Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



วงการศาสนาเป็นวงการที่ถูกท้าทายมาโดยตลอด ทั้งจากคนที่ไม่เชื่อเลย (เชื่อในวิทยาศาสตร์มากกว่า) และคนที่เสื่อมศรัทธา (เห็นข่าวฉาวจากวงการศาสนาแล้วปลง) แต่ศาสนาก็ยังเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นศรัทธาและจิตวิญญาณของคนนับล้าน ๆ

ศาสนาในโลกสมัยใหม่จะต้องปรับตัวบนหลักการพื้นฐาน 3 ข้อ คือเท่าเทียม โปร่งใส และสร้างประโยชน์ให้สังคม ถ้าวันหนึ่งผมได้เป็นนายก ฯ ก็จะเอาหลักการสามข้อไปเขียนเป็นนโยบายได้ประมาณนี้

1. ทุกศาสนาและความเชื่อมีศักดิ์ศรีและคุณค่าเท่าเทียมกัน ดังนั้น ไม่ว่าใครจะนับถือศาสนาอะไร เชื่อในอะไร หรือกระทั่งไม่เชื่อในอะไรเลยจะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเท่าเทียมกัน ในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทยเหมือนกัน

และที่สำคัญ เราจะต้องดูแลให้คนในสังคมอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ไม่ยอมให้ใครเอาศาสนาของตัวเองไปคุกคามหรือถือสิทธิเหนือกว่าคนอื่น

2. ศาสนาเป็นศูนย์รวมศรัทธาของประชาชน แต่การเมืองเบื้องหลังวงการศาสนากลับสะเทือนศรัทธาบ่อยครั้ง ทั้งยศช้างขุนนางพระ ผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะการเมืองภายนอกเข้ามาแทรกแซงวงการศาสนาอย่างหนักหน่วง จนถึงขั้นที่พูดกันว่าจะเลื่อนสมณศักดิ์แต่ละครั้ง วิ่งเต้นกันหนักกว่าเลื่อนยศทหารเสียอีก

ดังนั้น เราจะคืนความน่าเลื่อมใสให้ศาสนาด้วยการให้ภาคการเมืองเลิกยุ่งกับศาสนา หน่วยงานหลายหน่วยเช่นสำนักพระพุทธศาสนาอห่งชาติหรือมหาเถรสมาคมนี่ก็ตั้งขึ้นเพื่อให้ภาครัฐควบคุมศาสนาได้ง่าย ๆ ควรจะให้กลายเป็นองค์กรเอกชนที่ดำเนินการโดยภาคศาสนา ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับภาครัฐและระบบราชการ ฆราวาสก็อยู่ส่วนฆราวาส เรื่องของวัดก็ให้วัดจัดการกันเอง

3. สืบเนื่องจากข้อที่แล้ว ยังเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่ามีเม็ดเงินมหาศาลหมุนเวียนในวงการศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาไหน จะเห็นได้ว่ามีข่าวฉาวไม่ชอบมาพากลว่าด้วยเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของวัด (และศาสนาอื่น ๆ) มาสั่นคลอนศรัทธาของผู้คนเรื่อย ๆ

ดังนั้น เราจะทำให้ระบบทรัพย์สินของวัดและสถาบันศาสนาต่าง ๆ มีความโปร่งใส อาจมีข้อบังคับให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณชนหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้นได้

4. ต่อจากเรื่องทรัพย์สินของสถาบันศาสนาตามข้อที่แล้ว ทุกวันนี้กลายเป็นว่าวัดเป็นที่สะสมทรัพย์สินมหาศาล ถึงขั้นมีคนพูดกันว่าอยากรวยทางลัดให้เข้าวัดไปบวช เป็นเรื่องที่น่าอับอายมาก เพราะการเป็นนักบวชนั้นคือการเรียนรู้ที่จะสละ ไม่ใช่บวชหวังเงินทองของไหว้

ดังนั้น เราจะต้องมีนโยบายให้สถาบันศาสนาไม่สะสมทรัพย์สินมากเกินกว่าที่ต้องใช้ หรือให้ใช้ในทางสาธารณกุศลเหมือนที่บางวัดทำอยู่ เพื่อให้นอกจากวัดจะรับเงินบริจาคแล้ว วัดยังตอบแทนอะไรบางอย่างให้สังคมอีกด้วย

5. สุดท้าย ยังคงต้องยืนยันในหลักการข้อแรกว่าทุกศาสนาเท่าเทียมกัน ทุกคนมีสิทธิที่จะนับถือศาสนาใดก็ได้ และจะต้องทำให้ทุกคนไม่ว่าศาสนาไหนอยู่อย่างสบายใจได้ในสังคม ดังนั้น ในส่วนของการศึกษา จะต้องไม่มีการบังคับให้นักเรียนเรียนหลักศาสนาที่ตนเองไม่ได้นับถือ เช่น คนพุทธไม่ต้องเรียนคัมภีร์ไบเบิล คนมุสลิมไม่ต้องเรียนพระไตรปิฎก หรือคนที่ไม่ได้นับถืออะไรเลยก็ไปเรียนอย่างอื่น

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะห้ามการเรียนรู้เรื่องศาสนา ผมเชื่อว่าเราควรเรียนรู้ศาสนาเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีหลายศาสนาต่างกัน แต่ทุกศาสนาจะมีพื้นที่ในสังคมเท่าเทียมกัน

ถ้าเราเชื่อว่าศาสนาสามารถสร้างสันติภาพได้ เราต้องเริ่มต้นจากการมีกติกาที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ต่อทุกคน ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาไหน หรือไม่นับถืออะไรเลยก็ตาม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net