Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ทุกปีเมื่อเทศกาลสงกรานต์เวียนมาถึง ผมมักจะได้เห็นข่าวบนหน้าจอโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และโซเชียลมีเดียร์ถึงเรื่องราวมากมายทั้งดีและแย่ที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลที่ผ่านมา เรื่องราวที่ดีนั้นมีไม่น้อย เช่น ภาพรอยยิ้มของผู้คนที่ได้กลับบ้านไปเยี่ยมเยียนครอบครัว ภาพการท่องเที่ยวและการเฉลิมฉลองของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่ในขณะเดียวกันเรื่องราวในด้านลบก็มีมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการขโมยทรัพย์สิน สถิติการเกิดอุบัติเหต ตลอดจนถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ

ภาพด้านลบที่โดนกล่าวถึงเรื่อยๆทุกๆปีเช่นนี้ น่าจะทำให้หลายๆคนตั้งคำถามว่ารากของปัญหาที่แท้จริงมันอยู่ที่อะไรกันแน่ ส่วนตัวผมเองคิดว่าปัญหาของวันสงกรานต์นั้นมีอยู่หลากหลายรูปแบบ และแต่ละรูปแบบก็มีต้นเหตุของปัญหาแตกต่างกันไป แต่ในบทความนี้ผมจะขอพูดถึงเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมของคนไทยที่ยังไม่ค่อยตระหนักถึงความสำคัญเรื่องสิทธิเสรีภาพ และปัญหาการใช้สิทธิเสรีภาพในสังคมเมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยผมจะวิเคราะห์ค่านิยมของคนในสังคมไทยผ่านกระแสสังคมที่เกิดขึ้นหลังกรณีขัดแย้งระหว่างพ่อลูกเล่นสงกรานต์กับเจ้าของรถป้ายแดง

ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมามีผู้ใช้เฟสบุคจำนวนมากแชร์คลิปวิดีโอของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งกำลังต่อว่าพ่อลูกที่กำลังเล่นสงกรานต์อยู่ข้างถนน ลำดับเหตุการณ์คร่าวๆที่ปรากฎในคลิปคือ มีพ่อลูกคู่หนึ่งกำลังเล่นสงกรานต์อยู่ริมถนน เมื่อรถป้ายแดงของผู้หญิงคนหนึ่งขับผ่านมาและเห็นว่ามีคนเล่นสงกรานต์อยู่ ผู้ที่อยู่ในรถจึงลดกระจกลงพร้อมบอกว่าอย่าสาดน้ำ แต่เด็กเล็กที่เล่นสงกรานต์อยู่ก็สาดน้ำใส่ไปแล้ว ผู้หญิงที่อยู่บนรถจึงไม่พอใจและลงมาต่อว่าพ่อลูกคู่นั้นอย่างรุนแรง[1]

บางคนวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะการสื่อสารของผู้ขับรถเกิดขึ้นช้าเกินไป เด็กได้สาดน้ำออกไปแล้วและไม่สามารถยั้งมือได้ทัน แต่ผมคิดว่าไม่ว่าเบื้องหลังของเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม กระแสสังคมที่เกิดขึ้นหลังจากคลิปนี้ได้ถูกเผยแพร่ลงอินเตอร์เน็ตนั้นมีความน่าสนใจกว่าเบื้องหลังของเหตุการณ์มากนัก เพราะกระแสสังคมนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล (freedom and individual rights) มากน้อยขนาดไหน

(ผมขออนุญาตชี้แจงตั้งแต่ตรงนี้ว่าเป้าหมายหลักของบทความนี้ไม่ใช่เพื่อตัดสินว่าคู่กรณีในคลิป ฝ่ายใดเป็นฝ่ายที่ถูกและฝ่ายใดเป็นฝ่ายที่ผิด แต่ต้องการที่จะวิเคราะห์ค่านิยมและวัฒนธรรมของคนในสังคมผ่านมุมมองของผู้ใช้เฟสบุคมากกว่า เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญจึงไม่ใช่ว่าเบื้องหลังคลิปเกิดอะไรขึ้น แต่เป็นกระแสสังคมที่เกิดขึ้นหลังเห็นคลิปต่างหาก)






ภาพคัดลอกมาจากช่องความคิดเห็นในเพจเฟสบุ๊ค

 facebook.com/youlikedeedees/videos

จากรูปภาพด้านบน จะเห็นได้ว่าความคิดเห็นของผู้ใช้เฟสบุคหลังจากดูคลิปแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยผมขออนุญาตสรุปรวมหลายๆความเห็นมาเป็นข้อความสั้นๆดังนี้ “ผู้หญิงเจ้าของรถไม่ควรแล้งน้ำใจและต่อว่าเด็ก เพราะวันสงกรานต์จะต้องโดนสาดน้ำเป็นธรรมดา ถ้าหากไม่อยากให้รถเปียกก็ไม่ควรนำออกมาขับ” ซึ่งทิศทางการแสดงความเห็นเช่นนี้ไม่ได้อยู่บนฐานคิดที่ให้ความสำคัญกับสิทธิของปัจเจกบุคคลเท่าใดนัก

แนวคิดเรื่องสิทธิของปัจเจกบุคคลมองว่ามนุษย์มีอิสระและเป็นเจ้าของร่างกายของตนเอง เพราะฉะนั้นเราจะเลือกทำอะไรกับร่างกายของเราก็ได้ เช่น เรามีสิทธิในการเลือกนับถือศาสนา มีสิทธิในการแสดงความเห็น มีสิทธิในการเดินทาง เลือกอาหารกิน เลือกงานทำ ฯลฯ อย่างไรก็ดีแนวคิดเรื่องสิทธิส่วนบุคคลมีเงื่อนไขใหญ่อยู่ข้อหนึ่ง นั่นก็คือ การใช้สิทธิเสรีภาพของเรานั้นจะต้องไม่ได้ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น เมื่อใดก็ตามที่การกระทำของเรานั้นไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น แนวคิดสิทธิของปัจเจกบุคคลจะถือว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรมทันที เช่น การใช้สิทธิและดื่มแอลกอฮอลล์อยู่ในบ้านคนเดียวถือว่าไม่ใช่สิ่งผิด แต่ถ้าหากดื่มแอลกอฮอลล์แล้วขับรถถือว่าผิดเพราะอาจสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น

นอกจากนี้ แนวคิดสิทธิของปัจเจกบุคคลนั้นมองว่า เมื่อเราเป็นเจ้าของร่างกายของตนเอง เราก็ย่อมเป็นเจ้าของแรงงานของเราเอง และเมื่อเราเป็นเจ้าของแรงงานของเราเอง เราก็ย่อมเป็นเจ้าของสิ่งที่เราแลกมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราด้วย หรือพูดง่ายๆก็คือ เราย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่เราทำงานแลกมาด้วยนั่นเอง และเราย่อมสามารถจะทำอะไรก็ได้กับทรัพย์สินที่เราเป็นเจ้าของ ตราบเท่าที่การใช้ทรัพย์สินนั้นไม่ได้ก่อความเดือดร้อนให้คนอื่น เช่น ถ้าหากผมใช้น้ำพักน้ำแรงของผมทำงานแลกเงินเพื่อไปซื้อลำโพงมาฟังเพลง ผมย่อมมีสิทธิจะใช้ลำโพงนั้นฟังเพลงอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพลงของบรูโน มาร์ส หรือเพลงของลำไย ไหทองคำ เพื่อนบ้านของผมไม่สามารถมาบังคับให้ผมไปฟังเพลงของ BNK48 ได้ แต่ในขณะเดียวกันผมก็ไม่มีสิทธิเปิดเพลงของลำไยดังจนรบกวนเพื่อนบ้านที่ชอบฟังเพลงของ BNK48 เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดสิทธิของปัจเจกบุคคลยังมองว่าเมื่อผมเป็นเจ้าของร่างกายของผมและทรัพย์สินของผมแล้ว ผมจะสามารถใช้ร่างกายและทรัพย์สินของผมอย่างไรก็ได้ แม้ว่าการกระทำนั้นจะเป็นโทษต่อตัวผมเองหรือการกระทำนั้นจะดูไร้สาระเท่าไหร่ก็ตาม (แน่นอนว่าตราบเท่าที่การกระทำของผมไม่กระทบผู้อื่น) เช่น ผมมีสิทธิจะเลือกกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารหลักสามเวลาในทุกวันก็ได้ ตราบเท่าที่ผมไม่ได้ขโมยเงินคนอื่นมาซื้อบะหมี่ หรือผมจะซื้อรถมาเก็บไว้จุดธูปบูชาโดยไม่เอาออกไปขับบนถนนเลยก็ได้ ในทางตรงกันข้ามถ้าหากมีคนมาใช้กำลังข่มขู่บังคับให้ผมเลิกกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือมีคนมาขโมยรถของผมออกไปขับโดยไม่ได้รับอนุญาต แนวคิดสิทธิของปัจเจกบุคคลจะถือว่าการบังคับและการขโมยรถของผมเป็นสิ่งที่ผิดทันที

เช่นเดียวกับการเล่นสงกรานต์ แนวคิดสิทธิส่วนบุคคลจะมองว่าเราเป็นเจ้าของร่างกายและทรัพย์สินของเราใครจะมาปะแป้งหรือฉีดน้ำใส่เราโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนไม่ได้อย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ทั้งนั้นมีเหตุผลมากมายที่จะทำให้ปัจเจกคนหนึ่งปฏิเสะที่จะถูกฉีดน้ำหรือปะแป้ง เช่น ปัจเจกคนนั้นอาจมองว่าการฉีดน้ำและปะแป้งเป็นการลวนลาม กลัวว่าการฉีดน้ำจะทำให้ชุดหรือสิ่งของที่พกมาด้วยเสียหาย หรือต่อให้สิ่งของไม่เสียหายแต่ปัจเจกคนนั้นก็อาจมีเหตุผลที่ต่างออกไป เช่น ไม่ชอบให้น้ำเข้าตา กลัวโป๊ หรือในกรณีสุดโต่ง เช่น ปัจเจกคนนั้นต้องการต่อต้านวันสงกรานต์ หรือชอบอากาศร้อนๆ ไม่ว่าในกรณีใดๆเราก็ไม่ควรฉีดน้ำ/ปะแป้งใส่ก่อนได้รับอนุญาตอยู่ดี เพราะฉะนั้นการอ้างว่า “เล่นสงกรานต์แล้วสนุกกว่านะ” “โดนน้ำหน่อยจะได้เย็นๆ” หรือ “ถ้ารู้ว่าจะเปียกแล้วจะมาเดินทำไม” จึงไร้ซึ่งความชอบธรรมในมมุมองของแนวคิดสิทธิของปัจเจกบุคคล เพราะตามแนวคิดนี้สิ่งสำคัญไม่ใช่ “เหตุผล” หรือ “ข้ออ้าง” แต่คือ “การยินยอม”

ฉะนั้น หากนำแนวคิดสิทธิของปัจเจกบุคคลมาใช้เพื่ออธิบายความขัดแย้งระหว่างพ่อลูกเล่นสงกรานต์กับเจ้าของรถป้ายแดงแล้วจะเห็นว่า พ่อลูกเล่นสงกรานต์ไม่ควรจะสาดน้ำใส่รถก่อนได้รับอนุญาต (ไม่ใช่แค่เฉพาะรถป้ายแดงเท่านั้น แต่ไม่ควรสาดใส่รถทุกคันก่อนได้รับอนุญาต) เพราะเจ้าของรถมีสิทธิที่จะปกป้องทรัพย์สินของเขา (แม้ว่าการปกป้องจะดูไร้สาระเท่าไหร่ก็ตาม)

(ท่านผู้อ่านควรตระหนักว่า ผมไม่ได้โต้แย้งว่าการเหยียดพ่อลูกเล่นสงกรานต์ของเจ้าของรถป้ายแดงเป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่อย่างใด)

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านหลายคนอาจจะเกิดข้อถกเถียงในใจขึ้นมา 2 ข้อ คือ

1) ที่พ่อลูกเล่นสงกรานต์ตัดสินใจสาดน้ำใส่รถป้ายแดงอาจเป็นเพราะไม่รู้ว่าเจ้าของรถจะอนุญาตรึเปล่า? และหากคิดต่อว่าเจ้าของรถป้ายแดงมาขับรถในวันสงกรานต์เอง พ่อลูกเล่นสงกรานต์อาจอนุมานเอาเองได้ว่าเจ้าของรถป้ายแดงยอมรับว่าจะต้องถูกสาดน้ำอยู่แล้วหรือเปล่า?

2) ถ้าหากต้องมานั่งเปิดกระจกถามรถทุกคันเพื่อถามว่าจะอนุญาตหรือไม่ ก็คงไม่ต้องเล่นสงกรานต์กันพอดี

ผมขออนุญาตโต้แย้งข้อถกเถียงทั้ง 2 ข้อนั้น ดังนี้

สำหรับข้อถกเถียงแรก ผมคิดว่าการอนุมานเอาเองไม่สามารถนำมาใช้ได้กับการละเมิดสิทธิของปัจเจกบุคคล ถ้าเราลองจินตนาการถึงกรณีคล้ายๆกันก็น่าจะทำให้เราเข้าใจประเด็นนี้มากขึ้น เช่น ถ้ามีผู้หญิงคนหนึ่งแต่งตัวโป๊และนอนหลับอยู่ข้างถนนเปลี่ยวๆ คุณมีสิทธิจะแอบจับหน้าอกเธอหรือไม่? แน่นอนว่าไม่ คุณไม่ควรละเมิดสิทธิเหนือร่างกายและทรัพย์สินของใครก่อนที่คุณจะได้รับอนุญาตโดยการอ้างว่าคุณไม่รู้ว่าเค้าจะอนุญาตรึเปล่า และแน่นอนว่าการอนุมานว่าผู้หญิงยินยอมให้ลวนลามเพราะเธอแต่งตัวโป๊และมานอนในที่เปลี่ยวเองก็ฟังไม่ขึ้น เช่นเดียวกันการสาดน้ำใส่ก่อนได้รับอนุญาตแล้วอนุมานเอาเองว่าเจ้าของทรัพย์สินน่าจะอนุญาตจึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน เพราะถ้าคุณไม่แน่ใจว่าเขาจะยินยอมให้กระทำหรือไม่ คุณก็ไม่ควรกระทำสิ่งนั้นตั้งแต่ต้น

สำหรับข้อถกเถียงที่ว่าถ้าหากต้องมานั่งขออนุญาตคนที่ผ่านไปผ่านมาทุกคนก็คงไม่ต้องเล่นสงกรานต์กันแล้ว ข้อนี้โดยส่วนตัวผมมองว่าก็คงต้องเป็นเช่นนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือเราจำเป็นต้องยอมรับก่อนว่าในสังคมไทยมีผู้คนอยู่จำนวนหนึ่งที่ไม่ชอบเล่นสงกรานต์ (และอาจจะยังมีคนอีกจำนวนมากที่อยากเล่นสงกรานต์แต่ไม่ได้อยากเล่นตลอดเวลา) ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเราควรเคารพสิทธิของเขาที่จะเลือกว่าจะเล่นหรือไม่เล่น ดังนั้นการขออนุญาตก่อนจึงเป็นสิ่งจำเป็น การเล่นสงกรานต์ที่ยุ่งยากมากขึ้นเพราะต้องเคารพสิทธิคนอื่นเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น ในทางทฤษฎีแล้ว หากเราเล่นสงกรานต์อย่างเคารพสิทธิคนอื่นไม่ได้ การเลิกเล่นไปเลยอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าก็ได้ เราอาจจะต้องมาพิจารณากันอีกครั้งว่าความหรรษาชั่วครั้งชั่วคราวกับสิทธิของปัจเจกบุคคลอะไรคือสิ่งที่สำคัญกว่ากันแน่?

(แน่นอนว่าในทางปฏิบัติทางเลือกไม่ได้มีแค่สองทางแค่เล่นกับไม่เล่น ยังมีทางเลือกอื่นๆด้วย เช่น การจัดระบบโซนนิ่ง (zoning) แต่บทความนี้ไม่ขอพูดถึง เนื่องจากผมแค่ต้องการให้ท่านผู้อ่านลองชั่งน้ำหนักในใจดูอีกครั้งเท่านั้นว่าความสนุกหรือสิทธิของปัจเจกชนกันแน่ที่สำคัญกว่ากัน)

การสาดน้ำใส่รถป้ายแดงอาจจะดูเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่กรณีนี้กลับสะท้อนให้เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่าสังคมไทยให้ความสำคัญกับการรักษาสิทธิของปัจเจกบุคคลน้อยเพียงใด และความตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิของปัจเจกที่ต่ำเช่นนี้นี่เองที่อาจเป็นรากฐานรองรับให้กับปัญหาอื่นๆอีกมากมายที่เกิดขึ้นในวันสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กๆอย่างเช่น ไม่สามารถเดินทางไปข้างนอกได้ การเปิดเพลงเสียงดัง การเบิ้ลเครื่องจักรยานยนต์รบกวนผู้อื่น การปิดถนนทำให้การจราจรติดขัด ตลอดจนถึงปัญหาใหญ่ๆ เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ และการทะเลาะวิวาท

The Matter เคยทำสกู๊ปสัมภาษณ์ประชาชนที่เคยถูกละเมิดสิทธิในด้านต่างๆในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีผู้ถูกสัมภาษณ์คนหนึ่งให้คำจำกัดความของเทศกาลสงกรานต์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “มันเหมือน The Purge [2] ของประเทศไทย [3]

ผมคิดว่าคำจำกัดความนี้ให้ภาพสรุปของเทศกาลสงกรานต์ได้ดี เพราะช่วงนี้ของปีเป็นช่วงที่กฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้ เป็นเสมือนเทศกาลที่มอบสภาวะยกเว้นอะไรบางอย่างให้แก่สังคม ให้ผู้คนสามารถออกมาทำอะไรก็ได้ตามที่ต้องการเพื่อระบายความเก็บกดตลอดปีที่ผ่านมา สิ่งที่น่ากังวลใจก็คือภายใต้สภาวะที่กฎหมายไม่ทำงานเช่นนี้ สิ่งที่เหลือพอจะควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ได้ก็มีเพียงแค่วัฒนธรรมเท่านั้น

ดังนั้นตามความเห็นของผม วัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับสิทธิของปัจเจกบุคคลและการใช้เสรีภาพโดยไม่ไปละเมิดผู้อื่นจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากที่น่าจะช่วยลดปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ได้ น่าเศร้าที่ในประเทศไทย (ซึ่งปกติก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพอยู่แล้ว) พอเทศกาลสงกรานต์เวียนมาถึง ไม่ใช่แค่การบังคับใช้กฎหมายเท่านั้นที่ได้รับการยกเว้น แม้แต่สำนึกเรื่องสิทธิของปัจเจกก็ได้รับการยกเว้นไปด้วย



เชิงอรรถ:

[1] สามารถสืบค้นวิดีโอได้จาก: https://www.thairath.co.th/content/1257244

[2] The Purge เป็นแฟรนไชส์หนังสยองขวัญที่พูดถึงประเทศอเมริกาในจินตนาการ ที่รัฐบาลกำหนดให้ในทุกๆปีจะมีคืนหนึ่งที่ประชาชนสามารถก่ออาชญากรรมอะไรก็ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนระบายความเก็บกดและช่วยลดปัญหาสังคมต่างๆในอีก 364 วันที่เหลือ

[3] อ่านเพิ่มเติมจาก https://thematter.co/pulse/sexual-harassment-in-songkran-festival/49554

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net