Skip to main content
sharethis

หลังจาก รมว.ไฟฟ้าและพลังงานพม่าไม่อนุญาตให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,280 เมกกะวัตต์ ที่เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง ทำให้ 131 องค์กรสิ่งแวดล้อมในรัฐกะเหรี่ยงและพม่าแสดงความยินดีต่อข่าวดังกล่าว อย่างไรก็ตามยังคงเฝ้าระวังต่อไป พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าออกกฎหมายและหนุนนโยบายพลังงานหมุนเวียนแทน

หลังจาก วินไข่ง์ รมว.ไฟฟ้าและพลังงาน ของพม่า แถลงเมื่อ 14 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลพม่าจะไม่อนุญาตให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,280 เมกกะวัตต์ ในเมืองพะอัน เมืองหลวงรัฐกะเหรี่ยง โดยชุมชนในพื้นที่และกลุ่มภาคประชาสังคมซึ่งรณรงค์ต่อต้านโครงการอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยกำลังฉลองชัยชนะครั้งนี้และต้อนรับข่าวจากรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ด้วยความยินดี

อ่องตานทวย ชาวบ้านจากชุมชนในเมืองพะอัน รัฐกะเหรี่ยง กล่าวว่า “เราดีใจมากและรู้สึกขอบคุณที่ได้ยินการแถลงจากรัฐมนตรีกลางว่าโครงการได้ถูกยกเลิกไปแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะดีใจ แต่เราก็ยังคงระมัดระวัง เราหวังว่าผู้แทนของรัฐบาลท้องถิ่นจะช่วยลดความกังวลของเราโดยการตามรอยรัฐมนตรีกลางและประกาศสนับสนุนการยกเลิกโครงการนี้”

พวกเรา 131 องค์กรและเครือข่ายดังกล่าว ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปฏิบัติตามถ้อยแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน และยกเลิกทุกโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ถูกเสนอและระงับไว้อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้เรายังขอเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศแผนเลื่อนการชำระหนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งชาติ อันเนื่องมาจากความเสียหายร้ายแรงที่ไม่อาจแก้ไขได้ที่โรงไฟฟ้าเหล่านี้จะนำมาสู่สิ่งแวดล้อมและประชาชนพม่า เรายังขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกนโยบายและกฎหมายเพื่อส่งเสริมและควบคุมการดำเนินโครงการพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับความจำเป็นและความปรารถนาของชุมชน

ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2560 รัฐบาลท้องถิ่นรัฐกะเหรี่ยง (KSG) และบริษัท โตโย ไทย พาวเวอร์ เมียนมาร์ (TTCL) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินพะอัน ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2560 องค์กรภาคประชาสังคมในรัฐกะเหรี่ยง 42 องค์กรและองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ รวมกันกว่า 131 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านโครงการ ถัดมาในเดือนตุลาคม 2560 รัฐบาลท้องถิ่นรัฐกะเหรี่ยงและ TTCL ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนและสัญญาเช่าพื้นที่ 815 เอเคอร์ ระยะเวลาสัมปทาน 40 ปี โดยสถานที่ตั้งโครงการอยู่ในแม่น้ำสาะวิน ขณะเดียวกันกลุ่มภาคประชาสังคมในท้องถิ่นได้รวบรวมลายเซ็นต์จากประชาชนชาวกะเหรี่ยงซึ่งคัดค้านโครงการประมาณ 2,980 รายชื่อ ส่งมอบให้หัวหน้าคณะรัฐมนตรีของรัฐกะเหรี่ยง ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ชุมชนท้องถิ่นได้รวมตัวกันเพื่อต่อต้านโครงการ โดยในส่วนของTTCL นั้น แม้จะรู้ว่ามีการคัดค้าน แต่ก็ยังชักชวนให้รัฐบาลท้องถิ่นรัฐกะเหรี่ยงจัดการให้ประชาชนจากพะอันเดินทางไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าถ่านหินเฮคินันในประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างอิทธิพลและโปรโมทโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพะอัน

"แม้ว่าโครงการจะถูกประกาศยกเลิกในระดับสหภาพแล้ว แต่ก็ยังไม่ชัดเจนในระดับรัฐบาลท้องถิ่น การเข้าถึงข้อมูลสาธารณะเกี่ยวกับโครงการยังคงจำกัด และ TTCL ก็ยังคงทำการซื้อที่ดินในพื้นที่โครงการเมื่อเร็วๆ นี้" เหน่ลินทุน ตัวแทนชาวบ้านเมืองพะอัน กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า TTCL พยายามดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพะอัน รัฐกะเหรี่ยง หลังจากที่ล้มเหลวในการดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่หมู่บ้านอังแตง รัฐมอญ ชุมชนท้องถิ่นในอังแตงคัดค้านโครงการนี้อย่างมาก ชาวบ้านราว 5,000 คน ชุมนุมประท้วงโครงการในปี 2558 และผลจากการคัดค้านอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องทำให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินอังแตงถูกยกเลิกไป

ชุมชนในพม่าได้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงความกังวลอย่างยิ่งต่อปัญหาการบังคับย้ายถิ่นฐาน มลพิษทางอากาศและน้ำ วิถีชีวิตที่ถูกทำลาย และผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่ทางเลือกพลังงานหมุนเวียนทำให้โครงการเช่นที่พะอันไม่มีความจำเป็นและไร้ความชอบธรรม ในปัจจุบัน ประเทศที่กำลังพัฒนากำลังติดตั้งโครงการพลังงานหมุนเวียนเร็วเกือบสองเท่าของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ คือต้นทุนที่ลดลงของวัสดุส่วนประกอบและประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้แล้ว โครงการพลังงานหมุนเวียนยังสามารถนำกระแสไฟฟ้าไปสู่ชุมชนทั่วพม่าได้เร็วกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินและโครงการพลังงานน้ำขนาดใหญ่เป็นอันมาก

ชุมชนชนบทในพม่าได้ดำเนินการโครงการพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืนที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้าแล้วกว่า 3,500 โครงการ โดยสอดคล้องกับความต้องการพลังงานในท้องถิ่นและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่

ต่าโบ ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมในรัฐกะเหรี่ยงและพม่ากล่าวด้วยว่า "นี่เป็นโอกาสที่จะหารือเกี่ยวกับขั้นตอนในการไปสู่พลังงานทางเลือกที่ยั่งยืนซึ่งกระจายอำนาจการจัดการไปสู่ชุมชน และเพื่อเปิดพื้นที่สำหรับแผนธรรมาภิบาลพลังงานที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง”

แนวโน้มของโลกที่มีต่อพลังงานหมุนเวียนนั้นมีที่มาจากการที่ทั่วโลกตระหนักว่า การปล่อยมลพิษจากถ่านหินคือปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ หากพม่ายังคงพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป ก็จะพลาดโอกาสในการเป็นผู้นำทางด้านพลังงานหมุนเวียน ในทางตรงกันข้าม พม่าจะต้องสังเวยสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมไป จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะยังคงใช้พลังงานฟอสซิลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net