Skip to main content
sharethis

พันธกรอิตาลีอุทิศตนให้กับการค้นหาเพลงของนักโทษในค่ายกักกันที่เคยแต่งเอาไว้ตามที่ต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่บนกระดาษชำระ จนกระทั่งค้นพบบทเพลงของพยาบาลกวีผู้เขียนเพลงขับกล่อมคนป่วยในค่ายกักกัน และค้นพบผู้รอดชีวิตที่เคยเป็นเด็กหญิงภายใต้การดูแลของกวีผู้นี้ เธอเป็นคนเดียวที่รู้ทำนองเพลงและสามารถร้องเพลงในความทรงจำได้แม้จะผ่านมาแล้วราว 70 ปี

ค่ายกักกันเอาชวิตซ์ ที่มาภาพจาก pixabay

19 เม.ย. 2561 ในค่ายกักกันเมืองเทเรซิน ประเทศเชคโกสโลวาเกียซึ่งในขณะนั้นเป็นพื้นที่ยึดครองของนาซี มีกวีชาวยิวที่ชื่อ อิลซา เวเบอร์ ถูกคุมขังอยู่ในนั้น เวเบอร์เขียนเพลงที่ชื่อ When I Was Lying Down in Terezin’s Children’s Clinic. "เมื่อฉันนอนลงในคลินิคเด็กของเทเรซิน" เนื้อหาของเพลงพูดถึงการดูแลเด็กที่ป่วยในค่ายกักกัน ถึงแม้ว่าเวเบอร์จะต้องทำหน้าที่พยาบาลในค่ายกักกันแต่เธอก็แทบจะไม่มียารักษาโรคให้ใช้เลย สิ่งที่เธอมีก็เพียงบทกวีและดนตรีของเธอเท่านั้น

หลังจากที่เวเบอร์เสียชีวิตที่ค่ายเอาชวิตซ์ในปี 2487 สามีของเธอก็เก็บกู้บทเพลงและบทกวีที่เธอซ่อนไว้ออกมาได้บางส่วน หนึ่งในนั้นคือเพลง "เมื่อฉันนอนลงในคลินิคเด็กของเทเรซิน" ที่ถึงแม้ว่าในที่แรกจะไม่มีใครรู้ทำนองเพลง แต่ก็มีผู้รักเสียงเพลงผู้หนึ่งพยายามขุดค้นต่อเติมชีวิตให้เพลงนี้อีกครั้ง เขาคือ ฟรานเซสโก โลโตโร ชาวอิตาเลียนเชื้อสายยิวผู้เป็นนักดนตรีวิทยาและนักเปียโนที่อุทิศตัวให้กับการเก็บกู้เพลงจำนวนมากที่ถูกเขียนขึ้นช่วงที่มีการสังหารหมู่ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2

โลโตโรค้นพบว่ามีคนๆ หนึ่งที่เคยได้ยินทำนองเพลงนี้คือ อวีวา บาร์ออน หญิงที่เคยเป็นคนไข้ของเวเบอร์ในค่ายกักกันเมื่อช่วง 70 ปีที่แล้ว เธอนำเพลงนี้ขึ้นแสดงในคอนเสิร์ตรำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวยิวเมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมเป็นนายกรัฐมนตรีอิสราเอลและผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่กับลูกหลานของพวกเขา

เพลงที่มาจากการจัดงานคอนเสิร์ตดังกล่าวนี้ โลโตโร เป็นวาทยากรนำมันมาจากบทเพลงและโน๊ตเพลงที่บันทึกไว้ตามที่ต่างๆ ของค่ายกัดกันไม่เว้นแม้แต่ ถุงถ่านหิน ไปจนถึงกระดาษชำระ ผู้ที่เขียนสิ่งเหล่านี้มีทั้งชาวยิวและคนชนชาติอื่นๆ ที่อยู่ในค่ายกักกันอย่างชาวยิปซี รวมถึงคนทีเป็นเฉลยศึก โลโตโรรวบรวมบทเพลงมาได้ถึงมากกว่า 8,000 ชิ้น โดยมีเป้าหมายว่าเขาต้องการเก็บรักษาประวัติศาสตร์เหล่านี้ไว้พร้อมๆ กับปะชุนช่องว่างประวัติศาสตร์ของดนตรี จากที่ในสงครามโลกมีนักประพันธ์เสียชีวิตจากการสังหารหมู่เป็นจำนวนมาก โลโตโรใช้เวลารวบรวมบทเพลงเหล่านี้มาตั้งแต่ปี 2532 แล้ว

โลโตโรบอกว่าในตอนแรกเขาแค่อยากค้นหาบทเพลงของชาวยิว แต่เพื่อเขายิ่งค้นหามากขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกอยากค้นหาผลงานของนักโทษการเมืองและนักโทษทางศาสนารายอื่นๆ ไปด้วย ทำให้เขาเจอแสงสว่างทางวัฒนธรรมอย่างผลงานของเวเบอร์ จากเดิมที่งานตามหาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมค่ายกักกันของเขาเป็นเพียงงานที่ทำด้วยใจรัก ในตอนนี้มันกลายเป็น "ภารกิจ" สำหรับเขาไปแล้ว

มีอยู่เพลงหนึ่งที่เขียนบนกระดาษชำระด้วยชาร์โคลที่ปกติใช้เป็นยาดูดซึมพิษ ผู้ที่เขียนคือรูดอร์ฟ คาเรล เขาเขียนเพลงนี้ขึ้นก่อนเสียชีวิตในค่ายกักกันเทเรซิน อีกเพลงหนึ่งเขียนโดยนักโทษชาวยิวอายุ 12 ปี มีชื่อว่า Tango in Auschwitz. "แทงโกอินเอาชวิทซ์" ที่มีจังหวะเร่งเร้าท่วงทำนองชวนเต้น อีกเพลงหนึ่งเขียนโดยชาวยิปซีในค่ายกักกันซึ่งขอร้องให้ "จดจำพวกเราผู้อยู่ในค่ายเอาชวิทซ์" remember us, who were in Auschwitz. เพลงเหล่านี้ล้วนถูกนำมาเล่นในคอนเสิร์ตรำลึกทั้งสิ้น 

โลโตโรบอกว่าเพลงเหล่านี้สื่อถึงความหวังเล็กๆ แม้แต่ในสภาพการณ์ที่น่าสิ้นหวัง มีบางเพลงทีเจ็บปวดเกินกว่าจะร้องออกมาเป็นเพลงได้ ทำให้โลโตโรต้องระวังเวลาขอให้คนที่รอดชีวิตแต่จดจำทำนองเพลงในอดีตได้ได้ร้องเพลงให้เขาฟัง แต่เมื่อสามารถใส่ทำนองกับเพลงเหล่านี้ได้แล้วมันเหมือนเขาได้ปลุกเสกชีวิตให้กับเพลงเหล่านี้ได้อีกครั้ง

บาร์ออนเล่าถึงพยาบาลกวีที่เคยดูแลเธอว่า เวเบอร์เป็นคนที่วิเศษและยิ้มแย้ม เธอจะเล่นแมนโดลินแล้วร้องเพลงตามไปด้วย มีบางเพลงที่ตลกขบขันมาก ในตอนนี้มีบาร์ออนอยู่คนเดียวที่จดจำเพลงเหล่านั้นได้ จากที่เธอต้องอยู่ภายใต้การดูแลของเวเบอร์ในช่วงที่เธอทั้งป่วย หิวโหย เต็มไปด้วยโรคระบาด ในค่ายกักกันตอนนั้นมีสีสันด้านดนตรีมากเพราะมีนักร้องโอเปราชื่อดังและนักดนตรีระดับสูงถูกจับรวมอยู่ด้วย

โลโตโรพูดถึงการตามหาเพลงเก่าของเหยื่อนาซีว่ายิ่งเวลาผ่านไปยิ่งตามหาผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เหล่านั้นยากขึ้น เขายังคงมีวัตถุดิบอัดเพลงและเอกสารต่างๆ จำนวนมากยังไม่ได้แตะต้อง และมักจะนึกถึงวัตถุดิบอื่นๆ ที่อาจจะยังรอการค้นพบ และเขามุ่งมั่นจะค้นหาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ค้นพบทุกเพลงแม้จะดูเป็นเพลงที่เล็กน้อยเพียงใด ไม่เกี่ยงว่าจะมาจากมืออาชีพหรือมาจากมือสมัครเล่น โลโตโรบอกอีกว่าดนตรีที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามเช่นนี้สมควรได้รับการค้นพบเพราะ "มันเป็นของมนุษยชาติ"

เรียบเรียงจาก

How thousands of songs composed in concentration camps are finding new life, Meagan Flynn, The Washington Post, 17-04-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net