การไม่กินเจของเถรวาทสื่อความหมายอะไร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การกินเจ เกิดจากความเชื่อที่ว่าทุกชีวิตล้วนมีคุณค่าและไม่ควรมีใครตายเพื่อสังเวยชีพเป็นอาหารของเรา ในเมื่อวางอยู่บนหลักความเมตตากรุณาและไม่เบียดเบียน ทำไมคนพุทธเถรวาทถึงยังเห็นดีเห็นงามกับการฆ่าสัตว์เพื่อเอามาทำอาหาร?

ผมเสนอว่า สาเหตุที่พุทธศาสนาเถรวาทไม่เน้นการกินเจเพราะเหตุผล 2 อย่าง (1). เถรวาทมองว่าการพ้นทุกข์เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ขณะที่มหายานมองว่ามนุษย์ต้องรับผิดชอบต่อสังคมและบรรลุธรรมไปด้วยกัน (2). เป็นความพยายามของเถรวาทที่จะทำให้อัตลักษณ์ของตนต่างมหายาน โดยหันมาเน้นเรื่อง “ปัญญา” มากกกว่า “กรุณา” และใช้ ปัญญาในการเหยียดหยามกรุณาของมหายาน

ความเข้าเรื่องการฆ่า/ขายสัตว์

ศีล 5 ข้อแรกคือ “เว้นจากการฆ่าสัตว์” และการละเมิดมีมาตรวัด 5 ข้อ คือ 1. สัตว์มีชีวิต 2. รู้ว่าสัตว์มีชีวิต 3. มีเจตนาจะฆ่า 4. ลงมือฆ่า และ 5. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น ที่สำคัญคือ ไม่มีการระบุว่า หากฆ่าเพื่อทำบุญหรือเหตุผลเชิงจริยธรรมอย่างอื่น จะไม่ถือเป็นการละเมิดศีล จึงไม่มีเหตุผลใดเลยแม้ในทัศนะของเถรวาทที่จะมองว่า การฆ่าเป็นสิ่งที่ควรทำหรือส่งเสริมให้ผู้อื่นทำ

ในมิติการประการอาชีพ เช่น การค้าขาย พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ชัดว่า ชาวพุทธควรเว้นจากการค้าขายที่มิชอบทั้ง 5 อย่างคือ 1. ค้าขายอาวุธ (สตฺถวณิชฺชา) เพราะจะนำไปสู่การฆ่าและทำร้ายกัน 2. ค้าขายมนุษย์ (สตฺตวณิชฺชา) 3. ค้าขายเนื้อสัตว์ (มํสวณิชฺชา) 4. ค้าขายเครื่องมึนเมา (มชฺชวณิชฺชา) และ 5. ค้าขายยาพิษ (วิสวณิชฺชา)

ข้อ 2 อาจตีความได้ว่า ค้าขายมนุษย์และสัตว์ เพราะ สตฺต ในภาษาบาลีรวมเอาสัตว์ที่มีลมปราณทุกชนิด และหากตีความเช่นนั้น ก็จะต้องอธิบายข้อ 3 ว่า เป็นการค้าขายเนื้อของสัตว์เหล่านั้นที่ถูกชำแหละแล้ว กล่าวคือ ข้อ 2 เป็นสัตว์ที่ยังมีชีวิต ส่วนข้อ 3 เป็นสัตว์ที่ตายแล้ว แต่โดยสรุปแล้ว พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสแค่ว่าให้เว้นจากการฆ่า แต่ยังรวมถึงการค้าขายสัตว์เหล่านั้น ตลอดจนอาวุธเพื่อทำร้ายหรือฆ่าสัตว์เหล่านั้นด้วย

แสดงว่า การขายแกงถุงซึ่งมีเนื้อ (ปลา หมู ไก่ ฯลฯ) ตามร้านค้าก็ผิดหลักของพุทธเถรวาทเช่นกัน ถือเป็น มํสวณิชฺชา แต่ต่อให้ผิด ชาวพุทธก็จะมองว่า คนขายเท่านั้นที่ผิด คนซื้อไม่มีส่วนรับรู้อะไรด้วย

