Skip to main content
sharethis
เปิดตลาดนโยบายเสิร์ฟพรรคการเมือง ตั้งแต่ ‘กลุ่มผู้หญิง’ ดันหลักสูตรมลายูศึกษาในแบบเรียน ‘มารา ปาตานี’ ย้ำเจรจาสันติภาพต่อไปอย่าให้สะดุด ‘กลุ่มนักศึกษา’ ดันเสรีภาพในการแสดงออก ผู้ประสานงานบูคูเสนอความเท่าเทียมทางเพศ ถึง ‘ฮิปสเตอร์เมืองสาย’ ชูนโยบายพหุวัฒนธรรม
 
 
 

แกนนำกลุ่มผู้หญิง เสนอ หลักสูตรมลายูศึกษาในแบบเรียน

ภาพประกอบ: สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
 
โซรยา จามจุรี ผู้ประสานงานคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAOW) และนักวิชาการของ มอ. ปัตตานี และผู้เชี่ยวชาญประเด็นผู้หญิงและประชาสังคม มีข้อเสนอถึงรัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งในปีหน้าสี่ข้อ 
 
ข้อหนึ่ง โซรยาเสนอให้การแก้ปัญหาสามจังหวัดโดยใช้แนวทางสันติวิธีเป็นวาระแห่งชาติ เธอกล่าวว่า แม้ว่าตอนนี้นโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2560-2562 ได้กำหนดให้กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ แต่นั่นเป็นการกำหนดที่แคบเกินไป และเป็นการโฟกัสเฉพาะที่การเจรจาสันติสุข เธอคิดว่า วาระแห่งชาติต้องครอบคลุมหลากหลายมิติของการดับไฟใต้ และอาจไม่ได้กระทบเฉพาะคนในสามจังหวัดเท่านั้น “ผลกระทบมันกระจายไปวงกว้าง ทั้งคนในและนอกพื้นที่ เช่น เรื่องของการเยียวยา หากมีทหารซึ่งไม่ได้เป็นคนสามจังหวัดมาปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัด แล้วมาเจ็บ หรือพิการ เมื่อเขาปฏิบัติหน้าที่เสร็จ กลับไปบ้านเกิด เขาก็ได้พกพาบาดแผลทางใจกลับไปด้วย ไปยังคนในครอบครัวของเขาด้วย เราจะมองภารกิจเยียวยาตรงนี้เป็นงานสามจังหวัดหรือไม่ อย่างไร”
 
โซรยากล่าวต่อถึงภาวะความเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ของคนนอกสามจังหวัด ซึ่งอาจเกิดมาจากความไม่เข้าใจต่อสาเหตุของความขัดแย้ง นำไปสู่ความระแวงและความบาดหมางทางด้านศาสนา “มันก็ไม่พ้นว่า รัฐควรต้องสร้างความเข้าใจต่อคนข้างนอก มันถึงจะแก้ปัญหาได้ เพราะฉะนั้นจะโฟกัสแค่การพูดคุยไม่ได้ จะไม่มีวันแก้ปัญหาสำเร็จ ถ้าคนนอกพื้นที่ยังไม่เข้าใจปัญหา” เธอกล่าวเพิ่มว่า การทำให้การดับไฟใต้เป็นวาระแห่งชาติ ต้องไม่ใช่แค่การพูดลอยๆ แต่รวมถึงการให้คนทั้งประเทศมีส่วนร่วม มีการจัดสรรงบประมาณมาให้ทำกิจกรรมที่นำไปสู่การดับไฟใต้ . 
 
ข้อเสนอด้านนโยบายข้อที่สองของโซรยาคือ การเพิ่มหลักสูตรชายแดนใต้ศึกษา ซึ่งรวมถึงมลายูศึกษา ลงไปในการเรียนการสอนในโรงเรียนทั่วประเทศ แทนที่นักเรียนจะเรียนแต่ประวัติศาสตร์รัฐชาติไทยเพียงอย่างเดียว ส่วนการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดควรมีหลักสูตรสันติศึกษา ที่รวมถึงการศึกษาเรื่องพหุวัฒนธรรม และเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปด้วยทั้งในโรงเรียนรัฐบาล และร.ร.เอกชนสอนศาสนาอิสลาม “การให้ความรู้เรื่องชายแดนใต้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่นั้นสำคัญ เพราะปัญหาไฟใต้อาจไม่จบได้ในเจเนอเรชั่นนี้ อาจจะเป็นเจเนอเรชั่นหน้าที่จะเป็นคนแก้” 
 
ข้อเสนอข้อที่สาม โซรยาเสนอว่า ต้องมีกลไกภาคประชาชนในการแก้ปัญหาร่วมกับกลไกรัฐ เธอกล่าวว่า ขณะนี้ กอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานความมั่นคงถูกนำมาใช้เป็นตัวหลักในการดับไฟใต้ รัฐบาลใหม่ควรส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐภาคพลเรือนมากขึ้น 
 
เธอกล่าวว่า หลังการรัฐประหาร 2557 คณะรัฐประหารได้ยกเลิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไป ซึ่งสภานี้ถูกออกแบบให้มีผู้แทนของประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ รวมถึงกลุ่มผู้หญิงด้วย เข้ามาเป็นสภาที่ปรึกษา เธอเสนอว่า รัฐบาลใหม่ควรจะฟื้นฟูสภาที่ปรึกษานี้ขึ้นอีกครั้ง และต้องระบุโควต้าของผู้หญิงในสภาด้วย “เดิมเขาไม่ได้ระบุจำนวนผู้หญิง แค่ระบุว่า ควรมีตัวแทนของกลุ่มผู้หญิง จากที่ปรึกษาทั้งหมด 49 คนก็เลยมีผู้หญิงแค่สี่ห้าคน เพราะเลือกกันเอง ก็เลือกกันแต่ผู้ชาย เพราะฉะนั้นถ้ามีรอบใหม่ ก็ต้องมีโควต้าให้ผู้หญิงด้วยอย่างน้อยหนึ่งในสาม แล้วก็เผื่อไปถึง ส่วนเยาวชนด้วย และมีปาร์ตี้บีด้วยยิ่งดี” 
 
ข้อเสนอข้อที่สี่ โซรยากล่าวว่า เป็นข้อเสนอของคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ นั่นคือ การกำหนดเขตสันติภาพ ณ พื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน ตลาด โรงพยาบาล ศาสนสถาน เป็นที่ปลอดปฏิบัติการทางทหารและปลอดอาวุธจากทุกฝ่าย (อ่านเพิ่มเติมถึงข้อเสนอนี้ที่นี่
 
 

โฆษกมารา ปาตานี เสนอ สืบสานการเจรจาสันติภาพต่อไปอย่าให้สะดุด 

 
อาบูฮาเฟซ อัลฮากิม โฆษกมารา ปาตานี หรือ 'ปาร์ตี้บี' ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายขบวนการเอกราชปาตานีที่นั่งเจรจากับรัฐบาลไทยในการเจรจาสันติภาพ กล่าวว่า นโยบายที่เขาอยากเห็นจากรัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งคือ การสืบสานกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ และให้การสนับสนุนต่อกระบวนการนี้อย่างเต็มที่ต่อไป ดังที่รัฐบาลทหารได้ทำให้การเจรจาสันติสุขเป็นวาระแห่งชาติ  
 
เขากล่าวเสริมด้วยว่า “เราอยากเห็นนักการเมืองที่จะมาจากพรรครัฐบาลมามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ พรรคการเมืองทุกพรรคที่มีส่วนในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ควรจะแถลงจุดยืนของตัวเองให้ชัดเจน ว่ามีนโยบายต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในชายแดนใต้อย่างไร” 
 

ผู้ประสานงานบูคู เสนอ ความเท่าเทียมหญิงชายในสามจังหวัด 

 
นูรฮายาตี ยูโซะ ผู้ประสานงานบูคูคลาสรูม กล่าวว่า เธออยากให้รัฐบาลชุดใหม่ กำหนดให้มีผู้หญิงนั่งอยู่ในคณะกรรมการอิสลามของทุกจังหวัด เนื่องด้วยในปัจจุบันแทบไม่มีผู้หญิงเป็นกรรมการ ทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับความเป็นธรรมเมื่อ ต้องไปดำเนินการการฟ้องหย่า การถูกสามีทุบตี และการบังคับแต่งงาน เธออยากให้มีการกำหนดสัดส่วนของที่นั่งในคณะฯ ด้วย 
 
นอกจากนี้ เธอเสนอให้มีการกวดขันให้มีการจ่ายค่าแรงแก่ผู้หญิง เท่ากับผู้ชาย และให้มีการเลิกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และเธออยากให้มีนโยบายที่ส่งเสริมผู้หญิงเป็นผู้นำองค์กรท้องถิ่นมากกว่านี้ 
 
 

ประธานเปอร์มัส เสนอ เสรีภาพในการแสดงออก เพื่อรับฟังเจตจำนงของชาวปาตานี 

 
อาฟิส ยะโกะ ประธานสหพันธนิสิตนักศึกษานักเรียนเเละเยาวชนปาตานี (PerMas) กล่าวว่า การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและมีบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดให้ผู้คนแสดงความคิดเห็นได้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการดับไฟใต้ และเมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว เขากล่าวว่า อยากให้รัฐไทยและรัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งเลิกการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจที่จะแสดงออกถึงเจตจำนงของตัวเองต่ออนาคตในเรื่องการเมืองการปกครองของพื้นที่ปาตานี นอกจากนี้ยังอยากให้มีการสร้างพื้นที่ให้กับประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แสดงความคิดเห็น และให้รัฐไทยและรัฐบาลได้มารับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบายการแก้ปัญหาไฟใต้ต่อไป เพื่อเข้าใจปัญหาและออกแบบวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน 
 
