Skip to main content
sharethis

ย้อนดูเรื่องราวหลัง 'หมุดคณะราษฎร' ถูกแทนที่ด้วย ‘หมุดหน้าใส’ ประชาชนเรียกร้องแต่รัฐเพิกเฉย กลับไล่จับกุม ห้ามปรามแสดงความเห็น ปรับทัศนคติ ตามติดเวทีเสวนา นักกิจกรรม ทุกวันนี้ประชาชนบางคนยังอยู่ในคุก กับมุมมองความสำคัญของหมุดว่าด้วยการรื้อ-สร้างสัญลักษณ์

6 เม.ย. 2561 ครบรอบหนึ่งปีการหายไปของหมุดคณะราษฎรจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และพระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วถูกแทนที่ด้วย ‘หมุดหน้าใส’ นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ของหายที่อุกอาจ และสร้างแต่ความมึนงงกับสังคมไทยว่าใครทำ ทำเพื่ออะไร หมุดหายไปไหน

สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรถูกเลือนลบกลบไปจากไทม์ไลน์หมุดหายคือภาพของประชาชนทั้งตัวบุคคลและกลุ่ม องค์กรต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวในกรณีหมุดหาย และที่ลืมไม่ได้เลยคือการตอบสนองของภาครัฐต่อหมุดที่หาย และความพยายามกลบกระแส ปิดปากการเรียกร้อง เคลื่อนไหวของภาคประชาชนเหมือนกลัวอะไรบางอย่าง

ประชาไทรวบรวมเหตุการณ์คร่าวๆ เรื่องหมุดที่หายไป และชะตากรรมของคนที่ออกมาตั้งคำถาม เคลื่อนไหว แสดงความเห็นต่อการหายไปของหมุด ในวันที่ประชาธิปไตยและหมุดหมายการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยขนาดเล็กกว่าฝาท่อหายไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้

ภาพหมุดหน้าใสที่มาแทนหมุดคณะราษฏร

ภาพในมุมใกล้เคียงกันก่อนที่จะมีการร้อถอดหมุดคณะราฎรออก

ย้อนรอยหมุดเก่าหาย หมุดใหม่โผล่ รัฐเมินข้อร้องเรียน แถมไล่จับ-ปิดเวทีเสวนา

14 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า หมุดคณะราษฎร ที่เเป็นสถานที่ระลึกถึงจุดที่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ประกาศเปลี่ยนระบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย และอ่าน "ประกาศคณะราษฎร" ฉบับแรก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่มีข้อความ ว่า "24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ" ได้

หมุดคณะราษฎรถูกแทนที่ด้วยหมุดที่มีใจความว่า “ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน” และ “ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดีในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องคำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง” ตรงกับคาถาภาษิตในพระราชลัญจกรประจำเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เขียนว่า "ติรตเนสกรฏฺเฐจ สมฺพํเสจมมายนํ สกราโชชุจิตฺตญฺจ สกรฏฺฐาภิวัฑฺฒนํ"

หมุดใหม่ถูกเรียกด้วยชื่อเล่นอย่างแพร่หลายในชื่อ ‘หมุดหน้าใส’ ในเวลาต่อมา

หลังหมุดหายไปก็มีการเข้าร้องเรียนกับทั้งทางกรุงเทพฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ท่าทีจากภาครัฐก็ไม่ได้ทำให้ความคลุมเครือต่างๆ ที่รายล้อมการหายไปของหมุดกระจ่างขึ้น

16 เม.ย. 60 พริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ หลานชายหลวงเสรีเริงฤทธิ์ พร้อมนักศึกษาอีกสามคนไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.ดุสิต ระบุว่า "รู้สึกกังวลใจเนื่องจากหมุดนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร ถือเป็นโบราณวัตถุของชาติประเภทหนึ่ง เนื่องจากมีอายุเก่าเกิน 50 ปี คือมีอายุ 81 ปีแล้ว อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของประเทศ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาก็ตาม จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสอบสวนและติดตามโดยเร็ว"

วันต่อมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) ให้ความเห็นเรื่องมีผู้มาลงบันทึกประจำวันเรื่องหมุดว่า หมุดคณะราษฎรอยู่ในบัญชีทรัพย์สินมรดก ซึ่งตามกฎหมายผู้ร้องทุกข์จะต้องเป็นผู้เสียหาย เป็นเจ้าของทรัพย์มรดก และหากยืนยันได้ว่าเป็นทรัพย์มรดกตัวเองจริงตำรวจก็พร้อมดำเนินการให้  แต่หากไม่ใช่จะดำเนินการอย่างไร และยังฝากไปถึงผู้ที่จะระดมคนมาทำพิธีหรือชุมนุมบริเวณดังกล่าว ว่าส่วนตัวไม่สามารถยินยอมจัดให้มีการชุมนุมได้ เนื่องจากเขตพื้นที่ดังกล่าวคือเขตพระราชฐาน อีกทั้งจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ

18 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้หลังจากที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล ในประเด็นเกี่ยวกับการรื้อถอนหมุดคณะราษฎรและการนำหมุดใหม่มาฝังแทนที่ โดยขอให้มีการติดตามนำหมุดเก่ากลับมา พร้อมดำเนินคดีต่อผู้ที่นำหมุดเดิมไป แต่กลับถูกนำตัวไปโดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ โดยควบคุมตัวจากศูนย์บริการประชาชน ไปยังกองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และต่อมาในเวลา 13.00 น. มีรายงานว่า ศรีสุวรรณถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ในมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ซึ่งถูกใช้ควบคุมผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ และคดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง และได้รับการปล่อยตัวในวันต่อมา

19 เม.ย. 2560 ที่ สน.ดุสิต อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์และณัฏฐา มหัทธนา เข้าแจ้งความเหตุหมุดคณะราษฎรหายไป และเดินทางไปที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ เพื่อขอดูกล้องวงจรปิด ยุทธพันธ์ มีชัย เลขานุการของผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า บริเวณรอบลานพระบรมรูปทรงม้าฯ มีกล้องวงจรปิด 11 ตัว แต่สำนักงานจราจรกรุงเทพฯ มีการปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรในวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา กล้องจึงถูกถอดออกไปทั้งหมด และยังไม่มีการติดตั้งกลับจนปัจจุบัน ขณะที่อภิสิทธิ์และณัฏฐาตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาไม่มีกล้องบริเวณดังกล่าวเลยและได้ขอดูภาพกล้องวงจรปิดในบริเวณที่ไกลออกไป อย่างไรก็ตาม เลขาผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่าบริเวณดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ดูแลเป็นพิเศษจำนวนมากอยู่แล้ว โดยหลักเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร

20 เม.ย. 60 วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย เข้าแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. เตรียมให้ ปอท.ดำเนินคดีจากกรณีโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นในทางกฎหมาย ระบุว่าหมุดคณะราษฎรที่ถูกมือมืดถอดออกไปนั้นเป็นโบราณวัตถุ ซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการนำเข้าข้อมูลที่เป็นความเท็จและกระทบต่อความมั่นคง เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โพสท์ทูเดย์ รายงานว่า ศาลพิจารณาแล้ว จึงให้โจทก์สืบพยาน 11 ปาก ใช้เวลา 3 นัด และสืบพยานจำเลย 11 ปาก ใช้เวลา 4 นัด เริ่มสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 9 ต.ค. 2561 เวลา 09.00 น.

วันเดียวกัน ที่ สน.ดุสิต บุญสิน หยกทิพย์ ฝ่ายประสานงานชมรมธรรมาธิปไตยแห่งชาติ เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ ร.ต.อ.ชัยชน เรืองเพชร รอง สว.(สอบสวน) สน.ดุสิต เพื่อขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานและให้ช่วยติดตามหมุดคณะราษฎร หลังสอบปากคำเสร็จ ตำรวจและทหารเชิญตัวบุญสินและสันติพงษ์ วินุราช เพื่อนที่เดินทางมาด้วยกันไปปรับทัศนคติที่ มทบ.11

