Skip to main content
sharethis

สธ. ให้นำแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนออนไลน์ตรวจสุขภาพ 30 มิ.ย. 2561

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลในการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวเมียนมา กัมพูชาและลาว สธ.ดูแลทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่แรงงานต่างด้าวที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เพื่อให้แรงงานต่างด้าวมีหลักประกันสุขภาพ จึงร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (One Stop Service) ตั้งแต่ 5 กุมภาพันธ์ – 31 มีนาคม 2561 ตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวแล้ว 909,448 คน และขึ้นทะเบียนออนไลน์อีกประมาณ 190,056 คน จากที่คาดการณ์ว่ามีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติในไทย 1.1 ล้านคน

นพ.เจษฎากล่าวว่า ขอให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนออนไลน์ไว้แล้วมารับการตรวจสุขภาพ ภายใน 30 มิถุนายน 2561 ที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในจังหวัดที่ตั้งสถานประกอบการ ส่วนในกทม. ตรวจได้ที่โรงพยาบาลรัฐ 12 แห่ง เพื่อให้แรงงานต่างด้าวมีหลักประกันสุขภาพ ได้รับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อที่เป็นอันตราย และรับการรักษา ทั้งนี้ หากตรวจพบโรคต้องห้ามในการทำงาน อาทิ โรคซิฟิลิสระยะที่ 3 วัณโรคระยะแพร่เชื้อ ติดสารเสพติด จิตฟั่นเฟือน จะประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ให้ส่งกลับประเทศ

ที่มา: สปริงนิวส์, 14/4/2561

ไตรมาส 1 ผู้ประกันตนโทรสอบถามศูนย์บริการข้อมูลประกันสังคม 1506 กว่า 7.4 แสนครั้ง

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่าการดำเนินงานการให้บริการศูนย์บริการข้อมูลทางโทรศัพท์ 1506 ช่วงไตรมาสแรกปี 2561 (ม.ค. – มี.ค.) ที่ผ่านมา มีจำนวนลูกจ้าง ผู้ประกันตน โทรสอบถามข้อมูลสูงถึง 741,848 คู่สาย โดย 5 ลำดับแรกที่มีผู้สอบถามข้อมูลสูงสุด ได้แก่

1. ตรวจสอบสิทธิของตนเอง จำนวน 331,526 เรื่อง
2. สิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม จำนวน 234,838 เรื่อง
3. การสมัครและการส่งเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 90,784 เรื่อง
4. การเลือกสถานพยาบาล/การเปลี่ยนสถานพยาบาล จำนวน 49,007 เรื่อง
5. มาตรา 40 สำหรับผู้ที่เป็นผู้ประกันตน จำนวน 25,869 เรื่อง

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้จัดเจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อคอยให้คำปรึกษาและบริการข้อสอบถาม ผ่านทางโทรศัพท์พูดคุยกับเจ้าหน้าที่โดยตรง ซึ่งในกรณีผู้ประกันตนเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือประสบอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางในช่วงเทศกาลวันหยุดดังกล่าว ลูกจ้าง ผู้ประกันตน สามารถเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ทันที โดยสำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ภายใน 72 ชั่วโมง ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนด

เลขาธิการ สปส.กล่าวอีกว่า จากผลสำรวจความพึงพอใจการให้บริการ ผู้ประกันตนพอใจการให้บริการร้อยละ 90 ส่วนใหญ่ผู้ประกันตนสอบถามตรวจสอบสิทธิตนเองมากที่สุด โดยไตรมาสแรกปี 2561 (ม.ค. – มี.ค.) มีผู้สอบถามข้อมูลแล้วจำนวน 741,848 ครั้ง

