Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บังเอิญวันก่อนอ่านเจอเรื่องนี้ เห็นว่าน่าสนใจดี

จุดหัวเลี้ยวหัวต่อของขบวนการสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ไหน? ไม่ใช่อยู่ที่คำปราศรัย "I Have A Dream" หรอก นั่นแทบจะเป็นจุดเกือบสุดท้ายต่างหาก

บางคนบอกว่ามันอยู่ที่เดือนเมษายน-พฤษภาคม 1963 ในเมืองเบอร์มิงแฮม รัฐแอละบามา ซึ่งเป็นเมืองที่มีการเหยียดสีผิวรุนแรงที่สุดเมืองหนึ่งในสหรัฐอเมริกาสมัยนั้น ต้นปีนั้น มาร์ติน ลูเธอร์ คิงกับผู้นำท้องถิ่นพยายามพาคนผิวดำประท้วง แต่ถูกจับ คิงเองก็ต้องติดคุกเหมือนกัน

ศาสนาจารย์ James Bevel ผู้นำคนหนึ่งของขบวนการสิทธิพลเมืองก็เลยคิดและริเริ่มการรณรงค์ที่เรียกกันว่า Birmingham Children's Crusade ขึ้นมา การจัดตั้งในพื้นที่ของขบวนการลงลึกไปถึงเด็กประถมเด็กมัธยมอยู่แล้ว รวมทั้งมีการอบรมการประท้วงตามแนวทางสันติวิธีด้วย พอมีการระดมเด็กนักเรียนออกมาประท้วง นายกเทศมนตรีเมืองเบอร์มิงแฮมตอบโต้ด้วยการส่งตำรวจมาปราบ มีการฉีดน้ำจากรถดับเพลิงใส่ ส่งหมาไล่กัด แล้วจับเด็กไปหลายคน คนที่อายุน้อยที่สุดคือ 9 ขวบ

แต่ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศและทั่วโลก มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนสุดท้ายเทศบาลต้องยอมเจรจากับขบวนการ ยอมปล่อยตัวนักโทษทั้งหมด ฯลฯ

ชัยชนะที่เมืองเบอร์มิงแฮมครั้งนี้ถือเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของขบวนการสิทธิพลเมือง แม้ว่าจะเกิดเรื่องน่าเศร้าในปลายปี 1963 เมื่อคนขาวหัวรุนแรงก่อวินาศกรรมต่อต้านขบวนการจนมีเด็กผู้หญิงเสียชีวิตไป 4 คน แต่ถ้าไม่มี Birmingham Children's Crusade มาร์ติน ลูเธอร์ คิงอาจไม่มีโอกาสไปยืนปราศรัยถึงความใฝ่ฝันต่าง ๆ ในเวลาต่อมา

เราว่าเรื่องนี้น่าสนใจเพราะเราเชื่อว่าถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปัจจุบัน มันคงถูกวิพากษ์วิจารณ์จนขบวนการต้องแท้งไปก่อน คำถามที่น่าสนใจก็คือ เมื่อสิทธิมนุษยชน สันติวิธี ตกไปอยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญ กล่าวคือ นักสิทธิมนุษยชนอาชีพ นักสันติวิธีอาชีพ มันกลายเป็นการให้อำนาจเทคโนแครตเหล่านี้ในการนิยามว่าอะไรใช่/ไม่ใช่ ได้/ไม่ได้ ทั้งที่นักวิชาชีพเหล่านี้ไม่เคยลงไปปฏิบัติจริงมากเท่าไร รวมทั้งไม่ได้ร่วมหัวจมท้ายกับขบวนการใดจริงจังด้วย

เราเชื่อว่าถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปัจจุบัน มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ศาสนาจารย์เจมส์ บีเวล ไม่ได้มีชื่อจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์หรอก แต่จะถูกก่นด่าว่าใช้เด็กเป็นเครื่องมือทางการเมือง ต่อให้เด็กเหล่านี้เต็มใจจะออกมาประท้วง เพราะพวกเขาก็ได้รับผลกระทบโดยตรงก็ตาม

แม้กระทั่งการนิยามว่าใครคือ "เด็ก" ก็เป็นคำถาม ขบวนการซาปาติสตาให้เด็กอายุ 12 มีิสิทธิในการลงคะแนนเสียงแล้ว

ยิ่งมีนักสิทธิมนุษยชนอาชีพ นักสันติวิธีอาชีพมากเท่าไร อาวุธของสามัญชนก็ถูกลิดรอนมากขึ้นหรือเปล่า? นี่เป็นคำถามที่เราก็ไม่รู้คำตอบ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net