ไม่ได้ฆ่าเอง เลยไม่มีส่วนบาป

หากไม่เห็นคนกำลังฆ่า ไม่ได้ยินเสียงของการฆ่า และไม่สงสัยว่าเขาฆ่าสัตว์นั้นเพื่อเรา ก็สามารถกินเนื้อนั้นได้โดยไม่มีส่วนของการฆ่าเลย (อ่านเพิ่มเติมใน ชีวกสูตร) นี่เป็นเหตุผลที่ชาวพุทธเถรวาทมักสมาทาน หากใช้ตรรกะเดียวกัน เมื่อมีคนเอาทองก้อนใหญ่มายื่นให้ เราควรรับไว้และไม่มีความผิดใดๆ หากเราไม่เห็นหรือได้ยินว่าเขากำลังกระชากของใครมา และเราไม่มีความสงสัยใดๆ เลย

ความต่างของเถรวาทและมหายานชัดเจนมากตรงประเด็นนี้ คือเถรวาทเสนอว่าการไม่รับทราบและไม่สงสัย ทำให้พ้นไปจากความผิดได้ นี่เป็นลักษณะที่เน้นความเป็นปัจเจกนิยมแบบพุทธเถรวาท ขณะที่มหายานสอนให้ตั้งคำถามว่า เราควรต้องสงสัย เพื่อจะได้ทราบว่าการกระทำของเราส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร ซึ่งก็น่าตั้งคำถามว่า เถรวาทไม่สงสัยหรือเจตนาไม่สงสัยกันแน่เพราะกลัวจะเป็นบาป?

การฆ่าสัตว์วันละหลายล้านตัวเพื่อเข้าสู่ตลาด เถรวาทมองว่า เราสามารถซื้อเนื้อเหล่านั้นมาบริโภคได้ เพราะเรามิได้เห็น ไม่ได้ยิน หรือไม่สงสัยเลยว่าเขาฆ่ามาเพื่อเรา หากบาปจะมีก็ย่อมตกกับคนที่ลงมือฆ่าและเจ้าของธุรกิจเท่านั้น แน่นอนว่า หากทุกคนเลิกกินเนื้อ โรงงานเหล่านั้นจะถูกปิดและสัตว์ที่จะเลี้ยงหรือจับมาทำการฆ่าก็จะสิ้นสุดลง

“สำหรับชาวพุทธเถรวาท มิจฉาวณิชชา หรือการค้าขายที่ผิดทั้ง 5 ข้อ ถือเป็นความผิดของผู้ขายเท่านั้น มิใช่ผู้ซื้อ ขณะที่มหายานมองว่า ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ ในฐานะที่คนหนึ่งเป็นสาเหตุให้อีกคนหนึ่งต้องลงมือฆ่า”

การแปล “สูกรมัททวะ” ของมหายานจึงเป็นเห็ดหรือพืชชนิดหนึ่ง เพราะความเชื่อที่ว่า พระพุทธเจ้าย่อมไม่กินเนื้อสัตว์ การแปลนี้ต่อมาส่งผลให้เถรวาทบางท่านเชื่อว่าอาจเป็นพืชมากกว่าจะเป็นเนื้อสุกรอ่อนตามตัวศัพท์จริงๆ

หลุดพ้นเพราะปัญญา ไม่ใช่ศีล

บทสวดพิจารณาอาหารของพระมีใจความว่า สิ่งที่ตนกำลังฉันอยู่เป็นแต่เพียงธาตุที่ประกอบกันขึ้น มิใช่สัตว์ ตัวตน บุคคล เรา/เขา (ธาตุปฏิกูลปัจจเวกขณะ) และการกินนี้ก็มิใช่เพื่อสนองความอยาก แต่เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้และมีกำลังในการปฏิบัติธรรมต่อไป (ตังขณิกปัจจเวกขณะ) การบริโภคเนื้อสัตว์ในปุตตมังสสูตรก็เปรียบเทียบการที่พ่อแม่ฆ่าลูกน้อยเพื่อกินเนื้อ ทั้งสองกินไปร้องไห้ไป มิได้กินเพราะความเอร็ดอร่อย หากแต่เพื่อให้ตนข้ามพ้นทางกันดารเท่านั้น

