Skip to main content
sharethis

ทนายโชคชัย อ่างแก้ว จัดกลุ่มคดีสลายการชุมนุมปี 53 เป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มผู้สั่งการ 'สุเทพ -อภิสิทธิ์' คดีอยู่กับ ป.ป.ช. ขณะที่อีกกลุ่มในส่วนผู้กระทำการนั้น คดีอยู่กับอัยการสูงสุด

10 เม.ย.2561 เนื่องวันครบรอบ 8 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดย ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่ส่งผลให้มีประชาชนและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากนั้น
 
โดยเมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา โชคชัย อ่างแก้ว ทนายความ พร้อมกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุดังกล่าวเดินทางมายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด(อสส.) ขอให้ติดตามและสอบถามความคืบหน้าในคดีสลายการชุมนุม เนื่องจากทราบว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการบางส่วนแล้ว นั้น 
 
ในโอกาสนี้ ประชาไท ได้สอบถามความคืบหน้าคดีดังกล่าว กับ โชคชัย ซึ่งเขาระบุว่า อัยการยังนิ่งๆ อยู่
 
สำหรับภาพรวมของ คดีสลายการชุมนุม 10 เม.ย.53 (ซึ่งไล่รวมไปถึงวันที่ 19 พ.ค.53) ทนาย โชคชัย สรุป เป็น 2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่ม 1 คือกลุ่มผู้สั่งการ ที่ผู้ต้องหาประกอบด้วย สุเทพ เทือกสุบรรณ และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น คดีอยู่กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขณะที่ กลุ่มที่ 2 ในส่วนผู้กระทำการนั้น คดีอยู่กับอัยการสูงสุดซึ่งเป็นคดีที่ตนเองไปติดตามกับอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา
รายละเอียดเพิ่มเติม 2 กลุ่มดังกล่าว โชคชัยกล่าวว่า กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มผู้สั่งการ คดีที่มีการไต่สวนการตาย เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบศพ หลังจากเกิดเหตุมีการไต่สวนไปหลายคดีมากแล้ว กลุ่ม 10 เม.ย.นั้น มีคำสั่งศาลมาแล้วว่าผู้ตายถูกกระสุนจากฝั่งทหาร เช่น เกรียงไกร คำน้อย หรือ จรูญ ฉายแม้น เป็นต้น  ส่วน พ.ค.53 นั้นมีหลายศพที่ศาลมีคำสั่งว่าผู้ตายถูกกระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่เช่นกัน หรือในส่วนของ 6 วัดปทุมฯ ก็ชัดแล้วว่าศาลสั่งว่าถูกกระสุนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร โดยกระบวนการในสำนวนการไต่สวนหลังจากที่ศาลมีคำสั่งแล้ว ก็จะกลับไปที่เจ้าหน้าที่ในท้องที่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละท้องที่จะส่งมาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพราะคดีเหล่านี้เป็นคดีพิเศษทั้งหมด ซึ่ง DSI ก็มีการสรุปสำนวนสั่งฟ้องผู้สั่งการ คือ สุเทพ และอภิสิทธิ์ ในการตายทั้งหมดของผู้เสียชีวิตตั้งแต่ 10 เม.ย.-19 พ.ค.2553 รวมฟ้องเดียวกัน เมื่อสั่งแล้วก็ส่งให้อัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดก็มีคำสั่งฟ้อง ทั้งสุเทพและอภิสิทธิ์ ในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา
 
ซึ่งสุดท้ายมีการสู้คดีกันศาลฎีกาฯ ตัดสินมาว่า สุเทพและอภิสิทธิ์ เป็นนักการเมือง ทาง DSI ไม่มีอำนาจสอบสวนในข้อหาดังกล่าว แต่ ป.ป.ช.มีอำนาจสอบ เมื่อศาลฎีกาตัดสินแล้ว เราก็มีการยื่นขอความเป็นธรรมเพื่อให้อัยการส่งเรื่องไปที่ ป.ป.ช. เพื่อให้มีการไต่สวนในข้อหานี้ใหม่ เพราะว่า ป.ป.ช. ไม่ได้ไต่วนในข้อหาฆ่าคนตายเลย ปัจจุบันทราบว่าสำนวนนี้อัยการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. แล้ว และเราก็ไปตามความคืบหน้าเหมือนกันว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว แต่ก็ยังเงียบอยู่ ซึ่งเราก็จะเห็นว่ามีข่าวการเรียกหาพยานหลักฐานหม่ของ ป.ป.ช. จึงสงสัยว่าจะต้องมีหลักฐานใหม่อะไรบ้าง เพราะเราก็ยืนยันว่าหลักฐานใหม่ก็คือคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ที่บอกว่า ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนเรื่องนี้ และสำนวนทั้งหมดที่ DSI สอบสวนไว้ และที่อัยการสั่งฟ้อง เป็นสำนวนใหม่ที่ ป.ป.ช.ต้องไปพิจารณา เพราะว่าพยานหลักฐานที่ DSI สอบสวนไว้และสั่งฟ้องสุเทพ อภิสิทธิ์ มันชัดเจนอยู่แล้ว ในเรื่องข้อหาฆ่าคนตาย แต่เรื่องนี้ ป.ป.ช.ก็ยังเงียบอยู่ จึงมีแผนที่ต้องไปติดตามความคืบหน้าต่อไปอีกก่อนวันที่ 19 พ.ค.นี้ จะไปติดตามความคืบหน้าอีกครั้ง
 
กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มผู้กระทำการ คดีกลุ่มนี้ก็จะไปติดตามความคืบหน้าที่ อัยการสูงสุด อีกเช่นกัน ว่าได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง เนื่องจากที่ตนทราบมาว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษส่งสำนวนไปให้อัยการเหมือนไม่มีตัวผู้ต้องหา ยังหาตัวผู้กระทความผิดไม่ได้ ทั้งที่ไม่ควรเป็นเช่นนั้น เพราะมันมีกรณีที่ชัดเจนอย่าง 6 ศพวัดปทุม ที่มีตัวคนยิงอย่างชัดเจนบนรางรถไฟฟ้านั้นก็ชัดอยู่ ในคดีของผู้กระทำการไม่เหมือนคดีของผู้สั่งการ ของผู้สั่งการนั้นทาง DSI รวมทั้งหมดเพราะคำสั่งมันต่อเนื่องจาก 10 เม.ย.-19 พ.ค.53 แต่ผู้กระทำการนั้นเป็นการกระทำการเฉพาะเรื่อง เฉพาะรายในต่างวันต่างเวลากัน จึงต้องแยกคดีออกมาให้ชัดเจน
 
โชคชัย กล่าวถึงคดีอื่นๆ ว่ายังมีคดีไต่สวนการตายอีกหลายศพที่ยังไม่ได้ทำเลย ยังนิ่งอยู่ ตรงนี้ก็ต้องรื้อมาให้ทำ ซึ่งมีอายุความคดี 20 ปี 
 
"มันก็เกิดขึ้นจากฝ่ายที่มีอำนาจสั่งไม่ให้ดำเนินการ เพราะว่าบุคคลที่มีอำนาจอยู่ก็เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พวกนั้นทั้งนั้นเลย" โชคชัย กล่าวถึงสาเหตุที่การไต่สวนการตายไม่มีความคืบหน้า
 
เสียงสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

การไต่สวนการตาย  ‘คดี 10 เมษา 53’

รายละเอียดความคืบหน้าดังนี้

มานะ เขาดิน : ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ

มานะ อาจราญ ลูกจ้างของสวนสัตว์ดุสิตแผนกบำรุงรักษา ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อกลางดึกของวันที่ 10 เม.ย. 53 บริเวณสวนสัตว์ดุสิต ภายหลังการสลายการชุมนุมในช่วงค่ำบริเวณแยกคอกวัวและถนนดินสอสงบลง ทั้งนี้ ลานจอดรถของสวนสัตว์ดุสิตเป็นจุดพักของเจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา จำนวนหลายกองร้อย

ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 ก.พ.56 ระบุว่า  "นายมานะ อาจราญ ถึงแก่ความตายในสวนสัตว์ดุสิตในคืนวันที่ 10 เม.ย.53 โดยถูกกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะทำลายเนื้อสมอง โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ”

ศาลระบุด้วยว่า ผู้ร้องไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุว่าผู้ยิงเป็นทหารหรือบุคคลใด ไม่มีพยานยืนยันการใช้อาวุธปืนของทหารซึ่งมีการนำสืบว่าหมอบอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ แม้ รปภ.สวนสัตว์ดุสิตจะเบิกความว่ามีการยิงของทหารจากด้านในสวนสัตว์โดยยิงเฉียงขึ้นฟ้าไปทางฝั่งรัฐสภา แต่ก็เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุกำลังวิ่งเข้าไปที่อาคารจอดรถ ไม่ใช่จุดที่นายมานะถูกยิงเสียชีวิตและไม่ใช่จุดที่พบทหารหมอบอยู่ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ที่เข้าเวรคู่กับนายมานะได้วิ่งออกมาหลังได้ยินเสียงปืนก็พบกับทหารที่หมอบอยู่ ทหารก็ไม่ได้มีท่าทีจะทำร้ายนายบุญมี หากทหารกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ทำร้ายนายมานะ นายบุญมีก็คงถูกยิงเช่นกัน ส่วนแพทย์จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ตรวจแนววิถีกระสุน จำลองแนววิถีกระสุนได้เพียงจุดยิงกว้างๆ ไม่อาจสันนิษฐานว่าเป็นจุดเดียวกับที่ทหารหมอบอยู่ ส่วนปลอกกระสุน 2 ปลอกที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุนั้น ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นกระสุนที่ใช้ยิงผู้ตายหรือไม่ เพราะไม่มีหัวกระสุนมาตรวจสอบ และจากการตรวจสอบอาวุธปืน 29 กระบอกที่กองกำลังค่ายสุรนารีเบิกใช้ก็ไม่ตรงกับปลอกในที่เกิดเหตุ (อ่านรายละเอียด)

จรูญ-สยาม หน้า ร.ร.สตรีวิทยา : วิถีกระสุนปืนยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงาน

สำหรับการไต่สวนการเสียชีวิตของ จรูญ ฉายแม้น ผู้ตายที่ 1 และสยาม วัฒนนุกูล ผู้ตายที่ 2 ถูกยิงเสียชีวิตหน้า ร.ร.สตรีวิทยา ถ.ดินสอ  ศาลสั่งเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 56 ระบุว่า "วิถีกระสุนปืนยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้แยกสะพานวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ"

ศาลระบุว่า ได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องแล้วเห็นว่า ผู้ร้องมีประจักษ์พยาน 4 ปากอยู่ในที่เกิดเหตุบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ต่างเบิกความยืนยันว่า เห็นประกายไฟจากกระบอกปืนและได้ยินเสียงปืนจากทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปบริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้สี่แยกสะพานวันชาติ ซึ่งขณะนั้นประจักษ์พยานเห็นผู้ตายทั้งสองล้มลงที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา จึงเชื่อว่าพยานทั้ง 4 ต่างเบิกความไปตามความจริงที่ได้รู้เห็นมา ประกอบกับแพทย์จากนิติเวชที่ชันสูตรศพผู้ตายทั้งสองยืนยันว่านายจรูญ ผู้ตายที่ 1 ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลกลาง โดยสาเหตุการตายเกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบพบเศษลูกกระสุนปืน เศษตะกั่ว เศษเหล็กในศพของผู้ตายที่ 1 (จรูญ) ส่วนนายสยาม ผู้ตายที่ 2 เสียชีวิตระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลกลาง ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน ตรวจพบเศษตะกั่วในศพผู้ตายที่ 2 ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนยืนยันว่า เศษลูกกระสุนปืนที่พบในศพของผู้ตายที่ 1 เป็นอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ใช้ในวันเกิดเหตุ และแม้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเศษตะกั่วที่พบในศพผู้ตายที่ 2 มีขนาดเท่าใด แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ตายทั้งสองอยู่ในบริเวณเดียวกันและล้มลงในช่วงระหว่างที่เจ้าพนักงานใช้อาวุธปืนยิงมาทางผู้ชุมนุมที่ติดตามเข้าไป จึงเชื่อว่าผู้ตายทั้งสองถูกกระสุนปืนที่ยิงมาจากบริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ คำเบิกความของพยานยังสอดคล้องกับผู้ตรวจวิถีกระสุนในบริเวณที่เกิดเหตุ จากข้อเท็จจริงและเหตุผลทั้งหมดที่ได้วินิจฉัยมา เชื่อได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายทั้งสองนั้น มีวิถีกระสุนปืนที่ยิงมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ แต่พยานของผู้ร้องทั้งหมดที่นำสืบมา ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ (อ่านรายละเอียด)

เกรียงไกร : ถูกยิงบ่าย 3 วิถีกระสุนมาจากทหาร

เกรียงไกร คำน้อย อายุ 23 ปี โชเฟอร์รถตุ๊กตุ๊ก ที่ถูกยิงเสียชีวิตเป็นศพแรกในเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ

โดยเมื่อวันที่ 4 ก.ค.57 ศาลมีคำสั่งว่า มีนายเกรียงไกร เสียชีวิตที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2553  ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมาก จากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งมีวิถีกระสุนมาจากเจ้าหน้าที่ทหารในการปฎิบัติหน้าที่ขอคืนพื้นที่ จากทางด้านแยกสวนมิสกวัน ผ่านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ มายังสะพานมัฆวานรังสรรค์ ตามคำสั่งของศอฉ. โดยไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำ

ซึ่งศาลระบุด้วยว่า เวลา 15.00 น. (วันที่ 10 เม.ย.53)เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงถูกนายเกรียงไกร ที่ยืนอยู่บนทางเท้าข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการที่หน้าอกและลำตัวจนได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่กู้ภัยจึงนำตัวนายเกรียงไกร ส่งร.พ.วชิรพยาบาล ต่อมานายเกรียงไกรได้เสียชีวิตลงเนื่องจากเสียเลือดมาก ในวันที่ 11 เมษายน 2553  เนื่องจากหลอดเลือดใหญ่บริเวณอุ้งเชิงกรานฉีกขาดจากกระสุนความเร็วสูงที่ยิงมาจากทางเจ้าหน้าที่ทหาร

ศาลสั่งไม่ทราบใครยิง 'ฮิโรยูกิ-วสันต์-ทศชัย' แต่ 'จรูญ-สยาม' จุดเวลาเดียวกัน สั่งกระสุนมาจากฝ่ายทหาร

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 58 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลมีคำสั่ง คดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพของฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ผู้ตายที่ 1 วสันต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุม นปช. ผู้ตายที่ 2 และทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ชุมนุม นปช. ผู้ตายที่ 3 จากการถูกยิงเสียชีวิตในคืนวันที่ 10 เม.ย. 2553 จากการสลายการชุมนุม นปช. ของ ศอฉ. บนถนนดินสอ บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา โดยศาลมีคำสั่งว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำหรือไม่อาจทราบได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายทั้ง 3 มีแนววิถีกระสุนปืนมาจากทิศทางใด (อ่านรายละเอียด)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net