Skip to main content
sharethis

กระทรวงแรงงานสรุปผลการทำทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ รวมเกืบ 1.4 ล้านคน

กระทรวงแรงงาน สรุปผลการทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา กัมพูชา และลาว ซึ่งศูนย์ทำทะเบียนประวัติได้ปิดศูนย์ไปเมื่อเวลา 24.00 น. คืนวันที่ 31 มี.ค. โดยศูนย์รายงานตัวออนไลน์ กรมการจัดหางาน แจ้งยอดทำทะเบียนประวัติแรงงาน 3 สัญชาติ ที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ทั่วประเทศ 1,379,252 คน ตั้งแต่เปิดศูนย์ OSS ระหว่างวันที่ 5 ก.พ.-31 มี.ค. มีออกมาแสดงตัวทำทะเบียนประวัติ 1,303,933 คน เป็นการแจ้งผ่านระบบออนไลน์ทาง www.doe.go.th 190,098 คน และมีแรงงาน 75,319 คน ไม่ออกมาแสดงตัวทำทะเบียนประวัติ กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า หลังปิดศูนย์ OSS ในเวลาเที่ยงคืนตามกำหนด แต่ในกระทรวงแรงงาน ยังมีแรงงานต่างด้าวรอคิวเป็นจำนวนมากจนเลยเที่ยงคืนไปแล้ว เป็นกลุ่มที่ดำเนินการแล้วแต่รอรับเล่ม สำหรับแรงงานจำนวน 75,319 คน ที่ไม่ออกมาแสดงตัว คิดเป็น 5% ของแรงงานทั้งหมด แรงงานกลุ่มนี่จะกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย หากลักลอบทำงานจะต้องถูกดำเนินคดีและส่งกลับประเทศ นายจ้างที่ใช้งานก็มีความผิดด้วย แต่แรงงานส่วนหนึ่งก็อาจไม่มีตัวตนแล้วเพราะเดินทางกลับประเทศ

ทั้งนี้ ในเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำทะเบียนประวัติแรงงานที่ต้องนั่งรอคิวในศูนย์ OSS ยาวนาน 1-2 วัน เป็นผลจากการบริหารจัดการผิดพลาด เจ้าหน้าที่และเครื่องมือต่างๆ ไม่เพียงพอกับคนจำนวนมาก เอกสารที่ต้องใช้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ระยะเวลาแค่ 56 วัน น้อยเกินไปกับแรงงานเป็นล้านคนและต่างรู้สึกไม่พอใจที่ผู้บริหารกระทรวงให้สัมภาษณ์ถึงความล่าช้าว่าเป็นเพราะนายจ้างไม่รีบดำเนินการตั้งแต่เริ่มเปิดศูนย์วันที่ 5 ก.พ. แต่มาทำในช่วงท้ายคนจึงแออัด

โดยนายจ้างแย้งว่า ตลอด 50 วันไม่ได้อยู่เฉย ต้องนำแรงงานวิ่งตรวจโรคจากโรงพยาบาลก่อนมาดำเนินการทำทะเบียนประวัติ ซึ่งกว่าจะได้ตรวจและผลตรวจออกต้องใช้เวลานาน แต่กระทรวงกลับมีการเปลี่ยนเงื่อนไขต่างๆ บ่อยจนวุ่นวาย เมื่อการจัดการมีปัญหา กลับพูดโยนให้นายจ้างเป็นคนผิด ทั้งที่ออกกฎเองแต่ทำงานไม่ทัน โดยเห็นว่า ผิดตั้งแต่ตีวีซ่าให้หมดพร้อมกัน วันที่ 31 มี.ค. 2561

