Skip to main content
sharethis

เปิดคลินิกอัยการอาสาเคลื่อนที่คุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าว

นางสาวนิภาพร รุจนรงค์ รองอัยการสูงสุด เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการคลินิกอัยการอาสาเคลื่อนที่คุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ ด้านการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์ ประจำปีงบประมาณ 2561 โดยมีนายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, รองอธิบดีอัยการภาค 7, รองอธิบดีอัยการ สํานักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน, ผู้อํานวยการ สํานักงานกิจการและโครงการในพระดําริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, อัยการพิเศษฝ่าย, อัยการจังหวัด ผู้แทนจากส่วนราชการ สถานประกอการภาคอุตสาหกรรม เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ณ โรงแรมเซ็นทรัลเพลส ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัด สมุทรสาคร

โดยปัจจุบันมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจํานวนมาก ภาครัฐและเอกชนจึงควรต้องตระหนักถึงความสําคัญของการคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาทํางานในประเทศไทย ซึ่งหากเป็นการเดินทางเข้ามาทํางานโดยผิดกฎหมายก็อาจ ก่อให้เกิดปัญหาแก่ผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการเข้าเมือง โดยผิดกฎหมาย ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งนับวันได้ทวีความรุนแรงขึ้นตามลําดับ เพราะการกระทําดังกล่าวนอกจากจะถือได้ว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสวัสดิภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเด็กและสตรีแล้ว ยังพบว่าขบวนการการค้ามนุษย์มีความเชื่อมโยงกับ การประกอบอาชญากรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักจะถูกใช้เป็นช่องทางในการหารายได้ ให้แก่กลุ่มก่อการร้ายและองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งสหประชาชาติได้ให้ความสนใจ เกี่ยวกับประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานต่างด้าวของไทยเป็นอย่างมาก ประกอบกับจากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ประเทศไทยได้รับการจัด อันดับให้อยู่ในกลุ่มที่ ๒ บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2) รัฐบาลจึงให้ความสําคัญ กับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง

ทางด้านสํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ สํานักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน จึงได้จัดโครงการฯ ขึ้นเพื่อจะได้รับความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่างด้าว กฎหมายคนเข้าเมืองและกฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ รวมถึงการน้อมนําหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นแนวพระราชดําริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สู่หลักนิติธรรม ซึ่งสํานักงานว่าด้วยยาเสพติด และอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายตําแหน่งทูตสันถวไมตรี ด้านหลักนิติธรรม สําหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แด่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อนํามาใช้เป็นหลักในการดํารงชีวิตและในการประกอบกิจการ

ภายในงานมีการจัดวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ ด้านในกฎหมายดังกล่าวจากผู้อํานวยการ สํานักพัฒนามาตรฐานแรงงาน กรมสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ผู้กํากับการ กลุ่มงานความมั่นคง กองแผนงานกิจการพิเศษ สํานักงานยุทธศาสตร์ตํารวจ ผู้อํานวยการ สํานักงานกิจการและโครงการในพระดําริพระเจ้า หลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สํานักงานอัยการสูงสุด และอัยการผู้เชี่ยวชาญ สํานักงาน อัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย สํานักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย แก่ประชาชน สํานักงานอัยการสูงสุด ที่มาให้ความรู้ด้านต่างๆ ผู้เข้าร่วมโครงการได้นําไปใช้ในการปฏิบัติงานและการประกอบกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และในขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่จะได้รับรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดเอาเปรียบ หรือล่วงละเมิดได้ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศที่สําคัญ

ที่มา: ไทยโพสต์, 24/3/2561

เผยเดือน ก.พ. ประกันสังคมแก้ปัญหาร้องเรียนสำเร็จ 93.87%

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เผยข้อมูลแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียน ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มีนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และผู้เกี่ยวข้องในระบบประกันสังคมยื่นเรื่องร้องเรียนเข้ามาในระบบจำนวนทั้งสิ้น 489 เรื่อง ในจำนวนนี้เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้องได้แล้วเสร็จภายใน 25 วันทำการ เป็นจำนวนถึง 459 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 93.87 ส่วนที่เหลือได้ทยอยแก้ปัญหาได้ลุล่วงไปตามลำดับ

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้วางระบบปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ดำเนินเรื่องให้ผู้ร้องได้รับสิทธิอันพึงมีพึงได้ โดยด่วนภายใน 7 วัน แต่หากเป็นเรื่องที่ซับซ้อนให้ดำเนินการตอบกลับภายใน 25 วัน แยกเป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนหรือแจ้งปัญหาอุปสรรคในการรับบริการสูงที่สุด ได้แก่ 1.ร้องเรียนสถานประกอบการจำนวน 258 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 52.76 2.ร้องเรียนสถานพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม จำนวน 66 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 13.50

3.ร้องเรียนการให้บริการของเจ้าหน้าที่และระบบของสำนักงานประกันสังคม จำนวน 64 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 13.09 4.ร้องระบบของสำนักงานประกันสังคม และการขอรับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคม จำนวน 39 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ7.98 5.ปัญหาอื่นๆ เช่น การใช้สิทธิซ้ำซ้อน จำนวน 14 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 2.86 6.ร้องเรียนการให้บริการของเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการข้อมูล 1506 จำนวน 7 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 1.43

หากลูกจ้าง หรือ ผู้ประกันตนมีข้อร้องเรียนหรือมีปัญหาจากการรับบริการในระบบประกันสังคมสามารถแจ้ง สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ ที่ท่านสะดวก โดยยื่นร้องเรียนด้วยตนเอง ผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือที่เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ www.1111.go.th

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 24/3/2561

'ประยุทธ์' กำชับเข้มแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนภายใน 31 มี.ค.

