Skip to main content
sharethis

วงถกตั้งแต่ ความสัมพันธ์ไทยกับจีน-สหรัฐ ที่เหมือนนางวันทอง Thailand 4.0 ในฐานะโครงการการสร้างภาพลักษณ์หลังรัฐประหารของรัฐบาลทหาร โรดแมปสู่ประชาธิปไตย จับตาการเลือกตั้ง จนถึงว่าด้วย Not a Deep State : การเมือง-การปกครองในช่วง Late-Reign ของไทย

เมื่อวันอังคารที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับประเทศไทยขึ้นในหัวข้อ “Thailand Update 2018 : มุ่งหน้าสู่ประเทศไทย 4.0?” ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา โดยการสัมมนาเนื้อหาแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ นโยบายต่างประเทศ ทิศทางการเมืองที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะ และส่วนสุดท้ายพูดถึงบริบทโดยรอบทางนโยบายและการเมืองไทยในปัจจุบัน หลังจากรัฐบาลทหารภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้นำเสนอนโยบาย Thailand 4.0 ขึ้นในปี 2559 เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งเปลื่ยนแปลงเศรษฐกิจของชาติด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ โดยแม้รัฐบาลจะพยายามโปรโมทและตั้งเป้าให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ความเป็น 4.0 นี้ให้ได้แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะยังประชาชนส่วนหนึ่งซึ่งยังไม่เคยได้ยิน หรือเข้าใจว่า Thailand 4.0 นี้หมายถึงอะไรกันแน่ การสัมมนาครั้งนี้จึงมีเนื้อหาหลักมุ่งเน้นและทำความเข้าใจประเทศไทยในบริบทของ “Thailand 4.0”

ส่วนแรกของการสัมมนาเป็นการอภิปรายในส่วนของนโยบายต่างประเทศ โดยมีผู้ร่วมอภิปรายสองท่านได้แก่ ดร.อภิชัย ชิปเปอร์ ( Apichai Shipper, Foreign Service Institute ) และ เพตรา เดสซาโทวา นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยลีดส์ ( Petra Desatova, School of Politics and International Studies, University of Leeds ) โดย อภิชัย เป็นผู้เริ่มการอภิปรายคนแรกในหัวข้อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งแบ่งย่อยออกอีกสามส่วน คือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับอาเซียน จีน และสหรัฐอเมริกา

ความสัมพันธ์ไทยกับจีน-สหรัฐ เหมือนนางวันทอง

ความสัมพันธ์ไทยกับอาเซียน : จากก่อนหน้านี้ที่ประเทศไทยมุ่งหวังจะเป็นผู้นำอาเซียน แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันของไทยที่ตกต่ำลง ประกอบกับภูมิภาคอาเซียนเองก็กำลังอยู่ในช่วงที่สมาชิกหลายประเทศในยังมีปัญหาภายในจึงทำให้ไทยไม่ได้มีการดำเนินนโยบายหรือยุทธศาสตร์ใหม่ๆใดร่วมกับชาติอาเซียนมากนัก โดยอภิชัยให้ความคิดเห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยพึงพอใจกับภาพลักษณ์ของตนที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างประชาอาเซียนกับสหประชาชาติ โดยยกตัวอย่างกรณี สุรเกียรติ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองของเอเชีย ( APRC ) ที่ได้ทำการเข้าพบ อองซาน ซูจี เพื่อแสดงความคิดเห็นเรื่องกระบวนการเปลื่ยนผ่านสู่การปรองดองในพม่าและเสนอรายงานเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาในรัฐยะไข่ของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติเมื่อปี 2560 ผ่านมา ซึ่งปัญหามุสลิมโรฮิงยาในรัฐยะไข่นี้เป็นปัญหาหลักที่ประชาคมอาเซียนถูกจับตามองจากชาวต่างชาติ

ความสัมพันธ์ไทยกับจีน : ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนในภาพรวมมีความเน้นแฟ้นขึ้นอย่างต่อเนื่องและโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 2557 และหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่อย่างไรก็ตามไทยกำลังเผชิญปัญหาจากการถูกเอาเปรียบจากแผนพัฒนาลุ่มน้ำโขงของจีนที่ต้องทำการระเบิดร่องน้ำเพื่อขยายพื้นที่ให้เรือพาณิชย์ขนาดใหญ่สามารถเดินทางผ่านได้ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพแวดล้อมและชุมชมริมฝั่งแม่น้ำ โดยอภิชัยเห็นว่าโครงการดังกล่าวจีนจะได้ผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากไทยไม่สามารถนำเรือสินค้าล่องสวนเข้าไปในจีนในเส้นทางเดียวกันได้และถึงพื้นที่ดังกล่าวบางส่วนยังเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่ไทยยังมีปัญหาเรื่องเขตแดนกับลาวอยู่อีกด้วย

ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐอเมริกา : หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ประเทศไทยถูกสหรัฐอเมริกาลดความสัมพันธ์และกดดันให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องสิทธิมนุษยชนจากรัฐบาลโอบาม่า แต่ความกดดันดังกล่าวค่อยๆผ่อนคลายลงอย่างเห็นได้ชัดภายหลังการขึ้นสู่ตำแหน่งของทรัมป์เมื่อปี 2560 โดยทรัมป์ได้ทำการเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าร่วมการประชุมที่ทำเนียบขาวเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้แนวโน้มการผ่อนคลายความกดดันยังเห็นได้จากการที่รัฐมนตรีต่างประเทศ เร้กซ์  ไทเรลซัน (Rex Tillerson) ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายสหรัฐฯที่เดินทางมาไทยตั้งแต่หลังการเกิดรัฐประหาร

ท้ายสุด อภิชัย ได้ทำการสรุปเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของไทยระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาไว้ว่าเป็นเหมือนนางวันทองที่ไม่สามารถเลือกใครได้ระหว่างขุนช้างและขุนแผนเนื่องจากทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาล้วนยังมีผลประโยชน์อำนาจ และอิทธิพลที่สำคัญต่อประเทศของไทยในอนาคต

Thailand 4.0 :  โครงการการสร้างภาพลักษณ์หลังรัฐประหารของรัฐบาลทหาร

ส่วนที่สองในหัวข้อนโยบายต่างประเทศเป็นของ เพตรา เดสซาโทวา นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยลีดส์ ซึ่งนำเสนอการวิจัยในหัวข้อ Thailand 4.0 โดย เพตรา เริ่มการอภิปรายด้วยการอธิบายที่มาของความต้องการในพยายามเสริมสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของรัฐบาลทหารโดยตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลทหารครั้งนี้เป็นรัฐบาลทหารที่ยาวนานและการรัฐประหารทำให้สังคมไทยมีความแตกแยกอย่างรุนแรงซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยทั้งภายในและนอกประเทศอย่างเห็นได้ชัด รวมไปถึงภัยธรรมชาติต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสามสี่ปีที่ผ่านมาก็ยิ่งทำให้สภาพคล่องทางเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นได้ยาก จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่รัฐจะต้องนำเสนอนโยบายเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของชาติ

เพตรา ตั้งข้อสังเกตว่าการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในช่วงก่อนและหลังรัฐประหารมีการเปลื่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยช่วงก่อนรัฐประหารเป็นการเน้นความทันสมัยสะดวกสบายสำหรับนักลงทุนต่างชาติ และสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นให้เพิ่มมูลค่าสินค้าจากความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่การสร้างภาพลักษณ์ของชาติหลังรัฐประหารกลับมาเน้นที่ความสงบและมั่งคงของชาติ และทิศทางเศรษฐกิจแบบพอเพียงเพื่อความยั่งยืน

แม้ Thailand 4.0 ที่รัฐบาลพยายามอธิบายต่อคนไทยจะหมายถึงนโยบายการมุ่งสู่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจโดยเน้นการพัฒนาทางด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ให้ทันกับยุคสมัยที่เปลื่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน แต่รัฐกลับไม่มีการนำเสนอนโยบายหรือโครงใดที่แน่ชัดทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่ค่อนข้างจะสวนทางกับการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพอุสาหกรรมใหญ่ โดยรัฐได้นำเสนอเพียงว่าการมุ่งไปสู่การเป็น Thailand 4.0 นั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่อใช้แนวทาง “สานพลังประชารัฐ” มุ่งเน้นให้ทุกส่วนของสังคมขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันโดยมีเทศโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT)เป็นตัวเชื่อมและช่วยในการขับเคลื่อนสังคม โดยผลการทำวิจัยของเพตรามีข้อสรุปความคิดเห็นของประชาชนต่อ Thailand 4.0 ว่าค่อนข้างมีความแตกต่างกันมาก(ในทีนี้คือพูดถึงเพียงแง่นโยบาย Thailand 4.0 ไม่นับไปถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อตัวรัฐบาลคสช. เอง)เช่น ประชาชนในภาคเหรือและภาคใต้ค่อนข้างมีความเห็นด้วยกับนโนบาย Thailand 4.0 ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสานค่อนข้างกังขาและไม่เชื่อมั่นกับนโยบายนี้

เพตรา ตั้งข้อสังเกตท้ายสุดโดยสรุปว่า Thailand 4.0 นอกจากจะเป็นแนวนโยบายทางเศรษฐกิจแล้วอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของ soft power tool (อำนาจละมุน) ของรัฐที่ใช้เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในภาคประชาสังคม มุ่งสร้างความภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือให้ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล คสช.และเตรียมให้ประชาชนพร้อมรับกับความเปลื่ยนผ่านที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในประเทศอย่างสงบ โดยมุ่งเปลื่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของคนในชาติเองมากกว่าที่จะเป็นนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

โรดแมปสู่ประชาธิปไตยของไทย : วิกฤตและการเปลื่ยนผ่าน

ส่วนที่สองของการสัมมนาเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับทิศทางการเลือกตั้งนำโดย ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร. อัลเลน ฮิคเกนส์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเสตท-ฟูลเลอร์ตัน ( California State University-Fullerton )

พิชญ์ เริ่มการสัมมนาส่วนที่สอง “โรดแมปสู่ประชาธิปไตยของไทย : วิกฤตและการเปลื่ยนผ่าน” โดยพูดถึงภาพรวมของรัฐบาล คสช. ที่กำลังเข้าสู่การปกครองประเทศเป็นปีที่ 4 ซึ่งนับเป็นรัฐบาลทหารที่ยาวนานเป็นอันดับที่สองตั้งแต่เกิดการรัฐประหารขึ้นในประเทศไทยโดยเป็นรองแค่เพียงรัฐบาลสฤษดิ์-ถนอมเท่านั้น ซึ่งถึงแม้โรดแมปการเลือกตั้งของไทยจะถูกกล่าวถึงเสมอเมื่อพลเอกประยุทธเข้าร่วมการประชุมกับผู้นำต่างชาติ แต่โรดแมปดังกล่าวก็ถูกเลื่อนมาเรื่อยๆตั้งแต่ปี 2558 มาจนถึงปัจจุบันที่คาดว่าน่าจะถูกจัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562

พิชญ์ กล่าวว่าการเลื่อนระยะเวลาการจัดการเลือกตั้งของคสช. อาจมีความเป็นไปได้จากหลายเหตุผล โดยอาจจะเกิดจากรัฐบาลทหารที่ยังคงการต้องรักษาอำนาจไว้และไม่ได้มุ่งหวังให้การเปลื่ยนผ่านทางการเมืองโดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และในขณะเดียวกันแรงกดดันจากภาคสังคม ทั้งจากพรรคการเมืองและประชาชนที่ต้องการให้เลือกตั้งก็ยังไม่มีความแข็งแรงพอที่จะกดดันรัฐบาลให้กำหนดการเลือกตั้งได้ มิหนำซ้ำประชาชนบางกลุ่มก็ยังคงเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลทหารภายใต้การนำของพลเอกประยุทธยังคงบริหารประเทศเสียด้วยซ้ำ ซึ่งอาจารย์พิชญ์กล่าวโดยสรุปสุดท้ายว่าการเลื่อนตั้งของไทยจะยังถูกเลื่อนไปเรื่อยๆแบบไม่มีกำหนดเพื่อรักษาอำนาจของรัฐบาลคสช.ไว้เนื่องจากยังไม่มีแรงกดดันใดๆที่มากพอ และทำนายผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเมื่อใดก็ตามไว้ด้วยว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยของทักษิณ ชินวัตร ก็จะชนะการเลือกตั้งอย่างแน่นอน เพียงแต่จะไม่สามารถได้ absolute majority (คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด) เพื่อตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจะส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่นๆมีอำนาจเข้ามาต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคของทักษิณหรือคนของคสช. เองมากกว่า

จับตาการเลือกตั้ง : ความเป็นไปได้และโอกาสของแต่ละพรรคการเมือง

การอภิปรายต่อมาเป็นส่วนวิเคราะห์การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นโดย ดร. อัลเลน ฮิคเกนส์ โดยดร.อัลเลนเริ่มจากแสดงความคิดเห็นว่าโร้ดแมปเลือกตั้งของไทยอาจจะจะถูกเร่งหรือเลื่อนออกไปได้จากหลายสาเหตุ เช่น การประท้วง การยังไม่สามารถตกลงทางอำนาจกันได้ระหว่าง คสช. กับขั้วอำนาจอื่นๆ และพิธีการที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ทั้งหลาย เช่น การขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 10 หรือแม้แต่กระทั่งพระอาการประชวรของสมเด็จพระราชินี ซึ่งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ อัลเลน คาดว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยอาจจะมีคะแนนเสียงข้างมากลดน้อยลงด้วยการออกแบบกฎหมายเลือกตั้งโดยยกตัวอย่างกราฟเปรียบเทียบคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ลดลงจากการออกแบบการเลือกตั้งแบบใหม่ โดยแนวทางการวิเคราะห์ค่อนข้างไปในทางเดียวกันกับการวิเคราะห์ของอาจารย์พิชญ์ คือพรรคเพื่อไทยน่าจะยังได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งแต่จะไม่สามารถได้ absolute majority เพื่อตั้งรัฐบาลได้ ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่นๆ(ซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีพรรคของคสช.เข้าสู่การเลือกตั้งด้วยก็ได้?)เป็นตัวร่วมกำหนดอนาคต ของรัฐบาล ซึ่งสามารถเปิดโอกาสให้มีการเลือกนายกคนนอกเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลได้

โดยถึงแม้ว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมาจะมีพรรคการเมืองใหม่ๆ เริ่มเข้ามาจดทะเบียนตั้งพรรคมากและขึ้นทำให้สถานการณ์การเมืองครึกครื้นขึ้นบ้างในประเทศไทย แต่อัลเลนกลับให้ข้อคิดเห็นว่าคงเป็นการยากมากที่พรรคเล็กๆจะสามารถผ่านระบบการเลือกตั้งแบบใหม่นี้ไปได้จนถึงได้ที่นั่งในสภา และกล่าวโดยสรุปว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมาถึงนี้ก็ยังน่าจะเป็นการจัดการตกลงกันทางอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าเดิมในประเทศไทยนั่นเอง

Thailand 4.0 : รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเดิมด้วยวิธีใหม่หรือไม่ ?

การสัมมนาช่วงที่สามเริ่มขึ้นในช่วงบ่าย นำโดย อาวิภาวี ศรีทองรุ่ง จากมหาวิทยาลัยวิชิทตาสเตท และ นภนต์ พุ่มมา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทั้งสองได้นำเสนองานวิจัยในหัวข้อเศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะ
 
งานวิจัยของ อาวิภาวี ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของ GDP และ ปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ ทุน แรงงาน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และ มาตรวัดระดับการคอร์รัปชัน ใน 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย โดยในงานวิจัยชิ้นนี้อาวิภาวีได้เลือกใช้วิธี Panel Regression ในการศึกษาความสัมพันธ์ดังกล่าว รวมทั้ง Solow Model (แบบจำลองโซโล)ในแง่ของความสำคัญของทุนต่อการเจริญเติบโตของ GDP ด้วย ซึ่งจากผลการวิจัยนี้อาวิภาวีพบว่าปัจจัยที่สำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีหลายส่วน โดยปัจจัยเหล่านี้อาจไม่ใช่ทุนในประเทศแต่เป็นการลดลงของการคอร์รัปชัน การพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการเพิ่มระดับความเท่าเทียมกันทางสังคม ซึ่งอาวิภาวียังพบว่าการลดลงของการคอร์รัปชั่นตามดัชนีวัดระดับคอร์รัปชั่นของมหาวิทยาลัย Sherpps Ghent เพียงหนึ่งหน่วยสามารถเพิ่ม GDP ของชาติได้ถึงราวร้อยละ 2.6 
 
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็สำคัญเช่นเดียวกันต่อการเพิ่มขึ้นของ GDP อาวิภาวี จึงศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่าง GDP ต่อการใช้จ่ายของภาครัฐต่อการพัฒนาสาธารณสุขและการใช้จ่ายของภาครัฐต่อภาคการศึกษาด้วยและก็ได้พบถึงความสัมพันธ์ในแง่บวกของการเจริญเติบโตของ GDP และการใช้จ่ายทั้งสองด้านด้วยเช่นเดียวกัน อาวิภาวี จึงสรุปว่าปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อาจหนีไม่พ้นการลดการคอร์รัปชัน การเพิ่มความเท่าเทียมกันของคนในสังคมและการเพื่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อการพัฒนาคุณภาพสาธารณสุขและการศึกษาของทั้งประเทศ
 
ความเข้าใจที่หลายหลากต่อ “Thailand 4.0 : ความขัดแย้งที่ยังถูกไม่เปิดเผย
นภนต์ ได้เล่าถึงงานวิจัยของตนที่เกิดจากการสัมภาษณ์บุคลากรของภาครัฐและภาคเอกชนถึงความคิดเห็นส่วนตัวต่อนโยบาย Thailand 4.0 โดยใช้กรอบความคิดจากทฤษฎี Cooperative Game โดยมองว่า หากประชาชนคล้อยตามแนวคิดดังกล่าวไปด้วยกัน ผลลัพธ์ที่ได้คือการร่วมแรงร่วมใจไปในทางเดียวกันจะทำให้ประโยชน์ที่ประชาชนได้มีมากขึ้น โดยตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลต้องการให้ประชาชนสร้างแนวคิดที่คล้ายๆกันเพื่อการขับเคลื่อนของประเทศภายใต้แนวคิด Thailand 4.0 
 
จากการสัมภาษณ์ของนภนต์ต่อบุคคลในหลายภาคส่วน ทำให้ นภนต์ เห็นถึงความไม่เป็นรูปธรรมของนโยบายเนื่องจากผู้ถูกสัมภาษณ์หลายคนไม่สามารถกล่าวถึงนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลต่อการพัฒนาทางเทคโนโลยีได้ ซึ่งการค้นพบครั้งนี้สอดคล้องกับหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบส่วนตัวของนภนต์เองต่อเอกสารที่ทางรัฐบาลได้แจกจ่ายต่อภาครัฐต่างๆ โดยเอกสารเหล่านี้มีลักษณะเป็นเพียงข้อสรุปของหน่วยงานต่างๆที่นำมารวมเล่นกันเท่านั้น แต่เอกสารดังกล่าวขาดเอกภาพในแง่ของการนำเสนอนโยบายที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

นโยบายด้านมีเดียและเทคโนโลยีของรัฐบาลคสช. สู่ Thailand 4.0

การสัมมนาช่วงสุดท้ายเป็นเรื่องโดยรอบเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลคสช. นำโดย เพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์ อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์สเตท - ฟูลเลอร์ตัน ( California State University-Fullerton ) และ ดันแคน แมคคาโก ( Duncan McCargo ) อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย  และผู้ผลักดันให้เกิดการสัมมนาวิชาการ Thailand Update 2018 ขึ้นในครั้งนี้
 
เพ็ญจันทร์ เริ่มการสัมมนาในช่วงสุดท้ายด้วยการนำเสนอชาร์ท Digital Evolution Index (DEI) ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 จาก 60 ประเทศ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดว่าประเทศไทยยังคงตามหลังประเทศอื่นๆในด้านสื่อดิจิตอลและต้องการการปรับปรุงเปลื่ยนแปลนด้านดิจิตอลเพื่อเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลเป็นอย่างมาก
 
เนื่องด้วย Thailand 4.0 เป็นนโยบายที่ต้องการเน้นการพัฒนาอันเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารและสื่อมวลชนโดยตรง รัฐบาลคสช.จึงมีนโยบายมุ่งปฎิรูปสื่อด้วยการตั้งคณะกรรมการเพื่อออกกฎหมายควบคุมและปฎิรูปสื่อออกมา โดยกฎหมายปฎิรูปสื่อดังกล่าวแทนที่จะมีเนื้อหามุ่งส่งเสริมการทำงานของสื่อมวลชนแต่กลับขัดกับสิทธิเสรีภาพของสื่ออย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น การบังคับให้สื่อมวลชนต้องมีใบประกอบวิชาชีพที่ออกโดยองค์กรที่รัฐเป็นผู้จัดตั้ง และทำหน้าที่สื่อตามจริยธรรมและข้อกำหนดที่เข้มงวดของรัฐบาล เป็นต้น
 
นโยบายเกี่ยวกับการควบคุมโซเชี่ยลมีเดียของรัฐก็ยังเป็นไปอย่างเคร่งครัดเช่นกัน โดยรัฐบาลพยายามออกกฎหมายให้ผู้ใช้งานโซเชียลมืเดียต้องผ่านการแสกนลายนิ้วมือและใบหน้า มีการมอนิเตอร์ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียโดยรัฐตลอดเวลา นอกจากนี้ยังออกข้อห้ามไม่ให้ติดตามหรือติดต่อกับผู้ที่มีความเห็นต่อต้านกับรัฐบาลคสช. อีกด้วย โดยในทีนี้ยังไม่ต้องกล่าวถึงกฎหมายมาตรา 116 และ มาตรา 44 ที่รัฐสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมสื่อได้อย่างเสรีเลยเสียด้วยซ้ำ ซึ่งอาจารย์เพ็ญจันทร์กล่าวทิ้งท้ายโดยสรุปจากข้อสังเกตจากนโยบายปฎิรูปสื่อทั้งหลายที่ออกมาใหม่ว่ามีความชัดเจนเป็นอย่างมากที่รัฐบาลคสช.ยังต้องการจะรักษาอำนาจของรัฐต่อไปหลังการเลือกตั้ง

Not a Deep State : การเมือง-การปกครองในช่วง Late-Reign ของไทย

การสัมมนาในช่วงสุดท้ายเป็นการสนทนาถึงแนวความคิดของ ดันแคน ที่ว่าประเทศไทยแท้จริงน่าจะแล้วเป็นการปกครองซึ่งใช้ระบบ Network Monarchy (เครือข่ายราชสำนัก) มากกว่า Deep State (รัฐพันลึก) โดย ดันแคน ได้อธิบายแนวคิดของระบบ Network Monarchy อย่างสั้นๆ ด้วยคำว่า “มันมาเอง” โดยยกตัวอย่างว่าถ้าอาจารย์อยู่ที่บ้านอาจารย์ก็จะต้องซื้อกาแฟมาดื่มเอง แต่ถ้าอาจารย์มาทำงานก็จะมีลูกศิษย์หรือผู้ช่วยสอนซื้อมาให้ ซึ่งกาแฟในที่นี้ก็คือตัวแทนของอำนาจที่อาจารย์จะได้รับมาในบริบทความหมายของคำว่า “มันมาเอง” ของระบบ Network Monarchy นั่นเอง
 
ดันแคน ได้อธิบายเพิ่มเติมต่ออีกว่า Network Monarchy จะมีการทำงานของกลุ่มอำนาจอย่างหลวมๆ ไม่มีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนแบบระบบ Deep State โดยยกตัวอย่างกรณีการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งของ สมัคร สุนทรเวช และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นตัวอย่าง
 
แนวความคิดเกี่ยวกับระบบ Network Monarchy นี้เป็นแนวงานชิ้นสำคัญที่ทำให้อาจารย์ดันแคนเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในกลุ่มนักวิชาการ South East Asian Studies สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Network Monarchy ได้ที่ http://citeseerx.ist.psu.edu/viewdoc/download?doi=10.1.1.732.5946&rep=rep1&type=pdf
 
 
 
หมายเหตุ : ผู้เขียนไม่มีส่วนร่วมใดกับงานวิจัยและวัตถุประสงค์ของการถ่ายทอดเป็นไปเพื่อการเผยแพร่งานวิจัยสู่สาธารณะชนเท่านั้น โดยที่มี พลากร บูรณสัมปทานนท์ ช่วยรายงานในหัวข้อเศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะ 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net