Skip to main content
sharethis
ในการตอบข้อซักถามของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ต่อสภาคองเกรสเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจจะมีภาพลักษณ์ว่าวุฒิสมาชิกดูขาดความรู้และชวนให้กังวลว่าจะมีการควบคุมเฟสบุ๊คหรือไม่ แต่จากการสรุปของสื่อเดอะการ์เดียนทำให้เห็นข้อมูลในเบื้องต้นว่ามีหลายเรื่องที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เองก็เพิ่งรู้ ตัวเขาเองก็ไม่พอใจเคมบริดจ์ ขณะที่บางเรื่องที่มีการพยายามตอบเลี่ยงอย่างน่าสงสัย ขณะเดียวกัน ส.ว. สหรัฐฯ โยนหินถามทางว่าควรจะมีการคุ้มครองข้อมูลประชาชนด้วยกฎหมายแบบยุโรปดีหรือไม่
 
เมื่อวันที่ 10-11 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมามีการไต่สวน มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟสบุ๊คในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ทั้งจากวุฒิสมาชิกและจากสภาหอการค้าสหรัฐฯ หลังจากที่เฟสบุ๊คถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการปล่อยให้คนในรัสเซียใช้ส่งอิทธิพลต่อการเลือกตั้งปี 2559 และเรื่องที่สหรัฐฯ ขายข้อมูลผู้ใช้งานให้เคมบริดจ์อนาไลติกา สื่อเดอะการ์เดียนรวบรวมเรื่องที่ได้ทราบจากการตอบข้อซักถามซักเคอร์เบิร์ก 5 ประการ ดังนี้
 
ข้อที่ 1 บัญชีผู้ใช้ของ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ก็ถูกขายข้อมูลส่วนตัวออกไปเหมือนผู้ใช้งานคนอื่นๆ
 
ในการตอบคำถามของผู้แทนฯ จากพรรคเดโมแครตชื่อแอนนา เอสชู ซักเคอร์เบิร์กเปิดเผยว่าเฟสบุ๊คได้ขายข้อมูลของบัญชีผู้ใช้ของเขาให้กับกลุ่มบุคคลที่ 3 เช่นกัน
 
ถึงแม้ว่าทางเฟสบุ๊คจะไม่ยืนยันอย่างชัดเจนว่าบุคคลที่ 3 ที่ว่าจะเป็นโกลบอลไซเอนซ์รีเสิร์จ (GSR) ซึ่งก่อตั้งโดยอเล็กซานเดอร์ โคแกน นักวิจัยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แต่จากการที่ซักเคอร์เบิร์กกล่าวไว้หลายครั้งว่าการสิบสวนเรื่องการส่งต่อข้อมูลให้บริษัทอื่นๆ ยังไม่เสร็จสิ้น ทำให้เป็นไปได้ยากที่ซักเคอร์เบิร์กจะหมายถึงบริษัทอื่น
 
อย่างไรก็ตามคำให้การของซักเคอร์เบิร์ก ทำให้เฟสบุ๊คอ้างวัตถุประสงค์ของตัวเองได้ยากขึ้นในแง่ความเป็นส่วนตัว เพราะขนาดซีอีโอของตัวเองยังไม่สามารถปรับแต่งความเป็นส่วนตัวของตัวเองได้แล้วคนอื่นๆ จะทำได้จริงหรือ
 
ข้อที่ 2 เฟสบุ๊คอาจจะเตรียมฟ้องเคมบริดจ์-ซักเคอร์เบิร์กบอกเพิ่งรู้ว่าเคมบริดจ์มีทีมวิจัยแบบนี้
 
จากคำให้การของซักเคอร์เบิร์กระบุว่าเฟสบุ๊คเพิ่งทราบเรื่องที่ทางมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์มีทีมงานวิจัยด้านลักษณะจิตนิสัย (psychographics) ซึ่งเป็นการนำศาสตร์จิตวิทยาและประชากรศาสตร์มาใช้ศึกษาผู้คน โดยที่ซักเคอร์เบิร์กกล่าวว่าเขารู้สึกประหลาดใจที่ได้รับรู้เรื่องนี้เช่นกัน
 
ซักเคอร์เบิร์กกล่าวว่ามีกลุ่มนักวิจัยที่พยายามสร้างโปรแรมแอพพลิเคชันเก็บ-วิเคราะห์ข้อมูลแบบเดียวกับของเคมบริดจ์ ทั้งนี้ในวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมาก็มีการเปิดเผยว่าจะมีการสั่งแบนองค์กรเก็บ-วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า ที่ชื่อ Cubeyou ออกจากการเข้าถึงเฟสบุ๊ค
 
ซักเคอร์เบิร์กบอกอีกว่าพวกเขาการสืบสวนมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ว่ากำลังมีคน "ทำอะไรเลวร้าย" อยู่หรือไม่ และถ้าหากว่าพวกเขาค้นพบว่ามีเคมบริดจ์กำลังพยายามทำอะไรแย่ๆ พวกเขาก็จะพิจารณาฟ้องร้องมหาวิทยาลัยนี้
 
ข้อที่ 3 มีความพยายามกำกับดูแลจากภาครัฐ แต่กำกับดูแลอย่างไรยังเป็นคำถาม
 
ขณะเดียวท่าทีของฝ่ายส.ว.และตัวแทนจากหอการค้าสหรัฐฯ ก็เป็นไปในทางสนับสนุนให้มีการกำกับดูแลการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้และความต้องการออกกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูล จากท่าทีของแฟรงค์ พัลโลนี คณะกรรมาธิการฝ่ายพลังงานและพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวเปิดการซักถามซักเคอร์เบิร์กว่า "ผมยินดีที่ได้ทราบว่าคุณซักเคอร์เบิร์กยอมรับการที่ธุรกิจของเขาจะถูกกำกับดูแล พวกเราต้องการกฎหมายความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลที่ครอบคลุม"
 
การต่อสู้ที่แท้จริงระหว่างเฟสบุ๊คกับคองเกรสคือเรื่องที่จะมีการกำกับดูแลอย่างไร เฟรด อัพตัน ผู้แทนจากมิชิแกนกล่าววิจารณ์การกำกับดูแลไว้เช่นกันว่าบรรยากาศแบบที่มีการกำกับดูแลอาจจะทำให้เกิดการปิดกั้นไม่ให้เกิดพื้นที่ใหม่ๆ และปิดกั้นการแข่งขัน ดูเหมือนเฟสบุ๊คมีท่าทีไม่ชอบใจในเรื่องการกำกับดูแลเหมือนกัน
 
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าจะเป็นกลายเป็นแนวทางกำกับดูแลในเรื่องนี้คือการคุ้มครองข้อมูลตามแบบกฎหมาย GDPR ของสหภาพยุโรป มีผู้แทนฯ ในคองเกรสหลายคนถามซักเคอร์เบิร์กว่าเขาอยากให้มีการนำ GDPR มาใช้กับประชาชนอเมริกันหรือไม่ ซักเคอร์เบิร์กก็พยายามตอบเลี่ยงคำถามนี้ด้วยการบอกว่า GDPR เป็น "การควบคุม" มากกว่า "การคุ้มครอง"
 
ข้อที่ 4 เฟสบุ๊คแข็งแกร่งด้วยรากฐานความเป็นอเมริกัน แต่ก็พยายามมีภาพลักษณ์แบบตอบรับนานาชาติ
 
ในการพูดเปิดของเกร็ก วัลเดน ประธานกรรมาธิการด้านพลังงานและหอการค้าสหรัฐฯ ระบุว่า "ความสำเร็จของคุณคือเรื่องราวความสำเร็จของชาวอเมริกัน เป็นการสร้างรูปธรรมทางคุณค่าของทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการประกอบธุรกิจ" ซักเคอร์เบิร์กเองก็โต้ตอบคำถามเกี่ยวกับการปิดบริษัทว่าจะทำให้บรรยากาศการแข่งขันของสหรัฐฯ ลดลง ทำให้ความได้เปรียบในเรื่องนี้สู้จีนไม่ได้
 
แต่การเลือกเล่นเกมแบบยึดหลักว่าเฟสบุ๊คอยู่กับคุณค่าของความเป็นอเมริกันก็ดูมีความสุ่มเสี่ยงในตัวเอง เพราะซักเคอร์เบิร์กก็พยายามทำให้บริษัทดูมีภาพลักษณ์ตอบรับต่อชาวโลก ผู้ใช้ร้อยละ 85-90 ก็เป็นคนที่อยู่นอกสหรัฐฯ และเวลาอยู่ข้างนอกห้องไต่สวนนี้เฟสบุ๊คก็ประกาศตนชัดเจนว่าเป็นบริษัทระดับโลกไม่ใช่บริษัทอเมริกัน และบริษัทของพวกเขาก็รู้ดีว่าการเติบโตในอนาคตต้องพึ่งพาผู้ใช้จากนานาชาติ
 
ข้อที่ 5 มีบางเรื่องที่ซักเคอร์เบิร์กเองก็ตอบไม่ได้ หรือไม่อยากจะตอบ
 
หลังจากการไต่สวนในวันที่ 2 เสร็จสิ้นลงแล้ว ดูเหมือนจะมีบางส่วนที่เฟสบุ๊คเลี่ยงจะไม่ตอบ เช่นเมื่อถามถึงความสามารถในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเฟสบุ๊คก็จะถูกตอบแบบเบี่ยงเบนประเด็น หรือเมื่อถูกถามว่าใครเป็นเจ้าของตัวตนของซักเคอร์เบิร์กในโลกเสมือน ซักเคอร์เบิร์กก็ตอบเลี่ยงๆ ว่าพวกคุณเป็นเจ้าของ "เนื้อหา" ทุกอย่างที่พวกคุณอัพโหลดและสามารถลบเองได้ตามใจชอบ ซึ่งไม่ได้ถือว่าเป็นการตอบคำถามเลย ขณะเดียวกันโปรไฟล์โฆษณาที่เฟสบุ๊คสร้างขึ้นมาเกี่ยวกับตัวผู้ใข้นั้นตัวผู้ใช้เองไม่สามารถลบเองได้และตัวผู้ใช้ก็ไม่มีความสามารถควบคุมมันได้
 
อีกคำถามหนึ่งที่ซักเคอร์เบิร์กมักจะตอบเลี่ยงคือคำถามที่ว่าเฟสบุ๊คเก็บข้อมูลพฤติกรรมการเข้าเว็บไซต์ต่างๆ ของผู้ใช้งานไว้มากน้อยแค่ไหนบ้าง ส.ว. ต้องถามซักเคอร์เบิร์กย้ำๆ จนกระทั่งเขายอมตอบว่ามีการติดตามข้อมูลดังกล่าวจริงแต่ก็อ้างว่าผู้ใช้งานทั้งหลายเข้าใจดีและต้องการให้เฟสบุ๊คทำเช่นนั้น อีกทั้งซักเคอร์เบิร์กยังตอบด้วยการใช้คำอย่างระมัดระวังว่าข้อมูลการเข้าเว็บต่างๆ ของผู้ใช้งานไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ "เนื้อหาของคุณ" ซึ่งอาจจะจริงในแง่ที่ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใช้งานอัพโหลดเข้าสู่เฟสบุ๊คด้วยตนเอง แต่ก็ดูจะเป็นการตอบไปคนละประเด็น
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Five things we learned from Mark Zuckerberg's Facebook hearing, The Guardian, 11-04-2018
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net