สมาชิกรัฐสภาอาเซียนฯ ร้องประเทศในกลุ่มมีมาตรการต่อวิกฤติในพม่า หลังพบเรือโรฮิงญาระลอกใหม่

กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่ออสิทธิมนุษยชน แถลงเรียกร้องให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีมาตรการต่อวิกฤติในพม่า หลังพบเรือโรฮิงญาระลอกใหม่ 
 
11 เม.ย.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่ออสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) แถลงวันนี้ว่า เรือโรฮิงญาระลอกใหม่ที่เพิ่งเข้าฝั่งที่มาเลเซียและอินโดนีเซียเมื่อสัปดห์ก่อน เป็นสัญญาณถึงวิกฤติโรฮิงญาระลอกใหม่ ซึ่งอาจกระทบกับเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ APHR ได้เรียกร้องให้ผู้นำในภูมิภาคเร่งแก้วิกฤติโรฮิงญาซึ่งเริ่มต้นที่รัฐยะไข่ของพม่าที่รากเหง้า หลังจากที่วิกฤตินี้ได้ทำให้ชาวโรฮิงญากว่าหลายแสนชีวิตต้องหนีการกวาดล้างที่สนับสนุนโดยรัฐบาลพม่า
 
“เรือเหล่านี้เป็นนสัญญาณเตือนว่า สภาพของชาวโรฮิงญาในพม่ายังคงย่ำแย่และความจริงที่ว่าชาวโรฮิงญาบางส่วนได้เลือกที่จะหนีออกมหาสมุทรอีกครั้งแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลพม่าและประเทศสมาชิกอาเซียนในการจัดการกับต้นเหตุของของวิกฤตินี้” ชาร์ลส์ ซานติเอโก้ (Mr Charles Santiago) ประธาน APHR และส.ส.มาเลเซียกล่าว 
 
เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา เรือซึ่งพาชาวโรฮิงญาเกือบ 60 ชีวิตเดินทางมาถึงมาเลเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้เรือลำนี้หยุดพักที่ไทยเพื่อเติมเสบียงและเชื้อเพลิง และเมื่อวันที่ 6 เมษายน เรือโรฮิงญาอีกลำหนึ่งได้รับการช่วยเหลือโดยชาวประมงอินโดนีเซียบริเวณนอกชายฝั่งจังหวัดอาเจะห์ มีรายงานว่า เดิมทีมีชาวโรฮิงญาสิบคนบนเรือลำนั้น แต่มีห้าคนทนความหิวโหยไม่ไหวและเสียชีวิตไปก่อน ตอนนี้ผู้อพยพบนเรือทั้งสองลำอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง นอกจากนี้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์เตือนว่า อาจมีเรือโรฮิงญาอีกหลายลำกำลังรอความช่วยเหลืออยู่กลางทะเล
 
"หลายปีที่ผ่านมา ภูมิภาคอาเซียนได้รับการท้วงติงอย่างสม่ำเสมอ ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากยังนิ่งเฉย เหตุการณ์ที่ค่อยๆ ปรากฎออกมาให้เราเห็นอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของคลื่นผู้อพยพชาวโรฮิงญาระลอกใหญ่ระลอกใหม่ที่ต้องออกเรือเพื่อหนีการกวาดล้างที่สนับสนุนโดยรัฐ อาเซียนจะต้องไม่รอจนปัญหาลุกลามแล้วค่อยมาจัดการที่แก่นของปัญหา" ซานติเอโก้ กล่าวเสริม
 
ประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 มีชาวโรฮิงญาหลายพันคนตัดสินใจหนีการกวาดล้างที่พม่าทางเรือ แต่เรือของพวกเขาไม่สามารถเข้าฝั่งได้และถูกปล่อยทิ้งกลางทะเล เพราะหลายประเทศในอาเซียนใช้นโยบายผลักดันเรือโรฮิงญาออกนอกประเทศ หลังจากมีการค้นพบหลุมฝังศพหมู่ในไทย ซึ่งฝังศพชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จำนวนมาก อย่างไรก็ตามเมื่อมีการปราบการค้ามนุษย์ตามแนวเส้นทางที่ใช้ในการลักลอบ จำนวนเรือที่ออกจากรัฐยะไข่ก็ลดลงเป็นอย่างมาก แต่การมาถึงของเรือโรฮิงญาระลอกล่าสุดนี้แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์อาจมีการเปลี่ยนแปลง
 
กลุ่ม ส.ส.อาเซียนกล่าวว่า การตัดสินใจที่จะรับผู้ลี้ภัยในตอนนี้ แทนที่จะผลักดันเรือออกไปอย่างที่เคยทำในปี 2558 เป็นก้าวที่สำคัญยิ่ง กลุ่ม ส.ส.อาเซียนยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาคเพิ่มมาตรการในการปกป้องผู้ลี้ภัยและดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจหนี ซึ่งคือการการกวาดล้างชาวโรฮิงญาที่รัฐบาลพม่ามีส่วนเกี่ยวข้อง
 
"เราหวังว่า ทางการจะยังคงให้การต้อนรับเรือผู้ลี้ภัยลำอื่นๆ หากมีเรือมาเพิ่ม และควรทำให้มั่นใจว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาได้รับการคุ้มครองอย่างสมควรในประเทศเหล่านี้" ซานติเอโก้ กล่าว และระบุว่าเพื่อป้องกันการเสียชีวิตที่ไม่จำเป็น รัฐบาลในภูมิภาคควรเริ่มมาตรการค้นหาและช่วยเหลือให้มากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินของชาวโรฮิงญาในทะเลทันที ผู้นำต้องเพิ่มมาตรการในการคุ้มครองผู้ลี้ภัยในประเทศของตนเช่นเดียวกับในระดับภูมิภาคโดยรวม
 
แม้นานาชาติจะแสดงความห่วงใย กังวลต่อวิกฤติโรฮิงญามากขึ้น และได้เรียกร้องให้อาเซียนดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาวิกฤติโรฮิงญา แต่ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ก็ยังเพิกเฉยต่อคำเรียกร้องเหล่านั้น นอกจากนี้อาเซียนก็ยังไม่มีกรอบความร่วมมืออย่างรอบด้านในระดับภูมิภาคที่ครอบคลุมการแก้ปัญหาวิกฤติโรฮิงญาในระยะยาว ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนสิบประเทศ มีเพียงกัมพูชาและฟิลิปปินส์ที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 และพิธีสาร ค.ศ.1967
 
"เป็นที่ชัดเจนว่า คลื่นผู้ลี้ภัยโรฮิงญาครั้งที่แล้วมีผลกระทบต่อภูมิภาค และหากปราศจากมาตรการที่เป็นรูปธรรมแล้วนั้น วิกฤตินี้ก็จะแย่ลงอย่างไม่ต้องสงสัย ผู้นำอาเซียนต้องตระหนักว่า การเงียบของพวกเขาจะทำให้วิกฤตินี้ทวีความรุนแรงขึ้น และคุกคามเสถียรภาพและความมั่งคั่งในภูมิภาค” เท็ดดี้ บากุลัด (Mr Teddy Baguilat) สมาชิก APHR และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ กล่าว
 
"ถ้าอาเซียนมีความจริงจังในการแก้ไขปัญหานี้แล้วละก็ ผู้นำในอาเซียนต้องหยุดซ่อนตัวภายใต้หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศและแก้ไขวิกฤตินี้ที่รากเหง้า" บากุลัด กล่าวเสริม 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท