ชุมพล ครุฑแก้ว: ‘พรรคกลาง’ เพราะ “ทุกคนเป็นนักการเมืองได้”

คุยกับชุมพล ครุฑแก้ว หนึ่งผู้ก่อตั้งพรรคกลาง ยึดแนวทาง Progressive Moderate ก้าวข้ามความขัดแย้ง มุ่งใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง กับความตั้งใจก้าวข้ามความกลัวเพราะอยากทำให้สังคมรู้ว่าทุกคนเป็นนักการเมืองได้

ในแวดวงนักวิ่ง ชื่อของชุมพล ครุฑแก้ว ถือว่าโปรไฟล์ของเขาไม่ธรรมดา ขณะที่ชีวิตก่อนหน้านี้ของเขาคือหัวหน้าห้องปฏิบัติการพัฒนามาตรบานและการทดสอบ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แต่ทั้งหมดนี้กำลังเปลี่ยนไป หลังจากที่ชุมพลยื่นความจำนงขอตั้งพรรคการเมือง โดยใช้ชื่อว่า ‘พรรคกลาง’

แน่นอนว่าการทำพรรคการเมืองแตกต่างจากการวิ่ง มันจึงไม่ง่ายสำหรับเขาและสมาชิก บนหนทางที่เขาบอกว่าเขาเป็น Progressive Moderate ที่มุ่งสร้างความก้าวหน้ามากกว่าปะทะขัดแย้ง ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่มีนายทุนพรรค แต่จะใช้วิธีรับบริจาค และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ย่อมต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

‘ประชาไท’ จับเข่าคุยถึงหนทางสู่การตัดสินใจกระโดดลงมาเล่นการเมือง แนวทางของพรรคที่หลายคนตั้งคำถามว่าคืออะไร กลางที่ว่าคืออะไร ตลอดจนถึงความคิด ความเชื่อ และความฝันต่อการเมืองไทย

คุณเคยบอกว่ากลัวการเมือง ทำไมถึงกลัวการเมือง

ผมใช้คำว่ากลัว มันอาจจะคลุมเครือ ตั้งแต่ตัดสินใจลงมาก็พบว่ามีหลายสาเหตุมาก มันอาจไม่ใช่กลัว มันอาจจะเกลียด อาจจะเบื่อ อาจจะขยะแขยง ไม่อยากเข้ามายุ่ง มองในแง่ลบไปหมด สังคมไทยตอนนี้เป็นอย่างนั้น ณ จุดที่ผมเปลี่ยนความคิดได้ผมกระโจนมาอยู่อีกฝั่งแล้ว เราก็มาเจอสถานการณ์บางอย่าง เช่น ตอนนี้ผมรวบรวมคนได้เยอะมาก มีกลุ่มไลน์ซึ่งใช้คอนเน็กชั่นส่วนตัวทั้งนั้น เพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้องที่เคยทำงานด้วยกัน เข้ากลุ่มมาได้ 80 กว่าคน ถามว่า 80 กว่าคนนี้พร้อมที่จะออกหน้าเป็นกรรมการบริหารพรรคไม่ถึง 5 คน ทุกคนมีปัญหาแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่คือไม่พร้อมจะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เขาสนับสนุนเราเต็มที่ แต่ขออยู่ข้างหลัง ไม่สามารถออกหน้ากับเราได้

ผมเคยอยู่ในสถานะแบบนี้มาก่อน ก็เข้าใจ แต่สิ่งที่ผมใช้คำว่ากลัว มันคือสิ่งที่ทุกคนเป็นอยู่ ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่า บางบริษัทเขียนเลยว่าพนักงานห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่มีใครต่อต้านเลย เมื่อก่อนผมก็จะคิดว่าเรื่องธรรมดา เพราะก็ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ ณ จุดนี้ พอเราเปลี่ยนมาอยู่อีกฟากหนึ่ง ส่วนตัวผมคิดว่ามันคือต้นตอสำคัญที่ทำให้การเมืองไม่พัฒนาดีขึ้นกว่านี้

ตอนนี้ผมมาอยู่ฝั่งที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะให้คนทั้งหมดเปลี่ยนความคิดนี้ให้ได้ การตั้งกฎแบบนี้ ถ้ามองในแง่ประชาธิปไตย มันคือการกีดกันไม่ให้คนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทำไมต้องกีดกัน มีคนบอกผมว่าเหมือนผมเอาน้ำสะอาด 1 ขวดเทลงในคลองแสนแสบ มันไม่สามารถไล่น้ำเสียออกไปได้หรอก เห็นด้วย ผมไม่เถียง ก็สังคมมันเป็นแบบนี้ กฎนั้นก็เหมือนกัน คุณกันคนทั้งประเทศหรือทั้งหมดที่ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองด้วยความคิดอะไรบางอย่าง

ผมพูดกับตัวเองและคนสนิทว่า นี่ต่างหากคือวัตถุประสงค์หลักที่ผมเข้ามาทำงานการเมือง ต้องการแก้ตรงนี้ แว้บแรกคือผมอยากทำพรรคต้นแบบ ถ้าจะแก้ปัญหาการเมืองต้องแก้ที่ตัวพรรคการเมือง คนที่มาเล่นการเมืองก่อน นี่ผมขยายไปอีกว่าไม่ใช่แค่พรรคการเมือง แต่คือคนทั้งสังคมเลย คุณต้องเปลี่ยนตรงนี้ก่อน ผมเชื่อนะ มีคนวิเคราะห์ว่าพรรคใหม่อย่างคุณไม่มีทางเกิดหรอก เราก็เคารพ และถ้าสังคมเป็นอย่างนี้ผมก็เห็นด้วยกับเขา แต่นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมจึงเน้นเรื่องการเปลี่ยนความคิดของคนในสังคม

ผมกำลังจะทำแคมเปญว่า ทุกคนเป็นนักการเมืองได้ อยากให้คนทั้งประเทศรู้ว่าคุณเป็นนักการเมืองได้ มันเป็นเรื่องที่ยากและดูอุดมคตินะ แต่ผมทำเรื่องนี้แน่นอน ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง ในพรรคผมก็จะเน้นเรื่องนี้ ผมใส่อุดมการณ์ลงไปในพรรคด้วย คนที่เข้ามาร่วมทุกคน ผมก็จะให้อ่านข้อมูลก่อนว่าเราเน้นทำการเมืองแบบไหน การชนะการเลือกตั้งเป็นประเด็นรองก็จริง แต่ตอนลงสนามเลือกตั้งเราเต็มที่

อะไรคือจุดที่ทำให้คุณตัดสินใจกระโดดข้ามมาอีกฝั่ง

มันมีหลายเหตุผลประกอบกัน ซึ่งตอนนั้นไม่คิดว่าเกี่ยว ณ จุดที่เราไปเนปาล ผมผ่านอะไรมาเยอะมาก 100 โลครั้งแรกคนก็เซอร์ไพรส์ 100 ไมล์ครั้งแรกที่ฟูจิก็เป็นสตอรี่ยาวเหยียด เรารู้สึกว่าเราข้ามไปอีกระดับหนึ่ง จากนั้นข้ามมา 300 โลที่ฮ่องกง แล้วมา 350 โลที่อิตาลี แต่ละขั้นๆ เราไม่นึกว่าเราจะกระโดดมาทีละขั้นๆ ได้ ที่เนปาลก็เหมือนกัน

ทุกครั้งผมจะตั้งเป้าที่สูงขึ้นๆ แต่หลังจากกลับจากเนปาล รู้สึกว่าไม่อยากทำต่อแล้ว ไม่มีความท้าทายแล้ว มันเป็นการทำเพื่อตัวเรา เราทำเพราะมีความสุข เราเคยเป็นนักเรียนทุน ทำงานเพื่อประเทศชาติ แล้วลาออกจากงานเพื่อทำเรื่องนี้ มีแต่คนเชียร์ให้ทำ เป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งมันรู้สึกขัดบางอย่างเพราะเราเคยทำงานให้ประเทศชาติ พอจบจากเนปาลมันมีสตอรี่ที่ทำให้เราคิด เราเจอธรรมชาติ เจอความลำบาก เจอความเสี่ยงตาย เจออะไรเยอะมากในระหว่างทาง