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 1/4/2561

ล้น ก.แรงงาน รอขึ้นทะเบียนประวัติศูนย์ OSS วันสุดท้าย

บรรยากาศที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ใต้อาคารกระทรวงเเรงงานในวันสุดท้ายที่เปิดรับทำทะเบียนประวัติเเรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ  ได้แก่ กัมพูชา ลาวเเละเมียนมา ยังมีเเรงงานต่างด้าวจำนวนมากมารอคิวขึ้นทะเบียนอย่างเนืองเเน่น จนล้นออกมาด้านนอกอาคาร ทำให้ภายในกระทรวงเเรงงานเเน่นขนัดไปด้วยเเรงงานต่างด้าว ถึงเเม้ว่าจุดนี้จะเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงเเล้วก็ตาม จากการสอบถามเเรงงานบางรายใช้เวลารอคิวนานกว่า 30 ชั่วโมง ก็ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเเต่ยังปักหลักรอเพื่อดำเนินการให้เเล้วเสร็จ

นายอนุรักษ์ ทศรักษ์ อธิบดีกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกว่า 187,000 ราย สำหรับศูนย์ OSS ทุกศูนย์พร้อมให้บริการและเร่งขึ้นทะเบียนให้กับเเรงงานทุกคน โดยศูนย์ในกระทรวงขณะนี้มีประชาชนมารอเป็นจำนวนมากทุกคนที่รอได้รับคิวเเล้ว แบ่งเป็นคิววันที่ 30 มีเเรงงานรออยู่จำนวน 3 เต็นท์ขณะที่คิววันที่ 31 มีเเรงงานรออยู่ 1 เต็นท์ ซึ่งขอย้ำว่าสำหรับแรงงานที่ยังไม่ได้รับคิวไม่ต้องมาที่ศูนย์เนื่องจากจะลงทะเบียนไม่ทันเวลา 24.00 น. ของวันนี้ โดยกระทรวงเเรงงานได้เปิดให้ไปขึ้นทะเบียนออนไลน์เเทน ผ่านเว็บไซต์กรมจัดหางาน www.doe.go.th ได้จนถึงเวลา 24:00 น.ของวันนี้ ซึ่งมีความสะดวกรวดเร็วกว่ามากโดยหลังจากลงทะเบียนเสร็จจะได้รับ sms แจ้งวันเวลาให้มาจัดทำทะเบียนประวัติในภายหลัง ภายในวันที่ 31 มิถุนายนนี้

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลถึงความเสถียรภาพของระบบอินเตอร์เน็ตนั้น ยืนยันว่า ตั้งเเต่เปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์ตั้งเเต่วันจันทร์ที่ผ่านมา ยังไม่พบปัญหา โดยมีผู้ลงทะเบียนออนไลน์เเล้วกว่า 1 เเสนคน ทั้งกระทรวงเเรงงานมีศูนย์มอนิเตอร์ เเรงงานหรือนายจ้างจึงไม่ต้องกังวลถึงเรื่องดังกล่าว เเละขอย้ำว่า หากพ้นกำหนดจะไม่มีการขยายเวลาออกไปอีกและจะมีความผิดตามที่กฎหมายกำหนดทั้งจำและปรับ ขณะเดียวกันก็ยังไม่พบปัญหาการเเทรกคิวหรือลัดคิว พร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจตราตลอดเวลา

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 31/3/2561

สำนักงานประกันสังคม ขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ทางเลือก

นางอรุณี ศรีโต กรรมการประกันสังคม และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เปิดเผยถึง พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ความคุ้มครองผู้ประกันตามมาตรา 40 ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 โดยมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไขสิทธิประโยชน์ในการเกิดสิทธิ และเพิ่มความคุ้มครองเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของแรงงานนอกระบบ แบ่งเป็น 2 แนวทาง ดังนี้

1.เพิ่มสิทธิประโยชน์ ไม่เพิ่มเงินสมทบ 2 ทางเลือก 1.จ่ายในอัตราเดือนละ 70 บาท 2.อัตราเดือนละ 100 บาท

2.เพิ่มความคุ้มครองและเพิ่มเงินสมทบทางเลือกใหม่ โดยผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเดือนละ 300 บาท