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 12/4/2561

องค์กรลูกจ้างจ่อชงรัฐ 5 ข้อ ยกเครื่อง ‘ระบบแรงงาน’ ลั่นไม่ทำส่งต่อพรรคการเมือง

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) เปิดเผยว่า วันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ถือว่าเป็นวันสำคัญของผู้ใช้แรงงาน และปีนี้หลังเสร็จสิ้นเทศกาลสงกรานต์ สพท.เตรียมจะเสนอนโยบายด้านแรงงานต่อรัฐบาล เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม แต่หากยังไม่เป็นผลจะนำข้อเสนอเดียวกันนี้เสนอต่อพรรคการเมืองให้จัดทำเป็นนโยบายหากได้รับเลือกตั้งต่อไป

นายมนัส กล่าวว่าสำหรับข้อเสนอ คือ 1.ต้องปฏิรูประบบประกันสังคม เป็นประกันสังคมแบบถ้วนหน้าที่ครอบคลุมคนทำงาน และคนที่มีรายได้อายุ 15 ปีขึ้นไป มีหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการและประกาศเป็นวาระแห่งชาติ โดยปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคมที่มีอยู่แล้วให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้คนทำงานและคนที่มีรายได้จำนวนประมาณ 45 ล้านคน มีหลักประกันทางสังคม ทั้งในระหว่างทำงานและเมื่อเกษียณอายุจากการทำงาน สร้างเสริมการมีส่วนร่วม และส่งเสริมการออมเพื่อลดภาระการคลังของประเทศทั้งปัจจุบันและอนาคตที่จะเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2563 ที่คาดว่าจะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 20 นอกจากนี้ ให้มีการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมที่เป็นอิสระจากการถูกแทรกแซงจากการเมืองและภาครัฐ มีส่วนร่วม โปร่งใส ตรวจสอบได้

2.รัฐต้องจัดให้มีการส่งเสริมด้านแรงงานสัมพันธ์ทุกมิติ เพื่อเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจแรงงาน และทุกๆ ด้านที่เกี่ยวกับการจ้างงานทุกภาคส่วน เพื่อลดความขัดแย้งด้านแรงงาน และเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และลูกจ้างด้วยกัน ส่งเสริมให้มีการรวมตัวจัดตั้งองค์กรของแรงงานเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันทุกภาคี เพื่อให้เกิดมิติใหม่ในการจ้างงาน เพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องและรองรับอุตสาหกรรมในยุค 4.0

3.จัดตั้งกองทุนประกันความมั่นคงในการทำงาน เช่น ว่างงาน สนับสนุนสถานประกอบการ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ชดเชยจากการเลิกจ้าง เป็นต้น โดยออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบรวมกองทุนใหม่ ซึ่งมีกองทุนเดิมอยู่แล้ว คือ กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กองทุนคุ้มครองคนหางาน และกองทุนประกันสังคม เฉพาะกรณีว่างงาน ทั้งนี้ เพื่อลดอัตราการว่างงานและชะลอการเลิกจ้าง

"ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของแรงงานและสถานประกอบการ อีกทั้งเพื่อให้เกิดระบบการบริหารจัดการแบบบูรณการในเรื่องงบประมาณและกลไกการบริหารจัดการ และแรงงานมีหลักประกันในเรื่องค่าชดเชยและความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง การปิดกิจการของสถานประกอบการ" นายมนัส กล่าว

นายมนัส กล่าวว่า 4.บูรณการกองทุนสุขภาพ 3 กองทุน คือ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนประกันสังคม ให้ระบบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคพื้นฐานอยู่มาตรฐานเดียวกันและเข้าถึงสิทธิเท่าเทียมกัน และ 5.ค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามกลไกของสภาวะเศรษฐกิจ และเป็นค่าจ้างแรกเข้าให้มีโครงสร้างปรับค่าจ้างประจำตามประเภทกิจการ สาขาอาชีพ และทักษะฝีมือแรงงาน

ที่มา: มติชน, 11/4/2561

คปภ.หนุนนายจ้าง ประกันอุบัติเหตุแรงงานต่างด้าว

เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. สุทธิพล ทวีชัยการ ระบุหลังช่วงสงกรานต์ คปภ.มีแผนจัดทำความร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน เพื่อรณรงค์ให้นายจ้างทำประกันภัยอุบัติเหตุให้กับลูกจ้าง โดยเฉพาะลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าว

ส่วนกรณีอุบัติเหตุรถโดยสารแรงงานต่างด้าวที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากนั้น แรงงานต่างด้าวที่ประสบเหตุจะได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. รถยนต์ คือ ประกันรถยนต์ภาคบังคับ และประกันอุบัติเหตุหรือประกันชีวิตที่นายจ้างซื้อให้แรงงานต่างด้าว โดยได้รับสินไหมทดแทนเท่าเทียมกับคนไทย โดยประกัน พ.ร.บ.จะได้รับ 3 แสนบาท กรณีเสียชีวิต และ 8 หมื่นบาทกรณีได้รับบาดเจ็บ โดยจะเยียวยาให้เร็วที่สุด

ที่มา: Nation TV, 11/4/2561

“Labour Voices by LPN” แนวทางความร่วมมือเอกชน-NGO จัดการแรงงานที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน

มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เดินหน้าอบรมสร้างเสริมความรู้ด้านสิทธิแรงงานแก่แรงงานในโรงงานแปรรูปอาหารของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ย้ำ ศูนย์รับเรื่องพนักงาน “Labour Voices by LPN” ช่วยให้แรงงานทุกคนมีความเข้าใจเรื่องสิทธิแรงงาน  และเชื่อมั่นในการสื่อสารกับบริษัทมากขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นการขยายเครือข่ายจัดการปัญหาแรงงานที่มีประสิทธิภาพ

นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า การรับฟังเสียงพนักงานผ่านองค์กรที่เป็นกลาง กำลังเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมาก เป็นระบบการสื่อสารระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่โปร่งใส และสร้างความเป็นธรรมแก่กลุ่มแรงงาน มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก ทั้งนี้  มูลนิธิฯ ได้ร่วมมือกับ ซีพีเอฟ เพื่อแบ่งปันความชำนาญและเครือข่ายในการบริหารจัดการแรงงานในห่วงโซ่การผลิตอาหารของไทยเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ความโปร่งใส เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยการเปิดช่องทางรับฟังเสียงพนักงาน “Labour Voices by LPN” ตั้งแต่ปลายปี 2560 และจากการติดตามประเมินผลพบว่าพนักงานซีพีเอฟ โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมีความพึงพอใจและสะดวกใจที่จะพูดคุยสื่อสารอย่างเป็นอิสระ  พร้อมได้รับคำแนะนำอย่างเป็นระบบจากหน่วยงานที่เป็นกลางไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ช่วยให้แรงงานเป็นเครือข่ายในการป้องกันปัญหาแรงงานได้อย่างเข็มแข็ง

“ต้นแบบของความร่วมมือระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และภาคเอกชน ในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานไทยและต่างชาติ  สร้างการแข่งขันของการผลิตอาหารของไทย ควบคู่ช่วยป้องกันปัญหาด้านแรงงานในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน” นายสมพงค์ กล่าว

มูลนิธิ LPN นำประสบการณ์และความชำนาญในการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือปัญหาด้านแรงงานต่างชาติที่มูลนิธิดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2548 มาช่วยสนับสนุนการดูแลและการปฎิบัติต่อแรงงานของ ซีพีเอฟ ที่มีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่ในภาคการผลิตกว่า 10,000 คน ซึ่งเป็นประโยชน์แก่องค์กรในการจัดการปัญหาและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานของบริษัท รวมถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การบริหารจัดการแรงงานของประเทศที่ยั่งยืน

นายสมพงค์ กล่าวต่ออีกว่า “Labour Voices by LPN” เป็นช่องทางการสื่อสารที่เป็นอิสระจากนายจ้าง ที่ไม่เพียงช่วยให้ธุรกิจได้รับรู้ประเด็นปัญหาและข้อกังวลของแรงงานเพื่อให้มีการแก้ไขและปรับปรุงการดูแลแรงงานได้อย่างเหมาะสมและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกัน นับเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของภูมิภาคอาเซียน สร้างผลบวกต่อประสิทธิภาพการผลิต และช่วยขยายเครือข่ายในการช่วยจัดการและป้องกันปัญหาแรงงานภายในองค์กรและสังคมเป็นอย่างรูปธรรมมากอีกทางหนึ่ง นับตั้งแต่การเปิดช่องทางรับฟังเสียงพนักงาน มูลนิธิ LPN ยังได้เดินสายให้ความรู้ส่งเสริมเรื่องสิทธิแรงงานแก่พนักงานของซีพีเอฟในโรงงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

นายวรรณะ เมย์ ชาวกัมพูชา รับผิดชอบเป็นล่ามกัมพูชาของโรงงานแปรรูปไก่นครราชสีมา หนึ่งในสถานประกอบการของซีพีเอฟ ที่มีการจัดจ้างแรงงานกัมพูชาประมาณ 4,000 คน กล่าวว่า แรงงานทุกคนรับรู้ช่องทาง “Labour Voices by LPN” มีเจ้าหน้าที่ LPN ที่พูดภาษากัมพูชาและเมียนมาได้ คอยรับฟังการแจ้งเรื่องราวกัมพูชา     ทุกคนดีใจสามารถพูดคุยสื่อสารกับคนที่เป็นภาษาเดียวกันได้ ช่วยให้ทุกคนได้รับรู้และเข้าใจถึงสถานการณ์แรงงานในประเทศไทยและในอาเซียนมากขึ้น และนำความรู้ไปสื่อสารกับคนรู้จักหรือเพื่อนบ้านที่ต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทย ได้ระมัดระวังการถูกหลอกลวงมาใช้แรงงานทาส แรงงานผิดกฎหมาย และแรงงานเด็ก รวมถึงยังเป็นหูเป็นตาช่วยให้ภาครัฐเข้าไปให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

“Labour Voice by LPN ได้ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้แรงงานต่างชาติได้รับรู้ข่าวสารแรงงานมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้แรงงานเป็นอีกพลังที่จะเข้ามาแก้ไขและป้องกันความเสี่ยงด้านแรงงานในภูมิภาคอาเซียนได้” นายวรรณะกล่าว

ขณะที่ นายซอ มิน ไท พนักงานชาวเมียนมาทำงานที่โรงงานแปรรูปไก่ มีนบุรี ซีพีเอฟ กล่าวว่า แม้ว่าพนักงานซีพีเอฟทุกคนมีความรู้เรื่องสิทธิแรงงานจากการอบรมของบริษัทอยู่แล้ว และมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำตลอดเวลาอยู่แล้ว สำหรับความรู้จากมูลนิธิ LPN ช่วยให้เพื่อนพนักงานที่โรงงานเข้าใจเรื่องสิทธิแรงงานมากยิ่งขึ้น และทำให้มั่นใจว่าบริษัทได้ดำเนินการเกี่ยวกับแรงงานอย่างโปร่งใส

เช่นเดียวกับ นางสาวตาน ตาน มน พนักงานชาวเมียนมา ที่อยู่โรงงานแปรรูปไก่ มีนบุรี กล่าวว่า ดีใจที่บริษัทให้ความสำคัญกับพนักงานทุกเชื้อชาติอย่างเท่าเทียมกัน ศูนย์ Labour Voice by LPN ช่วยให้แรงงานซีพีเอฟได้มีความมั่นใจในรับทราบข่าวสารและได้สื่อสารในสิ่งที่ตนเองคิดและต้องการแนะนำให้บริษัทนำไปพัฒนาเพื่อสิ่งที่ดีกับเพื่อนพนักงานทุกคน

