Skip to main content
sharethis
เก็บตกวงเสวนา 'กษิต-ธีระชัย-เยี่ยมยอด-ษัษฐรัมย์-เมธา' ถก "ประเทศไทยกับอนาคต สังคม(นิยม)ทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางการเมือง" ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ชี้ปัญหาความเปราะบางในระบบทุนนิยม กษิต แนะพรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมารณรงค์ให้มีการแก้ไข รธน. 60
เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา สถาบันสังคมประชาธิปไตย ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม และศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา 2018 Thailand Social Democracy Think Tank เรื่อง "ประเทศไทยกับอนาคต สังคม(นิยม)ทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางการเมือง" ที่ ห้องประชุม 209 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย มีวิทยากร ประกอบด้วย กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เยี่ยมยอด ศรีมันตะ นักเคลื่อนไหวสังคมนิยมและประชาธิปไตย (ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตยประชาชน ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่) และเมธา มาสขาว จากสถาบันสังคมประชาธิปไตย 
 
 
ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า วิกฤติปัญหาที่เราเผชิญอยู่คือวิกฤติที่เราเรียกว่าการสะสมทุนภายใต้กระแสเสรีนิยมใหม่ เกิดขึ้นในประเทศไทยมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 มีการขยายตัวของกลุ่มทุนเพื่อการส่งออก กลุ่มทุนเหล่านี้ได้รับอภิสิทธิ์อย่างมากในการสะสมทุน ได้รับการยกเว้นภาษีรวมทั้งภายใต้เงื่อนไขการจ้างงานที่ยืดหยุ่นทำให้กลุ่มทุนเหล่านี้สามารถอาศัยเงื่อนไขของการที่จ้างผู้ใช้แรงงานในราคาที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มศูนย์กลางทุนนิยม ไม่มีสหภาพแรงงานที่ต่อรองได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งสามารถละเมิดกฎหมายแรงงาน ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยขยายตัวเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่น่าคิดคือการขยายตัวเหลานี้แทบจะไม่สามารถมาเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตประชาชนได้เลย วิกฤติเปล่านี้สามารถแบ่งได้เป็น 1. เรื่องความมั่นคงในชีวิตของคน 2. ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ 3. เสรีภาพ และ 4. เป็นโจทย์ของคนรุ่นใหม่ นั่นคือการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม
 
"เซ็นเซอร์ชิปที่รุนแรงและทรงอนุภาพกว่า ม.44 ของ คสช. มากกว่าคำสั่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นคือ แคปปิตอล ลิซึ่ม นั่นคือระบบทุนนิยม ต่อให้เราไม่มี ม.44 แต่ให้เราไม่มีเผด็จการ โอเค เผด็จการทหารและ ม.44 ต้องถูกยกเลิก นี่คือจุดยืนชัดเจน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นต้นตอของทุกอย่าง แต่ว่าเท่านั้นไม่พอ เท่านั้นไม่มีทางเพียงพอแน่นอน เพราะเซ็นเซอร์ชิปที่รุนแรงที่สุดนั่นคือระบบทุนนิยม อะไรที่เซ็นเซอร์ให้คนไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองได้ นั่นคือความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ถ้าเราพูดถึงการกระจายอำนาจ แต่ถ้าเราปราศจากสวัสดิการพื้นฐานในชีวิตที่ค้ำจุนพวกเขา เพราะมีเงื่อนไข มีกฎหมาย พ.ร.บ.กระจายอำนาจ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นความฝันที่ว่างเปล่า เป็นสิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นจริง เพราะด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ เมื่อมนุษย์ไม่มีความมั่นคงในชีวิตก็ไม่สามารถที่จะมีจุดร่วมในการที่จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้" ษัษฐรัมย์ กล่าว
 
ษัษฐรัมย์ กล่าวต่ดว่า ถ้าไม่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม นักศึกษาที่มีไฟแรงที่ตั้งคำถามในสังคมในวันนี้ ใช้เวลาไม่นานที่พวกเขาจะถูกกรองและกลืนด้วยระบบทุนนิยม เพราะพวกเขาต้องเลี้ยงดูครอบครัวที่เป็นหนี้ ที่เลี้ยงดูพวกเขา และก็จะเป็นหนี้ซ้ำอีก สิ่งที่เซ็นเซอร์พวกเขาคือระบบ ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้พวกเขามีชีวิตที่ปลอดภัยได้ในระบบทุนนิยม มีเสรีภาพในการวิจารณ์ได้ ทำให้ผู้ใช้แรงงานวิจารณ์นายจ้างได้ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยสามารถวิจารณ์อธิการบดีได้ ด้วยเงื่อนไขในการทำงานทำให้คนทำงานเปราะบางมาก ความเปราะบางเหล่านี้ทำให้ความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมจะหายได้ สิ่งที่ตามมาก็คือกระแสของการอยู่เป็น
 
