Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



เรื่องมีอยู่ว่า...

“ล่วงตามกาลเวลา
วัฒนาหรืออาดูร
ผู้ใหญ่กลับดับสูญ
เพิ่มพูนล้นแค่คนหัวหงอก”

เราเป็นผู้ใหญ่ได้ตอนไหน? แล้วใครเป็นผู้ใหญ่ในประเทศนี้บ้าง? คำถามนี้กวนใจผมอยู่หลายวัน ตั้งแต่เห็นคนที่อ้างว่าเป็น “ผู้ใหญ่” สองคน ทะเลาะกันประเด็นร่างกฎหมายลูกในรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ทั้งคู่รับใช้รัฐบาลทหารเหมือนกัน และเหมือนจะไม่เคยบาดหมางอะไรกันมาก่อน คนหนึ่งเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญ อายุ 80 ปี ส่วนอีกคนเป็นประธานกรรมการการเลือกตั้ง อายุ 60 ปี ทั้งคู่โต้แย้งกันผ่านสื่อมวลชนอยู่หลายวัน จนท่านประธานร่างรัฐธรรมนูญผู้พี่มีทีท่าว่าจะแพ้ในการโต้แย้งครั้งนี้ จึงตัดพ้อกลับไปว่าจะเอาอะไรมาก “ท่านประธานกรรมการการเลือกตั้งยังเด็ก” พอฟังประโยคนี้แล้วทำให้ผมเกิดคำถามในใจว่า เราเป็นผู้ใหญ่ได้ตอนไหน? แล้วใครเป็นผู้ใหญ่ในประเทศนี้บ้าง?     

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นก็มีภาพสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่อนโลกออนไลน์ ถือไม้เท้าพร้อมกับมีคนช่วยพยุงสามสี่คนเดินเข้ารัฐสภาเพื่อไปผ่านร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นภาพที่คุ้นชินตาไปแล้วหลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา และแล้วภาพสโลแกนการขายโลงศพที่ว่า “คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ” ก็ลอยเข้ามาในหัวผม มันกวนใจผมพอๆ กับสโลแกนใหม่ปัจจุบันที่ว่า “คนร่างไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ร่าง (อนาคตของตัวเอง)”

ผมนั่งคิดทบทวนตัวเองอยู่พักใหญ่ๆ น้ำตาแทบจะไหลออกมาด้วยความอึดอัด วัยของพวกเราตอนนี้ (ผมตอนนี้แค่ 21 ปี) ควรได้เรียนรู้ ปลดปล่อยความคิดออกมา และน่าจะได้สร้างสรรค์อะไรออกมามากกว่านี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง …ไม่เลย…ไม่ได้เป็นอย่างภาพฝัน

“อยู่ๆไปเถอะ” คือคำตอบที่ได้จากเหล่าผู้ใหญ่ ที่อ้างว่าเคยเป็นเยาวชนอย่างเราๆมาก่อน เข้าใจพวกเราดี แต่ไม่เลย… ไม่อนุญาตให้เราคิด ไม่อนุญาตให้เราฝัน ประมวลความสำเร็จ ความผิดหวัง ความล้มเหลว และความแพ้-ชนะของตัวเอง แล้วมายัดเยียดความเป็นไปให้กับเรา มีบทบัญญัติว่าเราควรเป็นอย่างไรออกมาชัดเจน ตลกดี ตอนมัธยมผมอ่านนิยายเรื่อง แอนิมอล ฟาร์ม ก็เกิดคำถามว่า มันจะเกิดเรื่องอย่างในนิยายได้อย่างไรกัน? ตอนนี้ได้คำตอบแล้วว่า ก็คงเป็นแบบที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้นี่แหละ?

ผมอยากเขียนจดหมายสักฉบับถึงตัวผมเองในอนาคตว่า…

“มึงไม่ต้องคิดไปถึงขั้นที่ว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อลูกหลานของเรา แต่เราต้องสร้างลูกหลานของเราเพื่อเปลี่ยนแปลงยุคของเขาเอง ให้เขามีที่ยืน และสร้างทางเลือกของเขาเอง มึงเป็นแค่กรณีศึกษาของเขาเท่านั้นเอง ไม่ต้องคิดว่าจะร่างกฎหมายหรือสร้างโลกเพื่อเขา โลกในจิตนาการของเขาสวยงามกว่าของมึงตอนแก่เยอะ”

ฝากถึงผมในอนาคต เพื่อเตือนสติไม่ให้หลงระเริงในอำนาจ หากวันหนึ่งอำนาจมันต้องอยู่ในมือผม จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ภาวนาอย่าให้อำนาจอยู่ในมือผมเลย หากอยู่แล้วผมจะต้องเป็นเหมือนผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราปัจจุบัน

ไม่มีคำร้องทุกข์
แทนคนที่ถูกยิงถูกฆ่า
ไม่มีใครเขียนฎีการ้องทุกข์แทนเขาเลย
เขาถูกยิงทำไม
เขาถูกฆ่าทำไม
แม้แต่คนที่ถูกจับ
ถูกทำให้เป็นเหยื่อการเมือง
โดยที่เขาไม่ได้กระทำผิด

ผมตัดสินใจทำหนังสือเล่มนี้หลังจากอ่านบทกวีของธีร์ อันมัย ในรวมเรื่องสั้นตะวันออกเฉียงเหนือ มันทำให้ผมนึกถึงเพื่อนร่วมยุคสมัยสามคน คือ ชัยภูมิ ป่าแส บิลลี่ พอละจี และไผ่ ดาวดิน การแย่งชิงพื้นที่ความทรงจำระหว่าง “คนรุ่นใหม่” กับ “คนรุ่นเก่า” เข้มข้นขึ้นทุกขณะ และมันจะเป็นการต่อสู้แห่งยุคสมัยในชัยภูมิแห่งนี้

ชัยภูมิ คือ แผ่นดินหรือพื้นที่ที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยไม่มีใครสามารถนิยามหรือครอบครองความเป็นพื้นที่แต่เพียงผู้เดียวได้ ทว่ารัฐไทยกลับเข้ามาครอบครองทั้งพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่ทางความคิดของเราอย่างหน้าตาเฉย เราหวังว่าเรื่องเล่าจากคนข้างล่างเหล่านี้จะเป็นการทวงคืนพื้นที่ความทรงจำ “จากเบื้องล่าง” และสร้างพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของเราขึ้นมาใหม่ เพื่อท้าทายต่ออำนาจ และเผยให้เห็นความอึดอัดจากความอยุติธรรมแห่งยุคสมัยซึ่งมอบอำนาจให้รัฐทำอะไรกับเราก็ได้ หนังสือเล่มนี้จึงมุ่งหวังที่จะร่วมบันทึกเรื่องราวของผู้คน เพื่อยืนยันว่าทุกคนต้องมีสิทธิเท่าเทียมกันบน “ชัยภูมิสุดท้าย” ของเรา

นลธวัช มะชัย
1 มีนาคม 2561 สวนอัญญา
เฮือนครูองุ่น มาลิก เชียงใหม่ 

หมายเหตุ: สามารถสั่งซื้อ หนังสือ The Last Stand : ชัยภูมิสุดท้าย ราคา 250 บาท ได้ที่

ร้าน Book Re:public เชียงใหม่
ร้านเล่า นิมมานฯ เชียงใหม่
ศูนย์หนังสือ ม.เชียงใหม่
ร้าน On The Rose สะพานพระรามแปด กทม..
ร้านฟิลาเดลเฟีย อุบลฯ

หรือสั่งซื้อทางไปรษณีย์ได้ที่ เฟสบุ๊คแฟนเพจ กลุ่มลานยิ้ม Lanyim creative group

สำหรับในช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ สามารถซื้อได้ที่ บู๊ท สนพ.ฟ้าเดียวกัน S39 ,บู๊ท สนพ.สมมติ R52 และบู๊ทโครงการตำราฯ N04

รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้กองทุนช่วยเหลือคดีทางการเมืองทั้งหมด 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net