ณ จุดที่กลับมา เราไม่เหมือนทุกครั้งที่จะอยากโม้ แต่จบจากเนปาลเราไม่อยากโม้อะไรเลย ไม่ได้โพสต์เฟสบุ๊คเลยเป็นเดือน ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามันคือจุดนี้ เพราะมันผ่านมาเป็นปีแล้ว คือมันรู้สึกแปลกๆ ว่าเราว่าง มันเริ่มมีสตอรี่ที่อ้างอิงก็ได้ว่าจากคุณเอก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพราะหลังกลับจากเนปาล ผมยังไม่ทำงาน เพราะมีโปรแกรมจะไปขั้วโลกใต้ ต้องซ้อมอีกปีหนึ่ง คิดว่าจะเป็นเป้าหมายถัดจากเนปาล แต่พอกลับจากเนปาลแล้ว มันก็ตกไปหน่อย พอมีจุดที่คุณเอกไปลงเลือกตั้ง ผมก็เดาออกเลยว่าเอกเขาไม่ไปขั้วโลกใต้แล้ว เพราะการเมืองมันสำคัญ ผมก็เริ่มคิดว่าถ้าเอกไม่ไป โครงการคงเกิดความไม่แน่นอน หรือเราจะไปช่วยเขา ผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเขา สนิทกันด้วยซ้ำ แต่การทำงานอาจจะเข้ากันลำบาก แม้ว่าเราจะไปเสี่ยงตายที่ญี่ปุ่นด้วยกัน

มันเป็นจุดให้ผมทบทวนว่า ถ้าเราไม่ไปขั้วโลกใต้ แล้วเราจะทำอะไร พอดีที่ดาวหรือสุขทวี (สุวรรณชัยรบ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกลาง) ซึ่งก็อยู่ในโครงการไปขั้วโลกใต้ด้วยกัน เมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้เขาคุยเรื่องการเมืองกับผม แล้วบอกว่าผมเป็น Progressive Moderate เขาบอกว่าผมเป็นทางออกของประเทศไทยเลย อ้างงานวิจัยต่างๆ นานา พอรู้ว่าเอกตั้งพรรค ดาวก็บอกว่าผมไม่เหมาะไปทางนั้นหรอก ที่ตัดสินไม่ไปช่วยเขาส่วนหนึ่งเพราะเรากลัวด้วย บวกกับสไตล์การทำงานและแนวทางของพรรคไม่ตรงกับบุคลิกเรา

ทำให้เราเริ่มคิดว่าถ้าเราจะทำการเมือง เราจะทำอย่างไรถึงจะมีความสุข ในเมื่อเอกเขามีความพร้อม มีครอบครัวสมบูรณ์ เขายังกล้าทำ ทำไมเราจะไม่กล้าทำ เอาความกลัวมาอ้าง ผมยกตัวอย่างว่าเรากลัวความสูงยังกล้าไปเนปาล กลัวความหนาวยังกล้าสมัครไปขั้วโลกใต้ ถ้าเรากลัวการเมือง แล้วทำไมเราไม่ทำการเมืองหรือกลัวไม่มีความสุข ถ้าจะทำ ต้องทำยังไง นอนคิดอยู่คืนหนึ่งว่าถูกบังคับให้ทำ เราจะทำยังไงถึงจะมีความสุข มันเริ่มจากตรงนี้

ผมตั้งไว้ว่า ถ้าจะทำแล้วมีความสุขก็คือเราจะไม่เปลี่ยนตัวเอง ถึงเราจะทำงานการเมือง เป็นนักการเมือง แต่เราจะไม่เปลี่ยนตัวเองเลย ให้เราถูกมองว่าเป็นนักการเมืองแบบเก่าเราไม่ทำเลย เราต้องสร้างพรรคที่เป็นตัวของเรา เป็นเหตุผลที่ผมต้องมาตั้งเอง เป็นพรรคต้นแบบ มีความโปร่งใส เอาไอทีเข้ามาช่วย ไม่มีนายทุน คือตามบุคลิกของเรา นี่คือข้อแรก

ข้อสองคือเราไม่ Aggressive มากนัก เราพร้อมก้าวข้ามความขัดแย้ง เราเคารพการตัดสินใจของทุกคน ทุกคนมีความเชื่อ เราไม่มีสิทธิ์บอกว่าคุณต้องเปลี่ยน แต่เราจะทำให้เห็นในพรรคว่าคุณจะเชื่อยังไงก็ตาม คุณอยู่ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา เหลือง แดง ถ้าคุณสามารถละวางความเชื่อแล้วมาทำสิ่งที่เราตั้งใจจะให้ประเทศก้าวหน้า โอเคเลย เราจะก้าวข้ามตรงนั้น นโยบายก็แล้วแต่สถานการณ์ เราปรับได้

ข้อที่สามซึ่งก็เกี่ยวข้องกับข้อแรก เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้หวังตำแหน่งทางการเมือง ไม่ได้เข้ามาเพื่อกอบโกย แสวงหาประโยชน์ ทำเพื่อชาติจริงๆ ดังนั้น เราจะเป็นเวทีกลางให้คนเก่งได้ทำงาน รวบรวมคนเก่งให้ได้มากที่สุด หรือถ้าเราได้เป็นรัฐบาล ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในพรรคก็ได้ แต่เราจะเน้นคนเก่ง นายกฯ อีกเรื่องหนึ่งนะ แต่หมายถึงรัฐมนตรี ใครก็ได้ถ้าเราเห็นว่าเก่งจริง เน้นเพื่อชาติเป็นหลัก

ที่บอกว่าแนวทางของคุณกับคุณธนาธรที่ไม่เหมือนกันและไม่เหมาะ มันคืออะไร

ข้อแรกคือเขามีสไตล์ของเขา พร้อมจะเป็นนักการเมือง แต่ข้อนี้อาจจะไม่ใช่เหตุผล เพราะผมก็บอกว่าจะเป็นตัวของตัวเอง เพราะมันก็ปรับได้

ข้อสอง ผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่แตกต่าง เราบอกว่าจะก้าวข้ามความขัดแย้ง ผมคิดว่าพรรคเราก็อาจจะมีวัตถุประสงค์ท้ายสุดเหมือนกันกับพรรคอนาคตใหม่นั่นแหละ อยากปรับรัฐธรรมนูญ อยากเห็นประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่เราไม่เน้นไปชนก่อน เราเน้นความก้าวหน้าก่อน ลืมไปเถอะ ยังไงเราก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ เราเข้าไปได้ปุ๊บ ค่อยไปแก้รัฐธรรมนูญ แต่ภาพลักษณ์พรรคอนาคตใหม่ที่ออกมาคือฉันจะต้องเอาประชาธิปไตย ฉันต้องชนกับรัฐบาลก่อน การประกาศตัวแบบนั้นไม่ใช่แนวทางของผม ไม่ใช่บุคลิกของผมแน่นอน สุดท้ายแล้วก็อาจเหมือนกัน ต้องการความก้าวหน้าของประเทศ ต้องการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ เป้าหมายเหมือนกัน แต่แนวทางการทำไม่เหมือนกัน ส่วนอื่นๆ ก็เป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่า เราไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน สนิทกันด้วยซ้ำ

ตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมืองปี 2549 การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงช่วงปี 2553 ไล่มาจนถึงรัฐประหารปี 2557 ช่วงเวลาเหล่านี้คุณคิดอะไร ทำอะไรอยู่

จริงๆ ผมเป็นคนสนใจการเมืองนะ ตั้งแต่เด็กด้วยซ้ำ เด็กคนอื่นดูการ์ตูนกัน ผมชอบดูข่าวมากกว่าดูการ์ตูน คุยกันเรื่องประธานธิบดีเดโมแครต รีพับรีกันกับพ่อ เพราะคุยกับใครไม่ได้เลย เด็กไม่รู้เรื่องการเมืองเลย อย่างที่บอกว่าการเมืองมันเป็นยังไง ผมก็แค่สนใจ ช่วงที่ผ่านมายอมรับว่าผมไม่ได้ศึกษาเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ให้เข้าใจมากขึ้น แค่ตามข่าวเฉยๆ อยากเห็นความก้าวหน้าของประเทศ ผมชอบดูแผนที่ อยากเห็นทางรถไฟมากขึ้น อยากเห็นถนนเพิ่มขึ้น ทุกปีต้องมาอัพเดทกันว่า ปีนี้ถนนเพิ่มขึ้นนะ เปลี่ยนจากลูกรังเป็นยางมะตอย คือเราอยากให้ประเทศก้าวหน้า แต่ยอมรับว่าเบื่อหน่ายมากๆ กับการออกมาชุมนุม ตั้งแต่ยังไม่ไปเรียนที่ญี่ปุ่น ตั้งแต่มีสุจินดา (คราประยูร) ก็อึดอัดมาตลอด

แต่เรื่องนี้มันมีฝ่ายแพ้ ฝ่ายชนะ พอฝ่ายหนึ่งแพ้ สักวันหนึ่งก็กลับมาแก้แค้นเพื่อให้ตัวเองชนะ คิดแต่ว่าจะทำยังไงให้ชนะ ไม่ได้คิดถึงประเทศเป็นหลัก แล้วก็เบื่อหน่ายแม้กระทั่งคนในสังคมเดียวกัน ในครอบครัวคิดไม่เหมือนกัน ในเพื่อนกลุ่มเดียวกันก็รู้ว่าเรื่องการเมืองคุยกันไม่ได้ อึดอัดมาตลอด แต่ก็ยอมรับว่าไม่รู้จะทำยังไง แต่ก็ไม่เคยคิดว่าเราจะลงมาแก้ปัญหาเอง แค่รอโอกาสว่าสักวันหนึ่งมันจะดีขึ้น

มันก็ตรงกับคอนเซ็ปต์ของเรานิดหนึ่งตรงที่บอกว่า เราไม่เปลี่ยนคนอื่น แต่สุดท้ายเราไม่ได้หวังว่าจะปล่อยให้เป็นแบบนั้นนะ การที่เราบอกว่าจะเข้ามาทำระบบที่โปร่งใสของพรรคเป็นตัวอย่าง ถ้ารัฐบาลให้ทำ เราก็จะทำรัฐบาลที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ พอเกิดระบบที่ดี โปร่งใส สถาบันที่เราอยากให้เขาปรับ เขาก็ต้องปรับ ไม่อย่างนั้นเขาอยู่ไม่ได้ ซึ่งอาจจะเป็นทางออกที่ดีกว่าที่เราจะไปต่อสู้ สู้ไปแล้วก็รู้ว่าแพ้ทั้งคู่ ก็คงไม่จำเป็นต้องสู้

คุณบอกว่าถ้าจะทำพรรคการเมืองก็ต้องทำแล้วมีความสุขด้วย พรรคการเมืองแบบไหนที่ทำแล้วมีความสุข

นั่นคือเหตุผลที่ผมต้องมาตั้งพรรคเอง ผมยอมรับว่าผมเอาตัวเองเป็นตัวตั้งก่อนเพื่อจะบอกว่า เราทำอย่างไรแล้วมีความสุข ผมยอมรับว่าผมไม่มีต้นทุนอะไรต้องเสีย แนวคิดพื้นฐานของผมคือแค่ทำให้คนเห็นว่าการที่ผมออกมาทำ เขาสนับสนุนผมทำ ผมก็มีความสุขระดับหนึ่งแล้ว เหมือนผมซ้อมวิ่ง เป้าหมายสุดท้ายคือความสุขสูงสุดก็จริง แต่ระหว่างทางเราก็มีความสุขเป็นขั้นๆ ถึงจะยังไม่สุดทาง แต่เรามีความสุขสะสมมาแล้ว แน่นอน เราอยากไปให้ถึงเส้นชัย ตั้งพรรค ได้เสียงข้างมาก ผมเป็นนายกฯ เลย เป้าหมายสูงสุด แต่ระหว่างทางผมก็มีความสุขเป็นขั้นๆ ของผมไป

ทีนี้ ตอบคำถามตรงๆ เลยก็คือว่า ถ้าผมมีความสุข ผมบอกสังคมได้ว่าผมมีความสุข มันก็จะเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าทำการเมืองอย่างมีความสุขก็ทำได้ ทำดีด้วย แต่ก็เป็นเรื่องที่คนอื่นจะประเมินเรา แต่เพื่อให้ทุกคนอยากลงมาทำการเมือง คือถ้าผมสามารถทำได้อย่างมีความสุข แล้วทำไมคนอื่นไม่มาทำด้วยกันล่ะ ไม่ต้องทำแบบผมก็ได้ ตั้งพรรคการเมืองอื่นก็ได้ที่ทำแล้วมีความสุข แต่ไม่อยากเน้น เดี๋ยวคนจะหาว่าคุณจะมาทำงานการเมือง แล้วจะหาความสุขทำไม ไม่ใช่ ผมแค่อยากบอกไว้ว่ามันเริ่มมาจากอย่างนั้นจริงๆ ผมยังไม่เจอแรงกดดันที่หลายคนเตือนว่า เป็นนักการเมืองเดี๋ยวคุณก็ต้องเจอนั่นเจอนี่ ตอนนี้ผมยังมีความสุขอยู่ทุกวัน คิดนั่นคิดนี่

ผมเพิ่งประกาศไปว่าจะลงพื้นที่ ซึ่งผมไม่อยากใช้คำนี้นะ เพราะดูเป็นนักการเมือง ผมจะไปเดินทุกจังหวัดทั่วประเทศภายใน 1 ปี จะสำเร็จหรือเปล่า ไม่รู้ แต่จะไปทุกจังหวัดเลย ไปเหมือนที่ผมไปเนปาล แบกเป้ไปใบหนึ่ง ไปนอนบ้านชาวบ้าน แค่คิดตรงนี้ ผมก็ไฟลุกโชน ตื่นเต้น และมีความสุขมากที่จะได้ทำ ตอนนี้ยังมีความสุข มีกำลังใจที่จะทำ สำเร็จหรือเปล่าไม่รู้ แต่โดยส่วนตัวแค่ผมได้ประกาศ ผมก็มีความสุขแล้ว

ถ้าการลงมาทำพรรคการเมืองของคุณคือความสุข แต่ความสุขของคนเรามีขึ้น มีลง และเราก็รู้กันดีว่าการเมืองคือการต่อรอง ต่อสู้ ประนีประนอม และบางทีจุดที่ต้องประนีประนอมอาจทำให้ไม่มีความสุขก็ได้ แปลว่าถ้าวันหนึ่งไม่มีความสุขจะหยุดทำ?

ไม่ใช่ ผมถึงบอกว่าไม่อยากให้เน้นกับคำว่ามีความสุข ผมมีเป้าย่อยๆ ระหว่างทาง ผมเริ่มทำที่ความสุขก็จริง แต่ผมยอมรับว่าผมต้องเตรียมรับสถานการณ์อย่างที่ว่า แต่ผมตอบทั่วไปว่าผมเจอแรงกดดันเมื่อไหร่ ผมประเมินว่าผมทำสำเร็จแล้ว หมายความว่าผมสามารถสร้างกระแสให้คนมากดดันผมได้ อย่างน้อยคนนั้นก็ต้องทึ่งในความสำเร็จของผมบางอย่าง แค่นั้นผมก็พึงพอใจแล้วว่าผมทำบางอย่างสำเร็จ และถึงตอนนั้นถ้ามันเกิดความสำเร็จ ผมเชื่อว่าผมจะมีภูมิคุ้มกันจากคนที่สนับสนุนเรา ภูมิคุ้มกันตรงนี้แหละที่จะช่วยผมได้ระดับหนึ่ง

มันเป็นเรื่องอนาคตนะ ผมจะบอกว่ามันไม่ใช่ว่ามีความสุขหรือไม่มีความสุข แต่ถ้าผมคิดว่าผมยังทำประโยชน์ได้ ผมทำต่อแน่นอน ผมไม่สามารถจินตนาการอนาคตได้ว่าถ้าผมเจออำนาจบางอย่างที่แรงมากๆ ก็ต้องมีการประเมิน ผมเชื่อว่านักการเมืองหลายๆ คนอาจจะเจออยู่ด้วยซ้ำไป ตั้งแต่ก่อนผมกลับมาเนปาล ผมคิดว่าทำงานให้ประเทศชาติมาระดับหนึ่งแล้ว ทั้งการใช้ทุน การสร้างแรงบันดาลใจ อายุสี่สิบห้าสิบเราตายได้แล้ว ไม่เสียดาย แต่ถ้าเจอแรงกดดันถึงขั้นเสี่ยงชีวิต ถ้าเกิดผมเสี่ยงแล้วมีประโยชน์จริง ผมพร้อม แต่ต้องรู้ว่ามีทางรอดนะ ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ตายแน่ๆ ไม่ใช่ คือเสี่ยงที่จะสู้ แต่ถ้าผมรู้ว่าเสี่ยงไปผมก็ตายฟรี ผมก็พร้อมจะหลบ มันไม่ได้เสียหายอะไร เพราะผมคิดว่านักการเมืองตอนนี้ก็เจอ เขาถึงมีปัญหาทำอะไรไม่สำเร็จ

กลัวว่าตัวเองจะเปลี่ยนไปเป็นคนที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนหรือเปล่า

ผมไม่เคยกลัวเรื่องนั้น เพราะผมเปลี่ยนในทางที่ดีมาตลอดเวลา แต่ผมยังไม่เคยเปลี่ยนไปในทางที่แย่ ยอมรับว่าเปลี่ยนมาเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ เปลี่ยนความคิด พอผ่านบางอย่างก็เปลี่ยนมาเรื่อยๆ แต่ผมไม่เคยเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงเลย

คำว่าการเมืองสำหรับคุณ สำหรับพรรคกลางคืออะไร นิยามมันว่าอะไร คือการต่อรอง ต่อสู้ ผลประโยชน์ หรืออะไร

ไม่ ผมบอกแล้วว่าถ้าผมคิดอย่างนั้น ผมก็ไม่เข้ามาทำ แต่ผมเชื่อว่าทุกคนคิดอย่างนั้นอยู่ เพราะคนที่เตือนจะพูดอย่างนี้หมดว่าการเมืองคือเรื่องการต่อรองของอำนาจ ยังไงคุณก็ต้องมีนายทุนมาให้ทำนั่นทำนี่ ซึ่งผมเชื่อ ก็อย่างที่บอก เพราะทุกคนเชื่ออย่างนั้น แล้วผมจะไม่เชื่อได้ยังไงว่าสังคมมันเป็นอย่างนั้น แต่ส่วนตัวผมไม่เชื่ออย่างนั้น

ที่ผ่านมามันเป็นอย่างนั้น แต่เรากำลังจะทำสิ่งที่ไม่ใช่อย่างนั้น มันก็เหมือนเราเป็นสมาชิกของครอบครัว คือเราไปมองว่าทุกคนต้องมาแก่งแย่งผลประโยชน์กัน แต่ถ้าเรามองว่าเป็นครอบครัว เรารักกัน เราก็ต้องอยากให้ครอบครัวเราเจริญก้าวหน้า ทุกคนมีส่วนร่วมได้ ถ้าทุกคนมีส่วนร่วมได้ มันอาจจะดูอ่อนไปแล้ว ผมถึงอยากใช้คำว่า ทุกคนเป็นนักการเมืองได้ มันเป็นเรื่องของทุกคนที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อประเทศ เป็นเจ้าของประเทศ แล้วคำว่านักการเมืองอาจจะไม่มีแล้วก็ได้

มันก็จะมาตรงกับประเด็นที่เราจะชูเรื่องประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งคนในกลุ่มก็แย้งมาว่าทางตรงจะไม่มี ส.ส. เหรอ มีคนแนะนำว่าควรใช้คำว่า Liquid Democracy แปลเป็นไทยว่าประชาธิปไตยลื่นไหล ถ้าให้ตอบคำถามเมื่อกี้คือการเมืองที่เป็นอยู่ตอนนี้เพราะเรามีระบบตัวแทน ต้องตั้งพรรคเพื่อให้คนมาเลือกเป็นตัวแทน เพราะประชาชนเป็นล้าน ทุกคนจะมีสิทธิ์มีเสียงเหมือนครอบครัวไม่ได้ สมัยก่อนประชาธิปไตยเกิดจากนักปราชญ์กรีกไม่กี่คน ทุกคนมีสิทธิ์ออกเสียง เวลาตัดสินใจอะไรสักทีทุกคนก็ออกความเห็นหมดเลย มันจึงไม่ต้องมีนักการเมือง เพราะทุกคนคือนักการเมือง ทุกคนมีสิทธิ์ตัดสินใจ จะไม่มีขั้วอำนาจ เพราะมันเกิดพรรค เกิดตัวแทน เกิด ส.ส. ขึ้นมา

"ผมกำลังจะทำแคมเปญว่า ทุกคนเป็นนักการเมืองได้ อยากให้คนทั้งประเทศรู้ว่าคุณเป็นนักการเมืองได้ มันเป็นเรื่องที่ยากและดูอุดมคตินะ แต่ผมทำเรื่องนี้แน่นอน ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง"

ประเด็นคือคำว่า Liquid Democracy จะช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาตรงนี้ระดับหนึ่ง ประเทศที่ประชากรน้อยหรือมีเงินอย่างสวิสเซอร์แลนด์ เขาจะตัดสินใจอะไร ทำประชามติ ไม่ต้องให้ ส.ส. ตัดสินหรอก เขาทำประชามติได้เป็นร้อยเป็นพันครั้งต่อปี เพราะประชากรไม่เยอะและมีเงิน แต่เรามีประชากรเยอะและไม่มีเงิน จึงต้องมีระบบตัวแทน ถ้าเราทำทางตรงได้ ดีเลย ถ้าทางตรงแบบสุดโต่งเลยคือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยก็ทำได้ เพราะตอนนี้เทคโนโลยีพัฒนาแล้ว ใช้บ่งชี้อัตลักษณ์ได้ โหวตลงมติผ่านออนไลน์ได้ ใช้มือถือบอกได้ว่าคุณเป็นใคร มีการพูดถึงเทคโนโลยีอย่างบล็อกเชนที่ช่วยกระจายความเสี่ยงของการแฮ็กและแก้ไขข้อมูล

แต่คำว่า Liquid Democracy ไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นทางตรงแบบนี้ แต่อาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ ทางตรงก็ได้คือสามารถโหวตลงประชามติได้ ที่ดีกว่าคือคนเยอะๆ อย่างนี้ สมมติเราถามเรื่องการสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่ชาวบ้านบอกว่าฉันไม่มีความรู้ทางวิศวกรรม ก็สามารถมอบโหวตนั้นให้กับผู้รู้ที่เขาไว้วางใจ เช่น ฉันมีเพื่อนเป็นวิศวกรรม ฉันขอมอบโหวตให้คนคนนี้ แล้วไปโหวตแทนฉัน เขาจะมีเสียง 2 เสียง เขาอาจจะมีเสียงหลายเสียงจากคนอื่น และเรามีสิทธิโอนสิทธิเฉพาะเรื่องนั้นให้กับคนใดคนหนึ่ง ถอนคืนเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเป็นเรื่องการเกษตร ก็ให้อีกคน ลักษณะนี้เรียกว่า Liquid Democracy หรือประชาธิปไตยแบบลื่นไหล ซึ่งมีบางประเทศที่ใช้ เช่น ชิลีมีการพัฒนาโอเพ่นซอร์สไปทดลองทำ เซียราลีโอนที่ใช้อย่างเป็นทางการแล้ว เราพยายามชูประเด็นนี้เพราะคนในทีมเรามีคนที่รู้เรื่องไอทีเยอะพอสมควร

ทำไมคุณจึงเชื่อว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้เราก้าวข้ามความแย้งที่เรื้อรังมาทศวรรษกว่าๆ ได้

เทคโนโลยีไม่ได้เป็นตัวหลัก เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้เราทำงานได้ตามเป้าหมายที่เราอยากจะทำ คือเราต้องการก้าวข้ามตรงนั้น เราต้องทำระบบให้ดี โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ นี่คือคีย์ของปัญหา แต่เทคโนโลยีจะมาช่วย เช่น สมมติว่าคนจะทำผิดก็ต้องวัดว่าจะทำหรือไม่ทำ เสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย ความเสี่ยงมี 2 แบบคือโอกาสที่จะถูกจับได้กับถูกจับได้แล้วจะถูกลงโทษแรงแค่ไหน เขาจะวัดตรงนี้ก่อน แต่ถ้าเราสามารถสร้างความโปร่งใสได้ มีคนเสนอบล็อกเชน เนชั่น ซึ่งข้อมูลทุกอย่างจะต้องถูกเก็บ ถ้าเก็บในเซิร์ฟเวอร์เดี๋ยวมีคนแฮ็กได้ เก็บในบล็อกเชนเพื่อกระจายความเสี่ยงที่จะถูกแก้ไขและสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะถูกตรวจจับได้มีสูงขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว อะไรที่ทำไม่ดี โฟลว์ต่างๆ ในการอนุมัติเราเก็บแทร็กของการทำงาน เขียนเรื่องนี้เข้ามา ใครอนุมัติ เขียนทีโออาร์มีการแก้ไขกี่ครั้ง ใครแก้ไขตรงไหนบ้าง ถ้าเราเก็บแทร็กไว้ได้หมด คนจะกล้าทำผิดมั้ย เพราะแทร็กตรงนี้สามารถถูกตรวจสอบได้ตลอดเวลา

แนวโน้มมันเปลี่ยนไปแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เราเพียงแต่นำเสนอว่ามันมีเครื่องมือที่ช่วยให้ทำได้ ถ้าทำแบบนี้ อย่างที่บอกว่าเราเน้นความก้าวหน้าและความโปร่งใส ถ้าเราทำระบบให้ดีขึ้น ซึ่งสังคมก็มีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปอย่างนั้นด้วยอยู่แล้ว เราเพียงแต่มานำเสนอแนวทางที่เป็นรูปธรรม แล้วทุกส่วนในสังคมน่าจะต้องปรับตัวเองเพื่อให้ไปได้กับระบบที่ดีขึ้น แล้วสิ่งที่เราอยากให้เขาเปลี่ยน เขาก็ต้องปรับตัวให้ดีขึ้น ไม่กล้าทำไม่ดี เพราะมีความเสี่ยงที่จะถูกตรวจจับมากขึ้น แน่นอนว่าอาจจะมีกลไกอื่น เช่น ปรับกฎหมายให้แรงขึ้นหรืออะไรก็แล้วแต่ นั่นก็จะเป็นการทำให้ทุกคนต้องปรับตัว

ทำไมคุณจึงคิดว่าเทคโนโลยีจะเป็นตัวข้ามผ่านของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้

เรื่องนี้ดาวเป็นคนพูดครั้งแรก แต่มันก็มาจากสิ่งที่ผมพยายามอธิบายเรื่อง Liquid Democracy ความไม่เป็นประชาธิปไตยอาจจะดูกว้างมาก แต่กำลังจะบอกว่าถ้าประชาธิปไตยพื้นฐานที่มีจากกรีก มันมาจากเสียงของทุกคน ที่ผมพยายามบอกว่าทุกคนเป็นนักการเมือง ทุกคนมีสิทธิ์ออกเสียง แต่ประชาธิปไตยที่เราเป็น มันเป็นระบบตัวแทน ซึ่งผมคิดว่าเราไม่ได้ไปปรับกฎอะไร แต่มันมีข้อเสียของประชาธิปไตยตัวแทนอยู่ เพราะเราเลือกผู้แทนไป 1 คน เขาตัดสินใจแทนเรา 4 ปี และบางครั้งคนนั้นเราไม่ได้เลือกด้วย หรือนายเอเลือกคนที่ชนะก็จริง แต่นายเอก็ไม่มั่นใจว่าคนที่ไปตัดสินใจแทนเขา ตัดสินใจตรงใจเขาทุกครั้งในสภาหรือเปล่า คนที่เลือกไปตัดสินใจตามใครก็ไม่รู้ เคยมาทดสอบกลับมั้ยว่าคนที่เลือกฉันมาสนับสนุนให้เลือกแบบไหนในสภา มันตรวจสอบไม่ได้ เพราะเขาตัดสินใจแทนเรา 4 ปีโดยไม่สนว่าเราคิดอย่างไร

แต่เทคโนโลยีตรวจสอบกลับได้ ขณะเดียวกันเราใช้เทคโนโลยี อย่างก่อนที่เขาจะโหวตในสภา เปิดโพลล์ถามเฉพาะคนที่อยู่ในเขตการเลือกตั้งของเขา เรื่องนี้ช่วยตัดสินหน่อยครับว่าผมในฐานะผู้แทนของเขตนี้ควรโหวตอย่างไร เรานำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้การมีส่วนร่วมของเจ้าของประเทศจริงๆ สามารถทำได้ง่ายขึ้น

เทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือ ช่วยให้เกิดความโปร่งใส ประสิทธิภาพ สร้างประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้น ประเด็นคือแต่ในสังคมมีกลไกกติกาเชิงสถาบันที่กำกับเทคโนโลยีนั้นอีกทีให้เป็นไปตามอุดมการณ์ที่ครอบงำสังคม

ผมบอกไปแล้วเทคโนโลยีไม่ใช่ตัวนำ เราต้องรู้ก่อนว่าเราจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร แล้วเทคโนโลยีจะมาช่วยเรื่องประสิทธิภาพหรือช่วยเร่งให้ทำได้เร็วขึ้น อย่างเรื่องปลูกบ้านพักบนดอยสุเทพ ถ้าเป็นสมัยก่อนไม่มีคนรู้ ทำไปก็คงผ่านไปแล้ว แต่ ณ ปัจจุบันข้อมูลไปเร็วมาก โซเชียลมีเดีย พอรู้ปุ๊บ เกิดกระแสสังคม มีพลังบางอย่าง กดดันบางอย่างได้ ผมกำลังยกตัวอย่างให้เห็นว่าพอข้อมูลมันแพร่กระจายได้เร็วขึ้น แรงกดดันของสังคมจะเป็นตัวบังคับสิ่งที่ทำอยู่ให้ตัดสินไปในทิศทางที่เป็นทำนองคลองธรรมขึ้น

ผมเข้าใจว่าอาจจะมีอำนาจบางอย่าง เหมือนกัน ถามว่าตอนนี้ถ้าเราไปสู้ เราสู้ไม่ได้ มันติดรัฐธรรมนูญอยู่ เราก็ต้องสู้ตามระบบเข้าไป แล้วไปแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีกลไกอยู่ แต่ถ้าเราจะไปไฟท์เลย เรายังไม่เห็นด้วยกับตรงนั้น มีคนพูดเหมือนกันว่าถ้ารู้ว่ากฎหมายไม่ถูกต้องหรือประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ เราจะต่อต้านได้มั้ย ก็เป็นประเด็น มันอยู่ที่สังคมด้วย ผมจึงบอกว่าข้อมูลข่าวสารไม่ใช่ตัวสำคัญที่สุดก็จริง แต่มันมีผล และจะมีผลมากขึ้นเรื่อยๆ

ในประเทศไทยช่องว่างทางดิจิตัลลดลงอยู่ในระดับที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างประชาธิปไตยแล้ว

ประเทศไทยยังมีช่องว่างอยู่เยอะมาก มันแคบลงมาเรื่อยๆ แต่ผมว่ายังไม่เพียงพอ คนใช้มือถืออาจจะใช้ในแง่ความบันเทิงมากกว่า ไม่ได้สนใจเทคโนโลยีอะไรเลย ถ้าไปตามชนบทบางที่สัญญาณก็ยังเข้าไม่ถึง ผมไปวิ่งต่างจังหวัดบ่อยๆ ผมเข้าไปในหมู่บ้านชาวเขา สัญญาณโทรศัพท์ยังไม่ค่อยมี ไฟฟ้าก็มาบ้าง ดับบ้าง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ผมตอบไม่ได้ มีคนถามผมเรื่องนี้เยอะมาก ผมคิดว่าทุกคนประเมินกันได้ว่าช่องว่างนี้กว้างมากแค่ไหน ทุกคนเชื่อว่ายังกว้างอยู่ เพราะเขาถามผมว่าถ้าพรรคผมใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก แล้วจะเข้าถึงคนที่ใช้เทคโนโลยีไม่เป็นไปได้ยังไง