“ปัญหารากเหง้าของที่นี่ไม่ใช่มาจากเรื่องเศรษฐกิจ หรือเรื่องการพัฒนาเเต่อย่างใด เเต่มันเป็นเรื่องทางการเมืองที่ต้องเเก้ด้วยหนทางการเมือง"
 
เขากล่าวด้วยว่า สำหรับการเจรจาสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่นั้น เขาหวังที่จะเห็นการเจรจาที่มีมาตรฐาน และมีผู้สังเกตการณ์ที่เป็นสากลมากกว่าประเทศมาเลเซียมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย 
 

ฮิปสเตอร์เมืองสาย เสนอ นโยบายพหุวัฒนธรรม ที่ไม่ดูถูกและยัดเยียด 

 
อานัส พงค์ประเสริฐ ประธานกลุ่มสายบุรีลุคเกอร์ (สมาคมนักเฝ้ามองแห่งเมือง) กล่าวกับประชาไทอย่างคับข้องใจว่า ที่ผ่านมา เวลาที่รัฐกำหนดนโยบายอะไรต่างๆ เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น คนในพื้นที่แทบไม่ได้รับรู้และมีส่วนนร่วม “อย่างล่าสุด ผมก็ลงพื้นที่ไปคุยกับชาวบ้านเรื่องเซฟตี้โซน คำว่าพื้นที่ปลอดภัยมันฟังแล้วดูดี แต่พอเราลงรายละเอียดแล้ว ชาวบ้านก็ไม่เก็ต ไม่โอเคเท่าไหร่” 
 
“เราไม่รู้ว่า ในอนาคตพรรคการเมืองจะขายฝันอะไรอีก แต่ที่ผ่านมามันคิดกันเองอยู่ที่เมืองกรุง ไม่มีเลยสักคนที่จะเห็นว่า คนข้างล่างมีโอกาสส่งความคิดเห็นขึ้นไป การมีส่วนร่วมที่ผมอยากเห็น ไม่ใช่แค่การหยิบผู้นำคนมลายูบางคนเข้าไปอยู่ในพรรคแค่นั้น”
 
เขากล่าวว่า นโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวกับสังคมพหุวัฒนธรรมที่ผ่านมา ก็ทำไปโดยไม่ได้เข้าใจบริบท การอยู่ร่วมกันจริงๆ ของคนในพื้นที่ “รัฐเอาคนมาสอนว่า คุณต้องอยู่ด้วยกันอย่างนี้นะ ราวกับว่าเราไม่มีทักษะการอยู่ร่วมกัน ทั้งยังทำอะไรแบบฉาบฉวย เอาพระกับอิหม่ามมานั่งโชว์กินข้าวด้วยกันอะไรแบบนี้ ผมมองว่านี่คือการดูถูกคนข้างใน พรรคไหนก็ตามที่จะมาออกแบบนโยบายพหุวัฒนธรรม อย่ามาดูถูกคนข้างใน มาสอนมาสั่งเราว่าให้อยู่ร่วมกันอย่างไร คุณควรให้เราออกแบบกันเอง”  
 
“ตอนนี้ สังคมที่ปาตานีก็มีความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น มันปฏิเสธไม่ได้ว่า คนก็ห่างเหินกันขึ้นเป็นธรรมดา ไม่ใช่แค่ที่ปาตานี ที่อื่นก็เป็น โลกมันไปข้างหน้า คุณมัวมาฝันจะให้คนอยู่ร่วมกันแบบอดีตมันก็โรแมนติกเกินไปแล้ว คนที่พยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาสามจังหวัด ไมใช่มโนจินตนาการว่า แต่ก่อนเขาอยู่ด้วยกันแบบนี้นะ แล้วจะมาให้เราทำแบบเดิม มันไม่ใช่แล้วอ่ะ โลกมันเปลี่ยนไป การใช้ชีวิตด้วยกันมันก็ถูกปรับเปลี่ยนแบบสังคมเมืองมากขึ้น ที่กรุงเทพฯ ก็เป็นใช่ไหม” 
 
อานัสกล่าวทิ้งท้ายว่า นโยบายที่จะเป็นบันไดไปสู่สังคมพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริงต้องเกิดจากการยอมรับอัตลักษณ์ที่หลากหลาย เช่น คนมลายู คนจีน ว่าเขาก็อยู่ในประเทศไทยเหมือนกัน “ไม่ใช่เอาความเป็นชาติไทยมากลบ” เขาหวังว่า รัฐบาลใหม่ควรออกแบบนโยบายโดยยอมรับตัวตนคนที่หลากหลายของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะเป็นการผ่อนคลายบรรยากาศความขัดแย้งในพื้นที่ และนำไปสู่ความเข้าใจเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net