นางอรุณี ศรีโต กล่าวอีกว่า ส่งผลให้ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานนอกระบบที่อยู่ในระบบประกันสังคมแล้ว ขณะนี้จำนวน 2 ล้านกว่าคน และแรงงานนอกระบบที่สนใจสมัครเข้าสู่ระบบประกันสังคมอีกจำนวนมากได้รับประโยชน์จากการเพิ่มสิทธิประโยชน์และเพิ่มทางเลือก

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 30/3/2561

ไฟไหม้รถบัสขนแรงงานข้ามชาติใน อ.แม่สอด จ.ตาก เสียชีวิต 21 บาดเจ็บ 3

(30 มี.ค.2561) เมื่อเวลาประมาณ 01.40 น.ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุไฟลุกไหม้รถบัสโดยสารที่ขนแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาอย่างรุนแรง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 60 ถนนสายเมืองตาก - แม่สอด ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก เจ้าหน้าที่ใช้เวลานานหลายชั่วโมง จึงสามารถดับไฟได้ทั้งหมด และตรวจสอบพบมีผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟคลอก 21 คน และมีผู้บาดเจ็บ 3 คน ส่วนอีก 29 คนปลอดภัย เนื่องจากสามารถหนีออกมาจากรถได้ทัน

จากการตรวจสอบ เบื้องต้น รถบัสคันดังกล่าวเป็นรถที่กำลังนำแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาจากพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อไปส่งใน จ.ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร โดยออกจาก อ.แม่สอด เวลา 22.00 น. เมื่อคืนนี้ พอไปถึงที่เกิดเหตุ ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นจนแรงงานต้องหนีออกจากรถ แต่ไฟไหม้อย่างรวดเร็ว จึงมีผู้ถูกไฟคลอกเสียชีวิต 21 คน

ที่มา: ThaiPBS, 30/3/2561

ประกันสังคมจ่ายค่าตรวจ-ฝากครรภ์เพิ่มอีก 1,000 บาท

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง มติคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ครั้งที่ 2 /2561 เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2561 ว่า มีมติเห็นชอบปรับปรุงสิทธิประโยชน์ กรณีคลอดบุตร เพื่อจูงใจให้ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสมีการฝากครรภ์ตามเกณฑ์คุณภาพ โดยสนับสนุนค่าฝากครรภ์เพิ่มเติม ในกรณีเข้ารับบริการฝากครรภ์ ณ สถานพยาบาล ซึ่งปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรให้แก่ผู้ประกันตนในอัตรา 13,000 บาท ต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง โดยมติคณะกรรมการฯ เห็นชอบให้สนับสนุนค่าตรวจ และรับฝากครรภ์เพิ่มเติมอีก 1,000 บาท ให้แก่ผู้ประกันตนที่มีการเข้ารับบริการฝากครรภ์ในสถานพยาบาลตามเกณฑ์คุณภาพ ที่กำหนด คือ ครั้งที่ 1 อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตรา 500 บาท ครั้งที่ 2 อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตรา 300 บาท ครั้งที่ 3 อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตรา 200 บาท

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการขอรับประโยชน์ทดแทน จะต้องมีหลักฐาน การเข้ารับบริการจากสถานพยาบาลที่ไปใช้บริการฝากครรภ์ในแต่ละครั้ง และสามารถยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในส่วนค่าตรวจและรับฝากครรภ์เพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องรอให้มีการคลอดบุตร ทั้งนี้ การดำเนินการอยู่ระหว่างการ ยกร่างประกาศคณะกรรมการการแพทย์ และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2561 เป็นต้นไป เพื่อเป็นของขวัญ “วันแรงงานแห่งชาติ” อย่างไรก็ตามสำนักงานประกันสังคมยังคงมุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุง สิทธิประโยชน์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการทางการแพทย์ รวมถึงต้องปฏิรูประบบการให้บริการ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำเท่าเทียมและมีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศอย่างยั่งยืน

ที่มา: New18, 27/3/2561

เตือนผู้ทำงานกลางแดดและผู้ป่วย 6 กลุ่ม ช่วงหน้าร้อนแดดแรง ระวังโรคลมแดด ทำให้เสียชีวิตได้

