บุคคลอ้างเป็นกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์นัดผู้ใหญ่บ้านคุยลับ

บุคคลอ้างตนเป็นคนในกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ โทรศัพท์คุยกับผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่รอบเหมือง เชิญชวนมาร่วมรับประทานอาหารที่ร้านอาหารพร้อมเอาเอกสารข้อเรียกร้องต่อบริษัทเหมืองแร่มาให้ผู้ใหญ่บ้านล่ารายชื่อ ด้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ตั้งข้อสงสัยใครแอบอ้าง ชี้ไม่ได้เกิดจากประชาชนในพื้นที่อย่างแน่นอน
 
22 เม.ย. 2561 เพจเหมืองแร่ ชัยภูมิ รายงานว่าวานนี้ (21 เม.ย.) บุคคลอ้างตนเป็นคนในกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์โทรศัพท์พูดคุยกับผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่รอบเหมืองเชิญชวนมาร่วมรับประทานอาหารด้วยกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง เมื่อผู้ใหญ่บ้านเดินทางไปถึงร้าน บุคคลคนดังกล่าวได้กล่าวว่าเหมืองแร่จะเป็นผู้เลี้ยงอาหารในครั้งนี้ พร้อมทั้งได้เอาเอกสารข้อเรียกร้องต่อบริษัทเหมืองแร่มาให้ผู้ใหญ่บ้าน โดยบอกให้ผู้ใหญ่บ้านล่ารายชื่อชาวบ้านเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยเอกสารมีข้อความและข้อเรียกร้อง ระบุว่าด้วยประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ที่มีความเห็นชอบในการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งมีความต้องการเสนอข้อเรียกร้องต่อเหมืองแร่โปแตช ในด้านการดำเนินงานของเหมืองที่มีผลกระทบต่อประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ ดังนี้ 1. ประชาชนมีความต้องการให้เหมืองแร่โปแตชจัดทำโครงการศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อให้ประชาชนเกิดความชัดเจนในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าชีวมวลในด้านผลกระทบที่จะเกิดต่อสภาวะแวดล้อมของพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ 2. ประชาชนมีความต้องการให้เหมืองแร่โปแตชเปิดรับสมัครบุคคลในท้องถิ่นของเขตอำเภอบำเหน็จณรงค์ ร้อยละ 80 ของอัตรากำลังที่เหมืองต้องการเพื่อเข้าทำงาน โดยมีคุณลักษณะตามที่เหมืองกำหนดเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าเหมืองให้ความสำคัญและส่งเสริมสนับสนุนการมีงานทำของประชาชนในเขตพื้นที่ โดยมีการกำหนดเป็นเอกสารหลักฐาน 
 
3. ด้านงบพัฒนาของเหมืองขอให้คณะกรรมการภาคประชาชนสามารถดำเนินการในการบริหารจัดการอย่างอิสระ โดนเหมืองแร่อยู่ในฐานะผู้แนะนำแนวทางในการดำเนินงานเท่านั้น และให้ขยายเขตการจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านของตำบลบ้านตาล ตำบลบ้านเพชร และตำบลหัวทะเล 4. หากมีการก่อสร้างให้ใช้แรงงานภายในเขตพื้นที่ 3 ตำบลเป็นหลัก เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่บุคคลในชุมชน และเปิดโอกาสให้เครื่องจักรในพื้นที่เข้าร่วมทำงานกับเหมือง  5. เปิดโอกาสให้ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินได้เช่าพื้นที่ ภบท.5 ของเหมืองที่ยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่าในการทำกินในราคาที่เหมาะสม 6. จัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นใหม่โดยคณะกรรมการภาคประชาชนให้ประชาชนเป็นผู้เลิอกและเปิดเวทีพบปะประชาชนเพื่อพูดคุยสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทุกๆ 3 เดือน กับประชาชนในเขต 3 ตำบล และ 7. เหมืองจะต้องให้คำตอบในประเด็นข้อเรียกร้องทั้งหมดข้างต้นนี้ ภายใน 15 วัน
 
ซึ่งทำให้ผู้ใหญ่บ้านบางหมู่บ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากและเดินทางกลับ เนื่องจากในพื้นที่หมู่บ้านของตนเองยังมีความขัดแย้งเกี่ยวกับการคัดค้านการโครงการเหมืองแร่โปแตชและโรงไฟฟ้าชีวมวลของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ซึ่งในขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบล กำลังฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้ยกเลิกเพิกถอน EIA เหมืองแร่โปแตช ซึ่งเป็นที่ตั้งข้อสังเกตุว่าทำไมจึงไม่มีชาวบ้านของกลุ่มฯ มาเลยแม้แต่คนเดียว นอกจากบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นคนในกลุ่มฯ คนดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งทำให้เป็นที่น่าเคลือบแคลงใจเป็นอย่างมาก
 
เป็นที่น่าตั้งข้อสงสัยในการกระทำครั้งนี้ว่าเหมืองแร่และบุคคลดังกล่าว ต้องการอะไรจากข้อเรียกร้องดังกล่าวที่ดูเหมือนว่าเข้าข้างเข้าอกเข้าใจประชาชนผู้ได้รับผลกระทบรอบโครงการเหมืองแร่โปแตชและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่กำลังก่อสร้างและดำเนินการในพื้นที่ตอนนี้ แต่ทว่ากับมีความไม่ชอบมาพากลในข้อเรียกร้องดังกล่าวในหลายประการ คือข้อเรียกร้องดังกล่าว ไม่ได้มาจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์และไม่ได้เกิดจากประชาชนในพื้นที่อย่างแน่นอน คำถามคือ แล้วข้อเรียกร้องมาจากไหน เกิดจากใคร ใครตกลงกัน ใครกันแน่ที่จะได้ประโยชน์จากข้อตกลงข้อเรียกร้องนั้น เหมือง? หรือ ประชาชน? ซึ่งถ้าวิเคราะห์จากข้อเรียกร้องดังกล่าว ในเนื้อหามีลักษณะการเขียนในทำนองที่ว่ากลุ่มฯ สมยอม และกำลังทำข้อตกลงกับเหมือง เพื่อให้เหมืองดำเนินการได้สะดวก และเปิดทางให้เหมืองมากยิ่งขึ้น ถ้าเหมืองยอมตกลงตามข้อเรียกร้อง กลุ่มก็จะไม่ดำเนินการคัดค้านใดๆ หรือมีลักษณะเอาด้วยกับเหมืองแร่ และเห็นด้วยในการก่อสร้างเหมืองและโรงไฟฟ้า ซึ่งทำให้เหมืองมีภาพลักษณะที่ดีขึ้น และมีการประสานความร่วมมือกันกับกลุ่มฯ มากขึ้น ซึ่งอาจจะแสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งดังกล่าว ไม่มีแล้ว หรือ ลดลงแล้ว
 
เพราะอะไรจึงต้องทำแบบนี้? จะเห็นได้ว่าหลายครั้งที่เหมืองถูกตั้งคำถามจาก สผ. และ คชก. รวมถึงนักลงทุนที่ถือหุ้นในบริษัท เรื่องความขัดแย้งในพื้นที่ของชาวบ้านในนามกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ที่ออกมาคัดค้านโครงการ และความสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งกัน เป็นอย่างไรบ้าง ดีขึ้นหรือไม่ และจะมีความเสี่ยงในการลงทุนหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเหมืองเองไม่สามารถตอบให้ชัดเจนได้
 
โดยเหตุการณ์ที่ตอกย้ำความขัดแย้งมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากกรณีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของเหมืองแร่ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2560 มีการปิดกั้นไม่ให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณณรงค์เข้าร่วมประชุมในเวทีดังกล่าว และคดีความที่ชาวบ้านในพื้นที่ฟ้องร้องเพิกถอน EIA เหมืองแร่โปแตช ต่อศาลปกครองนครราชสีมา รวมทั้งในอนาคตกลุ่มฯ กำลังจะมีการดำเนินการฟ้องเพิกถอน EIA โรงไฟฟ้าชีวมวลต่อไป ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์จะมาร่วมดำเนินการเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ นานา เพื่อให้เหมืองดำเนินการ นอกเสียจากคนที่จะได้รับผลประโชยน์จากการกระทำดังกล่าวตามข้อเรียกร้อง
 
และเพื่อเป็นการลดแรงเสียดทานแรงปะทะจากชาวบ้านในพื้นที่ให้การดำเนินการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยการใช้ข้าราชการในพื้นที่เป็นเครื่องมือและตัวช่วยชั้นดีของเหมือง ที่เข้าหาและให้ช่วยดำเนินการเป็นฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของเหมือง ซึ่งจะเห็นได้ว่าเหมืองไม่สามารถเข้าหาคนในพื้นที่ได้เอง นอกจากการติดสอยห้อยตามหน่วยงานต่างๆ เข้ามาในพื้นที่เมื่อมีประชุมตามหมู่บ้าน เนื่องจากความขัดแย้ง แรงต่อต้านของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และถ้าเหมืองเข้ามาในพื้นที่เมื่อไหร่ก็จะโดนขับไล่จากประชาชนผู้คัดค้านโครงการอย่างแน่นอน 
 
อย่างไรก็ตามชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จะยังคงยืนยันต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชและโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลสอดไส้ถ่านหินเช่นเดิม ไม่ว่าจะเจอความไม่ชอบมาพากลต่างๆ และเราจะรวบรวมหลักฐานที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตมายืนยันเพื่อปกป้องวิถีชีวิตจากมลพิษถ่านหินและชีวมวลต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท