Skip to main content
sharethis

ในสหราชอาณาจักรกำลังประสบปัญหาหนักเรื่องฐานะที่ยากลำบากของผู้ปกครองนักเรียน หลังการตัดงบประมาณด้านสวัสดิการสังคม ที่ทำให้เด็กบางคนถึงขั้นแอบเก็บอาหารจากโรงเรียนใส่กระเป๋ากลับบ้าน ครูใหญ่ของโรงเรียนแห่งหนึ่งกล่าวว่า "ที่อื่นอาจมองเรื่องนี้ว่าเป็นการลักขโมย แต่พวกเขามองว่ามันคือความอยู่รอด"

ขณะที่ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มปฏิบัติการแก้ปัญหาความยากจนเด็กของอังกฤษกล่าวว่าสมาชิกในห้องเรียนของอังกฤษทุกๆ 30 คน จะมีเด็ก 9 คนที่มีฐานะอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ถึงเวลาแล้วที่ควรจะสร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมเพื่อรองรับครอบครัวที่ดิ้นรนกับสถานะทางการเงิน

ข้อมูลจากกลุ่มปฏิบัติการแก้ปัญหาความยากจนเด็กของอังกฤษ หรือ Child Poverty Action Group ระบุว่าในสหราชอาณาจักรมีเด็กนักเรียนฐานะยากจนราว 4.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรวัยเด็กทั้งหมด หรือนักเรียน 9 คน ในชั้นเรียนขนาด 30.1 คน (ที่มาของภาพประกอบ: Child Poverty Action Group)

ลินน์ เป็นครูใหญ่จากอดีตเมืองอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งของมณฑลคัมเบรีย ทางตอนเหนือของอังกฤษ เธอเป็นหนึ่งในครูใหญ่หลายๆ คนจากอังกฤษและแคว้นเวลส์ที่พูดถึงเรื่องปัญหาความยากจนของเด็กนักเรียน โดยหนึ่งในสาเหตุของเรื่องนี้คือการตัดงบประมาณบริการสังคมที่ทำให้ความยากจนเลวร้ายลงกว่าเดิม

ครูเหล่านี้รวมตัวกันที่การประชุมสหภาพการศึกษาแห่งชาติที่เมืองไบรตันเพื่อปรึกษากันเรื่องเด็กที่เติบโตมาท่ามกลางความยากจนและหารือกันว่าเรื่องนี้กระทบต่อการศึกษาอย่างไร ครูใหญ่รายหนึ่งเปิดเผยว่าเด็กที่ยากจนมักจะมีผิวซีด สุขภาพฟันแย่ สุขภาพเส้นผมไม่ดี และซูบซีดกว่าเด็กคนอื่นๆ ความแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ นี้ยิ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อมีการจัดแข่งขันกีฬา

หลุยส์ เรแกน ครูใหญ่จากมณฑลนอตทิงแฮมเชอร์กล่าวว่าเด็กบางคนมีผิวซีดเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาเช้าตอนวันจันทร์จะเป็นช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดเพราะเด็กจากครอบครัวยากจนจะมาที่โรงเรียนด้วยความหิวโหย แค่ถึงเวลา 9 โมงครึ่งในตอนเช้าพวกเขาก็เหนื่อยแล้ว

เรื่องความหิวโหยยังทำให้เด็กนักเรียนมีความสัมพันธ์กับโรงเรียนในฐานะสถานที่ๆ พวกเขาจะได้รับอาหาร มีครูใหญ่จากพอร์ทสมัธชื่อโฮเวิร์ด เพย์น เล่าว่ามีอยู่ช่วงหน่งที่หิมะตกหนักมากจนหมายโรงเรียนประกาศปิดโรงเรียนชั่วคราว แต่เขาก็ยังคงเปิดโรงเรียนไว้ต้อนรับนักเรียนบางส่วน เพราะกลัวว่านักเรียนเหล่านั้นจะไม่มีอาหารอุ่นๆ กินในที่อื่น พวกเขาจะมากินอาหารอุ่นๆ ในยามหนาวเหน็บได้ที่โรงเรียนเท่านั้น มีนักเรียนเดินทางมาทานอาหารที่โรงเรียนในวันนั้นมากถึงร้อยละ 45 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด

ไม่เพียงแค่เรื่องอาหารเท่านั้น แม้แต่เครื่องแต่งกายของเด็กที่ยากจนกว่าก็ไม่สามารถแต่งชุดยูนิฟอร์มได้ดีเท่าคนอื่น ลินน์เล่าว่าเด็กเหล่านี้มักจะสวมชุดที่เลอะเทอะกว่าเด็กที่มีฐานะดีและมักจะต้องสวมชุดเดิมซ้ำๆ ทำให้โรงเรียนต้องมีโครงการธนาคารอาหารและการจัดการเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เสื้อชั้นนอก ให้กับคนที่ขาดแคลนสิ่งเหล่านี้ รวมถึงจัดให้มีเครื่องซักผ้าสำหรับเด็กเหล่านี้ด้วยโดยลินน์บอกว่าเธอไม่ต้องการให้เด็กเหล่านี้ถูก "ตีตรา" เพราะเสื้อของพวกเขาเลอะเทอะ

ครูใหญ่ทุกคนในประชุมเห็นตรงกันว่าสถานการณ์ความยากจนของนักเรียนเลวร้ายลงกว่าเดิมเพราะมีการตัดโครงการความช่วยเหลือทางสังคมและทางจิตใจ

จากงานวิจัยของกลุ่มปฏิบัติการแก้ปัญหาความยากจนเด็กของอังกฤษ (Child Poverty Action Group) ระบุว่าโรงเรียนทำหน้าที่เป็นผู้พยายามลดช่องว่างความยากจนมากขึ้น จากการสำรวจโรงเรียน 900 แห่งพบว่าครึ่งหนึ่งมีบริการแก้ปัญหาความยากจนอย่างธนาคารอาหารหรือแม้กระทั่งการให้ครอบครัวเด็กสามารถกู้ยืมฉุกเฉินได้

มีครู 4 ใน 5 บอกว่าพวกเขาเห็นเด็กหิวโหยในช่วงระหว่างวัน และในจำนวนใกล้ๆ กันบอกว่าเห็นเด็กมีสัญญาณสุขภาพย่ำแย่

แอลิสัน การ์นแฮม ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มปฏิบัติการแก้ปัญหาความยากจนเด็กของอังกฤษกล่าวว่าในทุกๆ ชั้นเรียนที่มีเด็ก 30 คน จะมีอยู่ 9 คนที่มีฐานะอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ถึงเวลาแล้วที่ควรจะสร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมเพื่อรองรับครอบครัวที่ดิ้นรนกับสถานะทางการเงิน

ลินน์บอกอีกว่าครอบครัวเด็กเหล่านี้บางคนทำงาน 2-3 งานควบกันและไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการได้ คนเหล่านี้อาจจะมีเงินมากกว่าคนมีงานแบบอื่นๆ ที่ได้รับสวัสดิการแค่เล็กน้อยสัก 1-2 ปอนด์ แต่ก็จนกว่าเพราะขาดสวัสดิการ

เจน เจงกินส์ ครูใหญ่จากคาร์ดิฟฟ์เล่าว่ามีเด็กบางคนที่พกอาหารกลางวันมาโรงเรียนเป็นขนมปังกับเนยเทียมทำให้ครูต้องช่วยเหลือให้เด็กเหล่านี้ได้รับอาหารกลางวัน ขณะที่มีคนถามหา "มาตรฐาน" การศึกษาในเชิงการจัดอันดับ แต่เจงกินส์ก็มองว่าตอนนี้พวกเขาต้องมาใส่ใจเรื่องคุณภาพชีวิตของเด็กแทนแล้ว เพราะภาคส่วนสวัสดิการเด็กอื่นๆ ถูกกดดันอย่างหนักมากจนเด็กและพ่อแม่ต้องหันมาพึ่งโรงเรียนแทน

จากที่กระทรวงศึกษาธิการของอังกฤษกล่าวไว้ว่าพวกเขาต้องการสร้างประเทศที่ทุกคนสามารถใช้ความสามารถตัวเองได้เต็มที่ในการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดเท่าที่จะทำได้ ทำให้กระทรวงศึกษาธิการออกโครงการที่ชื่อ "พื้นที่แห่งโอกาส" ด้วยงบประมาณหลายล้านปอนด์เพื่อที่จะลดช่องว่างระหว่างนักเรียนที่ขาดโอกาสกับนักเรียนคนอื่นๆ

โดยทางโฆษกของกระทรวงศึกษาธิการระบุว่าจะมีการให้งบประมาณ 2,500 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนการศึกษาของเด็กที่ขาดโอกาสในโครงการชื่อ "นักเรียนพรีเมียม" และงบประมาณ 26 ล้านดอลลาร์ในการลงทุนจัดตั้งชมรมร่วมทานอาหารเช้าสำหรับ 1,700 โรงเรียนเป็นอย่างน้อย รวมถึงมีแผนการให้งบประมาณวิจัยหาวิธีการสนับสนุนครอบครัวที่ยากจนในช่วงวันหยุดเพื่อแก้ปัญหา "ความหิวโหยในช่วงวันหยุด" ได้

เรียบเรียงจาก

Child poverty: Pale and hungry pupils 'fill pockets with school food', BBC, 02-04-2018

Teachers warn of growing poverty crisis in British schools, The Guardian, 02-04-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net