Skip to main content
sharethis
คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เตรียมแยกภารกิจหลักของตำรวจให้ชัด ขณะงานสืบสวนสอบสวน ยังเป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจ พร้อมพิจารณาแยกงานที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจออก เช่น งานทะเบียน งานจราจร โอนให้ อปท.

เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... กล่าวถึงผลการประชุมเมื่อวันที่ 23 เม.ย.61 ว่า ได้พิจารณาถึงปัญหาภารกิจของตำรวจที่มีปริมาณงานจำนวนมาก คณะกรรมการฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีแนวทางที่จะแยกงานที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจออก เช่น งานทะเบียน และงานจราจร เป็นต้นโดยเห็นว่าควรทยอยถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่มีความพร้อมไปดำเนินการต่อแต่ยังให้ตำรวจรับผิดชอบงานหลักอยู่จากนั้นจะมีการพิจารณาต่อไปว่าจะต้องมีการปรับโครงสร้างของตำรวจให้สอดคล้องกับภารกิจของตำรวจได้อย่างไรส่วนเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายนั้นเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งคณะกรรมการฯ กำลังพิจารณาว่ามีภารกิจใดบ้างที่สามารถโยกย้ายได้แล้วไม่เกิดความเสียหาย ขณะที่งานสืบสวนสอบสวน ยังเป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจ เนื่องจากต้องทำควบคู่ไปกับการป้องกันและปราบปราม แต่จะแยกให้ชัดเจนขึ้น โดยมีการจัดทำคุณลักษณะเฉพาะของพนักงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระไม่ให้ถูกแทรกแซงการทำงานจากผู้บังคับบัญชา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพนักงานสอบสวนมีจำนวนไม่เพียงพอ แต่หากสามารถตัดภารกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจหลักของตำรวจออกไปก็จะสามารถจัดสรรกำลังพลไปเป็นพนักงานสอบสวนเพิ่มได้

มีชัย กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องตั้งคณะกรรมการชุดนี้ ว่า ก่อนหน้านี้ข้อเสนอให้ปฏิรูปตำรวจให้มีอิสระในการทำงาน แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ จะนำรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) และผู้ที่ศึกษาก่อนหน้านี้ มาพิจารณาประกอบการจัดทำร่างกฎหมายให้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายประมาณ 2-3 เดือนและส่งให้รัฐบาลพิจารณาก่อนส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคาดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะประกาศใช้ไม่ทันการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในปีนี้ จึงต้องใช้หลักอาวุโสมาพิจารณาเป็นหลักไปก่อน

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2 ซึ่งมี มีชัย เป็นประธาน ดังกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเน้นไปที่การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานตำรวจแท้เป็นหลัก และมีข้อสรุปเป็นพื้นฐานว่า แก่นแท้ของงานตำรวจ คือ การรักษาความสงบเรียบร้อย การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การนำบุคคลที่กระทำความผิดทางอาญามาสู่กระบวนการยุติธรรม ถือเป็นงานหลักที่ต้องรักษาไว้ ส่วนงานที่นอกเหนือไปจากนี้ที่มีลักษณะเป็นงานบริการประชาชน งานทะเบียน งานจัดระเบียบอื่น ๆ อาทิ งานจราจร ถือเป็นงานรอง สมควรถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานอื่นได้กระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อม เพื่อให้องค์กรตำรวจกระชับตัวลงและกำลังพลที่มีอยู่สามารถรองรับงานหลักได้เต็มที่

คำนูณ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าการจะถ่ายโอนภารกิจของตำรวจดังกล่าว ต้องไม่สร้างความกระทบกระเทือนให้แก่ประชาชน และต้องไม่สร้างภาระแก่งบประมาณแผ่นดินมากเกินไป ทั้งนี้การถ่ายโอนภารกิจในความหมายนี้ จึงไม่ใช่การถ่ายโอนงานสอบสวนคดีอาญาบางประเภทที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางไปให้หน่วยงานอื่นที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนั้น และปัจจุบันตำรวจทำงานด้านสืบสวนสอบสวนอยู่แล้วและมีอำนาจจับกุม หากถ่ายโอนให้หน่วยงานอื่น จะทำให้มีหน่วยงานสอบสวนเพิ่มขึ้นใหม่อีกเป็นจำนวนมากอยู่ต่างสังกัดกัน จะเป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก

“หากทำเช่นนั้นอาจเป็นการสร้างนรกให้กับประชาชน หรือทำให้ประชาชนประสบสภาวะหนีเสือประจรเข้ เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างสูง งานสอบสวนคดีอาญาที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อาจยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นได้ โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละด้านนั้นมาเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ช่วยของพนักงานสอบสวน จะมีการแบ่งอำนาจการบังคับใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญาที่เป็นเรื่องเฉพาะของท้องถิ่นจริง ๆ อาทิ งานสาธารณสุข งานควบคุมอาคาร ไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อม” คำนูณ กล่าว

โฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาการลดจำนวนของความผิดที่มีโทษทางอาญาที่มีอยู่ในกฎหมายฉบับต่าง ๆ ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 และบรรจุอยู่ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายอยู่แล้ว โดยจะมีการยกเลิกโทษทางอาญาสำหรับความผิดที่ไม่ร้ายแรง หรือให้มีการเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาเป็นโทษปรับทางปกครองแทน ซึ่งเมื่อกระทำสำเร็จ จะเป็นการลดภารกิจที่ไม่จำเป็นของตำรวจไปด้วยอีกทางหนึ่ง และเมื่อรู้ภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการพิจารณากำหนดโครงสร้างองค์กร

 

ที่มา เว็บไซต์วิทยุรัฐสภาและสำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net