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามความคืบหน้าการจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา โดยขณะนี้กระทรวงแรงงานได้ปรับแผนการดำเนินงานของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) 3 รูปแบบ คือ ลดขั้นตอน โดยให้ทั้งแรงงานต่างด้าวที่พิสูจน์สัญชาติแล้ว และยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติไปรายงานตัว ขออนุญาตทำงาน ตรวจลงตราวีซ่า และดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด เพื่อให้สามารถทำงานในประเทศไทยได้ถึง 31 มี.ค. ปี63, เพิ่มเวลา ให้บริการตลอด 24 ชม.

สำหรับศูนย์ OSS ของจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก เช่น จ.เชียงราย ราชบุรี ระนอง ส่วนใน กทม. เปิดให้บริการตลอด 24 ชม.ที่กระทรวงแรงงาน และเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 – 22.00 น. ที่ศูนย์ OSS เพชรเกษม 65 ไอที สแควร์ และตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี ถึง 31 มี.ค.61 รวมถึง เพิ่มช่องทาง ให้บริการที่ สนง.จัดหางาน กทม. พื้นที่ 1-10 สนง.จัดหางานจังหวัด และเว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th ตั้งแต่วันที่ 26 – 31 มี.ค.61

ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่ต้องดำเนินการที่ศูนย์ OSS จำนวน 1,687,473 คน ดำเนินการแล้ว จำนวน 727,902 คน เหลืออีก 959,571 คน นายกรัฐมนตรีจึงขอย้ำให้ผู้ประกอบการนำแรงงานต่างด้าวไปรายงานตัว จัดทำทะเบียนประวัติ และดำเนินการตามขั้นตอนตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ทันระยะเวลาที่กำหนด

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 24/3/2561

สหภาพทีโอที-กสท ยกโขยงทำเนียบฯ ค้านตั้งบริษัทลูกแบ่งดูแลโครงข่ายโทรคมนาคม

ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่ง ก.พ.) นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และนายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เดินทางมาด้วยรถบัส จำนวน 15 คัน เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คัดค้านการจัดตั้งโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co) และ บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และ ศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC Co)

นายสังวรณ์กล่าวว่า การจัดตั้งบริษัทลูกทั้ง 2 แห่ง ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2550 ที่ระบุว่า การตั้งบริษัทลูกต้องไม่ดำเนินการที่เป็นภารกิจของรัฐวิสาหกิจแม่ และไม่ได้รับอำนาจผูกขาด และสิทธิพิเศษของรัฐวิสาหกิจแม่ อีกทั้งการโอนย้ายทรัพย์สินที่เป็นโครงข่ายภายในประเทศและโครงข่ายระหว่างประเทศของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ไปยังบริษัททั้ง 2 แห่ง ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ พวกตนพร้อมปฏิรูปองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ขอคัดค้านการจัดตั้งบริษัททั้ง 2 แห่ง เพราะเกรงว่าจะเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และยากที่จะเยียวยาในภายหลัง

ที่มา: MGR Online, 23/3/2561

ขอแบบไม่โกงสักเรื่อง เตือน! นายจ้าง/ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน จ่ายเงินสมทบครั้งใด ขอใบเสร็จทุกครั้ง

หลังจากมีเหตุการณ์สถานประกอบบางแห่งหักเงินลูกจ้างเพื่อจ่ายประกันสังคม แต่ทุจริตไม่ได้นำเงินไปจ่ายจริง จนลูกจ้างเสียสิทธิ์ในการใช้สิทธิประกันสังคม ประกันสังคม ออกมาแจงนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ติดต่องานประกันสังคม เพื่อจ่ายเงินสมทบ ณ สำนักงานประกันสังคม ธนาคาร หรือหหน่วยบริการ ขอให้ผู้ประกันตนขอใบเสร็จรับเงินทุกครั้ง และตรวจสอบหลักฐานใบเสร็จรับเงินอย่างละเอียด

เลขาธิการ สปส.เผย เดินหน้าต้านทุจริต พัฒนาระบบบริการนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ให้บริการรับ จ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หวังลดรับจ่ายเงินสดผ่านมือเจ้าหน้าที่เพิ่มความโปร่งใส

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการขจัดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น กระทรวงแรงงาน โดย พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดให้การขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นวาระสำคัญ ในการปฏิรูปเร่งด่วน ภายใต้แนวคิดกระทรวงแรงงานปลอดทุจริต จากนโยบายดังกล่าว สำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินงานต้านทุจริตอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีนโยบายห้ามเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมรับฝากเบิกจ่ายเงินสมทบหรือเงินสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และหากพบเบาะแสว่ามีการทุจริต จะดำเนินการ ทั้งทางวินัย ทางแพ่ง และอาญา กับเจ้าหน้าที่อย่างเด็ดขาดทันที อย่างไรก็ดีสำนักงานประกันสังคมได้นำระบบรับ–จ่ายเงินทุกช่องทางด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบการให้บริการ ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) เข้ามาสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้นายจ้าง และผู้ประกันตน ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อขอรับบริการที่สำนักงานประกันสังคม รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการให้มีความทันสมัย มีระบบตรวจสอบเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการทุจริตหรือเกิดความผิดพลาดในการรับ–จ่ายเงินอีกด้วย

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมยังได้แนะนำผู้ประกันตนหมั่นตรวจสอบสิทธิของตนเอง อย่างสม่ำเสมอ ได้ที่ www.sso.go.th หรือที่สายด่วนประกันสังคม 1506 บริการตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามในกรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ได้มาติดต่อสำนักงานประกันสังคม เพื่อจ่ายเงินสมทบ ขอให้ผู้ประกันตนขอใบเสร็จรับเงินทุกครั้ง และตรวจสอบหลักฐานใบเสร็จรับเงินจากสำนักงานประกันสังคมอย่างละเอียด หากผู้ประกันตนท่านใดพบเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริต ขอให้แจ้งสำนักงานประกันสังคมหลายช่องทางด้วย ได้แก่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก ทั้งนี้ หากนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน มีปัญหาจากการรับบริการในระบบประกันสังคม สามารถร้องเรียนได้หลายช่องทางด้วยกัน โดยยื่นร้องเรียนด้วยตนเอง ผ่านโทรศัพท์ สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือที่เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ www.1111.go.th

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/3/2561

“อดุลย์” ชี้ปรับจ่ายเงินทดแทนให้สอดคล้องกับปัจจุบัน

ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทน ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า สาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.เงินทดแทนปี 2537 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน ซึ่งมีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ทำให้ไม่อาจคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างได้เท่าที่ควร เช่น บทบัญญัติเกี่ยวกับขอบเขตของการใช้บังคับกฎหมาย เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ค่าทำศพ ค่าทดแทน และเงินเพิ่มกรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบ หรือจ่ายไม่ครบจำนวนร้อยละ 60 อาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย โดยในร่างกฎหมายนี้ได้ปรับแก้ไขการจ่ายเงินทดแทนให้ จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 รวมทั้งให้มีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อสร้างความโปรงใสของคณะกรรมการบริหารกองทุน

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังกำหนดหลักเกณฑ์การยื่นแบบรายการขึ้นทะเบียนนายจ้าง การแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย และการยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนใหม่ เพื่อให้ลูกจ้างได้รับความคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่าเมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการภาครัฐอย่างเท่าเทียมกัน ที่สำคัญยังทำให้ลูกจ้างมีหลักประกัน

ขณะที่สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนหลักการของร่างกฎหมายนี้ เพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงาน พร้อมยังเสนอแนะให้ส่งเสริมให้แรงงานผู้สูงอายุ และแรงงานผู้พิการได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ของร่างกฎหมายนี้ให้มากขึ้น เพราะจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างแท้จริง

จากนั้น ที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทน ด้วยคะแนน 168 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย 15 คน กรอบการพิจารณา 60 วัน แปรญัตติ 7 วัน

ที่มา: โลกวันนี้, 23/3/2561

ก.พ. คนว่างงานพุ่งเฉียด 5 แสน – จบมหาวิทยาลัยยังครองแชมป์เตะฝุ่น

รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตัวเลขการว่างงานในเดือนก.พ. 2561 มีจำนวน 491,000 คน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.3% มีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 61,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ซึ่งอัตราว่างงานอยู่ที่ 1.1% และเมื่อเทียบกับเดือนม.ค. 2561 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 16,000 คน ซึ่งอัตราว่างงานเท่ากันคือ 1.3% ทั้งนี้ เมื่อแยกผู้ว่างงานตามระดับการศึกษาพบว่า ในเดือนก.พ. 2561 ผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีจำนวน 115,000 คน

รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 103,000 คน, ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 103,000 คน, ระดับประถมศึกษาจำนวน 73,000 คน และผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมศึกษาจำนวน 19,000 คน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2560 จำนวนผู้ว่างงานระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเพิ่มขึ้น 52,000 คน, ระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น 26,000 คน และระดับต่ำกว่าประถมศึกษาเพิ่มขึ้น 1,000 คน

ขณะที่เมื่อแยกประสบการณ์การทำงานของผู้ว่างงานจำนวน 491,000 คน ในเดือนก.พ.2561 พบว่า เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 235,000 คนหรือ 47.9%ของผู้ว่างงานทั้งหมด และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 256,000 คน คิดเป็น 52.1% โดยเป็นผู้ว่างงาจากนอกภาคเกษตรกรรมจำนวน 241,000 คน ประกอบด้วย ภาคการบริการและการค้าจำนวน 137,000 คน และภาคการผลิต 104,000 คน ส่วนผู้ว่างงานจากภาคเกษตรกรรรมมีจำนวน 15,000 คน

ทั้งนี้ ในเดือนก.พ.2561 มีผู้ที่อยู่ในวัยกำลังแรงงานจำนวน 38.42 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำจำนวน 37.60 ล้านคน ผู้ว่างงาน 491,000 คน และผู้ที่รอฤดูกาลจำนวน 329,000 คน เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์แรงงานกับช่วงเดียวกันของปี ก่อนพบว่า จำนวนผู้มีงานทำลดลง 80,000 คน จากจำนวน 37.68 ล้านคนลดเหลือ 37.60 ล้านคน ซึ่งในจำนวนผู้มีงานทำ 37.60 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรรมจำนวน 11.27 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรรมจำนวน 26.33 ล้านคน

