Skip to main content
sharethis

หลายคนสับสนหลังอ่านข่าว คดี 112 ของนักร้องดังยกฟ้อง “ติดคุกฟรีตั้งหลายปีหรือ” “ได้ออกแล้วใช่ไหม” คำตอบคือ “ไม่ใช่” จึงขอไล่เรียงกันใหม่ พร้อมข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ ที่รวบรวมมา

เซอร์ไพร์สกันพอสมควรกับคำพิพากษายกฟ้องคดี 112 คดีที่สามของ ทอม ดันดี หลังจากที่เขารับสารภาพไปแล้ว

เหตุผลก็คือ ที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้น ไม่เพียงพอในการตีความคำพูดของจำเลยว่าหมายความถึงพระมหากษัตริย์ ฯลฯ ดังนั้น แม้จำเลยจะรับสารภาพยอมรับผิดตามมาตรา 112 ศาลก็ไม่อาจลงโทษได้ อ้างอิงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185(1)

เมื่อถามทนายความคนหนึ่งว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ค่อยได้เห็นนัก ส่วนกรณี 112 นั้น ยังไม่เคยเห็นสักรายที่รับสารภาพแล้วยกฟ้อง

“ตอนท่าน(ผู้พิพากษา) ถามในนัดสมานฉันท์ เราก็เล่าให้ฟังหมดว่าเจตนาเป็นยังไง ทำไมสองคดีแรกถึงรับสารภาพ เพราะมีนายทหารเข้ามาคุยเรื่องให้รับสารภาพเพื่อการปรองดอง ท่านก็ถามเราว่าคดีนี้คุณคิดว่าไม่ผิดแล้วรับสารภาพทำไม เราก็บอกว่า ผมเหนื่อยแล้ว” ทอม ดันดี เล่าให้ฟัง

แล้วเหตุใดศาลจึงมีแนวพิพากษาเช่นนี้ทั้งที่ที่ผ่านมาเมื่อจำเลยรับสารภาพแล้วมักเห็นการลงโทษเป็นหลัก แม้แต่กับข้อความที่ “น่าจะเบากว่านี้” การวิเคราะห์เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการและไม่เปิดเผย คนที่เปิดเผยที่สุดเห็นจะเป็น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ลี้ภัยการเมือง-อดีตอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ที่วิจารณ์ระบบไว้ว่า แต่เดิมการพิพากษามักไปไกลเกิน “เนื้อผ้า” ไปมาก ตอนนี้น่าจะเป็นไปตาม “เนื้อผ้า” มากขึ้น ...  

ความเข้าใจผิด

หลังข่าวการยกฟ้องครั้งนี้แพร่สะพัด หลายคนสอบถามเข้ามาว่า ทอม ดันดี จะได้กลับบ้านแล้วใช่หรือไม่ นั่นแสดงว่าคดีของเขากินเวลายาวนานและซับซ้อนเสียจนผู้คนลืมเรื่องราวเดิมไปเสียแล้ว นอกจากนี้ผู้อ่านจำนวนมากยังคอมเม้นท์ในข่าวว่า ศาลยกฟ้องแล้วฟ้องกลับได้ไหมเพราะถูก “ขังฟรี” มายาวนาน ฯลฯ

เหล่านี้ทำให้เราน่าจะทำความเข้าใจกันใหม่ในกรณีของทอม ดันดี ซึ่งเป็นนักโทษการเมืองที่ “ซัฟเฟอร์” มากที่สุดอีกคนหนึ่งของประเทศไทย

ทอมเกิดในครอบครัวที่ยากจนแต่ขวนขวายจนได้ไปเรียนที่ฝรั่งเศส 6 ปี กลับมาเป็นศิลปินจนคนรู้จักทั่วบ้านทั่วเมือง เขาเข้าสู่การเมือง เริ่มปราศรัยอย่างจริงจังในช่วงปี 2553 ซึ่งเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงด้วยความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก หลังจากนั้นในปี 2554 เป็นต้นมาเขาก็ตระเวนปราศรัยตามจังหวัดต่างๆ มากมายเหนือจรดใต้ และนั่นเป็นเหตุให้เขาโดนคดี 112 ย้อนหลังเป็นจำนวน 4 คดี ซึ่งเราจะไล่เรียงในลำดับถัดไป

ต้องกล่าวก่อนว่า หลังรัฐประหารในปี 2557 คสช.จับกุมคนในทุกแวดวงที่เป็น “ผู้นำทางความคิด” หรือมีบทบาทในการเคลื่อนไหวมวลชน ส่วนใหญ่อยู่ในโหมดขู่ให้กลัว โดนปรับทัศนคติแล้วปล่อยตัว บางส่วนที่มีหลักฐานดำเนินคดีได้ก็จะเข้าสู่โหมดเชือดไก่ให้ลิงดู ทอมโดนจับวันที่ 9 ก.ค.57 หลังจากนั้นก็ไม่ได้ออกจากคุกอีกเลย ปัจจุบันนับเป็นเวลา 3 ปีกับ 9 เดือนเศษ

ไล่เรียง 4 คดี

ถึงวันนี้ทอมถูกดำเนินคดีในข้อหาความผิดตามมาตรา 112 ทั้งหมด 4 คดี

คดีที่1 > ขึ้นศาลทหาร > ปราศรัยที่กทม. > เมื่อ 6 พ.ย.56 > โพสต์ยูทูป 6 พ.ย.56 - 22 มิ.ย.57

คดีที่2 > ขึ้นศาลอาญา > ปราศรัยที่กทม. > เมื่อ 13 พ.ย.56 > โพสต์ยูทูป 13 พ.ย.56 – 26 เม.ย.57

ข้อสังเกต

-คลิปทั้งสองอันโพสต์โดยบุคคลอื่น

-คลิปทั้งสองอันโพสต์ห่างกันแค่ 1 สัปดาห์ แต่ขึ้นศาลต่างกัน เหตุผลก็เพราะในคำฟ้องระบุระยะเวลาการเจอคลิปต่างกัน มีเส้นกั้นคือ 22 พฤษภา 57 (วันรัฐประหาร)

คลิปในคดีแรก เจ้าหน้าที่อ้างว่าเจอเมื่อ “22 มิ.ย.57” ถือว่ามีความผิดต่อเนื่องในระบบคอมพิวเตอร์จนมาถึงช่วงหลังรัฐประหารแล้ว จึงต้องขึ้นศาลทหารตามที่ คสช.ออกคำสั่งให้คดีความมั่นคงขึ้นศาลทหาร

คลิปที่สอง เจ้าหน้าที่อ้างว่าเจอเมื่อ “26 เม.ย.2557” จึงต้องขึ้นศาลอาญา เพราะเจอคลิปก่อนการรัฐประหารถือว่าทำความผิดก่อนการรัฐประหาร แต่บังเอิญคลิปนี้เจอก่อนก็จริงแต่แจ้งความดำเนินคดีช้ากว่าอันแรก เลยกลายเป็นคดีลำดับที่สอง

การเจอคลิปไม่พร้อมกันอย่างมีนัยยะสำคัญนี้เอง ทำให้ขึ้นศาลต่างกันและไม่สามารถรวมคดีกันได้

คดีที่ 3 > ขึ้นศาลจังหวัดราชบุรี > ปราศรัยที่ราชบุรี > เมื่อ 8 ส.ค.2553 > แกนนำการเมืองฝ่ายตรงข้ามแจ้งความ

ข้อสังเกต

-การปราศรัยเกิดขึ้นไม่นานหลังมีการสลายการชุมนุมเดือน พ.ค.53

-ตำรวจแจ้งข้อหา จำเลยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 2 ส.ค.55 (หรืออีก 2 ปีต่อมา) จากนั้นได้รับการประกันตัว ไม่มีการดำเนินคดีใดๆ จนกระทั่งอีก 6 ปีต่อมา อัยการจึงส่งฟ้องต่อศาลราชบุรี

-ทนายความคนเก่าที่เคยช่วยเหลือคดีนี้ให้ข้อมูลว่า เขาคิดว่าคดีนี้ตำรวจน่าจะสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว จนกระทั่งได้ยินข่าวว่ามีนโยบายที่ให้รื้อคดีเก่าๆ ที่สั่งไม่ฟ้องทั้งหมดขึ้นมาอีกครั้ง คดีจึงฟื้นคืนชีพอีกหน

-ทอมถูกย้ายด่วนไปขังที่คุกราชบุรีก่อนหน้าที่อัยการจะฟ้องต่อศาลนานถึง 2 เดือนกว่า โดยเจ้าตัวไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น

-วันที่อัยการส่งฟ้องศาล ญาติและทนายไม่ทราบล่วงหน้า เบื้องต้นทอมให้การปฏิเสธ และศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 23 เม.ย.นี้

คดีที่ 4 > ขึ้นศาลอาญา > ปราศัยที่ลำพูน >เมื่อ 1 พ.ค.54 > ทหารแจ้งความ

ข้อสังเกต

-หลังปราศรัย 1  วัน ทหารในพื้นที่จากมณฑลทหารบกที่ 33 ได้แจ้งความกล่าวโทษต่อตำรวจ แล้วเรื่องก็เงียบไป จนกระทั่งทอมถูกจับและอยู่ในเรือนจำด้วยคดี 112 กรณีอื่นมาแล้วสองปี ตำรวจจึงค่อยเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาเขาถึงในเรือนจำในวันที่  7 เม.ย.2559

-คดีที่ 3 และ 4 ของทอมมี “นัดสมานฉันท์” หรือเรียกอีกอย่างว่า “นัดคุ้มครองสิทธิ” เพิ่มขึ้นก่อนดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตามปกติ ขั้นตอนนี้เป็นไปตามนโยบายของศาลยุติธรรมที่ต้องการลดจำนวนคดีอาญา หากคู่ความไกล่เกลี่ยกันได้หรือจำเลยยอมรับผิดไม่ต่อสู้คดี สำหรับคดีปกติคงไม่แปลก แต่สำหรับคดี 112 ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งให้ข้อมูลว่า ไม่เคยเห็นขั้นตอนนี้เกิดขึ้นในศาลอาญากรุงเทพฯ แต่สำหรับในต่างจังหวัดนั้นปรากฏมาแล้วหลายคดี อย่างไรก็ดี ในคดีที่ 4 นี้ทอมตัดสินใจรับสารภาพโดยไม่ปรึกษาทนายความ เพราะ “เหนื่อย” กับการต่อสู้คดีดังที่กล่าวไปตอนต้น

แอบเปิดดู อะไรซ่อนอยู่ใต้พรม

หลังจากรับสารภาพคดีลำพูน คาดกันว่าคดีราชบุรีที่นัดในเดือนเมษายนนี้เขาก็น่าจะกลับคำให้การจาก สู้ เป็น รับ เช่นกัน

กล่าวสำหรับ 2 คดีแรกที่ทอมรับสารภาพนั้น หากดูในรายละเอียดจะพบว่า ในคดีที่หนึ่ง เขาตัดสินใจสู้คดี แต่แล้วอย่างไม่คาดคิด เขาก็โดนคดีที่สอง ความตึงเครียดเพิ่มทวี พร้อมๆ กับที่มีนายทหารเข้าไปพูดคุยประสานงานด้านการปรองดอง โดยเสนอให้เขารับสารภาพแล้วรับปากจะช่วยดำเนินการในการขอพระราชทานอภัยโทษ เขาตัดสินใจรับสารภาพทั้งหมด โดยคดีที่สองที่ขึ้นศาลอาญานั้นตัดสินก่อน เมื่อได้รับโทษจากทั้งสองศาลเป็นที่เรียบร้อย ก็พอดีกับที่นายทหารคนดังกล่าวแจ้งว่าเขาไม่ได้ทำงานในส่วนนี้อีกต่อไปแล้ว

หากถามว่าคดีที่ขึ้นศาลทหารกับคดีที่ขึ้นศาลอาญา อันไหนที่ลงโทษหนักหน่วงและสร้างความเจ็บปวดกับจำเลยมากกว่ากัน ก็จะขอตอบแทนจำเลยว่า ศาลอาญา

ศาลทหารนับโทษจำเลยในการปราศรัย 1 ครั้ง เป็น 1 กรรม แต่ศาลอาญานับโทษจำเลยในการปราศรัย 1 ครั้ง เป็น 3 กรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเลยและกระทั่งทนายจำเลยให้สัมภาษณ์ในภายหลังฟังคำพิพากษาว่า เข้าใจมาโดยตลอดว่าเป็นความผิดกรรมเดียว

ศาลทหารลงโทษ5 ปีต่อหนึ่งกรรม เช่นเดียวกับศาลอาญา 

ศาลทหารลดโทษให้ 1 ใน 3 เพราะให้การเป็นประโยชน์  เหลือ 3 ปี 4 เดือน

ศาลอาญาลดโทษให้กึ่งหนึ่งเพราะรับสารภาพ เหลือ 7 ปี 6 เดือน

ผู้พิพากษาศาลอธิบายว่า อันที่จริงศาลเห็นว่าการกระทำผิดที่เกิดขึ้นตามฟ้องนั้นแบ่งได้เป็น 5 กรรม โดยเป็นการปราศรัยหมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 3 กรรม หมิ่นประมาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ 1 กรรม และการโพสต์ขึ้นยูทูปอีก 1 กรรม แต่อธิบดีศาลอาญาและรองอธิบดีเห็นว่า การหมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นกระทำต่อเนื่องกัน ให้นับเป็น 1 กรรม จึงนับความผิดเป็นการหมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 1 กรรม สมเด็จพระบรมราชินีนาถ 1 กรรม และการโพสต์ยูทูป 1 กรรม

เป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับนักกฎหมายที่จะศึกษาคำพิพากษนี้เพื่อศึกษาบรรทัดฐานแห่งการนับ “กรรม” และโดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การโพสต์ขึ้นยูทูปนั้นนับเป็นอีกกรรมหนึ่งของมาตรา 112 ได้หรือไม่ อย่างไร

นอกจากนี้ในวันพิพากษาที่จำเลยเซอร์ไพรส์ได้รับโทษถึง 3 กรรมนั้น ศาลยังได้พูดคุยนอกเหนือจากการอ่านคำพิพากษา ซึ่งโดยปกติเรามักไม่ได้ค่อยได้เห็น ผู้พิพากษาสนทนากับจำเลยอย่างเป็นกันเองและกำชับให้จำเลยปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ แต่งเพลงเฉลิมพระเกียรติด้วยหากพ้นโทษออกไป

นอกจากคนที่เคยรับปากจะช่วยเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษหายไปกับสายลม ทอมยัง “โชคร้าย” ไม่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปถึง 2 ครั้งด้วยกัน เนื่องจากคดี “ยังไม่สิ้นสุด” อันเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จะได้รับการอภัยโทษ ถามว่าทราบผลการพิพากษาแล้วทำไมจึงยังไม่สิ้นสุด นั่นก็เพราะอัยการยังคงขอขยายเวลาการอุทธรณ์ออกไปเรื่อยๆ คราวละ 30 วันแต่สุดท้ายก็ไม่ได้อุทธรณ์ และมันส่งผลให้พ้นเขตเวลาที่เขาจะได้รับ “ส่วนลดโทษ” จากการอภัยโทษใหญ่ในปีนั้นไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย

โลกใบเล็กของทอม ดันดี

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคงสภาพ “ดั้งเดิม” ของตัวเราหลังถูกจำกัดอิสรภาพอย่างหนักหน่วง เผชิญกับมาตรฐานชีวิตที่ย่ำแย่ และเหลือศักดิ์ศรีเพียงน้อยนิด มาเป็นเวลายาวนาน

สำหรับทอม ดันดี ซึ่งมักเรียกแทนตัวเองว่า “อาทอม” มีสโลแกนประจำตัวอยู่ 3 อย่าง กินง่าย นอนง่าย เข้าใจง่าย โดยเฉพาะเรื่องหลังนั้นสัมพันธ์กับเรื่องธรรมะอยู่มาก

“เขาไม่ให้อ่านหนังสือก็ไม่อ่าน ไม่ให้ทำนั่นก็ไม่ทำ ไม่ให้ทำนี่ก็ไม่ทำ ยังไงก็ได้”

ในช่วงปีหลังๆ บทสนทนากับทอม ดันดี ยิ่งไปสู่โหมดที่มนุษย์ในโลกวิทยาศาสตร์เข้าใจยากขึ้นเรื่อยๆ เขามักหยิบยกคำคม-การเปรียบเปรยต่างๆ มาอธิบายแบบที่ต้องตีความสองชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอธิบายหลายเรื่องเชื่อมโยงกับ “กรรมเก่า” เมื่อคนฟังหน้านิ่วคิ้วขมวด เขาจะออกตัวว่าเรื่องนี้เป็นความเชื่อที่แตกต่างกันและเป็นประสบการณ์ส่วนตัวอย่างยิ่ง ยากที่คนไม่เคยประสบจะเข้าใจ

เขาใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงในการนั่งสมาธิ ทุกๆ คืน  

“มันช่วยเรียงพิกเซลความคิดของเราอย่างละเอียดมาก แล้วเราจะเริ่มติด วันไหนที่ไม่ได้นั่งจะรู้สึกเศร้ามาก มันพาเราไปลึกขึ้นเรื่อยๆๆๆ แต่โชคดีที่อาทอมรู้ว่าทางออกอยู่ตรงไหน”

ไม่ว่าจะมองอย่างไร อย่างน้อยสิ่งนี้ก็ช่วยประคองจิตใจของเขาไว้

“มันช่วยให้เรานิ่งและชนะจิตใจของตัวเราเอง เมื่อเราอยู่กับปัจจุบันได้ ความทุกข์ไม่ว่าจะมาแบบไหนก็ทำร้ายเราได้น้อยลง โชคดีที่อาทอมไม่ค่อยจำอดีต ไม่มีอนาคตด้วย (หัวเราะ)”

แน่นอน สหายที่เขาสนิทมากคือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข เพื่อนร่วมคุกของเขาที่มีกำหนดออกจากคุกวันที่ 30 เม.ย.นี้ หลังอยู่จนครบกำหนดโทษ 6 ปี

“รายนั้นเหรอ ศาสนาก็ไม่มี พระก็ไม่ไหว้ (หัวเราะ)”

เขาเล่าด้วยว่าเขาทั้งคู่คิดเรื่องนี้ไม่ตรงกัน เคยเถียงกันเรื่องการทำหน้าที่ของ “จิต” กับ “ใจ” คนหนึ่งเป็นแง่มุมทางจิตวิญญาณ อีกคนเป็นแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ ไม่มีใครยอมใครจนบัดนี้

เรื่องความเป็นอยู่โดยทั่วไปนั้นเขาปรับตัวได้แล้วแทบไม่มีปัญหา

“เจ้าหน้าที่ก็ดีกับอาทอมนะ ยิ่งกับกลุ่มกรรมฐานนี่เขาไม่ค่อยยุ่งด้วย ดีเลย”

“ส่วนที่เรือนจำราชบุรีก็ไม่มีปัญหา เดี๋ยวก็คงถูกย้ายไปอยู่นั่นอีก เพียงแต่มันแออัดมาก ความกว้าง 1 เมตรนี่นอน 2 คนครึ่ง เวลาจะลุกเดินเข้าห้องน้ำต้องระวังมาก กำหนดจังหวะก้าวดีๆ เพราะเดินระหว่างคอของคนอื่น ถ้าเขาหันมาพอดีนี่ก็เหยียบเข้าหน้าเลยนะ (หัวเราะ)”

เวลาว่างกับพื้นที่จำกัดอาจทำให้คนฟุ้งซ่านจนเป็นบ้าได้ง่ายๆ แต่ทอม ดันดี ใช้เวลากับสิ่งที่เขารักนั่นคือ ดนตรี เขาเขียนเพลงได้ 3,000 กว่าเพลง บางวันแต่งได้ถึง 4-5 เพลง

“เราเขียนจากเรื่องที่เราเจอ บางทีมันก็มาจากเรื่องของนักโทษคนอื่นที่เขาเล่าชีวิตให้ฟัง มันเศร้ามาก เราไม่รู้จะทำยังไงก็เอาไปเขียนเพลง”

ชั่วแต่ว่า เพลงทั้งหมดนั้นเขาส่งออกมา แต่ไม่มีใครได้รับ เพราะติดอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบจดหมายของเรือนจำ ยังไม่แน่ว่าเขาจะสามารถขอเพลงเหล่านั้นคืนได้หรือไม่ เมื่อไร ในช่องทางใด

เมื่อถามว่าหลังมรสุมนี้ เขาจะเลิกต่อสู้ทางการเมืองตามแนวทางที่เชื่อหรือไม่ คำตอบก็คือ

“ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ศิลปะวัฒนธรรมต้องนำการเมือง แต่บ้านเราเอาศิลปะไปไว้หลังสุด เราต้องเอาเรื่องนี้ขึ้นมา อาทอมรักดนตรี มีแพสชั่นกับมัน นั่นคือสิ่งที่เราทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบแผนเดียว”

ดังนั้นเตรียมตัวกันได้เลยล่วงหน้าสำหรับซิงเกิ้ลใหม่ของเขา หากแต่จะได้ฟังเมื่อใดไม่มีใครรู้ เพราะยังเหลืออีก 1 คดีที่ยังไม่พิพากษา กับโทษจำคุกเดิมที่เหลืออีก 7 ปี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net