Skip to main content
sharethis

รายงานสถาบันผลกระทบด้านสุขภาวะ (Health Effect Institute) จากสหรัฐฯ ระบุว่ามีประชากรมากกว่าร้อยละ 95 ของโลกต้องสูดอากาศเสียซึ่งส่งผลร้ายต่อสุขภาพ ผู้เผชิญปัญหาหนักสุดคือคนจน ช่องว่างระหว่างประเทศที่มีมลพิษน้อยที่สุดกับประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดมีช่องว่างห่างกันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาพควันจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม (ที่มา:Maxpixel)

17 เม.ย. 2561 ในรายงานชื่อ "สถานภาพของอากาศโลก" (State of Global Air) ปี 2561 ระบุว่าประชากรราวร้อยละ 95 ของโลกอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสูงเกินกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดคือมากกว่า 10 ไมโครกรัมต่อตารางเมตร ประชากรเกือบร้อยละ 60 อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ค่าฝุ่นละอองในอากาศมากกว่า 35 ไมโครกรัมต่อตารางเมตร

สถาบันผลกระทบด้านสุขภาวะระบุว่า มลภาวะทางอากาศมาจากทั้งฝุ่นละอองและก๊าซที่ผสมปนเปกัน ในการวัดมลภาวะภายนอกมีการวัดตามขนาดฝุ่นละอองระดับละเอียดคือเล็กกว่าหรือเท่ากับ 2.5 ไมโครเมตร หรือที่เรียกว่า PM 2.5 นอกจากมลภาวะทางอากาศภายนอกแล้ว ในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในเขตชนบทมีความเสี่ยงต่อมลภาวะทางอากาศในครัวเรือนด้วยซึ่งมักจะมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงหุงต้มต่างๆ เช่น ถ่าน ฟืนหรือเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งเผาไหม้แล้วเกิดเขม่าควัน ผนวกกับการที่ครัวเรือนขาดระบบระบายอากาศและเขม่าควัน

มีผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าการเผชิญมลภาวะทางอากาศกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้คน 6 ล้านคนเสียชีวิตในปี 2560 เพราะมลภาวะเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ, หัวใจวาย, มะเร็งปอด และโรคปอดเรื้อรัง ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากมลภาวะครึ่งหนึ่งคือประชากรของจีนกับอินเดีย

บ็อบ โอคีฟ รองประธานของสถาบันผลกระทบด้านสุขภาวะกล่าวว่า ช่องว่างระหว่างประเทศที่อากาศดีกับประเทศที่อากาศเป็นพิษอยู่ในระดับที่ห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ มีประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากที่ทำให้มลภาวะแย่ลงไปเรื่อยๆ ในช่วงที่พยายามทำให้เศรษฐกิจเติบโต โดยในตอนนี้มีช่องว่างระดับมลภาวะระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นเป็น 11 เท่า เทียบกับในปี 2533 ที่วัดได้ 6 เท่า เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนายังไม่มีระบบควบคุมมลภาวะที่ดีพอ

อย่างไรก็ตามในประเทศที่ดูมีปัญหาหนักๆ อย่างจีนกับอินเดียก็กำลังพยายามพัฒนาตัวเองในเรื่องนี้ โอคีฟระบุว่าถึงแม้จะยังต้องแก้ไขปัญหาอีกยาวไกล แต่จีนก็พยายามปรับปรุงอย่างจริงจังด้วยการลดถ่านหินในประเทศตัวเองและพยายามควบคุมมลภาวะมากขึ้น ขณะที่อินเดียก็พยายามลดปัญหามลภาวะภายในครัวเรือนด้วยการให้หันมาใช้ก๊าซ LPG และการเข้าถึงไฟฟ้า

ขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้วก็ยังคงมีปัญหามลภาวะซึ่งหลักๆ มาจากการจราจรบนท้องถนนโดยเฉพาะเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล ขณะที่ในประเทศกำลังพัฒนาฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นปัญหาที่ทำให้มีคนเสียชีวิตหลายล้านคนต่อปี

อย่างไรก็ตาม โอคีฟบอกว่ารัฐบาลหลายประเทศถูกกดดันให้ต้องแก้ปัญหานี้มากขึ้นส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนที่มากขึ้นด้วย โดยโอคีฟมองว่าการเรียกร้อง การให้ข้อมูลและปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับเรื่องปัญหามลภาวะทางอากาศในอินเทอร์เน็ตส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อเรื่องนี้ นอกจากความเป็นห่วงเรื่องปากท้องแล้วประชาชนมีวิธีการหารือในที่สาธารณะกันมากขึ้น

รายงานสถานภาพของอากาศโลกที่ออกมาเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมามีปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีการเก็บข้อมูลทั้งจากการสำรวจผ่านดาวเทียมและการสังเกตการณ์บนภาคพื้นดิน รวมถึงรวบรวมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบของมลภาวะซึ่งอาจจะส่งผลกระทบร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ในระยะยาว

เรียบเรียงจาก

More than 95% of world's population breathe dangerous air, major study finds, The Guardian, Apr. 17, 2018

How clean is the air you breathe?, State of Global Air

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net