24 เม.ย.2560 เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมืองและอดีตผู้ต้องขังคดีการเมือง โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่ามีชาย 8 คนมายืนที่หน้าบ้านของเขา โดย 2 คนแต่งเครื่องแบบตำรวจ ตัวแทนของกลุ่มที่มาแจ้งกับเขาว่ามาจาก สน.ลาดพร้าวและต้องการพูดคุยเรื่องที่เอกชัยจะไปยื่นคำร้องเรื่องหมุดใหม่ โดยขอร้องไม่ให้ไปแต่เอกชัยก็ยืนยันที่จะไป จากนั้นเอกชัยถูกตำรวจจับกุมจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าไปที่ มทบ.11 หลังเอกชัยพยายามจะเดินทางเข้าไปเพื่อนำหมุดคณะราษฎรจำลองที่เตรียมมาไปติดตั้งกลับคืนที่จุดที่อยู่เดิมของหมุดคณะราษฎร

(ที่มาภาพ : https://prachatai.com/journal/2017/06/72094)

25 เม.ย. 2560 อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง ได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า มีทหาร 5 นาย ขับรถมาหาตนที่บ้าน พร้อมกับเชิญตัวไปพบหัวหน้าหน่วยทหาร ประจำจังหวัดสมุทรปราการ ก่อนหน้าที่จะถูกพาตัวไปในเวลาประมาณ 12.30 น.  อนุรักษ์ได้โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนซื้อเสื้อยืดซึ่งมีลายหมุดคณะราษฎรด้วย อนุรักษ์ถูกปล่อยตัวในวันเดียวกัน

อนุรักษ์ระบุว่า การถูกควบคุมตัวมาในครั้งนี้ ทางทหารต้องการให้เขายุติการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เนื่องจากในก่อนหน้านี้เขาได้โพสต์วิจารณ์การบริหารประเทศของ คสช.ในประเด็นความล้มเหลวในด้านเศรษฐกิจ และในประเด็นที่ คสช.ได้นำงบประมาณจากภาษีที่เก็บจากประชาชนไปซื้ออาวุธสงคราม

3 พ.ค. 2560 สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT แจ้งผ่านเฟซบุ๊กว่า ยกเลิกการจัดเสวนาในหัวข้อ "ความทรงจำแห่งอภิวัฒน์ 2475 - ปริศนาหมุดคณะราษฎรหาย" (Memories of 1932 - The Mystery of Thailand's Missing Plague) ซึ่งตามกำหนดการจะจัดขึ้นในวันนี้ (3 พ.ค.60) เวลา 19.00 น. โดยระบุว่าได้รับหนังสือจากสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ขอความร่วมมือให้งดกิจกรรมดังกล่าวหลังทางตำรวจได้รับการประสานจาก “ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งเห็นว่างานเสวนาที่ว่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ บุคคลผู้ไม่หวังดีอาจฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ต่างๆ ก่อให้เกิดความวุ่นวาย

FCCT ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการประเมินสถานการณ์เช่นนั้น งานของสมาคมมีการดำเนินรายการอย่างเรียบร้อยเสมอมาและเปิดให้มีการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์เยี่ยงอารยชน ประเด็นเสวนานี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เอฟซีซีทีเข้าใจว่าเป็นคำสั่งของคสช. จึงไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากปฏิบัติตาม

ดอกผลของความหวาดระแวงของเจ้าหน้าที่รัฐได้กระเซ็นไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ในพื้นที่พลเรือน เมื่อ 19 เม.ย. 2560 ทหาร ตำรวจ และปลัดอำเภอ ขอให้เลื่อนเสวนา 'วิพากษ์การเช่าที่ดิน 99 ปี ผลประโยชน์ของไทยหรือผลประโยชน์ของใคร?' ที่จัดโดยมูลนิธิสืบ นาคะเสถียรออกไปก่อน เพราะได้รับข้อมูลที่ส่งต่อผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ที่เขียนแค่ว่า จะจัดเสวนาหมุดทำให้เข้าใจว่าจะจัดเสวนาเรื่องหมุดคณะราษฎร แต่ทางผู้จัดยืนยันว่าจะยังคงจัดต่อไป

