Skip to main content
sharethis

สนช. ผ่าน 3 วาระรวด ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท ให้รัฐบาล 

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า ที่รัฐสภา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1.งบกลาง 4.6 พันล้านบาท 2.งบรายจ่ายตามกระทรวง 9.5 หมื่นล้านบาท และ 3.งบบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ 4.5 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงและหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรสูงสุด คือ กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 3.4 หมื่นล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 3.1 หมื่นล้านบาท และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2.2 หมื่นล้านบาท

โดย ที่ประชุม สนช. มีมติรับหลักการวาระแรกด้วยคะแนน 194 ต่อ 0 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 1 พร้อมทั้งตั้งกมธ.เต็มสภา เพื่อพิจารณารายมาตรา วาระที่ 2 ไม่มีการแก้ไข ก่อนลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 183 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เสียง เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ รอประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ก่อนปิดการประชุมเวลา 15.15 น. รวมใช้เวลาพิจารณางบกลางปี 4 ชั่วโมงครึ่ง

ก่อนหน้าลงมติ รายงานข่าวระบุด้วยว่า สมาชิก สนช.ต่างอภิปรายเห็นด้วย สนับสนุนงบประมาณว่า ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพ ช่วยเหลือเกษตรกร อยากให้เพิ่มราคาผลิตผล ส่งเสริมการท่องเที่ยว สนับสนุนโครงการไทยนิยม และประชารัฐ ในการเข้าถึงประชาชน เช่น วิทยา ฉายสุวรรณ กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สนช.ลงพื้นที่พบประชาชนครบ 77 จังหวัดแล้ว หากมหาดไทยจะมาร่วมกับ สนช. ทำไทยนิยม จะเป็นเรื่องดี ที่จะพบปะชาวบ้านและตรวจสอบการใช้งบประมาณ

ด้าน อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ชี้แจงว่า รัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาโครงสร้างมาตลอด เชื่อว่า ปีนี้จีดีพีจะโต 4 เปอร์เซ็นต์กว่า โดยเศรษฐกิจจะไหลลงล่าง ต้องใช้เวลา รัฐบาลจึงเร่งเอาความร่ำรวย รายได้ ให้ไหลไปสู่ข้างล่างโดยเร็ว เพื่อสร้างรายได้มากขึ้น การกู้เงินแสนล้าน สำหรับงบกลางปีนั้น จะทำให้ภาระหนี้อยู่ที่ 42 เปอร์เซ็นต์กว่า ยังไม่ถึงเส้นที่ 60 เปอร์เซ็นต์ โดยเราต้องการให้เงินเข้าสู่คนและชุมชนโดยตรง ผ่านการโอนพร้อมเพย์

สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในฐานะประธานกองทุนหมู่นบ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ที่ได้รับงบ ถือเป็นการส่งเป็นครั้ง 3 ในรัฐบาลปัจจุบันคือ 1. ปี 2559 วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ตกกองทุนละ 5 แสนบาท 2. ปี 2560 วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท กองทุนละ 2 แสนบาท และ 3. ปี 2561 วงเงิน 2 หมื่่นล้านบาท กองทุนละไม่เกิน 3 แสนบาท โดยการเบิกจ่ายทุกครั้งให้นำไปใช้ดำเนินการสร้างรายได้ ไม่ได้ให้เป็นทุนหมุนเวียนปล่อยกู้ เพื่อซื้อของแจกกัน เพื่อนำเงินคืนปันผลให้กองทุน

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net