Skip to main content
sharethis
คนเสื้อแดงมหาสารคาม ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวไปสอบกว่า 1 วัน หลังชูป้ายประท้วง คสช. ไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สอบปากคำ-รับสารภาพแล้วถูกเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 1,500 บาท คดียุติ
 
17 มี.ค. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2561 เวลาประมาณ 20.00 น. ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองมหาสารคาม (สภ.เมืองมหาสารคาม) นายอุดรหรือศรวัชษ์ กุระจินดา คนเสื้อแดงจังหวัดมหาสารคาม ถูกเจ้าหน้าที่ชุดสืบ สภ.เมืองมหาสารคาม พร้อมด้วย พ.ต.อ.สันต์ชัย มัยญะกิต ผู้กำกับกองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 นำตัวมาให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ หรือเป็นผู้เชิญชวนหรือนัดให้มีการร่วมชุมนุมโดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตามหมายจับศาลจังหวัดมหาสารคามที่ 41/2561 ลงวันที่ 22 ก.พ. 2561
 
หลังจัดทำบันทึกการจับกุม แจ้งข้อหา และสอบปากคำโดยนายอุดรให้การรับสารภาพแล้ว พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 1,500 บาท เป็นอันคดียุติ
 
คดีดังกล่าวนี้สืบเนื่องจากมีการจัดกิจกรรมชูป้ายประท้วงรัฐบาล คสช. กรณีที่ประชาชนเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ  ที่บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดมหาสารคามเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2561 หลังกิจกรรมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจได้ติดตามแกนนำคนเสื้อแดงในอำเภอโกสุมพิสัย เชียงยืน และยางสีสุราช รวม 4 คน มาสอบถามหาคนที่ริเริ่มจัดกิจกรรม ต่อมา พ.ต.อ.ชัยโรจน์ นาคราช ผู้กำกับการ สภ.เมืองมหาสารคาม ได้กล่าวโทษให้ดำเนินคดีบุคคลรวม 5 คน ในข้อหา จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมฯ และเรียกแกนนำเสื้อแดงทั้ง 4 คน ข้างต้นมาแจ้งข้อกล่าวหา และเปรียบเทียบปรับคนละ 1,500 บาท รวมทั้งมีหมายเรียกมายังนายอุดร กุระจินดา แต่นายอุดรได้หลบหนีออกจากพื้นที่ไปแล้ว เมื่อนายอุดรไม่มาตามหมายเรียก พ.ต.ท.สมมาส สถิตวัฒน์ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สภ.เมืองมหาสารคาม พนักงานสอบสวนในคดีก็ขอให้ศาลจังหวัดมหาสารคามออกหมายจับ
 
นายอุดร วัย 62 ปี เปิดเผยในวันที่กลับมาใช้ชีวิตปกติกับครอบครัวซึ่งประกอบกิจการขายอาหารตามสั่งว่า เหตุที่ลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมชูป้ายเนื่องจากต้องการสะท้อนปัญหาปากท้องให้รัฐบาลรับทราบว่า ประชาชนลำบาก ทำมาค้าขายไม่ได้ เศรษฐกิจไม่ดี ถ้าเราไม่ทำอะไรบ้าง สังคมก็ดูจะเงียบไป ทั้ง ๆ ที่ปัญหาเศรษฐกิจมันหนักมากเกินกว่าที่ประชาชนจะทนได้แล้ว
 
“แต่พอเราทำกิจกรรมกันวันที่ 28 ม.ค. เช้าวันที่ 29 ผมก็ได้รับทราบข่าวว่ามีทหาร ตำรวจไปพบแกนนำ อ.ยางสีสุราช เชียงยืน และก็โกสุมฯ แต่ยังไม่มีมาหาผม ผมก็ตัดสินใจหลบออกจากบ้านไปก่อน ที่ตัดสินใจอย่างนั้นเพราะผมกังวลว่าจะถูกทหารเอาตัวไปค่ายอีก เหมือนที่ผมเคยโดนเอาตัวไป 7 วัน เมื่อปี 59 ผมไม่เชื่อใจทหาร และไม่ยอมรับวิธีการแบบนั้นของทหารก็เลยตัดสินใจว่า หลบไปก่อนดีกว่า ออกจากบ้านทั้งเสื้อยืด กางเกงขาสั้น แฟนผมก็ไม่รู้เรื่องอะไร ผมไม่ได้อธิบายอะไรให้เขาฟัง” นายอุดรเล่าถึงปฏิกิริยาของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
หลังลุงอุดรออกจากบ้านไปไม่กี่วัน ตำรวจนอกเครื่องแบบก็มาที่ร้าน “ดอนโภชนา” ถามหา ลุงอุดรกับภรรยาของลุง พร้อมทั้งแจ้งว่า มีหมายเรียกมา เนื่องจากแกไปชูป้ายประท้วง คสช. ที่ บขส. แต่ภรรยาลุงไม่ได้เซ็นรับหมาย อ้างว่าไม่รู้เรื่องด้วย จากนั้น ตำรวจนอกเครื่องแบบก็ถือหมายแวะเวียนมาอีก 2-3 รอบ โดยไม่มีใครรับหมาย
 
เป็นเวลากว่า 1 เดือน ที่นายอุดรหลบออกจากบ้านไป เขาหาทางให้คนรู้จักเช็คข้อมูลจากแกนนำเสื้อแดงที่ทำกิจกรรมด้วยกัน และพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี รวมทั้งปรึกษาทนายความ จนชัดเจนว่า เขาและพรรคพวกถูกดำเนินคดีในข้อหา เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กำหนดให้ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และในกรณีของคนอื่น ๆ ตำรวจเรียกมาปรับคนละ 1,500 บาท ทำให้อุดรตัดสินใจกลับมาสู่กระบวนการดำเนินคดีของตำรวจ เพื่อที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัวได้ตามปกติ
 
อย่างไรก็ดี นายอุดรยังคงระแวงต่ออำนาจทหารในยุค คสช. เขาจึงตัดสินใจแจ้งให้ชุดสืบของ สภ.เมืองมหาสารคามไปรับตัวที่จังหวัดหนึ่งในอีสานตอนบน แต่กลับทำให้เวลาเดินทางกลับบ้านของเขายาวนานกว่าที่ควรจะเป็น
 
อุดรเล่าว่า ดาบตำรวจชุดสืบไปรับตัวเขาหลังเที่ยงวันที่ 14 มี.ค. เขานัดหมายกับครอบครัวและทนายความว่า เช้าวันที่ 15 มี.ค. จะเข้าไปมอบตัวที่สถานีตำรวจ แต่หลังจากออกเดินทางมากับดาบตำรวจคนดังกล่าวไม่นานเขาก็เริ่มรู้สึกว่า การนัดหมายอาจจะล่าช้าออกไป แม้ตำรวจจะไม่ได้บอกว่าเขาถูกจับ และไม่ได้แสดงหมายจับ แต่ก็เท่ากับเขาถูกจับแล้ว เนื่องจากไม่สามารถปฏิเสธว่าไม่ไปพบใคร หรือไม่ไปไหนตามที่ตำรวจกำหนดได้
 
ดาบตำรวจพาอุดรไปพบรองผู้กำกับจาก สภ.อุดรฯ จากนั้นมีผู้กำกับการตำรวจสันติบาล แนะนำตัวเองว่าชื่อ พ.ต.อ.สันต์ชัย มัยญะกิต เดินทางมาจากกรุงเทพฯ เพื่อสอบปากคำ และให้พาไปชี้จุดที่เขาพักระหว่างการหลบหนี เจ้าหน้าที่พาตัวนายอุดรมาถึง สภ.เมืองมหาสารคาม ในเวลาประมาณ 20.00 น.ของวันที่ 15 มี.ค. โดยในช่วงเวลากว่า 30 ชั่วโมงที่นายอุดรถูกควบคุมตัวอยู่กับตำรวจสันติบาล ญาติและทนายความที่รออยู่ไม่ได้รับการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่า นายอุดรถูกนำตัวไปที่ใดบ้าง ด้วยวัตถุประสงค์อะไร มีเพียงคำอธิบายว่า “กำลังเดินทาง” และจะนำตัวมาส่งบ้านในคืนวันที่ 15 แล้วจึงเข้าพบพนักงานสอบสวนในเช้าวันที่ 16 มี.ค. จนกระทั่งเมื่อนายอุดรมาถึงสถานีตำรวจในเวลาค่ำ ซึ่งไม่เป็นตามที่แจ้งญาติไว้ นายอุดรต้องการแจ้งให้ญาติและทนายทราบเพื่อเข้าร่วมกระบวนการดำเนินคดี แต่กลับถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
 
ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ว่า กรณีที่มีหมายจับ เจ้าหน้าที่ที่ทำการจับต้องแสดงหมายจับ และแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ พร้อมทั้งแจ้งถึงสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ รวมทั้งสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ จากนั้น เจ้าหน้าที่ต้องนำตัวผู้ถูกจับไปยังสถานีตำรวจท้องที่ที่ถูกจับ หรือท้องที่ที่ถูกดำเนินคดีโดยทันที เพื่อทำบันทึกจับกุม แจ้งข้อกล่าวหา อ่านหมายจับให้ฟัง และแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับในการพบและปรึกษาทนายความ และให้ทนายความเข้าฟังการสอบสวน รวมทั้งแจ้งให้ญาติทราบถึงการจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมตัว หากเจ้าหน้าที่ที่จับนำตัวผู้ถูกจับไปสถานีตำรวจท้องที่ที่ถูกจับ หลังทำบันทึกจับกุมแล้ว ต้องส่งผู้ถูกจับให้พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีโดยด่วน (มาตรา 83, 84, 84/1) เห็นได้ว่า กระบวนการในช่วงเวลากว่า 30 ชั่วโมงที่นายอุดรถูกนำตัวมายัง สภ.เมืองมหาสารคาม ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดดังกล่าวมา
 
นอกจากนี้ ในกระบวนการสอบปากคำและถามคำให้การที่ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายหรือผู้ไว้ใจเข้าฟังการสอบปากคำได้ ตามมาตรา 134/3 และ 134/4 ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ เช่นเดียวกับกรณีของผู้ต้องหาอีก 4  คน ในคดีนี้ที่ถูกดำเนินคดีไปก่อนแล้ว
 
หลังเสร็จสิ้นกระบวนการตามกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว นักกิจกรรมเสื้อแดงแสดงความเห็นประโยคสุดท้ายว่า “ผมไม่เห็นด้วยที่การทำกิจกรรมสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้รัฐบาลรับรู้แค่นี้แล้วต้องมาถูกดำเนินคดี ถูกปรับกันคนละ 1,500 บาท ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย ที่ผ่านมาเราก็ทำกันได้”
 
ก่อนหน้านี้ หลังเกิดเหตุการณ์ระเบิด 17 จุด ใน 7 จังหวัดภาคใต้ เมื่อเดือน ส.ค. 2559 นายอุดรถูกทหารหลายนายเข้าควบคุมตัวจากบ้าน นำไปควบคุมตัวที่ มทบ.11 เป็นเวลา 7 วัน ก่อนถูกดำเนินคดีร่วมกับคนอื่น ๆ รวม 17 คน ในข้อหา ร่วมกันเป็นอั้งยี่ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209) และร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน (ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ข้อ12) โดยมีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา คือ ร่วมกันชุมนุมจัดตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตย เพื่อร่วมมือกับมวลชนพื้นที่ต่างๆ ที่มีแนวคิดต่อต้านรัฐบาล ซึ่งต่อมาอัยการศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net