นางสาว ตาน ตาน ยังบอกต่ออีกว่า เพื่อนพนักงานทุกคนบันทึกเบอร์โทรศัพท์ของศูนย์ Labour Voice by LPN ไว้กับตัวเพื่อใช้คุยปรึกษาเรื่องต่างๆ และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและแนะนำเพื่อนแรงงานเมียนมาที่ทำงานในประเทศไทยได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน

ที่มา: บางกอกทูเดย์, 11/4/2561

รองนายกฯแจงให้ข้าราชการเกษียณ 63 ปี ยังไม่มีผล เป็นแค่ประกาศแผนปฏิรูป ยังต้องศึกษา

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่แผนการปฏิรูปประเทศกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาถึงการยืดการเกษียณอายุราชการจาก 60 ปีเป็น 63 ปี ว่า ยังไม่มีผลบังคับใช้ว่าข้าราชการจะต้องเกษียณอายุราชการในอายุ 63 ปี เพราะเป็นเพียงการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ โดยเมื่อประกาศใช้แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ แต่ไม่มีกำหนดเวลาว่าจะต้องใช้เวลาศึกษานานเพียงใด และกรอบเวลาที่กำหนดในแผนปฏิรูปก็สามารถพิจารณาทบทวนได้ ซึ่งการศึกษานั้นสามารถเปลี่ยนแปลงและยืดหยุ่นได้ โดยในแผนการปฏิรูป มุ่งเน้นให้พิจารณาในตำแหน่งที่มีความสำคัญก่อน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 10/4/2561

บัสขนแรงงานแหกโค้งดอยรวก ตาย 8 เจ็บ 30

(10 เม.ย. 2561) เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุรถทัวร์โดยสารแบบไม่ประจำทาง 2 ชั้น ทะเบียน 33-5488 กทม. นำแรงงานชาวเมียนมาเดินทางมาจากอ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อไปต่อหนังสือเดินทางมุ่งหน้า อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เกิดเสียหลักตกข้างทางบนถนนสายแม่สอด-ตาก ที่กิโลเมตรที่ 68 ช่วงทางลงดอยรวก ต.แม่ท้อ อ.เมือง จ.ตาก  เบื้องต้นมีรายงานว่า มีผู้บาดเจ็บ 30  คนและเสียชีวิต 8 ราย  สาเหตุอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ที่มา: สปริงนิวส์, 10/4/2561

ก.ท่องเที่ยวพร้อมจ้างงาน ดูแลคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามนโยบายรัฐบาล

ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เผยส่งเสริมการจ้างงานคนพิการอย่างเท่าเทียม ภาครัฐและเอกชนมีส่วนร่วมดูแลคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยเฉพาะเรื่องการจ้างงานให้คนพิการมีโอกาสประกอบอาชีพสร้างรายได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกับคนอื่นไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากนโยบายดังกล่าว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีอัตราส่วนในการรับคนพิการเข้าทำงานได้ 37 อัตรา ซึ่งปัจจุบันมีคนพิการทำงานในกระทรวงฯ 9 คน ต้องสรรหาเพิ่มอีก 28 คน ทั้งนี้ กระทรวงฯ มีการจัดสรรอัตราการจ้างงานเพิ่มทั้งในส่วนกลางและหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตำแหน่งจ้างเหมา 3 อัตรา กรมพลศึกษา ตำแหน่งพนักงานราชการ 1 อัตรา และให้สัมปทานพื้นที่ค้าขาย 1 อัตรา รวมเป็น 2 อัตรา กรมการท่องเที่ยว ตำแหน่งลูกจ้างเหมา 1 อัตรา สถาบันการพลศึกษา ตำแหน่งลูกจ้างเหมา 10 อัตรา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตำแหน่งพนักงานรัฐวิสาหกิจ 9 อัตรา และการกีฬาแห่งประเทศไทย ตำแหน่งพนักงานรัฐวิสาหกิจ 3 อัตรา

"หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมดูแลคุณภาพชีวิตของคนพิการ เป็นส่วนหนึ่งในการให้โอกาสสามารถประกอบอาชีพ สามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง ไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคมต่อไป" นายพงษ์ภาณุ กล่าว

ทั้งนี้ผู้พิการที่กำลังมองหางานสามารถดูข้อมูลที่ กองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ โทร 0 2356 0693 หรือ www.mots.go.th และหากต้องการร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือเรื่องการจ้างงานสามารถติดต่อศูนย์บริการคนพิการ โทร. 0 2354 4542 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 10/4/2561

กพร. กระทรวงแรงงาน ติวเข้ม-ทดสอบผู้ต้องขัง รับค่าจ้างตามทักษะ พลิกชีวิตเป็นคนดีให้สังคม

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าจากการที่กพร. ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับกรมการจัดหางาน กรมราชทัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตาม"โครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง"จำนวนกว่า 37,000 คนนั้น พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้กพร. เร่งประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการร่วมมือกันแนวประชารัฐให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างโอกาสและคุณภาพที่ดีให้แก่ผู้ต้องขัง โดยผ่านกระบวนการฝึกอบรมวิชาชีพ จริยธรรม ให้โอกาสกับผู้เคยกระทำผิดปรับปรุงตนเอง เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ย้ำอีกว่าต้องการให้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่ผู้ต้องขังด้วย เพื่อวัดระดับทักษะฝีมือ แก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง และที่สำคัญเป็นการสร้างชีวิตใหม่หลังพ้นโทษ นอกจากนี้ยังให้เร่งจัดทำโครงการโรงงานในเรือนจำเพิ่มขึ้น เพิ่มช่องทางในการมีงานทำ ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมสอดคล้องกับทักษะฝีมือ จะสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมาจึงมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ ประสานความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ จัดฝึกอบรมและทดสอบฯ ในเรือนจำและทัณฑสถานในจังหวัดต่างๆ

นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา กล่าวต่อไปว่าเมื่อเร็วๆ นี้สนพ.พะเยาใช้แนวทางประชารัฐร่วมกับ เรือนจำจังหวัดพะเยา เปิดการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไม้ก่อสร้าง ระดับ 1 ให้กับผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ ซึ่งเคยผ่านการฝึกอบรมในสาขาดังกล่าว จำนวน 45 คน โดยทุกคนมีความตั้งใจเป็นอย่างมากในการทดสอบฯ เพราะเป็นสาขาที่ได้รับการประกาศค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ หากผ่านการทดสอบฯ ระดับ 1 ได้รับค่าจ้างวันละ 385 บาท ซึ่งสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดพะเยาที่กำหนดไว้เพียง 315 บาทเท่านั้น ส่วนระดับ 2 วันละ 469 บาท และระดับ 3 วันละ 605 บาท

"โดยสนพ.พะเยาจะส่งรายชื่อผู้ผ่านทดสอบฯ ให้กับสำนักงานจัดหางานจังหวัดพะเยา หอการค้าจังหวัดพะเยา และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพะเยา เพื่อช่วยจับคู่แรงงานกับสถานประกอบการกิจการที่มีความต้องการจะจ้างช่างไม้ก่อสร้างที่ฝีมือดี มีมาตรฐานเข้าทำงานด้วย อันจะเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งฝ่ายนายจ้าง จะได้รับผลงานที่ดี มีมาตรฐาน ช่วยลดอัตราความเสียหาย อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ และการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ภาคก่อสร้างเน้นความปลอดภัยเป็นอย่างมาก ขณะที่ผู้ต้องขังที่พ้นโทษ จะได้รับการจ้างงาน มีงานทำ ได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าแรงงานทั่วไป จึงมีโอกาสเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ดีขึ้น เกิดความมั่นคงในชีวิต มีโอกาสกลับตัวกลับใจ เป็นคนดีของสังคม และจังหวัดพะเยาทดแทนต่อไป" ผู้อำนวยการสนพ.พะเยา กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 10/4/2561

กำชับพนักงานตรวจแรงงานประจำศูนย์ PIPO 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการตรวจแรงงานอย่างเคร่งครัด

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้จัดส่งพนักงานตรวจแรงงานไปประจำ ณ ศูนย์การแจ้งเรือเข้าออก (Port in – Port out) หรือ PIPO ซึ่งตั้งอยู่ใน 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล รวม 85 ศูนย์ ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในกิจการประมงทะเล ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองแรงงานให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงให้พนักงานตรวจแรงงานที่ประจำศูนย์ PIPO ทั้ง 85 ศูนย์

สามารถปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้กำชับให้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการตรวจแรงงานในกิจการประมงทะเล และต่อเนื่องประมงอย่างเคร่งครัด โดยมุ่งเน้นประเด็น 3 สำคัญคือ ต้องตรวจเอกสารประจำเรือทุกลำ อาทิ สัญญาจ้าง ทะเบียนลูกจ้าง หลักฐานการจ่ายค่าจ้าง เป็นต้น, การสัมภาษณ์นายจ้าง ลูกจ้าง จะต้องแยกสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง รวมทั้งตรวจสภาพความเป็นอยู่ในเรือด้วยว่ามีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล อาหาร น้ำ ยารักษาโรคเพียงพอหรือไม่

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้สังเกตรูปลักษณ์ของแรงงานด้วยหากสงสัยว่าอาจเป็นแรงงานเด็กให้ส่งตรวจมวลกระดูกทันที อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า นอกจากการตรวจคุ้มครองแรงงานแล้ว กสร. ยังได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงานประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานให้กับนายจ้าง ลูกจ้างในกิจการประมงทะเลด้วย เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้เข้าใจในหลักการที่ถูกต้อง รวมถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย และปฏิบัติตามให้สอดคล้องกับกฎหมาย เป็นเรือประมงที่มีการใช้แรงงานที่ถูกต้อง เพื่อให้ประเทศไทยปลอดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 9/4/2561

'แบงก์ชาติ' เตือนแรงงาน 3 ล้านคน 'สายการผลิต-คิดเงิน' เสี่ยงสูงตกงาน เหตุนายจ้างหันมาใช้หุ่นยนต์แทน

9 เม.ย. 2561 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ศึกษาถึงผลกระทบการนำหุ่นยนต์มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมกับตลาดแรงงานในประเทศไทย ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่หุ่นยนต์กลับมีราคาถูกลง

โดยที่ผ่านมาพบว่าไทยมีการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมแล้ว 5-10 ปี และะมากเป็นอันดับ 10 ของโลกในอุตสาหกรรมรถยนต์ ยางและพลาสติกรวมถึงอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากค่าแรงสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นและเป็นงานต้องใช้ความแม่นยำและมีแนวโน้มจะใช้หุ่นยนต์แทนที่แรงงานมากขึ้นในระยะ2-3ปีข้างหน้าโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง 3 ล้านคนที่ทำงานในลักษณะซ้ำๆ เช่นสายการผลิต พนักงานคิดเงิน รวมถึงนักศึกษาจบใหม่สายสังคมศาสตร์มีโอกาสตกงานมากขึ้น

นางสาวนันทนิตย์ ทองศรี นักเศรษฐศาสตร์ สายนโนบายการเงิน ธปท.ระบุว่า จากการสอบถามผู้ประกอบการยังไม่มีการเลิกจ้างฉับพลัน เพราะการใช้หุ่นยนต์มีต้นทุนสูงและงานบริการหรือบางประเภทยังต้องใช้ทักษะแรงงานคน แต่ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าอาจเห็นการจ้างงานลดลงเรื่อยๆหรืออัตราการว่างงานสูงขึ้นและแรงงานมีรายได้ลดลง กระทบกำลังซื้อ หากไม่มีการปรับตัวเพิ่มทักษะให้สอดรับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่และความต้องการของตลาดแรงงาน

ที่มา: TNN, 9/4/2561

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net