3 พ.ค. 2560 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษกอนุญาตฝากขังทนายความประเวศ ประภานุกูล, ดนัย (สงวนนามสกุล) และผู้ต้องหาอีก 4 ราย ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยประเวศ และดนัยมีข้อหายุยงปลุกปั่น

พฤติการณ์ตามคำร้องขอฝากขังระบุว่า ผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ ประเวศ ประภานุกูล โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหายุยงปลุกปั่นจำนวน 3 ข้อความ และโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 10 ข้อความ แต่ประเวศให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนดนัยถูกฝากขังในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้บรรยายพฤติการณ์ในคำร้องฝากขัง ระบุแต่เพียงว่าตรวจสอบแล้วว่าดนัยเป็นบุคคลเดียวกับผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ศาลอาญาพิจารณาออกหมายจับ ลงวันที่ 28 เม.ย. 2560 ดนัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ส่วนผู้ต้องอีก 4 ราย ถูกฝากขังในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์โพสต์เฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร โดย 3 ใน 4 รายให้การรับสารภาพ ส่วนอีกรายปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ระหว่างวันที่ 3 – 14 พ.ค. 2560 ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 6 รายเนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ปัจจุบัน ประเวศยังถูกคุมขังอยู่ระหว่างการไต่สวน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2560 เจ้าหน้าที่ทหารอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 เข้าจับกุมตัว ประเวศ ประภานุกูล ตรวจค้นบ้านพักของประเวศ ในกรุงเทพฯ และยึดทรัพย์สินจำนวนหนึ่ง ได้แก่ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ และ ฮาร์ดไดรฟ์ ทั้งนี้ ไม่มีใครทราบชะตากรรมและที่อยู่ของประเวศจนกระทั่งบ่ายของวันที่ 3 พ.ค. 2560 เมื่อประเวศติดต่อทนายความจำนวนหนึ่งรวมถึงศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าเขาถูกควบคุมตัวที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีภายในมลฑลทหารบกที่ 11 กรุงเทพฯ

มุมความสำคัญของหมุด ที่กรมศิลปากรไม่ให้ค่าในฐานะโบราณวัตถุ

หลังจากหมุดคณะราษฎรถูกแทนที่ด้วยหมุดหน้าใส หลากกระแสในแง่มุมต่างๆ ทั้งความสำคัญของหมุด สถานะความเป็นโบราณวัตถุ

เมื่อ 19 เม.ย. เฟซบุ๊ก 'กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร' โพสต์ข้อความว่า ประเด็น “หมุดคณะราษฎร์” เป็นโบราณวัตถุ ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หรือไม่? ระบุว่า กรมศิลปากรได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ได้บัญญัติให้ “โบราณวัตถุ” หมายความถึง สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ซึ่งจากนิยามดังกล่าว กรมศิลปากรจึงเห็นว่า หมุดคณะราษฎร์มิใช่โบราณวัตถุตามนัยของ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เนื่องจากหมุดคณะราษฎร์เป็นวัตถุที่พลเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา นำมาติดตั้งไว้ในบริเวณลานพระราชวังดุสิตเมื่อปี พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นเวลา 4 ปี ภายหลังจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง หมุดคณะราษฎรจึงมิใช่สังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เพราะหมุดดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น

ปัจจุบัน โพสท์เฟซบุ๊กดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงได้ในแบบสาธารณะอีกต่อไปแล้ว

ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า‘หมุดหน้าใส’ เกิดเพราะไสยศาสตร์ เชิดชูอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และความพยายามรื้อถอนความทรงจำ

“ถ้ามันไม่มีความหมายอะไร ต่อใครเลย เขาจะเสียเวลาเอาออกทำไม ยกตัวอย่างง่ายๆ ในประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรช่วงเวลาตั้งแต่หลัง 2490 ถึงก่อนรัฐประหาร 2549 เป็นช่วงที่ถูกเพิกเฉย ทุกฝ่ายทางการเมืองมองว่าคณะราษฎรเป็นผู้ร้ายทางประวัติศาสตร์ ในทัศนะผมในช่วงนี้ คณะราษฎรไม่ได้มีภาพลักษณ์เชิงบวกอะไร ในช่วงนี้เอง สัญลักษณ์ ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรก็ถูกเพิกเฉย ในแง่นี้ว่าไม่เชิดชูและไม่ทำร้าย เพราะมันไม่มีค่า จะไปรื้อยังเสียดายงบในการรื้อ”

 “ภาพหรือความหมายที่มีหมุดเป็นศูนย์กลาง ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐที่มีความคิดที่ตรงข้ามกับหลักการประชาธิปไตยเห็นว่า วัตถุเหล่านี้เริ่มมีอันตรายและต้องรื้อ หมุดคณะราษฎรมีความหมายและพลังทางการเมืองมาก และจะขยายไปมากกว่านี้อย่างก้าวกระโดด เพียงแต่ ณ วันนี้ที่มาตั้งคำถามว่ามันไม่มีความสำคัญก็เป็นเพราะผลของรัฐประหาร 2557 ที่เราทุกคนถูกปิดปาก ปิดหู ปิดตา”

“ถ้าเอาหมุดออกไปเลย มันหาย พื้นถนนผ่านไปเดือนสองเดือนก็อาจจะกลืนกันไป เพราะฉะนั้นการไม่ดำรงอยู่ของวัตถุสัญลักษณ์คือสิ่งที่ดีที่สุด แต่การที่วัตถุนั้นไม่ดำรงอยู่ แล้วมีวัตถุสัญลักษณ์ที่เป็นอุดมการณ์ตรงข้ามมาแทน มันทำให้เรายังคงเห็นวัตถุเก่าอยู่เสมอ เมื่อเรามองหมุดใหม่ เราก็ยังเห็นหมุดเก่า ในแง่การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองนี่จึงเป็นความอ่อนหัด มีแต่ความเกลียดและกลัวสัญลักษณ์ในยุคคณะราษฎร” ชาตรีกล่าว

ศรีสุวรรณ จรรยา กล่าวกับผู้สื่อข่าวประชาไทหลังได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือน เม.ย. ว่าหมุดมีความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์เชิงประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบที่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทของชาติ ซึ่งให้สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของพี่น้องประชาชนอย่างชัดแจ้ง หมุดคณะราษฎร จึงเป็นตัวแทนและสัญลักษณ์ของการกำเนิดรัฐธรรมนูญ เมื่อมีใครมารื้อถอนเปลี่ยนแปลงมันไม่น่าจะถูกต้องหรือเหมาะสม หน่วยงานของรัฐที่เข้ามาดูแลก็น่าจะเอาใจใส่และทำความจริงให้ปรากฏชัดเจนว่าตกลงหน่วยงานใดหรือบุคคลใดที่เคลื่อนย้ายหมุดอันนี้แล้วเอาอันอื่นมาแทนที่ ก็เลยต้องไปยื่นคำร้องถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สั่งการดำเนินการเรื่องนี้โดยด่วน

หนึ่งปีผ่านไป ไม่แน่ใจว่า คนยังคิดถึงการหายไปอย่างไม่รู้ชะตากรรมของหมุดคณะราษฎรอยู่หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือท่าทีของรัฐต่อการแสดงออกและการร้องเรียนตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมในการทวงคืนหมุดยังดูหมางเมิน พร้อมกับการกดปราบ ทำให้เกิดข้อสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมว่าว่าเหตุใดประเด็นหมุดจึงเป็นเรื่องเปราะบางได้ขนาดนี้  แม้ความเชื่อมโยงของเหตุการณ์และตัวละครต่างๆ ที่รายล้อมการหายไปของหมุดยังคงเป็นปริศนา แต่ความเป็นจริงที่คนยังติดคุก ถูกแจ้งความและนำเข้าค่ายทหารหลังแสดงออกอย่างสันติเป็นภาพที่ตอกย้ำแบบหนักๆ ว่าสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและประชาธิปไตยไทยได้ระเหยหายไปกับหมุดแล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net