ผมยอมรับและตอบว่าเรายังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ผมยอมรับผิดที่เราละเลยคนเหล่านั้นอยู่ ผมจึงประกาศว่าใน 1 ปี ผมจะไปเรียนรู้จากพวกเขาทุกจังหวัด อันนี้คือที่ประกาศไว้คร่าวๆ อาจจะเลือกพื้นที่ที่มีช่องว่างมากที่สุดเพื่อเรียนรู้ ณ วันนั้นผมอาจจะตอบได้ ก็อาจจะใช้เวลา ที่คิดไว้คืออาทิตย์หนึ่งจะอยู่ต่างจังหวัด เดินไปตามบ้าน นั่งโบกรถ ไปนอนโฮมสเตย์ พูดคุย แต่ก็อยากมีเป้าหมายสักนิด กำลังหาทางอยู่ว่าจะไปคุยกับใคร คงไม่ใช่เดินสุ่มสี่สุ่มห้าไปคุย จะหาปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้นำชุมชนได้มั้ย ตรงนี้ยังคุยกันอยู่ว่าจะไปคุยได้อย่างไร แต่ที่สำคัญคือเรายอมรับว่าเราผิดพลาดที่เรายังไม่รู้ข้อมูลตรงนั้น แล้วผมก็ยังเชื่อว่าคนที่มาทำงานการเมืองยังละเลยตรงนี้อยู่ จะสนใจก็แค่ช่วงเลือกตั้ง

แต่ในฐานะที่เราเพิ่งเข้ามา ผมคิดว่าข้อมูลตรงนี้สำคัญ ผมจึงตัดสินใจว่าผมจะใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตเพื่อทำตรงนั้น ถ้า คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) บอกว่าจะเลื่อนเลือกตั้งไปอีก เราก็จะมีเวลาศึกษาข้อมูลจากปราชญ์ชาวบ้าน คนที่มีโอกาสน้อยกว่าคนกลุ่มอื่นในสังคม

แนวทางการทำพรรค การหาเสียง จะเป็นอย่างไร

ต้องยอมรับว่าตอนแรกเราเข้ามาแบบแบล๊งๆ ไม่ได้เตรียมการศึกษากฎหมายอะไร ตอนนี้มีทีมแล้ว ตอนแรกที่คิดกันเอง คิดว่าเอาเฉพาะปาร์ตี้ลิสต์แล้วกัน เราไม่มีตังค์ จะไปหา ส.ส. เขตยาก เราจะเอาอะไรไปให้เขา ก็คิดว่าขอปาร์ตี้ลิสต์สัก 5 เปอร์เซ็นต์ ได้รัฐมนตรี 1 คน ลองไปทำกระทรวงต้นแบบให้ดู ปรากฏว่าเรามารู้ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคต้องมี ส.ส. เขตลงเลือกตั้ง กาใบเดียว และเอาคะแนนของ ส.ส. ทุกคนมาเป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์

ตอนแรกเราก็ตกใจ เพราะเราเป็นพรรคใหม่ที่จะค่อยๆ โต แล้วเราจะทำยังไง ถ้าเรามี ส.ส. คนเดียวในกรุงเทพ ได้คะแนนหมื่นหนึ่ง คนทั้งประเทศเลือกเราไม่ได้เลย มีคนรู้จักเรา แต่เลือกเราไม่ได้เลย แต่ตอนนี้ผมก็มองเป็นจุดดีนะ ผมมองในแง่บวกเสมอ คสช. ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ผมก็มองแง่บวกว่าพรรคเราจะได้เตรียมพื้นฐานที่มั่นคงก่อน เมื่อรัฐธรรมนูญบอกให้ต้องส่ง ส.ส. เขต ผมก็มองแง่บวกว่ามันสนับสนุนให้พรรคเรายั่งยืน เป็นตัวชี้วัดว่าถ้าพรรคเราจะยั่งยืนจริง เราต้องมีสมาชิกกระจายอยู่ทั่วประเทศให้ได้ มีคนไปศึกษามาว่าเราจะส่ง ส.ส. ในจังหวัดนั้นได้จะต้องมีสมาชิกพรรคอยู่ที่จังหวัดนั้นอย่างน้อย 100 คน ผมก็ต้องมองแล้วว่าจะสมัครสมาชิก อยู่จังหวัดไหนๆ อยากให้มีให้ได้ 100 คนทุกจังหวัด เพื่อเราจะได้ส่ง ส.ส. เขตได้ เราก็จะพยายามทำให้ได้ เป้าเราต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ดี ก็จะทำให้ดีที่สุด จะได้ทุกจังหวัดหรือเปล่ายังไม่รู้ ถ้าทำได้มันจะเป็นพื้นฐานที่ดีของพรรค เพราะผมเน้นความยั่งยืนของพรรคมากกว่าผลการเลือกตั้ง

ผมเขียนไปในอุดมการณ์ของพรรคข้อหนึ่งว่า ชาติมาก่อน แล้วก็เน้นความยั่งยืนของพรรคก่อนการชนะเลือกตั้งแบบครั้งคราว ถ้าพรรคเราอยู่ได้อย่างยั่งยืน เราจะชนะได้อย่างถาวร การที่พรรคยั่งยืนได้คือมีคนสนับสนุนเราทั่วประเทศจริง ในขั้นแรกเขายังไม่เห็น กลัวว่าเลือกเราไปก็ไม่ได้ แต่เราก็ทำของเราไป เราจึงเน้นผู้สนับสนุนมากกว่าไปเสนอนโยบายเพื่อให้ได้ชนะเลือกตั้งเท่านั้น จะเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมและมีประโยชน์กับประเทศชาติ กับทุกคนจริงๆ ถ้ามันดี เขาก็เลือกเรา

จะสร้างผู้สนับสนุนได้อย่างไร

อย่างหนึ่งคือที่ผมกำลังจะทำ ต้องบอกว่าไม่อยากให้คนคิดอย่างนั้น เพราะมันมาจากที่ผมอยากเรียนรู้จริงๆ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคิดถึงเรื่องนี้ด้วย ตอนนี้ผมชวนปากต่อปาก และเราก็ยอมรับด้วยว่าเราโตเร็วไม่เท่าพรรคอื่นที่ได้พื้นที่สื่อเยอะกว่า แต่เราก็ยังรู้สึกว่าคนที่สนใจเรา มาแล้วอยู่กับเรานาน หรือมาเพราะสนใจเราจริงๆ แล้วมันก็ไม่ถึงกับหวือหวา แต่ค่อยๆ โต ผมมีกลุ่มผู้ติดตามที่ค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ ทีละนิด แล้วเราก็คาดหวังว่ากลุ่มคนเหล่านี้ที่สนใจเรา ขอให้เขาช่วยเพิ่มเครือข่าย ช่วยแนะนำคนให้กับเรา ช่วยขยายแนวคิดของเราให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ

เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอก

ผมไม่สนับสนุนให้มีการถามเรื่องนี้ด้วยซ้ำ คือประเด็นนี้เกิดจากเรื่องส่วนตัว เรื่องบุคคล จริงๆ แล้วนักข่าวหรือสังคมสนใจเพราะต้องการแบ่งว่าพรรคนี้สนับสนุนนายกฯ ทหารหรือเปล่า แล้วพรรคก็จะคิดว่าจะประกาศตัวอย่างไรเพื่อให้ได้เสียงข้างมาก คือมันไม่ใช่ประเด็น อย่างที่บอกเราไม่สนใจตัวบุคคล ข้ามไปเลย แต่คำตอบสุดท้ายก็ออกมาแบบนั้นว่า เราไม่สนับสนุนคนนอกอยู่แล้ว เพราะว่าเราไม่สนใจตัวบุคคล เราไม่สนใจเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป ถามว่านายกฯ จะมาจากไหน ก็ตามครรลองคลองธรรมของประชาธิปไตย ประชาชนเลือก ส.ส. สนับสนุนแนวทางของพรรค ดังนั้น ตามหลักก็ไม่เห็นต้องถามเลย ผู้นำพรรคที่ได้เสียงข้างมากหรือที่ร่วมก่อตั้งรัฐบาลก็น่าจะได้เป็นนายกฯ เพื่อให้เขาสามารถควบคุมนโยบายตามที่ได้รับเลือกเข้ามา ผมว่ามันเป็นอะไรที่เคลียร์อยู่แล้ว ถ้าเราสนับสนุนประชาธิปไตย คำตอบสุดท้ายจึงออกมาตรงนั้น

แต่ไม่ใช่อยากให้ทุกคนคิดว่า พรรคนี้ตัดสินใจแบบนี้เพราะต้องการให้ชัดว่าฉันต้องการได้เสียงของคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเอาคนนอกมา นักข่าวไม่ควรถามเรื่องนี้ เป็นการชี้นำให้ประชาชนไม่สนใจว่านโยบายพรรคเป็นยังไง มาสนใจว่าฉันเชียร์คนนี้ ไม่เชียร์คนนี้ แล้วไปเลือกพรรคที่ประกาศแบบนี้ ผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่ไม่สร้างสรรค์ แต่ว่าโอเค มันมีจุดที่รัฐธรรมนูญมันเปิดช่อง แต่ไม่จำเป็น เพราะการที่เราบอกว่าจะเอานายกฯ คนในก็ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เรายึดตามหลักประชาธิปไตยที่ใกล้เคียงกับประชาธิปไตยจริงๆ มากที่สุด

แต่ถ้าถามก่อนและตอบก่อน เราทำตามคำพูดอยู่แล้ว ต้องทำตามสิ่งที่เราตัดสินใจไว้ ถามมาเราก็บอกแล้วว่าเราไม่เห็นด้วยกับนายกฯ คนนอก เราก็ไม่เข้าร่วม มันไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ขัดกับแนวทางที่ดีของประชาธิปไตย

พรรคกลางมีนโยบายที่จะซ้ายหรือขวาต้องดูตามสถานการณ์ ขยายความหน่อยครับ อุดมการณ์ของพรรคคืออะไร

อุดมการณ์ตีความยังไง

อาจหมายถึงอุดมการณ์ทางความคิดที่จะใช้ผลักดันสังคม เช่น ในต่างประเทศก็จะบอกตำแหน่งพรรคชัดเจนว่าเป็นซ้าย ขวา ซ้ายกลาง ขวากลาง เป็นต้น

ตอบตามหลัก 3 ข้อของคำว่ากลางเลย คำว่ากลาง ไม่ใช่ขั้ว ไม่ได้เอียงซ้าย เอียงขวา แต่เราจะมุ่งพัฒนาโดยไม่สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง เพราะเราคิดว่าการสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้คนทะเลาะกันอยู่ทุกวันนี้ เรามุ่งไปตรงกลาง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราอยู่กลางของสองขั้ว เพราะเรามีขยายต่อ คือบางคนอนุรักษ์นิยมก็อนุรักษ์นิยมสุดโต่ง จะลิเบอรัลก็ลิเบอรัลสุดโต่งทุกสถานการณ์ แต่เราจะไม่เอาความซ้ายขวามาเป็นตัวเบี่ยงเบนเราจากความก้าวหน้า นี่คือความหมายกลางของเรา จะมองว่าเป็นความสมดุลก็ได้ พร้อมที่จะใช้นโยบายที่เป็นข้อดีของอนุรักษ์นิยม พร้อมจะใช้นโยบายที่เป็นข้อดีของลิเบอรัล เพื่อจะพัฒนาประเทศ

ข้อที่ 2 อาจจะคล้ายกับที่ผมพูดเรื่องทำแล้วมีความสุข คือมันเป็นเวทีกลางที่สร้างคนที่มีประสบการณ์ คนเก่งให้มาทำงาน ไม่ได้หวังมากอบโกยหรือหวังตำแหน่ง แต่หวังให้คนเก่งเข้ามาร่วมพัฒนาประเทศ เป็นวิธีการที่เปิดรับทุกคน ความเห็นแตกต่างยังไงก็ตามขอให้เข้ามาและสนับสนุนให้ได้ทำงาน

ข้อที่ 3 แนวทางของเราคือเราจะเป็นต้นแบบกลาง หมายถึงถ้าเราอยากทำอะไรสักอย่างที่เป็นผู้นำ เป็นแนวทาง ถ้ามันดีจริงก็อยากเผยแพร่ ใครจะนำไปทำก็ได้ เราจะนำเทคโนโลยีมาใช้ เราพร้อมจะเปิดเผย โอเพ่นซอร์สให้คุณมาใช้ด้วย เราทำระบบพรรคการเมืองที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ทำเสร็จเราจะเผยแพร่ให้คนอื่นไปใช้ด้วย เรากำลังทำระบบ Paperless เพื่อให้รับสมัครสมาชิกได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องมีเอกสารซับซ้อน เราก็พร้อมให้พรรคอื่นไปใช้ต่อ

คำว่า พรรคกลาง ไม่ได้หมายถึงการประนีประนอมระหว่างสองฝ่าย

คงไม่ใช่ เพราะประนีประนอมในแง่นั้นคือเฉยเมยกับปัญหา แต่เรามุ่งพัฒนาประเทศและเราทำระบบให้มันดีขึ้น แล้วมันจะไปทำให้กลุ่มคนที่เราบอกว่าต้องประนีประนอม ต้องแก้ไขปัญหา เขาต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่ดีขึ้นในสังคม

มีการตั้งข้อสังเกตว่า เวลาพูดถึงคำว่า กลาง มันฟังดูมีความเป็นอนุรักษ์นิยมทางการเมือง

ถ้าถามส่วนตัว ผมซ้าย ผมเป็น Progressive Moderate ถ้าไม่เอาแนวทาง ผมซ้ายมากๆ เลย ตั้งแต่เด็กจนโตที่ผมอึดอัดเพราะผมซ้ายมาก แต่แนวทางผม ผมสามารถรับความคิดเห็น สามารถโยนแนวคิดตัวเอง แล้วฟังของคนอื่นได้ นี่คือข้อดีของผม ผมเป็น Moderate ในการทำงาน มันแยกกันระหว่าแนวคิดกับแนวทาง แนวทางผมทำเพื่อให้ได้ความสำเร็จสูงสุด จะใช้คำว่าอะลุ้มอะล้วยก็ได้ เราต้องการความก้าวหน้า ต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่เราจะไม่บังคับให้ใครต้องเปลี่ยนด้วยคำสั่ง สถานการณ์จะเป็นตัวบังคับให้แต่ละคนต้องปรับตัวไปในทางที่ดี คือพูดไปเดี๋ยวฝั่งอนุรักษ์นิยมจะไม่ชอบผม เราก็คาดหวังให้ฝั่งอนุรักษ์นิยมปรับตัว และก็คาดหวังให้กลุ่มซ้ายจัดอ่อนลง มีวิธีการที่อ่อนลง ผมเชียร์เขา แต่ไม่สนับสนุนให้ทำอะไรที่รุนแรง

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างแบบถอนรากถอนโคน ปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่แนวทางพรรคกลาง

อันนี้ก็ส่วนตัวนะ ถ้าผมทำแล้วไม่เกิดผลเสีย ไม่เกิดแรงต้าน ทำไมผมจะไม่ทำ

เป็นไปได้เหรอที่การทำเรื่องใหญ่ๆ จะไม่เกิดแรงต้าน

ก็ใช่ไง เพราะผมรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ ผมจึงเลือกที่จะไม่ทำ นี่ผมยกตัวอย่างเฉยๆ สมมติทุกคนในประเทศเชื่อมั่นในตัวผม ผมเด็ดขาด ผมยิ่งกว่าเผด็จการอีก เพราะทุกคนเชื่อในตัวผม ผมมั่นใจว่าผมทำดี ผมยินดีจะเผด็จการเลย แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น แล้วผมก็ยินดีโยนหัวตรงนั้นออกทันทีเลย แต่ในเมื่อเราเปลี่ยนไม่ได้ แล้วจะไปต่อสู้ทำไม ต่อสู้แล้วไม่มีใครชนะเลย นั่นคือแนวทางที่บอกว่าผมเป็น Progressive Moderate พูดออกไปยังกลัวว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะต่อต้านผมด้วยซ้ำไป แต่ผมก็บอกฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ว่าผมเป็น Moderate แน่นอน และจะบอกว่าผมไม่ได้ไปทำอะไรคุณหรอก แต่ผมเชียร์ให้คุณอยู่รอดด้วยการปรับตัว

ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม จะแก้โดยแนวทางกลางๆ ได้หรือไม่ เพราะความไม่เป็นธรรมมีลักษณะผิด-ถูกค่อนข้างชัดเจน

ไม่อยากให้ติดกับคำว่า กลาง เราไม่ได้บอกว่าเราใช้ความเป็นกลางในการแก้ปัญหาทั้งหมด แต่มันคือแนวทางหลักเท่านั้นเองว่า ถ้าเราอยากปรับเปลี่ยนอะไรที่เราบอกว่าไม่ไปปรับเปลี่ยนเขา เพราะเรารู้ว่าทำไม่ได้ แต่ถ้ามีกฎหมายที่ถูกต้องที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม เราก็ต้องบังคับใช้ ถ้าเราทำได้ก็ต้องทำ เราเน้นเรื่องความเที่ยงธรรมอยู่แล้ว ความเที่ยงธรรมก็คือเราจะช่วยคนด้อยโอกาสด้วย มากกว่าคนที่มีโอกาสอยู่แล้ว แต่อาจจะตอบไม่ตรงประเด็นนัก ถ้าตอบให้ตรงประเด็นก่อนคือเราไม่ได้ใช้ความเป็นกลางแก้ปัญหาทุกเรื่อง เราใช้คำว่าเป็นกลางในการก้าวข้ามปัญหาที่วนลูป หมายความว่าถ้าเราเน้นอะไรบางอย่าง ก็มีแต่ทะเลาะกันไม่จบสิ้น เราจะก้าวข้ามตรงไหนไป แล้วทำให้กลุ่มนั้นต้องปรับตัวเอง

แต่ว่าปัญหาที่มีแนวทางที่ชัดเจน มีกฎหมายชัดเจน เราต้องบังคับใช้กฎหมายอยู่แล้ว สมมติปัญหาภาคใต้มีกลไกอยู่แล้ว รัฐธรรมนูญเขียนอยู่แล้วว่าแบ่งแยกไม่ได้ ก็ต้องยึดตรงนั้นก่อน แล้วเราค่อยเข้าไปแก้ปัญหา บางเรื่องบังคับใช้กฎหมายแล้วเกิดปัญหา จริงๆ รัฐบาลก็ทำอยู่ ผมเชื่อว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มา ใช้คำว่าอะลุ้มอะล่วยด้วยซ้ำไปว่าจะแก้ปัญหากับคนกลุ่มนี้ยังไง ผมบอกตามตรงว่าผมไม่ได้รู้ทั้งหมดตอนนี้ เราต้องใช้เวลาเข้าไปศึกษาก่อนเพื่อให้ได้นโยบายที่ถูกต้องอีกที แต่ตอบสั้นๆ ก่อนว่าไม่อยากให้ติดกับความว่ากลางในทุกๆ เรื่อง

ตั้งใจว่าอยากได้ ส.ส. สักกี่ที่นั่ง

ถ้าสูงสุด เราอยากจะชนะ ส.ส. เขตบ้าง แต่อาจจะยาก แต่ก็พูดไม่ได้นะ ผมอาจจะได้คนที่มีอุดมการณ์ เราไม่มีอะไรให้คุณนะ แต่เราอาจได้คนที่มีอุดมการณ์ เห็นด้วยกับเรา แล้วมาขอลง ส.ส. เขตในนามพรรคเรา เราอาจชนะก็ได้ในบางเขต อันนี้เป็นสิ่งที่เราแอบคาดหวัง

ส่วน ส.ส. เขตทั่วไป เรียกว่าขอร้องเลยครับ ถ้าอยากให้ประชาชนในเขตนั้นได้เลือกพรรคกลาง ช่วยเป็นตัวแทนให้เราหน่อย เราก็ต้องไปขอให้ใครบางคนลง ส.ส. เพื่อให้คนในเขตนั้นมีสิทธิ์กาพรรคกลาง เราเน้นปาร์ตี้ลิสต์ ที่คุยๆ กันอยากได้สักสี่ห้าคน

ถ้าไม่ได้ ส.ส. เลยจะทำยังไงต่อ

ผมเพิ่งเขียนโพสต์คุยกับคนร้อยกว่าคนในกลุ่ม ในกลุ่มมีคนที่ไฟแรง ถ้าผมบอกว่าหวังแค่สร้างกระแส สร้างความยั่งยืนของพรรคอย่างเดียว เขาจะฝ่อเลยเพราะอยากทำมากกว่านั้น ผมก็ต้องตั้งเป้าให้สูง แล้วผมก็บอกเขาว่าตั้งเป้าให้สูงได้ แต่คุณต้องแพ้ให้เป็น คุณต้องมีน้ำใจนักกีฬา คุณแพ้แล้วต้องเข้มแข็งขึ้นในครั้งต่อไป ผมพร้อมจะแพ้ๆๆๆ แต่ผมก็จะไม่ท้อ คนที่ไม่หวังชนะ หวังแค่สร้างกระแสที่ดีก็มี แต่ก็มีคนที่อยากชนะด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ผมพร้อมสนับสนุนและสู้กับเขาทุกครั้ง แต่คุณต้องแพ้ให้เป็น

ตั้งใจจะทำให้พรรคกลางเป็นสถาบันทางการเมือง?

ที่ยั่งยืน วิชั่นของผม ผมมองข้อดีของพรรคประชาธิปัตย์ ผมจะแข่งกับประชาธิปัตย์ตรงนั้น เราไม่ได้มองความสำเร็จของการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 แต่พรรคนี้ต้องอยู่ให้ได้อย่างยั่งยืน แล้วเราจะชนะเองในบั้นปลาย

ระดมทุนหรือยัง?

ตอนนี้ยังทำอะไรไม่ได้ ซึ่งมันก็เป็นตัวชี้วัดที่ดีว่าถ้าเราระดมทุนมาไม่พอ เราก็ไม่สามารถทำต่อได้

ถ้าไม่พอจะทำยังไง

ถ้าสุดท้ายไม่พอ เราก็ทำต่อไม่ได้ มันไม่ใช่ว่าเราล้มเลิก แต่เพราะเราถูกบอกว่าไม่สามารถไปต่อ แต่เราจะหาทุกทางให้ไปต่อได้ เราเอาจริง ไม่มีทางล้มเลิก แต่ผมพูดในกรณีเลวร้ายที่สุด ในเมื่อประชาชน 70 ล้านคนไม่ให้เราทำต่อ แล้วเราจะทำต่อได้ยังไง ถ้าคุณอยากให้เราทำต่อ คุณต้องสนับสนุนเรา ถ้าคุณเห็นว่าเราทำดีจริง

เราจะไม่หานายทุน คำว่าการลงทุนย่อมต้องหวังผลตอบแทน แต่เราจะหาผู้บริจาค เราก็ต้องหาให้ได้ ต้องเป็นผู้บริจาคที่บริสุทธิ์จริงๆ แต่เรายังไม่หา อยากให้ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) อนุมัติ ตั้งพรรคได้ อยากให้ทุกคนเชื่อว่าเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ อาจจะเป็นสไตล์ส่วนตัวก็ได้ ผมไม่ชอบไปขายตัวเองโดยที่ยังไม่มีอะไร เราอยากให้เขาสนใจเรา เชื่อเราจริงๆ ว่าเรามีสิ่งที่จะขาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท