Skip to main content
sharethis

ชวนดูตัวอย่างประเทศอื่นที่ยังเกณฑ์ทหารกับสถิติการซื้อ/ขายอาวุธ ประเทศที่ยังเกณฑ์ทหารติดอันดับส่งออก/นำเข้าอาวุธเป็นระดับต้นๆ ของโลก และมีความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้ ภัยคุกคามทำให้หลายประเทศกลับมาเกณฑ์ทหารในช่วงทศวรรษที่ 2020 ย้อนดูแนวทางทหารสมัครใจในสมัยบิ๊กจิ๋วที่มาไวไปไว

วนมาอีกครั้งกับฤดูกาลเกณฑ์ทหารของไทย มหกรรมติดอาวุธประชาชนในระดับชาติที่สื่อนำเสนอทั้งความฮา ความเปิ่นของงานเกณฑ์ทหาร และข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความจำเป็นในการมีทหารเกณฑ์ คู่ขนานไปกับข้อดีที่ทางกองทัพโปรโมทเพื่อสนับสนุนการจัดหากำลังพลที่มีทุกปีว่าด้วยอุดมการณ์รักชาติและหน้าที่ของลูกผู้ชายที่ต้องรับใช้ชาติ และสำหรับปีนี้มีการจูงใจด้วยเงินเดือนเดือนละ 10,000 บาท

แน่นอน ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ยังมีการเกณฑ์ทหาร องค์กรระหว่างประเทศและองค์กรที่ทำงานด้านสถิติมักจัดทำรายชื่อประเทศที่ยังมีการบังคับเกณฑ์ทหารกันอยู่เป็นระยะๆ ข้อมูลเมื่อเดือน ก.ย. ปี 2560 จากสื่อเวิลด์แอตลาส ระบุว่า ประเทศที่ยังคงมีการบังคับเกณฑ์ทหารอยู่มี 26 ประเทศ มีดังต่อไปนี้

อาร์เมเนีย ออสเตรีย อาร์เซอร์ไบจาน เบอร์มิวดา บราซิล พม่า ไซปรัส เดนมาร์ก อียิปต์ ฟินแลนด์ กรีซ อิหร่าน อิสราเอล เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ เม็กซิโก นอร์เวย์ รัสเซีย สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ จีน ไทย ตุรกี ยูเครน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

แต่แหล่งข่าวอื่นกลับระบุว่ามีประเทศที่ยังเกณฑ์ทหารเหลืออยู่ร้อยกว่าประเทศ และมีวี่แววว่าจะเพิ่มขึ้นจากกระแสการนำการเกณฑ์ทหารกลับมาใช้ สื่อเดอะการ์เดียนและองค์กรต่อต้านสงครามนานาชาติ (War Resister’s International-WRI) ระบุว่า เมื่อเดือน มี.ค. 2560 สวีเดนได้นำระบบเกณฑ์ทหารกลับมาใช้ใหม่ หลังยกเลิกการเกณฑ์ทหารที่มีมายาวนาน 109 ปีไปเมื่อปี 2553 ส่วนคูเวตได้นำการเกณฑ์ทหารกลับมาใช้ในปี 2557 กาตาร์จัดให้มีการเกณฑ์ทหารในปี 2557 และ 2560 ตามลำดับ และยังมีประเทศที่มีการเกณฑ์ทหารอยู่กว่าร้อยประเทศทั่วโลก

คำถามเชิงหลักการที่ว่า ‘การเกณฑ์ทหารยังจำเป็นหรือไม่’ ยังเป็นคำถามคลาสสิคที่ชวนถกเถียงภายใต้บริบทการเมือง สังคมที่มีปัจจัยเรื่องความมั่งคั่งของประเทศ คุณภาพชีวิตประชาชนในด้านต่างๆ เข้ามาเป็นปัจจัยการพิจารณาของผู้บริหารรัฐมากไปกว่าเอกราชและการฟาดฟันกับอริราชศัตรู การมีประเทศที่ทหารเป็นตัวละครหลักในการโค่นล้มการปกครองและปราบปรามประชาชนในบ้านตัวเองแบบไม่ต้องรับผิดชอบอะไรก็ยิ่งทำให้คำถามก้องอยู่ในสังคมว่า จะมีทหารเยอะแยะไว้เผื่อจะทำรัฐประหารหรืออย่างไร

แล้วการเกณฑ์ทหารรอบโลกบอกอะไรได้บ้าง? การเกณฑ์ทหารทำไมยังมีความจำเป็น? ไทยจำเป็นต้องเกณฑ์ทหารหรือไม่? คำถามเหล่านี้อาจถูกอธิบายได้จากสถิติหลายอย่าง ยกตัวอย่างจาก 29 ประเทศข้างต้นด้วยสถิติด้านการซื้อ-ขายอาวุธ ดัชนีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ความจำเป็นและข้ออ้างที่หลายประเทศยังมีทหารอยู่

7 จาก 29 ประเทศเป็นผู้นำเข้าอาวุธสูงสุดในช่วงปี 2555-2559

รายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) ระบุว่า ช่วงปี 55-59 ประเทศจีน ตุรกี อียิปต์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อิสราเอล ยูเออี กาตาร์ เป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดในโลกจากกลุ่มสำรวจ 155 ประเทศ  โดยยูเออีเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่อันดับสาม รองจากอินเดียและซาอุดิอารเบีย และจีนที่ลดการนำเข้า แล้วหันมาพึ่งอุตสาหกรรมอาวุธของตัวเองที่ล้ำหน้าขึ้นเรื่อยๆ เข้าป้ายอันดับสี่ ส่วนไทยนั้นอยู่ในอันดับที่ 30 ในปี 55-59 และขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 28 ในการสำรวจรอบปี 56-60 โดยนำเข้าอาวุธมากที่สุดจากยูเครน สวีเดน สหรัฐฯ จีน และประเทศอื่นๆ ตามลำดับ และยังมีอีก 10 ประเทศจาก 21 ประเทศที่เหลือ (รวมไทย) ติด 50 อันดับผู้นำเข้าอาวุธเป็นอันดับต้นๆ

10 จาก 29 ส่งออกอาวุธสูงสุดในปี 2555-2559

รัสเซีย จีน ยูเครน อิสราเอล สวีเดน เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี นอร์เวย์ เบลารุส ติด 20 ประเทศที่ส่งออกอาวุธมากที่สุดในช่วงปี 55-59 โดยจีนแซงเยอรมนี สหราชอาณาจักรขึ้นมาอยู่อันดับสามรองจากสหรัฐฯ และรัสเซียตามลำดับ

เป็นที่น่าสงสัยว่าการมีการเกณฑ์กำลังพลเป็นทหาร มีความสัมพันธ์อย่างไรกับการหมุนเวียนของสินค้าจำพวกอาวุธยุทโธปกรณ์หรือไม่ เพราะหลายประเทศที่มีการเกณฑ์ทหารต่างก็นำเข้าและส่งออกอาวุธกันในระดับต้นๆ กันหลายประเทศ เสมือนหนึ่งเป็นฟันเฟืองของวังวนของอุตสาหกรรมอาวุธ ทั้งนี้ ความจำเป็นที่จะต้องมีการเกณฑ์กำลังพลก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา

ความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้กับประเทศตัวอย่างที่มีการเกณฑ์ทหาร

 

 

จาก 29 ประเทศตัวอย่าง เมื่อค้นหาข้อมูลดัชนีค่าสัมประสิทธิ์จีนี (GINI coefficient) วิธีวัดการกระจายข้อมูลที่นิยมใช้บ่งชี้ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้หรือความมั่งคั่ง (ค่าจะอยู่ระหว่าง 0 คือการกระจายรายได้เท่าเทียม หมายความว่าทุกคนในประเทศได้รายได้เท่ากัน ถึง 1 คือทั้งประเทศมีคนได้รายได้แค่คนเดียวส่วนคนอื่นไม่ได้เลย ที่มา:วิกิพีเดีย) ในเว็บไซต์ของธนาคารโลกพบว่าในปี 2558 บราซิลมีค่า GINI สูงถึง 51.3 รองลงมาคือพม่า 38.1 การสำรวจของปี 2555 ที่มีการเก็บสถิติหลายประเทศในกลุ่มตัวอย่างมากที่สุด พบว่าเม็กซิโกมีค่า GINI 48.1 จีนมี 42.2 อิสราเอลมี 41.4 รัสเซียมี 40.7 ตุรกี 40.2 ไทย 39.3 ที่น้อยที่สุดคือยูเครน 24.7 ซึ่งในปี 2558 ขยับมาเป็น 25.5

ของมันต้องมี: ภัยคุกคาม และ/หรือข้ออ้างจากประเทศอื่นที่กลับมาเกณฑ์ทหาร

บทความในเว็บไซต์องค์กรต่อต้านสงครามนานาชาติ (WRI) ที่เขียนโดยแฮนนา บร็อค นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิที่จะไม่ฆ่าของ WRI เขียนถึงความจำเป็นของหลายประเทศที่กลับมาเกณฑ์ทหาร หรือจัดให้มีการเกณฑ์ทหารขึ้นมาในช่วง 5-6 ปีนี้ โดยระบุว่าประเทศแถบอ่าวเปอร์เซียและยุโรปตอนเหนือและตะวันออกมีเหตุผลในการเกณ์ทหารจากภัยคุกคามของประเทศเพื่อนบ้านและเหตุผลแวดล้อมอื่นๆ

ยูเออีเริ่มเกณฑ์ทหารในปี 2557 ผู้ที่จบจากไฮสคูลจะถูกฝึกเก้าเดือน ส่วนผู้ที่ไม่จบไฮสคูลจะถูกฝึกเป็นเวลาสองปี และมีการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าสมัครรับราชการทหารโดยให้เหตุผลว่า การเป็นทหารจะทำให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเสริมสร้างทักษะภาวะผู้นำ การทำงานเป็นทีมและความมั่นใจในตัวเอง

คูเวตกลับมาเกณฑ์ทหารในปี 2560 หลังกฎหมายได้รับการรับรองในปี 2558 คูเวตยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปในปี 2554 ส่วนกาตาร์ ที่มีปัญหากับหลายชาติอาหรับที่มีการปิดล้อมประเทศ ยกเลิกเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกกาตาร์เมื่อปีที่แล้ว มีการเกณฑ์ทหารมาตั้งแต่ปี 2557 โดยบังคับให้ผู้ชายอายุ 18-35 ปีเข้าฝึกทหารเป็นเวลา 2-4 เดือน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกาตาร์ ฮามัด บิน อาลี อัลอัตติญา ระบุว่าการฝึกทหารจะทำให้ชาวกาตาร์เป็น ‘พลเมืองที่สมบูรณ์แบบ’ คนที่ไม่ได้มารับการฝึก หรือไม่มาตามหมายเรียกฝึกจะไม่สามารถทำงานเป็นข้าราชการ เอ็นจีโอ และขึ้นทะเบียนเป็นผู้หางาน รวมถึงขอใบอนุญาตจัดตั้งธุรกิจไม่ได้ ผู้ที่ทำเอกสารปลอม ทำใบรับรองแพทย์ปลอมเพื่อเลี่ยงการฝึกจะต้องถูกจำคุกเป็นเวลาตั้งแต่ 1 เดือนถึง 1 ปี และปรับมากสุด 165,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เจ้าหน้าที่ทางการกาตาร์ระบุว่า เป้าหมายของการฝึกทหารคือการทำให้เยาวชนชาวกาตาร์รู้จักพึ่งพาตัวเองเสียบ้าง ซึ่งบทความแสดงความเห็นว่าเป็นข้ออ้างที่ใช้โปรโมตการเป็นทหารทั่วโลก

ในตะวันออกกลางยังมีประเทศอิสราเอล ไซปรัส ตุรกี อียิปต์และอิหร่านที่เกณฑ์ทหาร ทว่า รัฐบาลซีเรียก็ถูกกล่าวหาว่ามีการบังคับเกณฑ์ทหารเช่นกันซึ่งถือเป็นหนึ่งในสาเหตุของการอพยพย้ายถิ่นของชาวซีเรียที่ประเทศตกอยู่ภายใต้ภาวะสงครามกลางเมืองตั้งแต่ปี 2554

ทางด้านยุโรปเหนือและตะวันออก นโยบายด้านการทหารที่ออกลายก้าวร้าวของรัสเซีย โดยเฉพาะต่อยูเครน ประเทศเพื่อนบ้านในช่วงปี 2557 กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศใกล้เคียงอย่างสวีเดิน จอร์เจีย ลิธัวเนีย เอสโตเนียกลับมาเกณฑ์ทหารกันอีกครั้ง

ยูเครนเคยยกเลิกการเกณฑ์ทหารมาแล้วในปี 2556 แต่ในปีต่อมาก็ต้องจัดให้มีการเกณฑ์ทหารเมื่อมีความขัดแย้งกับรัสเซีย การเกณฑ์ทหารกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ เมื่อมีแหล่งข่าวรายงานว่ามีชาวยูเครนหลบหนีการเกณฑ์ทหารจำนวนมาก ต่อมาประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ก็ออกมาสนับสนุนให้ชาวยูเครนหนีทหาร จนรัฐบาลยูเครนต้องออกมาตรการทั้งไม้อ่อนและไม้แข็ง ตามตัวชายชาวยูเครนมาเข้ารับราชการทหาร ตั้งแต่ประชาสัมพันธ์ไปจนถึงไล่เอาหมายเรียกไปลากตัวผู้ชายที่หลบหนีอยู่ หรือเที่ยวอยู่ตามสถานบันเทิงไปเข้ากรมกอง ส่วนสวีเดนเคยยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปในปี 2553 ยกเลิกการเกณฑ์ทหารที่มีมายาวนาน 109 ปี แต่ก็กลับมาเกณฑ์ทหารใหม่ในปี 2560 หลังรัสเซียยึดคาบสมุทรไครเมีย

แล้วกรณีไทยที่ปัจจุบันไม่พบภัยคุกคามเป็นตัวเป็นตนจากประเทศอื่น ไม่มีความเสี่ยงในการเกิดสงครามเต็มรูปแบบ และมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจในแบบที่จีดีพีโต แต่คนยังไม่รู้สึก มีเหตุผลอะไรที่ไทยต้องบังคับคนหลักแสนไปเป็นทหารในยุคที่การตัดสินผลของสงครามไม่ได้กำหนดกันแค่จำนวนคนอย่างเดียว หากต้องพิจารณาความได้เปรียบและเสียเปรียบของเทคโนโลยี ความรวดเร็ว แม่นยำของข้อมูลข่าวสาร และแน่นอน คุณภาพของกำลังพล การที่อิสราเอลต่อต้านการรุมรุกรานของชาติอาหรับรอบด้าน แถมยังแย่งยึดพื้นที่เพิ่มได้ในสงครามปี 2491

การเอาคนไปเติมเครื่องจักรทางเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ ให้เต็มแล้วเร่งพัฒนาขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ พัฒนาความกินดีอยู่ดีของประชาชนจะเป็นเรื่องที่คุ้มค่ากว่าหรือไม่ อย่าลืมว่าทหารเยอะขึ้นหมายถึงงบประมาณทั้งค่าตอบแทน สวัสดิการ การบำรุงรักษากำลังพลและยุทโธปกรณ์ของกองทัพขนาดใหญ่ แล้วใครได้ประโยชน์จากการเกณฑ์ทหารและงบประมาณที่เพิ่มขึ้น การซื้อขายอาวุธระหว่างประเทศ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้อาจเป็นสิ่งที่ทดไว้ในใจได้เวลาพิจารณาเรื่องนี้ (อย่าลืมเรื่องทหารรับใช้ตามบ้านด้วย)

ผู้ปฏิเสธเป็นทหารควรมีทางเลือกทำอย่างอื่น กับโครงการทหารสมัครใจของไทยที่พัง (เพราะเงินไม่พอ?!)

ฮานส์ แลมเมอแรง เขียนบทความเรื่อง ‘จุดจบของการเกณฑ์ทหารและการกลายสภาพของสงคราม’ ระบุว่าสงครามเปลี่ยนไปเป็นสงครามที่ควบคุมจากระยะไกลด้วยรีโมทคอนโทรล การสิ้นสุดของสงครามเย็นทำให้ความจำเป็นของประเทศที่ต้องมีกำลังทหารเยอะๆ ในยุโรปลดลง สงครามกลายสภาพเป็นสงครามตัวแทนและการแทรกแซงทางมนุษยธรรมที่ใช้กองกำลังทหารขนาดที่ไม่เทอะทะมาก เคลื่อนที่สะดวกและเป็นทหารที่ผ่านการฝึกมาอย่างดี

บทความใน WRI ยังระบุว่า การกลับมาของเกณฑ์ทหารในหลายประเทศ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามทำให้เทรนด์ความมั่นคงในโลกเปลี่ยนไปจากทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 ที่หลายประเทศเริ่มลด ละ เลิกการเกณฑ์ทหาร แต่สิ่งที่สำคัญที่ควรมากับการเกณฑ์ทหารในยุคนี้ก็คือการเสนอให้มีทางเลือกให้ประชาชนที่ไม่ต้องการเข้ารับราชการทหาร ให้เข้าทำหน้าที่อื่นๆ โดยสอดคล้องกับเหตุผลในการไม่เข้าเกณฑ์ทหาร และผลประโยชน์ของสังคม โดยการเข้าทำหน้าที่เช่นว่าต้องไม่เป็นไปในเชิงการลงโทษ

ในกฎหมายของไซปรัสอนุญาตให้มีการทำหน้าที่อื่นแทนที่การเกณฑ์ทหาร โดยกำหนดระยะเวลาให้ต้องเข้าทำงานเป็นระยะเวลานานกว่าการเข้ารับราชการทหาร โดยสามารถเข้าทำหน้าที่ได้ทั้งในและนอกกองทัพ ในกฎหมายระบุว่าการทำหน้าที่ต้องทำในด้านการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมสามารถตัดสินระงับการเข้าทำหน้าที่แทนการเป็นทหารได้ในยามสงครามหรือเวลาที่ต้องระดมกำลัง

งานวิจัยเรื่อง ‘ประวัติศาสตร์การเกณฑ์ทหารในสังคมไทย’ โดนธนัย เกตวงกต มูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ ให้ข้อมูลว่าแนวทางปฏิรูปการคัดเลือกทหารที่เสนอกันอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดครั้งหนึ่งของไทยปรากฏภายใต้รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงกลาโหมในคนเดียวกัน เมื่อปี 2539 ชวลิตประกาศนโยบาย “ปรับปรุงระบบการคัดเลือกทหารให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ” ต่อรัฐสภา ต่อมาในเดือน มิ.ย. 2540 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนงานของกระทรวงกลาโหมเรื่องทหารกองประจำการอาสาสมัคร จัดให้มีคณะกรรมการอำนวยการแผนงานทหารกองประจำการอาสาสมัคร มี รมว.กระทรวงกลาโหมเป็นประธานและผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมเพื่อช่วยประสานงานและสนับสนุนปฏิบัติการในภาพรวม

ได้มีการจัดระบบการฝึกและระยะเวลาประจำการทั้งหมด 4 ปี โดยปีที่ 1-2 จะเป็นการฝึกตามหลักสูตรขั้นสูงสุด สอดแทรกการศึกษาและฝึกวิชาชีพ ในปี 3-4 เป็นการฝึกทบทวนและส่งเสริมด้านการศึกษาและวิชาชีพเพื่อเตรียมเข้าสู่การประกอบอาชีพหลังปลดประจำการ ได้มีการวางมาตรการจูงใจให้ประชาชนสมัครเป็นทหารด้วยการศึกษา การฝึกวิชาชีพ สิทธิและค่าตอบแทนต่างๆ โดยระบบคัดสรรแบบใหม่นี้วางแผนว่าจะเปิดรับสมัครขนานไปกับการตรวจเลือกระบบเดิม แต่ว่าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งในในปี 2540 ก่อน ทำให้ชวลิตลาออก รัฐบาลต่อมาภายใต้การนำของชวน หลีกภัยที่ควบตำแหน่ง รมว.กลาโหมได้ยุติแนวทางคัดเลือกทหารของชวลิต โดยให้เหตุผลว่าเกิดปัญหาในการดำเนินการ ขาดความชัดเจนเรื่องมาตรการจูงใจ และมีงบประมาณไม่เพียงพอ

เราถกเถียงและตั้งคำถามกับ ‘ประชาธิปไตยที่กินได้’ มานานแล้ว วันนี้เราตั้งคำถามกับ ‘หน้าที่ชายไทย การรับใช้ชาติ ความมั่นคงที่กินไม่ได้’ กันบ้างหรือยัง และทำอย่างไรการถกเถียงจะยาวนาน และยาวไกลไปถึงการปฏิรูปกองทัพสู่การมีกองทัพที่เป็นมืออาชีพ อยู่ภายใต้พลเรือนและไม่เข้ามายุ่งกับการเมืองเหมือนที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาเป็นกัน

แปลและเรียบเรียงจาก

The return of conscription?, WRI, Jan.19, 2018

Countries With Mandatory Military Service, Worldatlas, Sep. 6, 2017

The state of major arms transfers in 8 graphics,SIPRI, Feb. 22, 2017

Cyprus,WRI, Sep. 25, 2009

Importer/exporter TIV tables, SIPRI

ธนัย เกตวงกต, ประวัติศาสตร์การเกณฑ์ทหารในสังคมไทย, Friedrich Ebert Stiftung

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net