Skip to main content
sharethis

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง "กําหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : ปลาร้า" หรือ "มกษ. 7023-2561" โดยนิยามปลาร้าว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักปลากับเกลือ แล้วเติมรำข้าว และ/หรือรำข้าวคั่ว และ/หรือข้าวคั่ว "มีลักษณะเป็นตัวหรือชิ้น เนื้อปลานุ่ม มีสีตามลักษณะปกติของผลิตภัณฑ์ มีกลิ่นรสที่ดีตามลักษณะเฉพาะ (characteristic) ของปลาร้า และอยู่ในภาชนะบรรจุที่สามารถป้องกันการปนเปื้อน" มีกลิ่นหอมตามลักษณะเฉพาะของปลาร้า ไมมีกลิ่นอื่นที่ไม่พึงประสงค์ มีปริมาณเกลือ (โซเดียมคลอไรด์) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 18 โดยน้ำหนัก

ที่มาของภาพ: เว็บไซต์ไทอีสานมักม่วน

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135 ตอนพิเศษ 87 ง วันที่ 17 เมษายน 2561เผยแพร่ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กําหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : ปลาร้า ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ระบุว่า "ด้วยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นสมควรกําหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ปลาร้า เป็นมาตรฐานทั่วไป ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตร ให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 มาตรา 15 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติ มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ประกอบมติคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ในการประชุม ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงออกประกาศกําหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : ปลาร้า มาตรฐานเลขที่ มกษ. 7023 - 2561 ไว้เป็น มาตรฐานทั่วไป ดังมีรายละเอียดแนบท้ายประกาศนี้

ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

โดยท้ายประกาศ ระบุวันที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ลงนามโดย ลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ในรายละเอียดของมาตรฐานสินค้าเกษตรปลาร้า (มกษ. 7023-2561) ระบุคำอธิบายผลิตภัณฑ์ว่า "ปลาร้า (Pla-ra, fermented fish, salt-fermented fish) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักปลากับเกลือ แล้วเติมรำข้าว และ/หรือรำข้าวคั่ว และ/หรือข้าวคั่ว มีลักษณะเป็นตัวหรือชิ้น เนื้อปลานุ่ม มีสีตามลักษณะปกติของผลิตภัณฑ์ มีกลิ่นรสที่ดีตามลักษณะเฉพาะ (characteristic) ของปลาร้า และอยู่ในภาชนะบรรจุที่สามารถป้องกันการปนเปื้อน"

โดยกำหนดคำอธิบายกระบวนการผลิตว่า "ปลาร้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำปลาที่ผ่านการขอดเกล็ด ควักไส้ (ยกเว้นปลาตัวเล็ก) มาหมักกับเกลือในระยะเวลาหนึ่ง แล้วเติมรำข้าว และ/หรือรำข้าวคั่ว และ/หรือข้าวคั่ว ในอัตราส่วนที่เหมาะสม และหมักต่อเพื่อให้ได้กลิ่นรสที่มีลักษณะเฉพาะของปลาร้า หรือหมักส่วนประกอบทั้งหมดพร้อมกันในถัง/โอ่ง/ภาชนะ/บ่อที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิดในระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนบรรจุในภาชนะบรรจุ"

นอกจากนี้ยังระบุคุณลักษณะทางกายภาพของปลาร้าว่า (1) ลักษณะทั่วไป ส่วนประกอบต้องคลุกเคล้าให้เข้ากันพอดี ไม่แห้ง แฉะ หรือเละเกนไปตามลักษณะเฉพาะของปลาร้า เนื้อปลาต้องนุ่ม สภาพผิวคงรูป หนังไม่ฉีกขาด (2) สี มีสีปกติตามลักษณะเฉพาะของปลาร้า เนื้อปลามีสีชมพูอ่อนหรือสีอื่น เช่น สีเหลืองอ่อน สีส้มอ่อน สีน้ำตาลอ่อน (3) กลิ่นหอมตามลักษณะเฉพาะของปลาร้า ไมมีกลิ่นอื่นที่ไม่พึงประสงค์ เช่น กลิ่นคาว กลิ่นอับ กลิ่นหืน กลิ่นสาบ กลิ่นเหม็นเปรี้ยว (4) กลิ่นรส มีกลิ่นรสที่ดีตามลักษณะเฉพาะของปลาร้า ไม่มีกลิ่นรสที่ไม่พึงประสงค์ เช่น กลิ่นรสเปรี้ยวบูด นอกจากนี้กำหนดให้ปลาร้าต้องมีปริมาณเกลือ (โซเดียมคลอไรด์) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 18 โดยน้ำหนัก

โดยรายละเอียดของมาตรฐานสินค้าเกษตรปลาร้าทั้งหมดสามารถอ่านได้ที่ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net