สำหรับ ธีรชัย กล่าวถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั้นมีทั้งส่วนเป็นไปได้และเป็นไปได้ยาก โดยมีม 2 แนวคิดในการแก้ความเหลือมล้ำ จากที่มองเป็นเรื่องการเป็นสิทธิฯ กับอีกแนวคือมันไม่ใช่สิทธิฯ 100% แต่มีส่วนที่จำเป็นต้องช่วยเหลือส่วนหนึ่ง เพื่อให้โอกาส 
ที่ผ่านมา ทักษิณ ชินวัตร สร้างนโยบาย ประชาธิปไตยที่กินได้ นโยบายทักษิณ ส่วนมากเป็นการจัดช่วยค่าใช้จ่าย แต่ก็เป็นนโยบายที่มีแต่ให้ ไม่เก็บภาษีเพิ่ม ไม่ได้บังคับให้ใครจะเสียสละมาให้ โดยการสร้างหนี้สาธารณะแทน ทำให้เราต้องแบกค่าใช้จ่ายร่วมกันทั้งหมด 
ดังนั้นก่อนที่จะไปสู่แนวคิดนั้น ต้องคำนึงถึงเรื่องการหารายได้ของรัฐด้วย
 
กษิต กล่าวว่า ตนเองจะไม่ลงเลือกตั้ง แต่จะมาขับเคลื่อนงานการเมืองทำ 2 เรื่อง 1. ส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมือง ประชาธิปไตยศึกษา เพื่อขับเคลื่อนพลเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตย 2. ขับเคลื่อนแนวคิดแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมือง พลังความคิดที่ 3 เพื่อปฎิเสธพลังทหาร กับทุนนิยมสามาน 
 
กษิต วิเคราะห์ความคิดของทหารที่เข้ามาสู่การเมือง โดยชวนไปดูอุดมการณ์ทางการเมืองของ นักเรียนนายร้อย จปร. ที่ว่า เขาเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องราชอาณาจักรไทย  เขาเป็นผู้ปกป้อง ขณะที่อีกด้านเขาเหนื่อยหยายกับการเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมืองกับการปฏิวัติ แต่ทางออกต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งทางการเมืองกับกฎหมายไทย ดังนั้น มันจึงทำให้รัฐธรรมนูญปี 60 จึงเป็นแบบนั้น ที่มีที่คณะกรรมการ ยุทธศาสตร์ กรรมการปฏิรูป และมีนายพล 6 คนอยู่ในวุฒิสภา เป็นการกำกับดูแลว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นการเอาเสถียรภาพเป็นตัวตั้ง เป็นรัฐราชการ ขณะเดียวกันก็ได้พี่เลี้ยงจากจีนและมอสโก ที่เป็นพรรคเดียวเสียงข้างมาก เพื่อให้มีสเถียรภาพ 
 
กษิต เสนอว่า หนึ่ง ให้พรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมารณรงค์ให้มีการแก้ไข รธน. 60 และสองเรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่ยุโรปมีกองทุนพัฒนาชนบท เพื่อลดความเหลือมล้ำในอียู เป็นต้น
 
เมธา นำเสนอ 10 ข้อเสนอทางออกประเทศไทยในการสร้างสังคมทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยทางการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตความขัดแย้งตลอด 4 ปีที่รัฐบาลละเลย เพิกเฉย และสร้างขึ้นมา โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.ยกเลิกนโยบายประชารัฐและการส่งเสริมกลุ่มทุนธุรกิจผูกขาดเนื่องจากปัจจุบันนโยบายประชารัฐเอื้อเอกชนไม่กี่กลุ่มที่เป็นกลุ่มทุนผูกขาดประเทศไทย และไปซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้มากขึ้นไปตามลำดับ ผันเงินงบประมาณแผ่นดินผ่านโครงการช่วยเหลือของรัฐ ผ่านประชาชนเข้าสู่กลุ่มทุน, ตัวเลขรายได้จากการส่งออกของไทยเป็นของกลุ่มทุนใหญ่ประมาณ 10 กลุ่มเท่านั้น นโยบายและผลประโยชน์ทับซ้อนเหล่านี้ = รัฐทหารสมคบคิดกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดประเทศไทย? อ้างความมั่นคงกอบโกยทรัพยากรและส่วนต่างจากคนส่วนใหญ่? นอกจากนี้ ยังพบว่าโครงการไทยยั่งยืนฯ มีการใช้จ่ายงบประมาณส่อไปในทางทุจริต เนื่องจากหลายโครงการไม่มีแผนการใช้งบประมาณที่ชัดเจน

2.รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 อย่างเคร่งครัด ขจัดปัญหาทุนผูกขาดเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้ธุรกิจรายย่อยได้แข่งขันกันเติบโตและลืมตาอ้าปากได้ โดยใช้แก้ไขปัญหาการผูกขาดทางการค้าของกลุ่มทุนที่ผูกขาดตลาดเกิน 33% (หรือหนึ่งในสาม) อย่างเคร่งครัดและนำไปสู่การสั่งฟ้องเอกชนทุกคดีที่ทำผิดกฎหมาย เศรษฐกิจประเทศไทยไม่สามารถให้กลุ่มทุนใดผูกขาดตลาดได้เนื่องจากทรัพยากรมีจำนวนจำกัด ที่ผ่านมามีคดีร้องเรียนคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามากกว่า 75 คดี แต่คณะกรรมการชุดเก่าไม่เคยสั่งฟ้องคดีเลยเพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคมไทย ส่วนรัฐวิสาหกิจไทย รัฐบาลต้องแยกรัฐวิสาหกิจที่ต้องเป็นของรัฐ 100% ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงพื้นฐานและบริการสาธารณะ เช่น น้ำ ไฟฟ้า พลังงาน และระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ ส่วนกิจการที่รัฐไม่ควรเข้าไปแข่งขันกับเอกชนก็ยกเลิกไป

3.ยุบคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่หมดสมัยและไร้ประโยชน์ไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุผลสมควรมีหน่วยงานนี้แล้วสำหรับนโยบายทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีการแข่งขันเสรี และยุตินโยบายที่เอื้อนายทุนต่างชาติเข้ามาหาผลประโยชน์ในประเทศโดยงดเว้นภาษีต่างๆ และให้เช่าที่ดินได้ 99 ปีในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นการยกอาณาเขตให้เช่าเหมือนกรณีเกาะฮ่องกง ที่เลวร้ายที่สุดคือ คณะกรรมการสามารถใช้อำนาจให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินในพื้นที่ EEC แก่ต่างชาติเป็นเจ้าของ ตามมาตรา 27 พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2560 ที่ระบุว่า “ผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามจำนวนที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร แม้ว่าจะเกินกำหนดที่จะพึงมีได้ตามกฎหมายอื่น ในกรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดินเลิกกิจการที่ได้รับการส่งเสริมหรือโอนกิจการนั้นให้แก่ผู้อื่น ผู้ได้รับการส่งเสริมต้องจำหน่ายที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เลิกหรือโอนกิจการ”= ไม่ต่างจากการขายชาติ-ขายแผ่นดินให้ต่างชาติยึดครอง ประเทศและประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายดังกล่าว นอกจากกลุ่มคนบางกลุ่มที่อาจได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเข้ากระเป๋าตนเอง

4.รัฐบาลต้องออกนโยบายทางการเงินทางการธนาคารเพื่อแก้ปัญหาการขูดรีดประชาชนโดนระบบอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยที่สูงมาก โดยลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากในระบบธนาคารของประเทศไทยที่สูงถึงกว่า 5-6 เท่า มากที่สุดในเอเชียและมากกว่าหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่มาเลเซียมีอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยแค่ 1.5% อินโดนีเซีย 4.3% ออสเตรเลีย 3.3% และจีน 2.9% เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจภายใน ที่นายทุนการเงินการธนาคารเอาเปรียบขูดรีดมูลค่าส่วนเกินอย่างรุนแรงกับประชาชนคนชั้นกลางชั้นล่าง ตลอดจนกลุ่มธุรกิจรายย่อย SMEs ขณะที่กลุ่มทุนใหญ่สามารถเจรจาลดอัตราดอกเบี้ยได้