ในส่วนของผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมมีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 580,000 คน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของการปลูกข้าว การปลูกไม้ผล และการปลูกอ้อย ส่วนนอกภาคเกษตรมีจำนวนผู้ทำงานลดลง 660,000 คน ในสาขาก่อสร้างลดลงมากที่สุดจำนวน 260,000 คน สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 110,000 คน

ที่มา: ข่าวสด, 22/3/2561

กงสุลเตือนหญิงไทย ค้ากามอินเดีย ระวังจะโดนจับ-โทษหนัก

เปิดเส้นทางไปค้าประเวณีใหม่ของสาวไทย ในเขตเอเชียใต้ได้แก่ อินเดียและศรีลังกา ใช้วีซ่าท่องเที่ยวและวีซ่าธุรกิจ เดินทางไปติดต่อนายหน้าทำงานนวดสปาและค้าประเวณีแอบแฝง บางรายถูกนายจ้างบังคับให้ค้าประเวณี ถูกตำรวจล่อซื้อจับกุม ดำเนินคดีและโดนคุมขังอยู่ในเรือนจำมีความเป็นอยู่อย่างลำบาก กงสุลเตือนหญิงไทยอย่าหลงเชื่อการหลอกลวงและกฎหมายอินเดียโทษหนัก

ปัญหาหญิงไทยไปค้าประเวณีในต่างประเทศทั้งที่เต็มใจและถูกหลอกลวง ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ว่า การสัมมนาสรุปปัญหาคนไทยเขตประเทศเอเชียใต้ ในการประชุมกงสุลสัญจรในต่างประเทศของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย จัดขึ้นที่โรงแรมเดอะ อิมพีเรียล กรุงนิวเดลี เมื่อช่วงเช้าวันที่ 21 มี.ค. มีนายชุตินทร คงศักดิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี เป็นประธานในการประชุม มีนายอภิรักษ์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง อัครราชทูต และ น.ส.ภัทรัตน์ หงษ์ทอง รองอธิบดีกรมการกงสุล พร้อม ด้วยผู้บริหารจากกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กองสัญชาติและนิติกรณ์ กองตรวจลงตราคนต่างด้าว รวมทั้งรองกงสุลใหญ่และกงสุลในเขตประเทศเอเชียใต้ 5 ประเทศได้แก่ อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ ปากีสถาน และศรีลังกา เข้าร่วมประชุมและรายงานปัญหาเกี่ยวกับคนไทยในด้านต่างๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปัญหาที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศแถบเอเชียใต้ ได้แก่ ปัญหาชาวอินเดียใช้หลักฐานปลอม มายื่นขอวีซ่าเข้าประเทศไทยจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการตรวจตราอย่างรอบคอบ เป็นภาระหนักของเจ้าหน้าที่กงสุล นอกจากนี้ ยังมีปัญหาชายชาวอินเดีย จ้างผู้หญิงไทยแต่งงาน เพื่อใช้สิทธิมาพำนักและทำงานในประเทศไทย ส่วนที่ปัญหาใหญ่ในขณะนี้อีกปัญหาคือ ปัญหาหญิงไทยได้เปิดเส้นทางใหม่ไปค้าประเวณีในประเทศเขตเอเชียใต้มากขึ้น ได้แก่ อินเดีย และศรีลังกา ไปทำงานเป็นพนักงานนวดสปาด้วยการใช้วีซ่าท่องเที่ยวและธุรกิจ เข้าไปทำงานโดยไม่ได้ขอวีซ่าทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย บางคนฉวยโอกาสค้าประเวณีแอบแฝง รวมทั้งบางรายถูกนายจ้างบังคับให้ค้าประเวณี ขณะนี้มีหญิงไทยหลายรายที่ถูกจับกุมและอยู่ระหว่างรอการพิจารณาคดีชั้นศาลที่อินเดีย ยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้

น.ส.ศรัญญา ปาลีวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี เปิดเผยว่า คนไทยที่เข้ามาอยู่ในอินเดีย มีทั้งที่ประกอบอาชีพถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ส่วนที่ไม่ถูกกฎหมายและมีปัญหามากคือ หญิงไทยเข้ามาอินเดียในลักษณะวีซ่าท่องเที่ยว แต่จุดประสงค์ที่มาคือการค้าประเวณีและมีปัญหาเมื่อถูกจับกุมจำนวนมาก เข้ามาทำงาน นวดสปาอย่างผิดกฎหมายและค้าประเวณีแอบแฝง แต่มีหลายกรณีที่ตำรวจใช้วิธีการล่อซื้อและจับกุม เมื่อมีการดำเนินคดีส่งเข้าไปถึงชั้นศาล การให้ความช่วยเหลือคนไทยในส่วนนี้ ทางสถานทูตไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงขบวนการชั้นศาลได้ ลักษณะของการเข้าเมืองของคนไทยในกลุ่มนี้ มักใช้วีซ่าท่องเที่ยวในการเดินทางมา เมื่อเดินทางมาถึงที่อินเดียแล้ว จะมีการติดต่อกับนายหน้าเพื่อที่จะได้อยู่ในอินเดียและลักลอบทำงาน เมื่อมาอยู่แล้วอาจจะเลยเวลาทำให้วีซ่าขาด จึงอยู่ในอินเดียอย่างผิดกฎหมาย

ด้าน น.ส.ดวงกมล เกียรติบำรุง ทำหน้าที่กงสุลประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี เปิดเผยว่า จากการติดตามเกี่ยวกับหญิงไทย ที่ถูกจับกุมข้อหาค้าประเวณี ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ถึงปัจจุบันสถานทูต ณ กรุงนิวเดลี ได้รับรายงานจากตำรวจว่ามีหญิงไทย จำนวน 23 ราย ถูกตำรวจจับและต้องขึ้นศาลกรณีทำความผิดฐานการค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.การค้ามนุษย์ของอินเดีย ในจำนวน 23 ราย มีเพียง 1 รายเท่านั้น ที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราว และอนุญาตให้เดินทางกลับประเทศไทย สำหรับ 22 รายที่เหลือ ยังอยู่ในกระบวนการศาล กรณีการค้าประเวณี กระบวนการศาลของอินเดียใช้เวลา 3-7 ปี กฎหมายค่อนข้างรุนแรง สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำไม่ค่อยสะดวกสบายนัก ต่างจากที่เมืองไทยมาก สำหรับที่นิวเดลีทั้งหน่วยงานศาลและหน่วยงานผู้ควบคุมกฎหมายหรือตำรวจค่อนข้างเข้มงวดมาก ไม่เหมือนเมืองอื่นๆ ทางใต้ของอินเดีย เมื่อมีการจับกุมตัวแล้วจะถูกส่งกลับประเทศเลย ขอเตือนหญิงไทยที่คิดจะมาค้า ประเวณีที่อินเดีย อย่าได้หลงเชื่อนายหน้าที่หลอกลวง เพราะกฎหมายอินเดียมีโทษหนัก

ที่มา: ไทยรัฐ, 22/3/2561

EJF ชื่มชมไทยแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย IUU ต่อเนื่อง หวังไทยมีบทบาทนำในภูมิภาคอาเซียน

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ให้การต้อนรับ นาย Steve Trent ผู้อำนวยการบริหาร Environmental Justice Foundation : EJF จากสหภาพยุโรป (อียู) และคณะ เพื่อหารือและรับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และไร้การควบคุม (IUU)

พล.อ.ประวิตร ได้แจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานที่สำคัญด้านต่างๆ เช่น การจัดการกองเรือไทย ซึ่งปัจจุบันได้จดทะเบียนควบคุมเรือประมงทุกลำเกือบสมบูรณ์แล้ว การเพิ่มประสิทธิภาพระบบติดตามควบคุมและเฝ้าระวังการกระทำผิดในน่านน้ำด้วยการเพิ่มบุคลากรและนำอากาศยานไร้คนขับเฝ้าตรวจ   นอกจากนั้นได้เพิ่มความเข้มบังคับใช้กฎหมายและเร่งความคืบหน้าตัดสินคดีที่เกี่ยวข้อง โดยจัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อพิจารณาคดีภายใต้ศาลอาญา

พร้อมทั้งดำเนินการตามข้อเสนอแนะล่าสุดของ EJF ในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว เช่น การพัฒนากรอบกฎหมาย ซึ่งอยู่ระหว่างร่างกฏหมาย เพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO  และได้ปรับแก้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว โดยประกาศให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาจดทะเบียนให้เสร็จสิ้นภายใน 31 มี.ค.61  รวมถึงเร่งรัดกระบวนการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย.61 นอกจากนั้นได้พัฒนาระบบจ่ายค่าแรงประมงผ่านบัญชีธนาคาร โดยบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเงินเดือนแรงงานผ่านบัญชีธนาคารผ่านสัญญาจ้างแล้ว เพื่อให้แรงงานได้รับความเป็นธรรม

ทั้งนี้รัฐบาลไทยจะได้ขับเคลื่อนติดตามการดำเนินงานเรื่องดังกล่าวให้มีความต่อเนื่อง เพื่อรักษาทรัพยาการทางทะเลร่วมกันและพัฒนาการทำประมงของไทยให้ถูกต้องและยั่งยืน พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะผลักดันบทบาทนำการแก้ปัญหา IUU ในกรอบอาเซียน โดยเสนอให้ EJF เข้ามามีส่วนร่วมด้วย และขอความร่วมมือ EJF ในสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ไทยสามารถปลดใบเหลืองได้โดยเร็ว และสามารถยกระดับความร่วมมือกับ EJF ในการทำงานร่วมกันสู่ภูมิภาคต่อไป

ขณะที่ นาย Steve และคณะ EJF ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญและเห็นถึงความตั้งใจในการแก้ปัญหา IUU และกล่าวชื่นชม พล.อ.ประวิตร ที่ริเริ่มและช่วยผลักดันขับเคลื่อนแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาตลอด โดยเห็นถึงความพยายามและพัฒนาการของการแก้ปัญหาการทำประมงของไทยที่ผ่านมาอย่างมากแม้จะมีปัญหาบ้าง แต่ในระยะยาวจะเป็นประโยชน์เพราะจะมีทรัพยากรทางทะเลใช้ร่วมกันอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งกล่าวย้ำว่า ความพยายามอย่างหนักของไทย จะเป็นตัวอย่างที่นานาชาติสามารถนำไปเป็นแนวทางแก้ปัญหา IUU และอยากเห็นไทยมีบทบาทนำในภูมิภาคอาเซียนและทำงานร่วมกับ EU ในการแก้ปัญหา IUU ต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสต์, 22/3/2561

กสร. เชิญชวนร่วมกิจกรรม “สถานศึกษาปลอดภัย” รับสมัครบัดนี้-31 พ.ค. 2561

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เชิญชวนสถานศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรมสถานศึกษาปลอดภัย ประจำปี 2561 มุ่งสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อการสูญเสีย เริ่มรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 พฤษภาคม 2561

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กสร.จัดกิจกรรม "สถานศึกษาปลอดภัย" ประจำปี 2561 เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เกิดขึ้นภายในสถานศึกษา เป็นเครือข่ายความร่วมมือของการพัฒนาและรณรงค์ความปลอดภัยในสถานศึกษา รวมทั้งสร้างต้นแบบการดำเนินการความปลอดภัยในสถานศึกษา มุ่งลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จึงขอเชิญชวนสถานศึกษาทั่วประเทศตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงอุดมศึกษา รวมถึงการศึกษานอกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยสถานศึกษาที่มีคะแนนประเมินตั้งแต่ 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จะได้รับรางวัลดีเด่น ซึ่งสถานศึกษาที่ได้รับเป็นปีแรกจะได้รับโล่รางวัล ปีที่ 2-4 ติดต่อกันได้รับประกาศนียบัตรเกียรติยศ และโล่รางวัลดีเด่นเมื่อได้รับรางวัลเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน สำหรับสถานศึกษาที่มีคะแนนตั้งแต่ 80 แต่ไม่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ จะได้รับประกาศนียบัตรชมเชย

อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า สถานศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และจัดทำเอกสารรายละเอียดตามหัวข้อที่กำหนด โดยต้องเป็นผลงานตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2560 และเป็นผลงานจริงที่ได้ดำเนินการด้านความปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรม สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.oshthai.org และส่งใบสมัคร แบบเสนอชื่อพร้อมเอกสารรายละเอียดได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ทุกพื้นที่ หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดในเขตที่ตั้งของสถานศึกษาของท่าน โดยสามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 พฤษภาคม 2561

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 21/3/2561

ค่าแรงพุ่งฉุดดัชนีอุตฯ เดือน ก.พ.วูบ

21 มี.ค. 61 นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ระดับ 89.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 91.0 ในเดือนมกราคม และเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ทั้งนี้สาเหตุมาจาก ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ทั้วนี้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME ที่ปรับลดลงมาจาก ความกังวลต่อต้นทุนการผลิตทั้งจากราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างขั้นต่ำ ที่เตรียมปรับขึ้น รวมทั้งตลาดมีการแข่งขันสูง ประกอบกับในเดือนกุมภาพันธ์ มีวันทำงานที่น้อยกว่าปกติ และมีวันหยุดในช่วงเทศกาลตรุษจีน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการส่งออกก็ยังมีความกังวลต่อมาตรการ กีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้กระทบต่อการกำหนด ราคาขายสินค้า

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังอยู่ในระดับดี สะท้อนจากดัชนีฯ ยอดรับคำสั่งซื้อ และยอดขายในต่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อาหาร ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.1 ในเดือนมกราคม

สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐ คือเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ , เจรจากับประเทศที่มีนโยบายกีดกันทางการค้า เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคในการค้าการลงทุน ,เร่งรัดการจัดทำมาตรฐานสินค้าให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม และสนับสนุนการขยายตลาดสินค้าอุตสาหกรรมในท้องถิ่นที่ใช้แรงงานฝีมือ เช่น สินค้าหัตถกรรมและเซรามิก

ที่มา: ไทยโพสต์, 21/3/2561

ประกาศราชกิจจาฯ แล้ว ค่าแรงขั้นต่ำ สูงสุด 330 บาท ต่ำสุดอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 308 บาท

เว็บไซตต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ(ฉบับที่ 9) โดยมีเนื้อหาเป็นการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ โดย พื้นที่ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำสูงที่สุดคือ ภูเก็ต ชลบุรี และ ระยอง ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา วันละ 330 บาท ส่วนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่น้อยที่สุดอยู่ที่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี โดยกำหนดให้วันละ 308 บาท โดยให้มีผลวันที่ 1 เม.ย. 2561 เป็นต้นไป

ที่มา: คมชัดลึก, 21/3/2561

ครม. ไฟเขียวอัดเงินเพิ่มอีก 1 หมื่นล้าน ให้คนจนกู้ใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 ของธนาคารออมสิน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 ของธนาคารออมสิน วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน หรือนำไปใช้หนี้นอกระบบ ค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล โดยเงื่อนไขการปล่อยกู้ออมสินจะปล่อยกู้ให้คนละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.85% ต่อเดือน คาดว่าโครงการนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยให้ดีขึ้นประมาณ 200,000 ราย

ทั้งนี้ โครงการฯ นี้ ถือเป็นโครงการเฟส 2 ต่อเนื่องจากเฟสแรกที่อนุมัติให้ปล่อยกู้วงเงิน 5,000 ล้านบาท และเมื่อม.ค. 2561 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีการออกสินเชื่อในลักษณะนี้ไปแล้ว 10,000 ล้านบาท ซึ่งต่อเนื่องจากเฟสแรกที่ออกไปแล้ว 5,000 ล้านบาทเช่นกัน และสินเชื่อในเฟสแรกของออมสินและธ.ก.ส. ขณะนี้ก็ใกล้เต็มวงเงินแล้ว เช่นกัน ดังนั้นเมื่อครม. อนุมัติโครงการปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยครั้งนี้ ทำให้วงเงินที่ปล่อยกู้ให้รายย่อยขณะนี้เพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท ใน 2 ธนาคาร

“การยื่นกู้สามารถดำเนินการได้เลยหลังจากครม.อนุมัติโครงการ ภายใต้เงื่อนไขมีคนค้ำประกัน หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน กู้ได้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาการกู้ยืมไม่เกิน 5 ปีขอสินเชื่อภายใน 31 มี.ค. 2563 ซึ่งทั้ง 30,000 ล้านบาท จะทำให้มีประชาชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 6 แสนคน โดยจะไม่นำประวัติการชำระเงินจากเครดิตบูโรมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาสินเชื่อ”

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สินเชื่อลักษณะดังกล่าวมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง รัฐบาลจึงกำหนดเงื่อนไขในการชดเชยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการนี้ ให้ธนาคารออมสินไว้ไม่เกิน 40% คิดเป็นวงเงินประมาณไม่เกิน 4,000 ล้านบาท หรือตามที่เกิดขึ้นจริง ขณะที่ธ.ก.ส. ยังมีสินเชื่อและเงื่อนไขในการชดเชยเอ็นพีแอล ในลักษณะเดียวกัน คือ โครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 ของ ธ.ก.ส. วงเงิน 10,000 ล้านบาท ที่ครม.เห็นชอบไปแล้ว ดังนั้น ผู้มีรายได้น้อยที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน สามารถขอสินเชื่อได้ทั้งที่ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสินได้

ที่มา: ข่าวสด, 20/3/2561

ยกระดับโรงงานอุตฯสู่ 'สมาร์ท แฟกตอรี่' เร่งดันโรงงานสีเขียว 5 หมื่นแห่งทั่วไทย

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ถึงแผนการดำเนินงานการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย นับจากนี้เป็นต้นไปจะใช้แนวทางการส่งเสริมเพื่อมุ่งเน้นพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งนำเอาเทคโนโลยีการผลิต สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยมาปรับใช้อย่างบูรณาการ โดยเริ่มจากการสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ประกอบการผ่านการลดขั้นตอนการพิจารณา

ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการขออนุญาต การต่ออายุ หรือแม้กระทั่งการขยายโรงงาน ซึ่งแต่เดิมใช้ระยะเวลาประมาณ 30 วัน เมื่อกระบวนดังกล่าวแล้วเสร็จคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการน้อยลงควบคู่ไปกับการนำเอาดิจิทัลมาปรับใช้ ยิ่งทำให้ภาพรวมการดำเนินงานในอนาคตมีทิศทางที่คล่องตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อการขยายความเชื่อมั่นให้แก่การลงทุนแก่ผู้ประกอบการได้อย่างมั่นใจ โดยจะมุ่งหน้าสื่อสาร และมอบองค์ความรู้ เกี่ยวกับ Smart Factory และอุตสาหกรรมสีเขียว ให้แก่ภาคธุรกิจผ่านในงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2018 ที่จะจัดขึ้นเร็วๆ นี้ด้วย

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยต่อว่า สำหรับภารกิจหลักในการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต ในขณะที่สามารถช่วยลดการใช้วัตถุดิบ พลังงาน น้ำ ไฟ และลดการก่อมลภาวะ ซึ่งกระแสการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมนั้นได้เกิดขึ้นทั่วโลก โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ในภูมิภาคที่ตื่นตัวและจัดกิจกรรมในเรื่องดังกล่าวมาโดยต่อเนื่อง ซึ่งงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2018 ในปีนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน พร้อมศึกษาเทรนด์และองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อตอบสนองการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นในเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่ยังคำนึงถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์อีกด้วย

ในแง่ของการกำกับดูแลนั้น มงคลระบุว่าได้เริ่มดำเนินการปรับ พ.ร.บ.โรงงาน เพื่อให้สอดรับกับงบประมาณและยกระดับการจัดการให้เกิดความสมดุลของกรม อาทิ โรงงานกลุ่มที่ 1 และโรงงานกลุ่มที่ 2 ที่มีกำลังผลิตแรงม้าไม่เกิน 50 แรงม้า ทางหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา สำหรับโรงงานกลุ่มที่ 3 ที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเข้าไปกำกับดูแลโดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานที่คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งถ้าแผนดังกล่าวเป็นไปตามที่กำหนด โรงงานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเข้าไปกำกับดูแลจะเหลือเพียง 8 หมื่นโรง ซึ่งในขณะนี้มีอยู่ 1.4 แสนโรง

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนการจัดงาน BOILEX ASIA 2018 and Pumps & Valves Asia 2018 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2018 ร่วมกับ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ยังได้จัดงานสัมมนาวิชาการ ภายใต้หัวข้อ “Smart Factory สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน” โดยภายในงานมีการบรรยายหัวข้อทางกฎหมายและด้านอื่นๆ เช่น ความปลอดภัยในการใช้หม้อน้ำ สารเคมี การป้องกันอัคคีภัย ระบบมาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมกากอุตสาหกรรม วัตถุอันตราย อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมทั้งการจัดนิทรรศการพร้อมโชว์เคสเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวให้เท่าทันในยุคปัจจุบัน

ขณะที่นายสรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เข้าร่วมงาน ASEAN Sustainable Energy Week มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ซึ่งแสดงออกถึงเจตนารมณ์ในการพัฒนาพลังงานของไทยร่วมกันให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งของ BOILEX ASIA 2018 and Pumps & Valves Asia 2018 หรืองานอุตสาหกรรมเฉพาะทางหนึ่งเดียวในอาเซียน นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างความรู้ ยังได้อัพเดทความเคลื่อนไหวจากผู้เข้าร่วมจัดแสดง แบรนด์ดังอย่าง Viessmann และอื่นๆ อีกมากมายกว่า 1,500 แบรนด์ชั้นนำ จาก 35 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม    

พร้อมกันนี้ยังมีพาวิลเลียนชั้นนำจาก 10 ประเทศ อาทิ เยอรมนี สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน เนเธอร์แลนด์ อเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมและสัมมนาที่น่าสนใจในหลากหลายประเด็น เกี่ยวกับด้านพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์พลังงาน โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 3 หมื่นราย จาก 45 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน เข้าร่วมกิจกรรมและชมงานครั้งนี้    

สำหรับ ASEAN Sustainable Energy Week 2018 งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมด้านพลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จัดร่วมกับงาน BOILEX ASIA 2018 and Pumps & Valves Asia 2018 จัดขึ้นในระหว่างวันพุธที่ 6 ถึงวันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

ที่มา: คมชัดลึก, 20/3/2561

สพร.7 อุบลฯ ส่งเจ้าหนูวัย 16 เข้าแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 27

สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี ส่งผู้เข้าแข่งขันตัวแทนระดับภาค ลงชิงชัยการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 27 (World Skill Thailand 2018) โดยจัดการแข่งขัน จำนวน 28 สาขาอาชีพ ระหว่างวันที่ 19-22 มีนาคม 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อคัดเลือกและเฟ้นหาสุดยอดฝีมือเยาวชนไทยเป็นตัวแทนทีมชาติ เข้าแข่งขันในเวทีสากลต่อไป ซึ่งจากในบรรดาผู้เข้าร่วมทำการแข่งขัน จำนวน 375 คน มีตัวแทนจากฝีมือแรงงานอุบลฯ ผู้รับการฝึกหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน รุ่นที่ 38 นายไพวัลย์ ยาเลิศ วัยเพียง 16 ปี เท่านั้นเป็นตัวแทนระดับภาคลงแข่งขันฯ ในสาขาสีรถยนต์ ในครั้งนี้ด้วย

ที่มา: สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี, 20/3/2561

McKinsey ชี้ คนไทยถูกเทคโนโลยีแทนที่ 6 ล้านคนในปี 2030 ต้องเร่งขยายทักษะงานให้ทัน

McKinsey บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจทั้งรัฐ เอกชน มีสำนักงานสาขาใน 60 ประเทศ เผยเทรนด์ผลกระทบจากเทคโนโลยีต่อแรงงานคนพบว่าในประเทศไทยอาจมีคนทำงานที่ได้รับผลกระทบจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีถึง 6 ล้านราย ภายในปี 2030 อาชีพที่กระทบสูงคือ อาชีพที่อาศัยทักษะทำงานแบบซ้ำเดิมทุกวัน เช่น แรงงาน, พนักงานออฟฟิศ เป็นต้น

เทคโนโลยีรวมทุกอย่างตั้งแต่ หุ่นยนต์หรือเครื่องมือที่ทำงานซ้ำๆ อัตโนมัติ, Smart workflows หรือการทำงานร่วมกันระหว่างคนและเครื่องจักรที่ให้งานบรรลุได้รวดเร็วกว่า, Machine Learing, Natural Language และ Cognitive agents ที่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ต้อนรับ บริการลูกค้าเบื้องต้นได้

ที่มา: Blognone, 19/3/2561

กระทรวงแรงงานเกาะกระแส 'บุพเพสันนิวาส' เปิดอบรมอาชีพบริการ 'ออเจ้า'

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากละคร “บุพเพสันนิวาส” ได้เกิดกระแสสมัยนิยม สืบสานความเป็นไทยขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยแหล่งท่องเที่ยวที่กล่าวถึงในละคร มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโบราณสถานวัดเก่าในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดอื่น ๆ ที่สำคัญของประเทศไทย เช่น สุโขทัย พิษณุโลก ลพบุรี นครศรีธรรมราช

เพื่อร่วมส่งเสริมความเป็นไทย และถือเป็นการสร้างรายให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น จึงมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดฝึกอบรมผลิตพนักงานบริการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมถึงในสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อยอดสร้างรายได้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน ส่งเสริมการมีงานทำของคนทุกเพศ ทุกวัย

โดย กพร.มีเป้าหมายฝึกอบรมฝีมือแรงงาน 19,186 คน ดำเนินการไปแล้วกว่า 12,000 คน มีหลักสูตรรองรับการท่องเที่ยวกว่า 120 หลักสูตร แบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ อาทิ สาขาช่างอุตสาหกรรมศิลป์ ได้แก่ หลักสูตรช่างเย็บตัดเสื้อผ้าบุรุษ-สตรี ที่เน้นการตัดเย็บชุดไทยเพื่อรองรับกระแสนิยมความเป็นไทยในขณะนี้ สาขาภาคบริการ ได้แก่ หลักสูตรการบริการโรงแรม ช่างแต่งผมบุรุษ-สตรี การทำขนมไทย นวดไทยและนวดเท้าเพื่อสุขภาพ สาขาช่างก่อสร้าง ได้แก่ หลักสูตรการก่อสร้างบ้านดิน บ้านไม้ไผ่เพื่อการท่องเที่ยว การทำปูนปั้นม้านั่งไม้เทียม สาขาช่างอุตสาหกรรมศิลป์ ได้แก่ หลักสูตรการออกแบบลายผ้าไหมอิงวัฒนธรรมท้องถิ่น การประดิษฐ์ของที่ระลึก เป็นต้น

ที่มา: money.sanook.com, 19/3/2561

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net