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงหน้าร้อนปีนี้ ประเทศไทยมีอากาศร้อนจัด อาจทำให้เกิดโรคลมแดด หรือ Heat Stroke ซึ่งเป็นอาการที่เกิดเมื่อร่างกายไม่สามารถปรับตัวและควบคุมความร้อนภายในได้ มีผลกับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งระบบประสาท ส่งผลให้เสียชีวิตจากอวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลวได้ โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้ง่าย ได้แก่ ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง คนอ้วน ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ สถานการณ์ของโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก พบตั้งแต่ปี 2557–2559 มีรายงานผู้ป่วยประมาณ 2,500 – 3,000 รายต่อปี แนวโน้มเพิ่มขึ้น มีผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน–พฤษภาคมของทุกปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานที่มีกิจกรรมกลางแจ้ง อาชีพที่พบผู้ป่วยมากสุด คือ เกษตรกรรม รับจ้าง ทหาร ผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 41 ปี ซึ่งเป็นวัยกลางคนและเป็นวัยทำงาน สำหรับอาการของผู้ที่เป็นลมแดด ได้แก่ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว เพ้อ ชัก มึนงง หน้ามืด หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจหมดสติและเสียชีวิตได้ กรณีพบผู้มีอาการโรคลมแดด ขอให้รีบนำเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียน ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น คลายชุดชั้นใน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น น้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบร่วมกับใช้พัดลมเป่า เพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ สำหรับวิธีป้องกันโรคลมแดด ขอให้พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรดื่มน้ำชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำ

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 27/3/2561

สายไอทีปีนี้มาแรง! “จ๊อบไทย” เผยงานไอทียอดฮิต ตลาดแรงงานต้องการกว่า 4,000 อัตรา

จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) เว็บไซต์หางาน สมัครงาน อันดับ 1 ของประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลงานด้านสายไอทีที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2561 พบว่ามีจำนวนเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000-4,000 อัตราต่อเดือน โดยมี 5 ประเภทงานของสายไอทีที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1) งานโปรแกรมเมอร์ (Programmer) จำนวน 1,238 อัตรา คิดเป็น 36.8 เปอร์เซ็นต์ ของงานไอทีที่เปิดรับสมัครทั้งหมด ตามมาด้วย 2) งานดูแลระบบเครือข่าย (IT Administrator) จำนวน464 อัตรา คิดเป็น 13.8 เปอร์เซ็นต์ 3) งานดูแลด้านเทคนิคของผลิตภัณฑ์ (Technical Support) จำนวน 451 อัตรา คิดเป็น 13.4 เปอร์เซ็นต์ 4) งานพัฒนาเว็บไซต์ (Web Programmer)จำนวน 243 อัตรา คิดเป็น 7.2 เปอร์เซ็นต์ และ 5) งานการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) จำนวน 208 อัตรา คิดเป็น 6.2 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า ภาพรวมโลกธุรกิจในปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนไป โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด อาทิ เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT - Internet of Things) บิ๊กดาต้า (Big Data) หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) จนปฎิเสธไม่ได้ว่าหลายองค์กรต่างนำระบบและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโต และการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มากขึ้นนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคที่องค์กรต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้ตลาดแรงงานด้านสายงานไอทีและเทคโนโลยีมีความโดดเด่นเป็นที่ต้องการ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม ในฐานะผู้นำด้านเว็บไซต์หางาน สมัครงาน อันดับ 1 ของประเทศไทย ที่มีผู้ลงทะเบียนฝากประวัติกว่า 1.4 ล้านคน และมีจำนวนงานจากบริษัทชั้นนำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 90,000 อัตราต่อวัน ได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูลงานสายไอทีที่อยู่ในเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอมตั้งแต่เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2561 พบว่ามีองค์กรลงประกาศรับสมัครงานที่เกี่ยวข้องกับสายไอทีทั่วประเทศทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000-4,000 อัตราต่อเดือน โดยมี 5 ประเภทงานที่เปิดรับสมัครมากที่สุด ดังนี้

- งานโปรแกรมเมอร์ (Programmer) จำนวน 1,238 อัตรา คิดเป็น 36.8 เปอร์เซ็นต์ของงานสายไอทีทั้งหมด โดยรายละเอียดงานคือ การเขียนและพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ ตามความต้องการขององค์กร เช่น พัฒนาแอปพลิเคชัน รวมถึงการดูแลและตรวจสอบระบบฐานข้อมูล

- งานดูแลระบบเครือข่าย (IT Administrator) จำนวน 464 อัตรา คิดเป็น 13.8 เปอร์เซ็นต์ของงานสายไอทีทั้งหมด โดยรายละเอียดงานคือ การดูแลระบบเน็ตเวิร์กคอมพิวเตอร์ ประกอบ ติดตั้ง ลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ซ่อมแซม บำรุงรักษาอุปกรณ์ทั้ง ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์

- งานดูแลด้านเทคนิคของผลิตภัณฑ์ (Technical Support) จำนวน 451 อัตรา คิดเป็น 13.4 เปอร์เซ็นต์ของงานสายไอทีทั้งหมด โดยรายละเอียดงานคือ การให้บริการข้อมูล ให้คำปรึกษา และแก้ไขปัญหาการใช้งานต่าง ๆ ด้านสารสนเทศ

- งานพัฒนาเว็บไซต์ (Web Programmer) จำนวน 243 อัตรา คิดเป็น 7.2 เปอร์เซ็นต์ของงานสายไอทีทั้งหมด รายละเอียดงานคือ การ ออกแบบและพัฒนาระบบเว็บไซต์ รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ บนเว็บไซต์

- งานการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) จำนวน 208 อัตรา คิดเป็น 6.2 เปอร์เซ็นต์ของงานสายไอทีทั้งหมด รายละเอียดงานคือ การทำการตลาดทั้งด้านองค์กร ผลิตภัณฑ์ และบริการ ผ่านสื่อดิจิทัลต่าง ๆ อาทิ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม ยูทูป เป็นต้น

ปัจจุบันงานสายไอทีกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น แต่ประเทศไทยกลับยังขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้ จึงกลายเป็นปัญหาความไม่สอดคล้องด้านความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในโลกยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีภาคธุรกิจสำคัญเกิดขึ้นมากมาย อย่างที่เห็นได้ชัดคือกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) และกลุ่มธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ล้วนสะท้อนว่าในอนาคตสายงานด้านกลุ่มสะเต็ม (STEM) ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ และสถิติ ทั้งหมดนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานพื้นฐานสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโตสอดคล้องไปกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0(Thailand 4.0) และนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy) ของรัฐบาล

ดังนั้นในฐานะคนทำงานในสายไอที จึงควรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ มากขึ้น โดยต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นแรงผลักให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันแรงงานด้านอื่น ๆ ก็ควรหันมาให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานเช่นเดียวกัน ด้วยการเตรียมความพร้อมให้กับตนเอง รู้จักเรียนรู้ พัฒนาทักษะ และประสบการณ์ รวมถึงศึกษาความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม ตลอดจนมองการณ์ไกลถึงสิ่งที่ตลาดแรงงานต้องการอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยให้แรงงานไทยมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับแรงงานนานาประเทศได้อย่างแน่นอน นางสาวแสงเดือน กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์, 27/3/2561

แรงงานค้างขึ้นทะเบียนล้านคน พ้นเส้นตาย 31 มี.ค.โทษจับ-ปรับ

แรงงานต่างด้าวค้างขึ้นทะเบียนเฉียดล้านคน ก.แรงงาน เปิดให้บริการ 24 ชม. ถึง 31 มี.ค.นี้ บิ๊ก “อดุลย์” ลั่นไม่ยืดเวลา พ้นเส้นตายพบทำผิด กม.เจอจับ-ปรับ สภาหอการค้า-สภาอุตฯ อ้อนขอผ่อนผัน หวั่นกระทบเอสเอ็มอี-รายย่อย

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากที่ได้เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ One Stop Service (OSS) ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. 2561 เพื่อจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง รวม 1,687,473 คน ถึงวันที่ 22 มี.ค. 2561 ดำเนินแล้วเสร็จ 727,902 คน หรือ 43.13% เหลือที่ต้องดำเนินการอีก 959,571 คน

ดังนั้นเพื่อให้ทันวันที่ 31 มี.ค. 2561 ที่จะครบกำหนดการลงทะเบียน กระทรวงแรงงานได้เตรียมแผนการรองรับโดยปรับลดขั้นตอนกระบวนการทำงานของศูนย์ OSS โดยแบ่งแรงงานต่างด้าวเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติ 500,000 คน ให้มารายงานตัว และตรวจลงตราวีซ่าอยู่ในราชอาณาจักรได้ถึง 31 มี.ค. 2563 และขออนุญาตทำงาน โดยออกใบรับอนุญาตทำงานชั่วคราวถึง 30 มิ.ย. 2561 ให้ไปตรวจสุขภาพ ทำทะเบียนประวัติทำงานให้แล้วเสร็จ เพื่อทำงานได้ถึง 31 มี.ค. 2563 ส่วนกลุ่มที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ 400,000 คน ให้มาดำเนินการที่ศูนย์ OSS ทุกขั้นตอน ภายใน 31 มี.ค. 2561

โดยให้ศูนย์ OSS เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ในจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ตั้งแต่ 23-31 มี.ค. 2561 รวม 4 ศูนย์ ใน จ.เชียงราย, ราชบุรี, ระนอง และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่กระทรวงแรงงาน อีก 3 ศูนย์ ได้แก่ เพชรเกษม 65, ไอทีสแควร์ และห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี จะให้บริการตั้งแต่ 08.00-22.00 น.

นอกจากนี้ยังเพิ่มช่องทางโดยการยื่นคำขอรายงานตัวทางอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน http://www.doe.go.th ตั้งแต่ 08.30 น. วันที่ 26 มี.ค. 2561 ถึง 24.00 น. วันที่ 31 มี.ค. 2561 และจัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำการลงทะเบียนออนไลน์ ผ่านสายด่วน 1506 สามารถให้บริการได้วันละ 10,000 คน

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าจะไม่มีการขยายเวลาให้อีก จึงขอให้นายจ้าง ผู้ประกอบการ และแรงงานต่างด้าว มาลงทะเบียนตามกำหนด เพราะหลังครบกำหนดจะตรวจจับ ปรับ โดยแรงงานต่างด้าวจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน โทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท แล้วจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร

นายจ้างผิดข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต โทษปรับ 10,000-100,000 บาท ต่อต่างด้าวที่จ้าง 1 คน ทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท ต่อต่างด้าวที่จ้าง 1 คน และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าว 3 ปี

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า การปรับลดขั้นตอนภายในศูนย์ OSS จะดำเนินการเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติแล้ว 1) กรณีไม่มีโรงพยาบาลมาตรวจในศูนย์ OSS ให้นัดตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลที่กำหนด หากยังไม่ได้ผลการตรวจสุขภาพ ให้นำใบนัดตรวจสุขภาพ และใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานยื่นศูนย์ OSS กรณีมีโรงพยาบาลมาตรวจให้ตรวจในศูนย์ OSS 2) ยื่นแบบกรอกข้อมูลทะเบียนประวัติ (ท.บ.1) และแบบคำขอจดทะเบียน (ท.ต.1)

ที่ศูนย์ OSS 3) ตรวจลงตรา (VISA) ตรวจคนเข้าเมือง ที่ศูนย์ OSS 4) ขออนุญาตทำงานที่ศูนย์ OSS เพื่ออยู่และทำงานได้ถึง 31 มี.ค. 2563 จากนั้นหลัง 31 มี.ค. 2561 ให้จัดทำทะเบียนประวัติและตรวจสุขภาพให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย. 2561

กลุ่มที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ 4 แสนคน ให้ดำเนินการทุกขั้นตอนภายในศูนย์ OSS ตามปกติ จนได้บัตรชั่วคราว หรือบัตรสีชมพู จากนั้นต้องพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายใน มิ.ย. 2561 นำไปยื่นสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือกรมการจัดหางาน สามารถทำงานได้ถึงเดือน มี.ค. 2563 สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้แรงงานเข้ามาพิสูจน์สัญชาติกระจุกตัวช่วงโค้งสุดท้าย เนื่องจากนายจ้าง และแรงงานต่างด้าวนิ่งนอนใจ ไม่มาดำเนิน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อมูลแรงงานต่างด้าวคงเหลือที่ต้องมาจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานที่ศูนย์ OSS รวม 959,571 คนนั้น หลัก ๆ มี กทม. 259,389 คน ชลบุรี 83,476 คน สมุทรปราการ 73,057 คน และสมุทรสาคร 55,405 คน

ขณะที่การพิสูจน์สัญญาติแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 645,206 คน แบ่งเป็น เมียนมา 191,291 คน กัมพูชา 267,820 คน และลาว 29,191 คน ดำเนินการแล้วเสร็จ 156,904 คน คงเหลือ 488,302 คน

ส่วนการจัดเก็บข้อมูลพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลของแรงงานต่างด้าว (Iris Scan) 3 ประเภทกิจการ คือ ประมงทะเล, แปรรูปสัตว์น้ำ และกิจการต่อเนื่องกับประมง ใน 22 จังหวัดชายทะเล มีเป้าหมายดำเนินการทั้งหมด 166,825 คน ดำเนินการแล้วเสร็จ 163,161 คน หรือ 97.80% คงเหลือ 3,664 คน แบ่งเป็น ประมงทะเล 1,642 คน แปรรูปสัตว์น้ำ 2,022 คน จำนวนที่เหลือคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 31 มี.ค. 2561

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการเห็นว่าการขึ้นทะเบียนอาจไม่ทันกำหนด เพราะแรงงานต่างด้าวมีจำนวนมาก จึงขอให้พิจารณาขยายระยะเวลาขึ้นทะเบียนออกไปอีกระยะหนึ่ง

ส่วนนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กรณีมีแรงงานยังค้างขึ้นทะเบียนจำนวนมาก เอกชนเชื่อว่ารัฐมีวิธีผ่อนปรน คือ 1.เลื่อนเวลาขึ้นทะเบียน 2.เปิดให้แจ้งชื่อและจำนวนแรงงานที่ต้องการขึ้นทะเบียน จากนั้นจึงค่อยยื่นตรวจเอกสาร หรือแจ้งก่อนตรวจทีหลัง

นางลัดดา สำเภาทอง นายกสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเร่งลงทะเบียนต่อเนื่อง เพราะแรงงานต่างด้าวมีความสำคัญกับธุรกิจ ได้วางแผนการรับมือระยะสั้น โดยจะดึงกลุ่มพาร์ตไทม์ซึ่งมีมากช่วงซัมเมอร์เข้ามาทดแทนชั่วคราว

ความเคลื่อนไหวในต่างจังหวัด นายมนูญ สุขศรีจันทร์ แรงงานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตัวเลขแรงงานต่างด้าวทั้งหมดที่ทำงานใน จ.เชียงใหม่ มีประมาณ 150,000 คน แบ่งเป็น เข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย 70,000 คน โดยนำเข้าภายใต้ MOU มีเอกสารครบ อีก 80,000 คนเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคธุรกิจก่อสร้างและภาคเกษตร เช่น สวนส้ม สวนสตรอว์เบอรี่ สวนลิ้นจี่ เกษตรทั่วไป ขณะนี้พบว่ามีแรงงานยังคงค้างขึ้นทะเบียน 30,000-40,000 คน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 26/3/2561

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net