5.รัฐบาลต้องออกกฎหมายเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า ไม่ใช่คิดขึ้นภาษีทางอ้อมหรือภาษีมูลค่าเพิ่มกับประชาชน นำไปสู่การปฏิรูปที่ดินทั้งระบบไม่ให้กลุ่มทุนถือครองที่ดินจำนวนมาก จนเกิดปัญหาเกษตรถูกยึดที่ดินเพราะปัญหาหนี้สินในระบบ-นอกระบบ ซึ่งสามารถทำให้รัฐมีงบประมาณในการสร้างรัฐสวัสดิการ โดยการออกกฎหมายให้มีการปฏิรูประบบภาษีทั้งระบบ โดยให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน และภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า 

(ทั้งนี้ ปัจจุบันเราเสียภาษีทางอ้อมกว่า 70% และเสียภาษีทางตรงเพียง 30% ทำให้โครงสร้างภาษีไม่มีความเป็นธรรม ภาษีทางอ้อมนั้นเก็บผ่านฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษี ภาษีทางตรงคือภาษีรายได้และนิติบุคคล ที่ปัจจุบันรัฐบาลได้ลดภาระทางภาษีลง แต่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐ ทรัพย์สินและรายได้ของบุคคลที่สั่งสมเพิ่มขึ้นจากการรีดมูลค่าจากคนสังคม สมควรแบ่งปันคืนสู่สังคม โดยให้รัฐจัดการในส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาสังคม สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ความสะดวกปลอดภัยของชีวิตตลอดจนคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีจากรัฐ พลเมืองในยุโรป โดยเฉพาะประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ยินดีจ่ายภาษีส่วนเกินนี้คืนให้รัฐในอัตราที่สูงในอัตราก้าวหน้าจากทรัพย์สินและรายได้ที่งอกเงย เพราะแต่ละคนก็เอาประโยชน์ที่งอกเงยนั้นมาจากสังคมไม่เท่ากัน ความเป็นธรรมจึงเกิดขึ้นจากโครงสร้างภาษีที่เป็นธรรมนี้ และรัฐบาลก็นำภาษีที่เก็บได้มาพัฒนาสังคม จนผลิตผลของทรัพย์สิน ที่ดินและมูลค่าของการลงทุนต่างๆ งอกเงยขึ้นมาเป็นดอกผลตอบแทนคืนสู่พลเมืองอีกระลอกหนึ่ง ดังนั้น ภาษีทรัพย์สิน คือภาษีทางตรงที่เราจ่ายให้แก่รัฐและสังคมระหว่างที่มีชีวิตอยู่ และภาษีมรดกคือการจ่ายส่วนเกินที่ปลายทางนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ควรมีนโยบายการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า ทั้งจากสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์เหมือนภาษีทรัพย์สินในต่างประเทศ ไม่ใช่จากอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียวตามที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระยะยาว)

6.เปิดเสรีพรรคการเมืองในระบบรัฐสภาสนับสนุนการปฏิรูปสังคมใหม่อย่างสันติผ่านระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย ที่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองที่หลากหลายทางอุดมการณ์ ไม่ว่าจะทุนนิยม เสรีนิยม สังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ จะใช้ระบบเสรี ระบบสหกรณ์ รัฐสวัสดิการ หรือสังคมนิยมประชาธิปไตย ก็แล้วแต่นโยบายพรรคการเมืองเพื่อต่อสู้กันทางการเมืองในระบบรัฐสภา และสนับสนุนประชาชนในการเสนอทางเลือกใหม่ที่ไปมากกว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตย 2 กระแสในปัจจุบันไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยที่เน้นสังคม หรือ สังคมประชาธิปไตย ที่สนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ สังคม และเป็นทางออกจากวิกฤติความขัดแย้งในปัจจุบัน

7.หยุดทหารการเมือง มีแต่ทหารอาชีพ ให้กองทัพบกนำทหารที่เข้ามาช่วยเหลือ คสช. กลับเข้ากรมกอง ไม่ต้องมารับใช้รัฐบาลเฉพาะกาล เอาทหารออกจากระบบการเมือง เพื่อไม่ให้มีทหารการเมือง มีแต่ทหารอาชีพที่มีเกียรติ และให้ทหารที่ไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจกว่า 40 แห่งยุติการปฏิบัติหน้าที่และลาออกมา ส่วนอดีตทหารที่อยากเป็นนักการเมืองก็สมัครเข้าระบบพรรคการเมืองได้ตามระบบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อสร้างสมดุลทางการเมืองไทยเพราะปัจจุบัน รัฐบาล คสช. พยายามใช้กองทัพเป็นพรรคทหาร เล่นการเมืองอย่างเต็มตัว การใช้กองทัพเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายใน เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และนำมาสู่ความขัดแย้งของพลเมืองในปัจจุบัน

8.เร่งสร้างการปรองดองของคนในชาติก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมี แม้เป็นหนึ่งในข้ออ้างในการยึดอำนาจของ คสช. แต่กว่า 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลก็เพิกเฉยไม่ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งข้อเสนอที่ “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)”เคยทำการศึกษาและเสนอต่อรัฐบาล ล้วนสามารถนำมาปฏิบัติได้เลย โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดที่ยังติดคุกอยู่และกำลังจะติดคุกด้วยข้อหาทางการเมืองไม่ใช่คดีอาญาฆ่าคนตายโดยเจตนา ตามหลักการเรื่องการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ควรใช้หลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) และกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการตั้งข้อหาต่อผู้กระทำผิด รัฐสามารถทำได้ทันทีโดยการถอนฟ้องข้อหาทางการเมือง เช่น ข้อหาก่อการร้าย ข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง เป็นต้น และสร้างบรรทัดฐานในกระบวนการยุติธรรมขึ้นมาเป็นหลักประกันทางสังคม

9.รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้โดยการกระจายอำนาจการปกครอง นอกจากการแยกระบบบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เป็นอิสระออกจากกันและถ่วงดุลกันแล้ว การยกเลิกระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและระบบราชการแบบขึ้นอยู่กับ “กรม” แบบเก่าเป็นเรื่องจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน การเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเป็นโอกาสการพัฒนาของประเทศไทย รวมถึงการกระจายอำนาจตำรวจให้ขึ้นกับจังหวัดด้วย

10.เร่งแก้ปัญหาการฉ้อราษฎร์-บังหลวง และคืนอำนาจให้ประชาชน เนื่องจากรัฐบาล คสช. บริหารราชการแผ่นดินมาจะครบ 4 ปีตามธรรมเนียมการปกครองและประเพณีปฏิบัติตามสมัย จะต้องไม่สืบทอดอำนาจหรือยืดเวลาออกไปอีกต่อไป ปัจจุบันปัญหาการประพฤติมิชอบ ทุจริตคอร์รัปชั่น และการฉ้อราษฎร์-บังหลวง ในระบบราชการและในรัฐบาล คสช. เพิ่มสูงขึ้นมากและมีเรื่องฉ้อฉลออกมาอย่างต่อเนื่อง ราวกับรัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเอง เช่น การซื้อขายอาวุธของกองทัพ, ทรัพย์สินนอกบัญชีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี การรับเหมาและจัดซื้อจัดจ้างภายในกระทรวงมหาดไทย ในยุค พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นต้น การโกงเงินคนจน ขณะที่กลุ่มทุนใหญ่ได้ประโยชน์ในระบบผูกขาดที่ไม่ต้องแข่งขัน งบประมาณของรัฐบาลในโครงการต่างๆ ก็ไม่มีรายละเอียดชัดเจนในการใช้ มีการตั้งงบประมาณแบบเบี้ยหัวแตกกว่า 1.5 แสนล้าน และการตั้งงบลอยบางโครงการหลายหมื่นล้าน และการงดเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ในหลายโครงการจนมูลค่าการคอร์รัปชั่นน่าจะสูงมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องจัดทำระบบจัดซื้อจัดจ้างและสัญญาต่างๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ยึดอำนาจการปกครองประเทศมาเป็นปีที่ 4 เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมือง สร้างความปรองดองให้ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี และเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกฝ่าย

แต่ผ่านไป 4 ปี รัฐบาลเฉพาะกาลกลับสอบไม่ผ่านในการทำหน้าที่ดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลทหารมีความสามารถในการทำหน้าที่รักษาความสงบได้ในระยะสั้นเท่านั้น แต่ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินในระยะยาวได้ หากเป็นรัฐบาลพลเรือนก็สมควรยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ในรัฐบาลเผด็จการทหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมควรพิจารณาตัวเองลาออกจากตำแหน่ง ยุติการพยายามสืบทอดอำนาจ และกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้ให้ชัดเจน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net