Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ระบุยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในวันครบรอบ 4 ปี ที่ นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยง พอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ ถูกบังคับให้สูญหาย ขอดีเอสไออีกครั้งสืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ หลัง ‘ปฏิเสธ’ ที่จะรับเป็นคดีพิเศษ ชี้เสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการละเว้นการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษในไทย

ภาพครอบครัวของบิลลี่

16 เม.ย.2561 เนื่องวาระครบรอบ 4 ปีที่นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยง พอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ ถูกกระทำการที่มีลักษณะเป็นการบังคับให้สูญหายไป นั้น รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) ได้แถลงข้อเรียกร้องอีกครั้งต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ดำเนินการตามหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนเรื่องดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในปัจจุบันนั้นยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ทราบถึงชะตากรรมของบิลลี่และดีเอสไอก็ปฏิเสธไม่รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ

พอละจี นั้นได้มีผู้พบเห็นเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 ในขณะที่อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาที่บิลลี่ได้ถูกกระทำการในลักษณะการบังคับให้สูญหายไปนั้น บิลลี่ได้ทำงานกับชาวบ้านชนเผ่ากะเหรี่ยงและนักกิจกรรมในการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจากกรณีเหตุการณ์เผาบ้านและทรัพย์สินชาวบ้านในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อปี พ.ศ. 2553 และ 2554

“เหตุที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ถูกจัดตั้งขึ้นมานั้นก็เพื่อที่จะทำการสอบสวนคดีที่มีความซับซ้อนเฉกเช่นคดีในลักษณะนี้ที่ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอาจมีความเกี่ยวโยงกับการกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่อาจเรียกได้ว่าเป็นอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ” คิงสลี่ย์ แอ๊บบอต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโส ไอซีเจ กล่าว

“ถ้าดีเอสไอยังคง ‘ปฏิเสธ’ ที่จะรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษหลังจากที่การสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 4 ปีไม่ปรากฏให้เห็นว่ามีความก้าวหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ ดีเอสไออาจจะเสี่ยงต่อการถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการละเว้นการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษในประเทศไทย” ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโส ไอซีเจ กล่าว

ในสัปดาห์นี้ ภรรยาของบิลลี่ หรือ พิณนภา พฤกษาพรรณ ได้กล่าวกับไอซีเจว่า ครั้งสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่ได้ติดต่อมาเพื่อพูดคุยถึงเรื่องการสอบสวนคดีของบิลลี่กับเธอและครอบครัวนั้นได้ผ่านมาล่วงปีแล้ว

“ประเทศไทยมีหน้าที่อย่างชัดเจนที่จะต้องดำเนินการสอบสวนคดีของบิลลี่จนกว่าจะทราบถึงชะตากรรมและสถานที่อยู่ของบิลลี่ และยังต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่ากระบวนการสอบสวนและผลลัพธ์ที่ได้นั้นจะเป็นไปโดยโปร่งใส ซึ่งความโปร่งใสนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อครอบครัวของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสอบสวน” แอ๊บบอต กล่าว

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2560 ประเทศไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการ 18 คน รวมดีเอสไอ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายในการป้องกันการกระทำการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย และเพื่อที่จะสอบสวนรวมถึงเยียวยาชดเชยให้แก่ผู้เสียหายตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and Other, Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CAT) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - ICPPED)  ซึ่งประเทศไทยได้ทำการลงนามไว้ หากแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2560 คณะกรรมการได้กล่าวไว้ว่าจะดำเนินการพิจารณาคดีการบังคับบุคคลให้สูญหายไม่ว่าจะเป็นคดีที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน หรือคดีที่เกิดขึ้นใหม่ก็ตาม ทั้งนี้รวมไปถึงคดีของบิลลี่ด้วย

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการยังต้องแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของตนในการปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทย

“แม้ว่าการที่ประเทศไทยได้พยายามที่จะดำเนินคดีกับกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย และการบังคับบุคคลให้สูญหาย จะเป็นเรื่องหน้ายินดี แต่คณะกรรมการดังกล่าวก็ไม่ควรที่จะถูกมองว่าจะมาแทนที่การกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นอาชญากรรมในกฎหมายภายในประเทศของไทย” แอ๊บบอต กล่าว

ความเป็นมา

รายงานข่าวระบุถึงความเป็นมาด้วยว่า นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 เป็นต้นมา ไอซีเจได้ดำเนินการเรียกร้องให้ดีเอสไอรับคดีดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษมาโดยตลอด

เมื่อเดือน มกราคม 2560 สามปีภายหลังจากที่บิลลี่ถูกกระทำการที่มีลักษณะเป็นการบังคับให้สูญหาย ดีเอสไอได้ปฏิเสธที่จะรับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษตามที่พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ ร้องขอ โดยอ้างถึงเหตุผลสามประการ ได้แก่ การสืบสวนยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ อีกทั้งยังให้เหตุผลว่าภรรยาของบิลลี่เองนั้นไม่มีสิทธิในการยื่นเรื่องร้องเรียนเนื่องจากว่าไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรสกับบิลลี่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการสอบสวนของดีเอสไออาจจะกระทำได้หากมีการพบเจอร่างของบิลลี่เท่านั้น

รัฐบาลไทยได้ส่งสัญญาณว่าตนตระหนักได้ถึงความรุนแรงของอาชญากรรมการบังคับบุคคลให้สูญหาย และแสดงเจตจำนงที่จะต่อต้านอาชญากรรมดังกล่าวด้วยการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

อนุสัญญาฯ ดังกล่าวได้ยืนยันถึงสิทธิโดยเด็ดขาดที่บุคคลจะไม่ถูกบังคับให้สูญหาย และกำหนดให้รัฐมีพันธกรณีในการที่จะต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนการกระทำที่เป็นการบังคับบุคคลให้สูญหายและกำหนดให้อาชญากรรมดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษที่เหมาะสมกับ “ความร้ายแรงอย่างยิ่ง” ของอาชญากรรมการบังคับบุคคลให้สูญหาย และจะต้องกระทำการที่จำเป็นต่างๆเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาสู่กระบวนการยุติธรรม

ดีเอสไอนั้นถูกจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งรวมถึงคดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ คดีความผิดทางอาญาที่เป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม และคดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน

ในขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการร่างกฎหมายภายในประเทศที่จะกำหนดให้การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นอาชญากรรม แต่ว่ากระบวนการดังกล่าวกลับมีความล่าช้า โดยในขณะนี้ กระทรวงยุติธรรมของประเทศไทยกำลังดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (‘ร่างพระราชบัญญัติ’) เป็นรอบที่สอง

ไอซีเจกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าร่างพระราชบัญญัติที่มีเนื้อหาตามที่ปรากฏในปัจจุบัน รวมถึงที่ถูกแก้ไขปรับปรุงในฉบับลงวันที่ 6 มี.ค. 2561 หากนำมาบังคับใช้แล้วจะทำให้ประเทศไทยล้มเหลวในการบัญญัติกฎหมายที่สะท้อนถึงพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2560 ประเทศไทยได้กล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่า“ได้มีความพยายามที่จะโอนย้ายคดี (ของบิลลี่) จากพนักงานสอบสวนในระดับท้องถิ่นมายังดีเอสไอ แต่ว่าทางดีเอสไอได้ปฏิเสธที่จะรับคดีดังกล่าวไว้ อย่างไรก็ดี ทางเอสไอก็จะยังให้ความช่วยเหลือในการติดตามค้นหาตัวบิลลี่และทำการสอบสวนในเบื้องต้นต่อไป”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net