนินงานทั้งหมดตามบันทึกข้อตกลงนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net