Skip to main content
sharethis
มีเรื่องอื้อฉาวเรื่องใหม่เกี่ยวกับเฟซบุ๊กเมื่อสื่อซีเอ็นบีซีนำเสนอว่าเฟสบุ๊คเคยส่งตัวคนไปขอข้อมูลคนไข้จากโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับความเจ็บป่วยหรือข้อมูลใบสั่งยา เพื่อเอาไว้ให้แพทย์ร่วมพิจารณาช่วยเหลือคนไข้ได้ แต่โครงการนี้ต้องหยุดไปเสียก่อนหลังจากที่ถูกเปิดโปงเรื่องส่งข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ให้เคมบริดจ์อนาไลติกา
 
 
 
8 เม.ย. 2561 สื่อซีเอ็นบีซีรายงานว่าหน่วยงานวิจัยลับของเฟสบุ๊คที่ชื่อ "บิวดิง 8" (Building 8) เคยพยายามริเริ่มโครงการส่งข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ใช้ให้กับแพทย์ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หลายแห่งของสหรัฐฯ โดยไม่มีการถามความยินยอมจากผู้ใช้บริการก่อน โดยพวกเขาระบุว่าจะไม่มีการเปิดเผยชื่อเจ้าของข้อมูลนั้นๆ ให้อีกฝั่งหนึ่งทราบ โดยจะใช้วิธีตั้ง "แฮ็ซแท็ก" หรือกลุ่มข้อมูลที่เมือคลิกแล้วจะแสดงผลเชื่อมโยงกับชุดข้อมูลอื่นๆ ได้แทน
 
สาเหตุที่ทีมวิจัยของเฟสบุ๊คต้องการนำข้อมูลสุขภาพของผู้ใช้งานไปให้กับคนอื่นเพราะต้องการนำไปใช้ในงานวิจัยของวงการแพทย์ รวมถึงต้องการนำไปให้กับโรงพยาบาลได้เตรียมหาวิธีรองรับคนไข้ที่มีอาจจะต้องการการดูแลรักษาเป็นพิเศษ เพื่อให้แพทย์หาวิธีช่วยคนไข้ได้อย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น อาจจะมีการส่งพยาบาลไปที่บ้านของคนไข้ที่กำลังฟื้นตัวจากการผ่าตัดหัวใจครั้งใหญ่ เพราะคนไข้ทีรับการผ่าตัดนั้นไม่มีเพื่อนหรือคนในครอบครัวคอยช่วยเหลืออยู่แถวนั้น จากการพิจารณาตามโปรไฟล์ของเขา
 
ทีมของเฟสบุ๊คเคยหารือในเรื่องนี้กับองค์กรด้านสุขภาวะหลายองค์กรเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น วิทยาลัยแพทย์สแตนฟอร์ด และวิทยาลัยอายุรแพทย์หัวใจอเมริกัน โดยมีการหารือเพื่อบรรลุข้อตกลงกันเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพผู้ใช้
 
อย่างไรก็ตามหลังจากที่ผู้คนจำนวนมากไม่พอใจเฟสบุ๊คกรณีการขายข้อมูลส่วนบุคคลให้บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลที่เอื้อประโยชน์ทางการเมืองต่อโดนัลด์ ทรัมป์ ช่วงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งหลังสุด เฟสบุ๊คก็ประกาศว่าจะยับยั้งโครงการส่งข้อมูลสุขภาพผู้ใช้งานให้กับหมอไปก่อน
 
ถ้อยแถลงของเฟสบุ๊ตต่อเรื่องนี้ระบุชี้แจงว่าเรื่องความต้องการใช้ข้อมูลสุขภาพในแผนการช่วยเหลือดูแลรักษาโดยมีการปรึกษาหารือกับองค์กรการแพทย์ในเรื่องนี้จริง แต่ว่าก็ไม่ได้ดำเนินการเกินไปกว่าขั้นตอนวางแผน และพวกเขาไม่ได้รับข้อมูล แชร์ข้อมูล หรือวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ ของผู้ใช้งานเลย และเมื่อเดือนที่แล้ว (มี.ค.) พวกเขาก็ตัดสินใจยับยั้งโครงการนี้ไว้ก่อนเพื่อเน้นให้ความสนใจกับงานสำคัญอย่างอื่นได้เช่นเรื่องการคุ้มครองข้อมูลผู้ใช้และมีความชัดเจนมากขึ้นว่าจะเอาข้อมูลไปใช้ในสินค้าและบริการของพวกเขาอย่างไร
 
เรื่องนี้ทำให้เฟสบุ๊คถูกวิจารณ์กรณีที่นำข้อมูลของผู้ใช้ไปให้กับหมอโดยปราศจากความยินยอม ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสุขภาพบอกว่าแนวคิดริเริ่มเกี่ยวกับสุขภาพผู้ใช้เช่นนี้อาจจะเป็นปัญหาได้ถ้าเฟสบุ๊คไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว
 
อนีช โชปรา อดีตหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของทำเนียบขาวผู้ที่ปัจจุบันเป็นประธานบริษัทซอฟต์แวร์ CareJourney ที่เชี่ยวชาญเรื่องข้อมูลผู้ป่วยกล่าวว่า ผู้ใช้งานเฟสบุ๊คคงนึกไม่ถึงว่าข้อมูลของพวกเขาจะถูกนำมาใช้แบบนี้ ถ้าเฟสบุ๊คยังดำเนินตามแผนต่อไปก็จะถือเป็นการนำข้อมูลส่วนตัวมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าตัว
 
ที่ผ่านมาเฟสบุ๊คไม่ได้ลงลึกในเรื่องสุขภาพมากขนาดนี้ มีปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสุขภาพอยู่บ้างเช่นการส่งเสริมให้มีการบริจาคอวัยวะผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ใช้ทีมงานฝ่ายสุขภาพของเฟสบุ๊คโน้มน้าวให้บริษัทยามาลงทุนโฆษณาโดยมุ่งเป้าหมายไปที่คนที่กดไลก์เพจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพหรือมีลักษณะโปรไฟล์ที่เข้าทาง 
 
แต่เมื่อปี 2557 ก็เคยมีกรณีที่เฟสบุ๊คถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องทดลองวิจัยผู้ใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการที่เฟสบุ๊คปรับเปลี่ยนหน้าข่าวของผู้ใช้หลายแสนรายเพื่อศึกษาว่ามันทำให้ผู้ใชัรู้สึกมีความสุขมากขึ้นหรือเศร้าลง ซึ่งเฟสบุ๊คขอโทษในเรื่องนี้ในเวลาต่อมา
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Facebook Decides to Back Off Creepy Hospital Data-Sharing Project for Some Reason, Gizmodo, 05-04-2018
 
Facebook sent a doctor on a secret mission to ask hospitals to share patient data, CNBC, 05-04-2018
 
Facebook spoke with hospitals about matching health data to anonymized profiles, The Verge, 05-04-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net