Skip to main content
sharethis

กระทรวงแรงงาน เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจัดทำกฎหมายลำดับรองกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พร้อมเตือนทำงานในเยอรมนี ต้องไปอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น

20 เม.ย.2561 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า วันนี้ ที่ห้องประชุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน จรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำกฎหมายลำดับรองเพื่อกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ที่ออกตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 โดยมี สมบัติ นิเวศรัตน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้แทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ สถาบันการศึกษา นายจ้าง ผู้ประกอบการ สภาวิชาชีพ และภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การประชุมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำนี้ จัดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้เกี่ยวข้องที่อาจได้รับผลกระทบจากการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 โดยปรับปรุงพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่ายังมีประเด็นที่ควรรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม หลังจากที่ผ่านมากรมการจัดหางานได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาแล้วจำนวน 2 ครั้ง 

โดยครั้งที่ 1 ได้จัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานราชการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา สภาวิชาชีพ สมาคมหรือสมาพันธ์ ผู้ประกอบการค้า รวมจำนวน 145 หน่วยงาน โดยสรุปผลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากแบบสอบถามที่ตอบกลับ 324 ชุด ได้ ดังนี้ 1. งานที่ควรยกเลิกเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำมากที่สุด ได้แก่ งานก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานก่อสร้างอื่น 2. ขอให้แก้ไขชื่องานงานหรือลักษณะงานในอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ได้แก่ งานบัญชี งานนายหน้า หรืองานตัวแทน งานวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา งานให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี 3. ขอให้เพิ่มงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ เช่น งานที่เกี่ยวกับความเป็นไทย หรือวัฒนธรรมของไทย รวมถึงกรณีคนต่างด้าวเป็นเจ้าของกิจการหรือนายจ้าง เป็นต้น  ครั้งที่ 2 ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นการจัดทำกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาวิชาชีพ สมาคมหรือสมาพันธ์ ผู้ประกอบการค้า องค์กรนายจ้างและลูกจ้าง สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรและสื่อมวลชน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวนทั้งสิ้น 172 คน

โดยสรุปผลความคิดเห็นได้ดังนี้ 1. ขอให้ยกเลิกงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ได้แก่ 1) งานกรรมกร 2) งานก่อสร้าง 3) งานก่ออิฐ งานช่างไม้ 4) งานผลิตสินค้าในกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ใช้ทักษะฝีมือขั้นสูง เช่นงานทำรองเท้า งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย เป็นต้น และ 5)งานขายของหน้าร้าน และควรกำหนดเงื่อนไขเพื่อไม่ให้คนต่างด้าวทำงานดังกล่าวโดยไม่มีนายจ้างหรือเจ้าของกิจการในการทำงานนั้นไว้ด้วย 2. ขอให้กำหนดงานที่ส่งเสริมภูมิปัญญาไทยและเอกลักษณ์ไทย เช่น งานแกะสลักไม้ งานทำเครื่องเขิน งานทำเครื่องดนตรีไทย งานทำเครื่องถม เครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก งานมัคคุเทศก์หรืองานจัดนำเที่ยว เป็นต้น เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ แต่ควรมีข้อยกเว้นให้คนต่างด้าวสามารถทำได้ ถ้าเป็นลูกจ้างหรือพนักงานในกิจการดังกล่าว และไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยและเอกลักษณ์ไทย 3. งานในวิชาชีพ เช่น วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี งานให้บริการทางกฎหมาย หรืออรรถคดี เป็นต้น ยังคงห้ามคนต่างด้าวทำ 4. งานที่ควรห้ามคนต่างด้าวทำเพิ่มเติม ได้แก่ งานนวดไทย งานรักษาความปลอดภัย และงานนายแบบหรือนางแบบที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยในที่ประชุมขอให้กำหนดนิยามของงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำให้มีขอบเขตที่ชัดเจนและสอดคล้องกับลักษณะการทำงาน เศรษฐกิจ และสังคมในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงคำนึงถึงความต้องการประกอบอาชีพของคนไทยและความมั่นคงของประเทศต่อไป

ซึ่งต่อมาใน พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา ได้กำหนดให้การกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามมาตรา 7 นั้น ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวอาจประกาศกำหนดให้งานใดเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำก็ได้ โดยจะห้ามโดยเด็ดขาดหรือห้ามโดยมีเงื่อนไขอย่างใดก็ได้ แต่ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความมั่นคงของชาติ โอกาสในการประกอบอาชีพและวิชาชีพของคนไทย การส่งเสริมภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ไทย และความต้องการแรงงานต่างด้าวที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งความผูกพันหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ในลักษณะถ้อยทีถ้อยปฏิบัติประกอบด้วย

จากการพิจารณารับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา กรมการจัดหางานเห็นว่าความคิดเห็นส่วนใหญ่ต้องการให้ยกเลิกงานต่อไปนี้ คือ 1) งานกรรมกร 2) งานกสิกรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง 3) งานก่ออิฐ งานช่างไม้และงานก่อสร้างอื่น เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ซึ่งคนไทยมีการศึกษาสูงขึ้น ทำให้ขาดแคลนแรงงานไทยทำงานดังกล่าว ส่วนงานขายของหน้าร้าน และงานที่ต้องการแรงงานจำนวนมากในภาคการผลิตอุตสาหกรรม เช่น งานทำที่นอน งานทำมีด งานทำรองเท้า งานทำหมวก งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย เป็นต้น ซึ่งไม่ต้องใช้การฝึกอบรมความรู้และไม่ใช่งานที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยแต่อย่างใด กรมการจัดหางานยังเห็นว่าคนไทยยังสามารถทำงานหรือประกอบอาชีพได้ จึงเห็นว่ายังมีประเด็นที่ควรรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อให้การจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในมาตรา 7 เป็นไปอย่างรอบคอบ และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทย 

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในวันนี้ จะได้นำไปประกอบการพิจารณากำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานได้พิจารณาก่อนจัดทำเป็นประกาศกระทรวงแรงงานต่อไป

เตือนทำงานในเยอรมนี ต้องไปอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น

วันเดียวกัน เพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีการควบคุมการเข้าเมืองและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดการเข้าไปทำงานเยอรมนี แต่ได้อนุญาตให้แรงงานต่างชาติ รวมถึงแรงงานไทยในสาขาวิชาชีพขั้นสูงหรือผู้เชี่ยวชาญ และวิชาชีพขาดแคลน อาทิ วิศวกร พยาบาลดูแลผู้สูงอายุ นักเทคนิคการแพทย์เข้ามาทำงานได้ รวมถึงแรงงานไทยสาขา อาชีพพ่อครัว/แม่ครัวพิเศษที่ถือเป็นแรงงานกึ่งฝีมืออาชีพเดียวที่ไดรับอนุญาตให้เข้าทำงาน ซึ่งแรงงานไทยที่ต้องการจะเข้ามาทำงานในเยอรมนีต้องมาอย่างถูกกฎหมาย โดยผ่านสำนักจัดหางานแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และทำงานกับนายจ้างที่ไดรับอนุญาตเท่านั้น

แรงงานที่หลบหนีหรือลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย มีโทษปรับสูงสุด 5,000 ยูโร และถูกส่งกลับประเทศ แรงงานต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งกลับประเทศทั้งหมด และถูกห้ามเข้าสหพันธ์ฯ และกลุ่มประเทศสมาชิกอียูอย่างน้อย 5 ปี หากแรงงานไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่าย นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด นอกเหนือจากค่าปรับส่วนของนายจ้าง อีกทั้งจะไม่สามารถเข้าระบบประกันสังคม ได้แก่ ประกันสุขภาพกรณีเจ็บป่วย ประกันกรณีทุพลภาพ ประกันกรณีว่างงาน และการประกันกรณีชราภาพ/บำนาญ ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน และไม่สามารถยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อทางการสหพันธ์ฯ ในเรื่องใดๆ จากนายจ้างได้

ทั้งนี้ สำนักงานแรงงานในต่างประเทศ  ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี รายงานปี 2017 มีแรงงานไทยทำงานอยู่ 17,216 คน ชาย 2,838 คน หญิง 14,378 คน ทำงานในภาคการผลิต 2,328 คน ภาคก่อสร้าง 362 คน ภาคเกษตร 87 คน ภาคบริการ 14,434 คน และอื่นๆ 5 คน

เพชรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แรงงานไทยที่สนใจเข้าไปทำงานในเยอรมนี สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน หมายเลขโทรศัพท์ 030 79481231-2 Email : labour_berlin@hotmail.com Website: http://germany.mol.go.th/ พร้อมการเข้าทำงานในเยอรมนีต้องเข้าตามช่องทางที่ถูกกฎหมายเท่านั้น หากลักลอบทำงานมีโทษปรับสูงสุด 5,000 ยูโร และถูกส่งกลับประเทศ โดยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net