Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ข่าวการทุจริตศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหรือการโกงเงินคนจนที่กำลังอื้อฉาว ทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ภายใต้การบริหารของรัฐบาลและ คสช. ที่อ้างว่า เข้ามาปราบโกง

แน่นอนว่า สังคมย่อมให้ความสนใจ อยากรู้ว่ายังมีการทุจริตในโครงการนี้อีกมากมายแค่ไหน แต่เรื่องน่าสนใจไม่น้อยกว่ากัน อาจเป็นปัญหาว่า เรื่องนี้กำลังสะท้อนอะไร กำลังบอกอะไรแก่เรา

คำถามแรก คือ ทำไมเจ้าหน้าท่ีจำนวนมาก จึงเข้าไปเกี่ยวข้องการทุจริตชนิดที่ไม่เกรงกลัวกฎหมายกันเลย หรือเขามีประสบการณ์ว่า มีการทุจริตอยู่มากมาย แต่ก็ไม่เห็นมีใครถูกลงโทษ ส่วนที่มีการลงโทษกันไป ส่วนใหญ่ทำโดยคำสั่ง คสช.นั้น ก็เกิดขึ้นโดยไม่มีการสอบสวนเสียก่อน

คนบริสุทธิ์จำนวนไม่น้อยถูกลงโทษไป ทั้งๆที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ต่อมาบางคนที่ถูกสอบสวนพบว่า ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ก็เสียอนาคตไปแล้ว และก็ไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ กลายเป็นว่า คนทำผิดไม่เห็นถูกลงโทษ แต่คนบริสุทธิ์กลับถูกลงโทษ หาหลักหาเกณฑ์อะไรไม่ได้

เรื่องทุจริตโกงเงินคนจนนี้ ที่ถูกเปิดโปงโดยนักศึกษาซึ่งไปพบปัญหาเข้า เมื่อพบปัญหาและเปิดเผยเรื่องนี้แล้ว นักศึกษาผู้นี้ต้องเผชิญกับอะไรบ้างก็เรื่องหนึ่ง แต่องค์กรที่ตรวจสอบเรื่องนี้ต่อและเปิดเผยว่า มีการทุจริตมากขึ้นๆ คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.)

ไม่มีใครรู้ว่า ถ้าไม่มีการโวยเรื่องนี้ขึ้นมา จนเป็นที่สนใจของสังคมแล้ว ปปท.จะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือไม่ ตามข่าวก็จะพบว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับไม่สูง นายกรัฐมนตรีก็รีบฉวยโอกาสบอกว่า นี่ไม่ใชเรื่องทุจริตในระดับนโยบาย จะด้วยเหตุนี้หรือเปล่า เมื่อไม่ใช่เรื่องระดับนโยบาย จึงทำให้ ปปท.ยังแข็งขันต่อเรื่องนี้ หากเรื่องนี้เชื่อมโยงไปถึงนโยบายรัฐบาล ปปท.ยังจะแข็งขันต่อไปหรือไม่?

โยงไปสู่คำถามต่อไปว่า แล้วโครงการที่ส่งเงินหลายหมื่นล้านบาทลงไปในท้องที่ต่างๆแบบเร่งรีบ ประเภทคำสั่งไปถึงวันศุกร์ บอกให้เสนอโครงการวันจันทร์ จัดประชุมกันมีงบประมาณค่าอาหารค่าน้ำ แล้วก็ดำเนินการทันที โครงการจะรั่วไหลหรือสูญเปล่าอย่างไร? ไม่เป็นไร  ปปท.ตรวจสอบเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ถ้ายังไม่ตรวจสอบ เป็นเพราะอะไร หรือเป็นเพราะโครงการประเภทนี้สามารถตรวจสอบความเชื่อมโยงได้ถึงผู้บริหารระดับสูงและเป็นเป็นเรื่องทางนโยบาย

ที่ตั้งคำถามอย่างนี้ ก็เพราะ ปปท.นี้เป็นองค์กรสังกัดฝ่ายบริหารของกระทรวงยุติธรรม และในยุค คสช.นี้ องค์กรแบบนี้ยังขึ้นต่อคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติและศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตฯ ซึ่งล้วนเป็นฝ่ายบริหาร ที่ คสช.มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารอีกต่อหนึ่ง เรื่องไหนที่จะโยงไปถึงฝ่ายนโยบายและผู้มีอำนาจ ย่อมมีคำถามได้ว่า ปปท.จะถูกสั่งให้ทำหรือไม่ทำหน้าที่ของตน ใช่หรือไม่?

ในแง่ของการถ่วงดุลในระบบแล้ว หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องไปถึงผู้บริหารระดับสูงหรือเกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายรัฐบาล ถ้า ปปท.ไม่เข้าไปตรวจสอบด้วยเหตุใดก็ตาม หน่วยงานอื่น โดยเฉพาะองค์กรอิสระอย่าง สตง.และ ปปช.ก็ต้องถือเป็นหน้าที่โดยตรง แต่ก็พบปัญหาการขาดความเป็นอิสระขององค์กรเหล่านี้อีก โดยเฉพาะ ปปช.ที่รัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ แต่ถึงเวลาปฏิบัติจริงๆ ก็ได้รับการยกเว้นโดยกฎหมายไม่ต้องใช้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญไปอีกหลายปี

ซ้ำร้ายบุคคลสำคัญในองค์กรนี้ ยังเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจใน คสช.และรัฐบาลอีกด้วย ย่อมไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าทั้ง ปปท. และองค์กรอิสระเช่น ปปช.จะดูแลเรื่องต่างๆ อย่างตรงไปตรงมาตามเนื้อผ้า

ยิ่งมีข่าวว่า เกิดการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นมากเท่าไร สังคมก็ยิ่งไม่อาจแน่ใจได้ว่ายังมีการทุจริตคอร์รัปชันเรื่องอื่นๆ ที่ยังไม่มีใครตรวจสอบอีกมากมายเพียงใด และตราบใดที่ระบบยังลักลั่นและลูบหน้าปะจมูกอยู่อย่างนี้ ก็คงไม่มีใครไว้ใจได้เลยว่า ประเทศจะไม่เสียหายไปกับการทุจริตคอร์รัปชันที่มากขึ้นทุกที

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net