Skip to main content
sharethis

วิทยุสาธารณะแห่งชาติสหรัฐฯ สำรวจพบว่าครูที่เป็นคนข้ามเพศและ "นอนไบนารี" ร้อยละ 56 จากโรงเรียนทั่วประเทศสหรัฐฯ เคยถูกข่มเหงรังแกในที่ทำงานมาก่อน ซึ่งมักจะมาจากเพื่อนร่วมงานและผู้บริหาร ไม่ค่อยเกิดจากนักเรียน ในทางตรงกันข้ามการเปิดเผยตัวตนเพศสภาพของครูกลับส่งผลดีต่อนักเรียนอย่างคาดไม่ถึง คือทำให้นักเรียนมี "พื้นที่ปลอดภัย" ในการพูดเรื่องเพศสภาพหรือสุขภาวะทางเพศของตัวเองได้

จากการสำรวจโดยวิทยุสาธารณะแห่งชาติสหรัฐฯ (NPR) เมื่อ 8 มี.ค. ระบุว่ากลุ่มตัวอย่างคนข้ามเพศมากกว่าครึ่งหนึ่งถูกข่มเหงรังแกในที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นการเหยียด กีดกัน หรือคุกคาม ซึ่งมักจะเป็นการรังแกจากผู้บริหารหรือเพื่อนร่วมงานแต่ไม่ได้มาจากนักเรียน

สื่ออเมริกันทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างเป็นครู 79 คน ผู้นิยามตัวเองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือเป็นผู้ที่ไม่จัดตัวเองอยู่ในระบบสองเพศหรือ "นอนไบนารี" (Non-binary) ซึ่งแม้ว่าจะเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ดูมีจำนวนน้อยแต่ก็เป็นตัวแทนของคนข้ามเพศที่เป็นครูได้อย่างนัยสำคัญทางสถิติ

ผลการสำรวจระบุว่ามีครูที่เป็นคนข้ามเพศหรือนอนไบนารีร้อยละ 56 ที่ถูกข่มเหงรังแกในที่ทำงาน มีกรณีกลุ่มตัวอย่างอยู่ 2 รายที่ถูกไล่ออกด้วยสาเหตุเรื่องตัวตนทางเพศของพวกเธอ ขณะที่มีร้อยละ 29 ไม่แสดงตัวตนทางเพศสภาพของตัวเองในที่ทำงาน

ผลสำรวจระบุอีกว่ามีมากกว่า 7 ใน 10 ที่ถูกเปิดเผยเพศของพวกเขาในที่ทำงาน มีร้อยละ 17 ที่ถูกขอให้เปลี่ยนการแสดงออกทางตามบทบาททางเพศของพวกเธอให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสูจิบัตร มี 1 ใน 5 ที่เปิดเผยว่าพวกเขาถูกข่มเหงรังแกด้วยวาจาในที่ทำงาน

ลอว์เรน เฮ็กกาธอร์น จากโรงเรียนอิวานสตัน รัฐอิลลินอยส์ ผู้นิยามตนเองเป็นนอนไบนารีกล่าวว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเขาถูกข่มเหงรังแกจากเพื่อนร่วมงานและมีคนทำอะไรกับปัญหานี้น้อยมาก คนในที่ทำงานมักจะเน้นทำให้คนที่ข่มเหงรังแกคนอื่นรู้สึกสบายใจมากกว่า

ในกลุ่มตัวอย่างเหล่ามีถึงร้อยละ 53 ในกลุ่มตัวอย่างที่นิยามตัวเองเป็นชายข้ามเพศ ร้อยละ 21 นิยามตัวเองเป็นนอนไบนารีและผู้ที่เพศสภาพเลื่อนไหลได้ (gender fluid) และร้อยละ 15 นิยามตัวเองเป็นหญิงข้ามเพศหรือผู้มีเพศสภาพที่เอียงไปในทางผู้หญิง (femme)

ในเรื่องการเปิดเผยเพศตัวเองในที่ทำงานอาจจะส่งผลทางลบต่อบางคนโดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพศสภาพที่ตนปรารถนา (passing) แต่ทว่าบางกรณีที่ส่งผลดี

ซึ่งแซม ลอง ครูวิทยาศาสตร์รายหนึ่งในเดนเวอร์ รัฐโคโลราโดกล่าวว่า ขณะที่ฝ่ายบริหารไม่ยอมให้เขาเปิดเผยเพศสภาพตัวเอง แต่ตัวเขาก็เปิดเผยเรื่องนี้กับนักเรียนให้รู้และส่งผลบวกตัวกลุ่มนักเรียนเอง มีนักเรียนหลายคนกล้าเปิดเผยตัวตนไม่ว่าจะในด้านรสนิยมทางเพศหรือเพศสภาพของพวกเขา เป็นการสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" ให้นักเรียนเหล่านี้พูดถึงตัวเองได้โดยปริยาย "ผมรู้สึกดีที่ทำให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัยที่จะแบ่งปันเรื่องราวของตัวเอง" ลองกล่าว

การเกิด "พื้นที่ปลอดภัย" จากการเปิดเผยตัวตนของพวกเขาไม่เพียงแค่ทำให้นักเรียนกล้าพูดถึงตัวตนทางเพศตัวเองเท่านั้น ยังส่งผลให้นักเรียนการกล้าพูดเรื่องสุขภาวะทางเพศด้วย

มีอีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นกับคริส สมิธ ที่สอนในโรงเรียนผู้อพยพในนิวยอร์กซิตีบอกว่ามีนักเรียนคนหนึ่งที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานบริการทางเพศมาก่อนแต่ไม่รู้จักเรื่องเชื้อเอชไอวีและไม่เคยไปตรวจ พอเขาได้เรียนเรื่องนี้เขาก็กล้ามาพูดกับสมิธที่เปิดเผยเพศสภาพตัวเอง เพราะนักเรียนคนนั้นรู้สึกสะดวกใจที่จะคุยเรื่องนี้กับสมิธถึงแม้ว่าประเด็นสุขภาวะทางเพศจะไม่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพของสมิธโดยตรงแต่เขาก็เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องที่ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศมีความรู้เข้มข้นในประเด็นนี้มาก

NPR ระบุถึงการข่มเหงรังแกหลายรูปแบบตั้งแต่เรื่องที่ดูภายนอกเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็สร้างความเจ็บปวดให้กับพวกเขา เช่นการใช้คำเหยียดเพศสภาพของคนข้ามเพศ นอกจากนี้ยังถูกกดดันในแง่ต่างๆ ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นการกดดันเรื่องการแต่งกาย การไม่เคารพในความเป็นคนของพวกเธอ และบางคนถึงขั้นรู้สึกว่าอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัยที่จะแสดงตัวตนข้ามเพศในที่ทำงาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อบีบเค้นทางเศรษฐกิจเช่นต้องหาเงินจ่ายหนี้กู้ยืมด้านการศึกษาด้วย ทำให้จำยอมกับสภาพที่ไม่ได้เป็นเพศที่ตัวเองปรารถนาในที่ทำงาน

ศูนย์เพื่อความเท่าเทียมของคนข้ามเพศระบุว่ามีเพียง 15 รัฐ ในสหรัฐฯ ที่มีกฎหมายระบุชัดเจนเรื่องการห้ามเหยียดหรือกีดกันคนด้วยฐานเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ

เรียบเรียงจาก

Over half of transgender teachers experience harassment in the workplace, study finds, Pink News, 08-03-2018

More Than Half Of Transgender Teachers Surveyed Tell NPR They Are Harassed At Work, NPR, 08-03-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net