(ปุตตมังสสูตรมิได้เสนอว่า การฆ่าลูกเป็นอาหารไม่เป็นบาปแต่ประการใด แต่เน้นไปที่ความรู้สึกของคนที่กำลังกินเนื้อซึ่งมิได้กินด้วยความอยาก ทั้งนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชาวพุทธมักหยิบเรื่องราวทำนองนี้มาตีความแบบอรรถประโยชน์นิยมและรู้สึกเฉยๆกับการฆ่าที่ทำเพื่อประโยชน์อยู่เบื้องหลัง เช่นสนับสนุนให้ประหารชีวิตฆาตกรเพราะจะทำให้สังคมดีขึ้น ยุยงให้ฆ่าคนที่ตนเชื่อว่าทำลายศาสนาเพื่อพิทักษ์ศาสนาพุทธที่แท้จริง ฯลฯ)

จะเห็นว่า เหตุที่พุทธศาสนาเถรวาทไม่สนใจ (หรือให้ความสำคัญน้อย) กับการตายของผู้อื่น เพราะมีชุดคำอธิบายอีกแบบรองรับ เพื่อสะท้อนว่า การมีปัญญารู้เท่าทันการกินที่ไม่ตกเป็นทาสความอยาก จะทำให้ตนไม่มีส่วนแห่งการฆ่านั้น และเมื่อมีเรี่ยวแรงจากการกินเนื้อสัตว์อื่นแล้วก็ให้เร่งความเพียรปฏิบัติธรรมให้พ้นทุกข์ไปเสีย

“สัตว์อื่นจึงเป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยในการเดินทางข้ามสังสารวัฏอันกันดารของเรา และแน่นอนว่า ตรงกันข้ามกับมหายาน”

เถรวาทพยายามหันมาเน้นเรื่องปัญญามากกว่ากรุณาเพื่อให้ตนต่างจากมหายาน

คำว่ามหายานเกิดขึ้นก่อนเถรวาท โดยกลุ่มคนที่เชื่อว่าพุทธศาสนาควรถูกใช้เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหมดไปจากสังสารวัฏ เลยตั้งชื่อพวกตนว่า “ยานใหญ่” เพื่อทำการขนย้ายสัตว์ และตั้งชื่อสาวกที่เหลือว่าเป็นพวก “ยานเล็ก” หรือ หีนยาน (แปลว่า ยานต่ำทราม) เพราะเน้นการปฏิบัติเพื่อบรรลุส่วนตน ต่อมาพวกหีนยานเปลี่ยนชื่อเป็น “เถรวาท” แปลว่า สาวกผู้เชื่อฟังคำของพระเถระ 500 รูปในการทำสังคายนาครั้งแรก

เมื่อพวกมหายานหันไปหยิบประเด็นความเมตตามาชู พวกเถรวาทจึงต้องเน้นปัญญาและเสนอว่า ปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้สัตว์พ้นทุกข์ (ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ) สำหรับผม ความเมตตาของมหายานเห็นได้ชัด เช่น มูลนิธิ Tzu Chi ในไต้หวันซึ่งมีสมาชิกทั่วโลกเน้นการสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล การกินเจและช่วยเหลือคนจน ส่วนการเน้นปัญญาของเถรวาทมักไม่ค่อยพบเห็น เช่น เมื่อต้องโต้เถียงกับผู้อื่น มักกล่าวร้ายเขาด้วยคำด่า เช่น เป็นพุทธปลอม อกตัญญูต่อศาสนา ถูกอิสลามจ้างมาบวช เป็นต้น นี่เป็นตัวอย่างในแง่ปฏิบัติที่พบเจอนะครับ

เถรวาทมักกล่าวว่า “ต่อให้กินเจก็ไม่พ้นทุกข์ เพราะวัวควายก็กิน” คำพูดนี้สื่อถึงการกินที่ไม่มีปัญญา แต่ก็ไม่ตรงกับเหตุผลของมหายาน มหายานมิได้เน้นว่าการกินเจจะนำไปสู่การบรรลุ แต่เขากินเพราะอบรมจิตให้มีเมตตา ไม่ส่งเสริมการทำร้ายเพื่อนสรรพสัตว์ด้วยกัน

กิจกรรมบางอย่างของเถรวาท เช่น ปล่อยโค ปล่อยปลา ที่ดูเหมือนเน้นความเมตตากรุณา แต่แท้จริงก็ไม่ใช่ เพราะแฝงไปด้วยความเชื่อของการปล่อยเคราะห์ ต่อชะตา และทำพิธีกรรมโดยมีพระผู้ศักดิ์สิทธิ์เป็นผู้ส่งบุญ เสร็จแล้วก็ซื้อวัวหรือปลามากินได้ตามปกติ กล่าวคือ การปล่อยสัตว์ทั้งหลายของเถรวาทมิได้มีเป้าหมายใหญ่เพื่อความเมตตากรุณาและไม่นิยมทำหากไม่มีพระเป็นเจ้าพิธีในการเสกบุญเพื่อชะตาราศีตนเอง

ในแง่คัมภีร์ เถรวาทเองก็เต็มไปด้วยเรื่องราวของความกรุณา เช่น อดีตชาติของพระพุทธเจ้าราว 500 ชาติ และมหายานเองก็มิได้ทอดทิ้งปัญญา เช่น วิมลกีรตินิเทศสูตร ซึ่งกล่าวถึงการถกปัญหาธรรมะที่ลึกซึ้ง แต่ในทางปฏิบัติ เถรวาทดูเหมือนจะมุ่งไปที่ปัญญา รีบทำตนให้พ้นทุกข์เพราะสังสารวัฏเป็นทุกข์และน่ากลัว ส่วนมหายานเลือกทางเดินแบบโพธิสัตว์ที่เชื่อว่าจะลดอัตตาตัวเองได้ก็ต่อเมื่อช่วยเหลือผู้อื่น

ประเทศเถรวาทเช่นเมืองไทย มีการดูถูกความเมตตากรุณาในหลายกรณี เช่น กรณีของชาวโรฮิงยา คนไทยก็เน้นให้ใช้ปัญญา หลายคนหยิบเอาคำพูดของปยุตฺโต เรื่อง “ใจกว้างแต่ปัญญาแคบ” (ซึ่งอาจต่างจากบริบทที่ท่าน ปยุตฺโต หมายถึง) มาเตือนเพื่อมิให้รับคนอพยพหนีตายเหล่านั้น เพราะจะนำหายนะมาสู่ชาติไทยและพุทธศาสนาในอนาคต “ความเมตตามีได้แต่ต้องใช้ปัญญานำ” นั่นคือ ไม่ควรรับคนเหล่านั้นผู้ซึ่งเป็นมุสลิมทำลายศาสนา การตายของผู้อื่นจึงมิใช่เรื่องที่น่าใส่ใจสำหรับชาวเถรวาทหากเทียบกับการใช้ปัญญาปกป้องศาสนาเป็นต้น

การไม่กินเจเป็นเพียงสิ่งสะท้อนประการหนึ่งของหลักคิดแบบเถรวาทเท่านั้น ภายใต้ภูเขาน้ำแข็งของการมองผู้อื่นเป็นเครื่องมือเพื่อให้ตนบรรลุเป้าหมาย สิ่งที่ทำให้เถรวาทมองไม่เห็นปมนี้คือ การเน้นปัญญาที่ต้องมาก่อนกรุณา ซึ่งในทางปฏิบัติ ปัญญาก็มิได้ถูกใช้เลย เพราะไม่มีการเปิดใจถกเถียงกันอย่างจริงจัง เช่น ไม่ฆ่าแต่ส่งเสริมด้วยการซื้อมาบริโภคจะผิดไหม ตลอดจนการกล่าวหาว่าโรฮิงยาเป็นผู้ก่อการร้าย ทั้งที่ยังมิได้พิสูจน์และไม่คิดจะพิสูจน์ด้วยข้อมูลที่ดีพอ

ผมมองว่า การเป็นเถรวาทของไทย เป็นเพียงเครื่องมือสร้างอัตลักษณ์เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบต่อชีวิตสรรพสัตว์ที่ถูกสังเวยเป็นอาหารของตนทุกวัน แน่นอนผมไม่ได้บอกว่าการฆ่าหรือกินเนื้อสัตว์จะชั่วช้านะครับ แค่เสนอว่า เราไม่จำเป็นต้องโยนความผิดไปให้คนฆ่าและบอกว่าตนบริสุทธิ์เพียงเพราะไม่จับมีดฆ่าเอง ที่สำคัญ การเน้นปัญญาเพื่อข่มมหายานทำให้เถรวาทลืมคุณธรรมขั้นพื้นฐานคือ “ความเมตตากรุณา” ไปเสีย ซึ่งส่งผลให้พวกเขาสนใจปกป้องชาติ ศาสนา มากกว่าชีวิตเพื่อนสรรพสัตว์อื่นๆ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: animisticbeliever.wordpress.com

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท