Skip to main content
sharethis

ฉายหนังฟังเสวนา "กลัวตกงาน...รัฐสวัสดิการช่วยได้?” ษัษฐรัมย์ชี้ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบที่ยากจนกว่า 10 ล้านคน อำนาจต่อรองกับกลุ่มทุนยิ่งลดลง คนไทย 80% คิดว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลาง แต่มีแค่ 40%ที่จะอยู่รอดปลอดภัยจริง เสนองบ 4-5 แสนล้านบาทต่อปี สร้างรัฐสวัสดิการ ที่เด็กได้เงินตั้งแต่เกิดเดือนละ 2,000 บาท

22 เม.ย. 2561 Documentary Club และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ร่วมจัดงาน DOC+TALK ครั้งที่ 14 ที่ห้องออดิทอเรียมชั้น 5 BACC ฉายหนังสารคดี "Merci Patron!" (Thanks Boss!) หนังสารคดีฝรั่งเศสเจ้าของรางวัล Best Documentary Film จากเวที César Awards ปี 2017 ว่าด้วยเรื่องแรงงานผู้ประสบปัญหาจากการเลิกจ้าง หลังฉายหนังร่วมสนทนาในหัวข้อ "กลัวตกงาน...รัฐสวัสดิการช่วยได้?” โดย ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

รัฐสวัสดิการของฝรั่งเศสที่ได้มาด้วยการต่อสู้ยาวนาน

ษัษฐรัมย์เล่าถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่พัฒนามาเป็นแนวคิดรัฐสวัสดิการว่า ที่ฝรั่งเศสมาถึงจุดนี้ได้ก็ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ ฝรั่งเศสมีภาพการต่อสู้กันมาตลอดเวลา ตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส ปัจจุบันฝรั่งเศสถูกจัดว่าเป็น สาธารณรัฐที่ 5 หมายความว่า ฝรั่งเศสเคยมีสาธารณรัฐ 1,2,3,4 และถูกคั้นด้วย จักรวรรดิ 1,2,3,4 ประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสจึงเป็นช่วงเวลาของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด ทุกครั้งที่เปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้สิ่งที่ดีที่สุด ประชาธิปไตยนำสู่การรบราฆ่าฟัน คอร์รัปชั่น ผูกขาดเผด็จการรัฐสภา การยกอำนาจให้นายพล แต่สิ่งที่ผ่านมาในเวลา 200 ปี คือการที่ประชาชนฝรั่งเศสยืนยันว่าสุดท้ายแล้วต้องพยายามมุ่งหน้าสู่ประชาธิปไตยเพื่อให้มันดีขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่รัฐสวัสดิการของฝรั่งเศสอยู่ในเงื่อนไขหนึ่งคือ การต่อสู้ของสหภาพแรงงาน ขบวนการแรงงานอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วง 30-40 ปีที่แล้ว ฝรั่งเศสก็ประสบกับชะตากรรมเดียวกับหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริการวมถึงละตินอเมริกา คือ การคืบเข้ามาของเสรีนิยมใหม่ คือการเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนต่างๆ แสวงหากำไรได้อย่างเต็มที่ ตัดสวัสดิการของคน การทำลายสหภาพแรงงาน ในอังกฤษคือมาร์กาเรต แธตเชอร์ ในอเมริกาคือโรนัลด์ เรแกน แต่ในฝรั่งเศสยังมีเงื่อนไขการต่อสู้ของสหภาพแรงงานที่ยาวนานต่อเนื่อง ส่วนไทยเราไม่ต้องแปลกใจที่ไม่มีภาพแบบนั้นเพราะเรามีสมาชิกสหภาพแรงงานอยู่ 3 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนแรงงาน

ขณะเดียวกันในปัจจุบันก็มีความพยายามทำลายรัฐสวัสดิการซึ่งต่างกันไปแต่ละที่ อย่างในอังกฤษสิ่งที่รัฐบาลจะทำลายคือสวัสดิการด้านสุขภาพที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก ของฝรั่งเศสที่เป็นเสาหลักของฝ่ายซ้ายอยู่คือกฎหมายแรงงาน สิ่งที่ แอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสพยายามทำคือการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน ภายใต้คำพูดว่าให้แรงงานยืดหยุ่น สามารถเปลี่ยนงานได้ เกิด SMEs ทำให้สตาร์ทอัพเติบโต แต่ในอีกด้านหนึ่งเพื่อทำลายสหภาพแรงงาน หรือในไทยคำว่า Aging Society หรือสังคมผู้สูงอายุ ในอีกด้านหนึ่งคือพยายามจะบอกว่าคนแก่เป็นภาระ คนแก่ไม่ยอมเก็บเงิน แต่จริงๆ แล้วที่เป็นแบบนี้เพราะค่าแรงเขาเป็นแบบนี้ สวัสดิการเขาเป็นแบบนี้ เขาเป็นหนี้เพื่อส่งลูกเรียน แล้วพอถึงเวลาลูกก็ไม่สามารถเลื่อนลำดับชั้นได้ คนแก่ไทยเลยกลายเป็นภาระแบบที่เราเห็น เป็นปัญหาจากการที่เราทิ้งคนส่วนใหญ่ในสังคมไว้

กระแสรัฐสวัสดิการที่กำลังกลับมา

ษัษฐรัมย์วิเคราะห์ว่า ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 สังคมนิยมถูกมองว่าเป็นเพียงแค่รสนิยม ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ดีแต่เป็นไปไม่ได้ แม้นักวิชาการนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายก็ไปรับแนวคิดของแธตเชอร์มา ระบบทุนนิยมถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดไม่ว่าจะชอบหรือไม่

“สมัยที่ผมเรียนต่างประเทศ อาจารย์ท่านหนึ่งที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยม พอผมเถียงด้วยสำนวนที่ซ้ายหน่อย อาจารย์จะบอกว่า โอเค ผมเข้าใจคุณนะ ถ้าคุณอายุไม่ถึง 25 คุณไม่เป็นซ้าย คุณเป็นคนที่ไม่มีหัวใจ แต่ถ้าคุณอายุเกิน 25 แล้วยังเป็นซ้ายอยู่ แสดงว่าคุณเป็นคนไม่มีสมอง” ษัษฐรัมย์กล่าว

เขาชี้ว่า ช่วง 1990-2000 ต้นๆ การเป็นซ้ายคือตัวตลก แต่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นชัยชนะของรัฐบาลฝ่ายซ้ายในสังคมละตินอเมริกา เราจะเห็นขบวนการ World Social Forum ขบวนการที่ชูคำขวัญว่า 'Another world is possible' มีโลกใบใหม่ที่เป็นไปได้ เป็นกระแสที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกลับมาในยุโรป และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในยุโรป ในสหรัฐอเมริกาเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น มีนักการเมืองที่ชูอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายที่ชนะการเลือกตั้งมากขึ้น แม้กระทั่งในสังคมไทย ถ้าย้อนกลับไป 6-7 ปีก่อน การพูดถึงฝ่ายซ้าย รัฐสวัสดิการต่างๆ เป็นภัยคุกคาม แต่ 2-3 ปีมานี้คนพูดถึงมากขึ้น

รัฐสวัสดิการต้องผูกติดกับความรับผิดชอบของคนในสังคม

ษัษฐรัมย์ยกตัวอย่างในประเทศแถบละตินอเมริกา เช่น เวเนซุเอลา นโยบายประชานิยมนำมาสู่การล้มละลาย ซึ่งถูกนำมาใช้โจมตีว่ารัฐสวัสดิการจะทำให้ประเทศเจ๊ง ล้มละลาย ด้านหนึ่งเพราะนักการเมืองเวเนซุเอลาเลือกที่จะประนีประนอมกับกลุ่มทุนข้ามชาติ เพื่อที่จะไม่ผลักดันให้รัฐสวัสดิการไปกระทบกับโครงสร้างภาษีมากเกินไป เวเนซุเอลาใช้เงินที่ได้จากการขายน้ำมันมาทำรัฐสวัสดิการ มันจึงถึงจุดจบได้โดยง่ายเพราะราคาน้ำมันผันผวน

ในขณะที่นอร์เวย์เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นประเทศเศรษฐีน้ำมันเหมือนกัน พรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมในนอร์เวย์พยายามบอกว่า เลิกเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก เพื่อให้กลุ่มทุนสามารถเติบโตได้ แค่เงินจากการขายน้ำมันก็สามารถสร้างรัฐสวัสดิการของนอร์เวย์ได้ไม่รู้กี่สิบปีแล้ว แต่ภาคประชาสังคมนอร์เวย์บอกว่าไม่ รัฐสวัสดิการไม่ใช่สิ่งที่ผูกกับกำไรของประเทศ แต่มันผูกกับความรับผิดชอบของคนในสังคม เพราะฉะนั้นรัฐสวัสดิการต้องมาจากเงินของคนในสังคมที่มีมากกว่าอย่างเลี่ยงไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ต่างกันระหว่างโมเดลของเวเนซุเอลาและนอร์เวย์

วัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยคือเงื่อนไขการเกิดรัฐสวัสดิการ

ศิโรตม์ตั้งคำถามว่า การเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการในฝรั่งเศสเกิดขึ้นมาจากการประวัติศาสตร์การต่อสู้ของฝรั่งเศสที่เข้มข้นเป็นระดับ 100 ปีได้ มีประชาชนลุกฮือกลางเมือง ยึดมหาวิทยาลัย มันมีเงื่อนไขที่ทำให้สังคมแบบรัฐสวัสดิการเดินหน้าต่อได้ แต่กรณีของไทยมันมีประวัติศาสตร์ที่ประชาชนถูกปราบ ถูกฆ่ากลางมหาวิทยาลัย เงื่อนไขพื้นฐานที่จะทำให้ประชาชนรวมตัวสร้างรัฐสวัสดิการได้อยู่ตรงไหน

ษัษฐรัมย์อธิบายว่าวิธีการคิดแบบคนฝรั่งเศสคือมันไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ทุกอย่างได้มาด้วยการต่อสู้ การถกเถียง การทำให้ทุกอย่างมันยุ่ง ดังนั้นทุกอย่างมันต้องไปจบบนท้องถนน แม้ฝรั่งเศสจะเป็นประเทศที่บ้าเรื่องการออกแบบระบบ ระบบการเมืองของฝรั่งเศสเป็นกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา มีประธานาธิบดีที่ชี้ขาดได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ มีอำนาจเป็นประมุข มีนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นซีอีโอ ถ้าขัดแย้งกันระหว่างประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีสามารถให้ประชาชนทำประชามติได้ เป็นระบบที่ยุ่งยากมากเพราะกลัวเผด็จการ แต่ถึงกระนั้นคนฝรั่งเศสก็พร้อมจะทิ้งระบบลงไปต่อสู้บนท้องถนน ถ้าเขาคิดว่าระบบแบบนั้นไม่สามารถจะตอบโจทย์ได้ ดังนั้นปัญหาไม่เคยหายไปอันนี้เป็นหัวใจสำคัญ ถึงแม้คนฝรั่งเศสจะเชื่อเรื่องการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของมวลชน แต่การต่อสู้ครั้งหนึ่งก็จะนำไปสู่ปัญหาและการต่อสู้ครั้งต่อไป อันนี้ผมคิดว่าเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่น่าสนใจ

“ในไทยซึ่งมีวัฒนธรรมทางการเมืองแตกต่างจากฝรั่งเศส เราจะเห็นเทคโนแครตบ้านเราเมื่อมีรัฐประหารก็จะเข้าไปอยู่ในแวดวงของการออกแบบนโยบาย แล้วพูดว่าฝรั่งเศสใช้เวลาเป็นร้อยสองร้อยปีกว่าจะได้ประชาธิปไตย กว่าจะได้สวัสดิการที่ก้าวหน้า ไทยเราเพิ่งไม่กี่ปีนี้เองเพราะฉะนั้นต้องใช้เวลาร้อยสองร้อยปีเหมือนกัน ซึ่งอันนี้ผมไม่เห็นด้วย ผมคิดว่ามันมีเรื่องวัฒนาการทางสังคมที่สังคมจะเดินก้าวหน้าไป” ษัษฐรัมย์กล่าว

ษัษฐรัมย์ยกตัวอย่างกรณีประเทศเกาหลีใต้ ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่ไม่พัฒนา ประชาชนยากจน แต่มีจุดเปลี่ยนสำคัญคือเหตุการณ์ที่กวางจู มีการปิดล้อมฆ่านักศึกษาในเมือง มีผู้เสียชีวิตเกือบพันคน ช่วงเวลาเดียวกันมีเหตุการณ์ ‘ชุน แต อิล’ กรรมกรที่จุดไฟเผาตัวเองเพื่อประท้วงความไม่เป็นธรรมในกฎหมายแรงงาน สองเหตุการณ์นี้นำสู่การสร้างฉันทามติในเกาหลีใต้ว่า ถ้าเราอยากไปด้วยกันสิ่งเหล่านี้จะต้องเป็นครั้งสุดท้าย จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่เกาหลีใต้สามารถก้าวขึ้นมาได้

“เกาหลีใต้กับไทยเหมือนกันที่มีเหตุการณ์ทหารฆ่าประชาชน แต่ต่างกันตรงที่เกาหลีใต้ผู้นำทหารที่ฆ่าประชาชนถูกลงโทษตามกฎหมาย ส่วนไทยไม่เคยมีการดำเนินคดีกับทหาร นี่คือวัฒนธรรมการเมืองที่ต่างกัน” คือข้อสรุปของษัษฐรัมย์

ศิโรตม์ถามสรุปว่าดังนั้นรัฐสวัสดิการจะเกิดขึ้นได้เมื่อสังคมเป็นสังคมประชาธิปไตยก่อนหรือไม่

ษัษฐรัมย์เปรียบเทียบกับคำถามไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน เขาอธิบายว่าถ้าเราไปดูในรายละเอียดในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นการเสริมแรงซึ่งกันและกัน เราไม่จำเป็นต้องพักอะไรก่อนแล้วไปสู้กับอีกอย่าง แม้ตอนนี้เราไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แต่มันนำสู่คุณภาพของชีวิตประชาชนที่ดีมากขึ้น คนก็จะทวงถามประชาธิปไตยที่มากขึ้น และจะทวงถามรัฐสวัสดิการที่ถ้วนหน้าครบวงจรมากขึ้น เราสามารถต่อต้านทุนนิยม ต่อต้านนายทุน ต่อต้านการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยควบคู่กันได้ เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องเดียวกัน

เขายกตัวอย่างงานของ เดวิด ฮาร์วีย์ คือหนังสือประวัติศาสตร์โดยย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ มีตอนหนึ่งระบุว่า เมื่อระบบทุนนิยมพัฒนาไปเต็มขั้น สิ่งที่ตามมาคือลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่ การใช้จารีต ประเพณี ชาตินิยม ครอบครัวนิยม ความสัมพันธ์ที่เหลื่อมล้ำระหว่างชายหญิง มาควบคุมความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยม สิ่งเหล่านี้จะเกิดตามมา เพราะฉะนั้นการผูกขาดของระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องเดียวกับการผูกขาดในระบบทุนนิยม

“ประเทศในแถบนอร์ดิกจริงๆ แล้วตอนที่เขาเริ่มทำรัฐสวัสดิการก็เป็นประเทศยากจน สวีเดนถ้าย้อนกลับไปปลายศตวรรษที่ 19 เป็นประเทศเกษตรกรรม เกิดทุพภิกขภัยคนเกือบครึ่งประเทศต้องอพยพไปสหรัฐอเมริกาเพราะยากจนมาก แต่เขาค้นพบเรื่องรัฐสวัสดิการเพราะสิ่งที่มีค่าที่สุดของประเทศคือทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ประเทศอย่างเกาหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน ก็นำแนวคิดนี้มาใช้ ไม่ใช่ว่าเขามีเงินก่อนถึงค่อยมาจัดรัฐสวัสดิการ แต่จริงๆในวัฒนาการของสังคมมนุษย์ รัฐดูแลคนก่อน และคนคือคนที่สร้างมูลค่าให้แก่รัฐ” ษัษฐรัมย์กล่าว

กลุ่มทุนขยาย อำนาจต่อรองผู้ใช้แรงงานต่ำ รัฐสวัสดิการจะถูกจุดให้ติดได้ในสังคมไทย

ษัษฐรัมย์อธิบายว่า ปัจจุบันในไทยส่วนที่จะคุ้มครองเมื่อตกงานคือการชดเชยจากประกันสังคม ถ้าเป็นการลาออกด้วยตัวเองจะมีการชดเชย 3 เดือน ถ้าถูกเลิกจ้างจะได้ชดเชยจากประกันสังคมเป็นเวลา 6 เดือน ทั้งสองวิธีนี้จะได้เงินชดเชยเดือนละประมาณ 4,000 กว่าบาท ถือว่าต่ำ นอกจากนี้คนไทยเข้าสู่ระบบการจ้างงานแบบเป็นทางการน้อยลง สถิติล่าสุด ไทยเป็นไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจโตแล้วเกิดแรงงานนอกระบบเพิ่มมากขึ้นซึ่งสิ่งที่น่ากลัวและน่าแปลกใจ แรงงานนอกระบบคือคนที่ไม่ได้รับเงินเดือนประจำ ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ไทยมีแรงงานนอกระบบขยายตัวจนปัจจุบันอยู่ที่หลัก 10 ล้านคน

เขายกตัวอย่างงานวิจัยของแบ๊งค์ งามอรุณโชติ แรงงานนอกระบบที่มีมากขึ้นเหล่านี้ส่วนมากเป็นแรงงานที่ยากจน มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน คนเหล่านี้ต้องไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบ ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ นอกจากบัตรทอง เป็นลักษณะที่น่าเป็นห่วงเพราะด้านหนึ่งกลุ่มทุนขยายใหญ่มากขึ้น อำนาจต่อรองของผู้ใช้แรงงานต่ำลง

ในปี 2544 เกิดจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจมากนั่นคือประเทศที่ยากจนอย่างเราสามารถมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ทำให้ทุกคนสามารถไปหาหมอได้ฟรี ตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะสามารถเกิดขึ้นได้ ด้านหนึ่งแม้ไม่มีการรวมตัวของลูกจ้างในสถานประกอบการ แต่ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยของนักสังคมวิทยาการเมืองว่าคนไทยมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า relative deprivation หรือการถูกลิดรอนสิทธิโดยสัมพัทธ์ หมายถึงปกติไม่ชอบการรวมตัวแต่ถ้าถูกละเมิดสิทธิก็จะไม่โอเค ซึ่งคนไทยจะมีเซ้นส์แบบนี้ไวมาก เชื่อว่าวันนี้ไม่สามารถมีรัฐบาลไหนแม้รัฐบาลของพอเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจะมีมาตรา 44 มีคำสั่ง คสช. ก็ไม่สามารถจะล้มเลิกนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคได้

กระบวนการเติบโตและขยายตัวของนโยบาย 30 บาท คิดว่ายังอยู่ในเส้นทางที่ยังเป็นบวก แต่กระบวนการทำลายมีอยู่จริงแน่นอน ในทุกประเทศทั่วโลก คือกระบวนการสร้างไพร่ในระบอบประชาธิปไตย คือระบอบยังคงอยู่ นโยบายยังคงอยู่ แต่ถูกทำให้อ่อนเปลี้ยไปไม่สามารถฟังก์ชั่นได้ มีตัวเลขที่บอกว่าพอ 30 ออกมางบประมาณในการดูแลสุขภาพต่อครัวเรือนจาก 5 เปอร์เซ็นต์เหลือ 4 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันงบประมาณในการดูแลสุขภาพของคนไทยอยู่ที่ 8 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่งบรายหัวของบัตรทองเพิ่มขึ้น เพราะด้านหนึ่งบัตรทองถูกสตาฟไว้ไม่ให้โตขึ้นมาตอบสนองชีวิตประจำวันของเราได้ การใช้สิทธิบัตรทองต้องมีเวลาในวันธรรมดาประมาณ 6 ชั่วโมงในการไปหาหมอ ดังนั้นเป็นโรคขาจรก็อาจจะต้องไปโรงพยาบาลอื่นเพื่อให้ไวขึ้น แต่หมายความว่าต้องควักเงินจ่ายเอง มันเกิดขึ้นเพราะกลุ่มทุนด้านการรักษาพยาบาลขยายตัวจนติดท็อปเทนของประเทศแล้วในตอนนี้ ภายใต้การบอกว่าจะให้ไทยเป็น hub ด้านสาธารณสุข แต่อีกด้านคือการปล่อยให้เรื่องพวกนี้กลายเป็นสินค้า

หรือถ้ามองในช่วงปี 2553-2554 ก่อนหน้านี้คนไทยในชนบทก็ถูกกดขี่ มีสถานะเป็นทาสเป็นไพร่มาเป็นเวลานานหลายร้อยปี ทำไมอยู่ดีถึงกล้าออกมาปิดถนนใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ของชนชั้นกลาง เพื่อแค่ให้รัฐบาลขนาดนั้นยุบสภาและมีการเลือกตั้ง มีการสลายการชุมนุมเดือนเมษา คนก็ยังชุมนุมกันอยู่ นี่คือการถูกลิดรอนสิทธิโดยสัมพัทธ์ หรือคุณอาจจะบอกว่าประชาธิปไตยในไทยเป็นประชาธิปไตย 4 วินาที เลือกตั้งไปเขาไปโกง พอครบ 4 ปีก็กลับมาเลือกตั้งใหม่ แต่ถ้าถึงวันหนึ่งเขาบอกว่า 4 วินาทีที่เป็นของคุณไม่ใช่ของคุณอีกต่อไป ก็จะพบว่ามีกระแสของคนจำนวนมากที่ไม่พอใจและสามารถเดิมพันและเสี่ยงได้แม้กระทั่งชีวิต

“ผมเชื่อว่าในสังคมไทยการพูดถึงสวัสดิการแบบก้าวหน้าครบวงจรมันจะสามารถจุดติดได้ และถ้ามันจุดติดขึ้นมาแล้วก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมไทยก้าวหน้าขึ้นมาอีกจุดหนึ่งทั้งในแง่วัฒนธรรมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า” ษัษฐรัมย์กล่าว

คนไทย 80% คิดว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลาง แต่มีแค่ 40%ที่จะอยู่รอดปลอดภัยจริง

ษัษฐรัมย์ยกตัวอย่างงานวิจัยที่พบว่าคนไทย 80 เปอร์เซ็นต์รับรู้ว่าตนเองเป็นชนชั้นกลาง แต่ด้วยสถานะจริงๆ ทางเศรษฐกิจที่พอจะจัดได้ว่าเป็นชนชั้นกลาง (คนชั้นกลางในที่นี้คือคนที่สามารถอยู่รอดปลอดภัยในทางเศรษฐกิจการได้ ไหลไปตามระบบแล้วชีวิตค่อยๆ ดีขึ้น) จริงๆ แล้วมีอยู่ ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หมายความว่ามีคนไทยอีก 40 เปอร์เซ็นต์ที่จริงๆ แล้วเป็นชนชั้นล่างแต่เข้าใจว่าตัวเองสามารถจะไต่ระบบขึ้นไปได้

งานวิจัยจากคณะพาณิชยศาสตร์ฯ จุฬาฯ บอกว่าคนไทยมีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเองที่จะปลอดภัยหลังเกษียณ อีก 70 เปอร์เซ็นต์ต้องทำงานจนตาย

ใน 30 เปอร์เซ็นต์นั้น เงินเดือนตอนอายุ 25 ต้องอยู่ที่ 30,000 บาท ต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 5-10 เปอร์เซ็นต์ มีการปรับเงินเดือนขึ้นอีกปีละ 8 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะมีชีวิตที่ปลอดภัย มีคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากเรียกว่า “แรงงานเสี่ยง” เป็นคนที่แบบรับความเสี่ยงแทนชนชั้นนายทุนทั้งหมด

“ทัศนคติที่กลัวการเสียภาษีมาก กลัวการเสียผลประโยชน์จริงๆ ก็มีเหตุมีผล เพราะเขาไม่เชื่อว่ามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ และพื้นที่ข้างล่างของไทยมันน่ากลัวมาก ถ้าคุณต้องเป็นชนชั้นล่างของประเทศไทย มันไม่มีอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผมเคยทำวิจัยในพื้นที่ชุมชนแออัดเกี่ยวกับแรงงานอพยพ ไม่มีแรงงานอพยพคนไหนที่อยากอยู่ที่นี่ตลอดไป เขาตั้งเป้าอยู่ประเทศไทยแค่ 5-7 ปี คนจนในประเทศไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าของประเทศนี้ พอพื้นที่ข้างล่างมันน่ากลัว ครั้นเราจะหวังพึ่งทางการเมืองเราก็มีรัฐประหาทุก 7-8 ปี การเกิดรัฐประหารบ่อยทำให้ความเป็นไปได้ต่างๆ มันหายไปด้วย ถ้าไม่มีรัฐประหารตั้งแต่ปี 49 ผมเชื่อว่าจะมีความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจมากกว่านี้” ษัษฐรัมย์กล่าว

เขาเสริมว่า ความเชื่อเรื่องการเลื่อนลำดับทางชนชั้นทางการศึกษาของประเทศไทยไม่ใช่ของจริง มันเป็นเพียงการยืนยันสถานะของคนที่มีอยู่แล้ว เราต้องต้านรัฐประหารและทำลายมายาคติว่าข้างล่างมันน่ากลัวและเราต้องเอาตัวรอด

เสียภาษีสร้างรัฐสวัสดิการกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ซื้อประกันกับเอกชนคุณจะยิ่งจนลง

ษัษฐรัมย์เริ่มจากการยกตัวอย่างธุรกิจที่สามารถทำได้ เช่น ธุรกิจภาพยนตร์ การท่องเที่ยว หรือการบันเทิง แต่มีหลายอย่างที่ไม่ควรเป็นธุรกิจ เช่น เรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล การประกัน

“พอคำนวณออกมาในประเทศที่ให้เอกชนเข้ามาทำปรากฎว่าค่าใช้จ่ายในการที่ต้องซื้อประกันมันสูงขึ้นทุกปี เพราะในสูตรการประกันก็จะมีพรีเมี่ยมมากขึ้นๆ และคุณต้องจ่ายแพงมากขึ้นๆ ทำงานหนักมากขึ้น และผลที่ออกมาในท้ายที่สุดคุณก็จะพบว่าบริษัทประกันก็จะรวยขึ้น กลุ่มทุนโรงพยาบาลก็จะรวยมากขึ้น เจ้าของบริษัทที่คุณเป็นลูกจ้างก็จะรวยมากขึ้น ภายใต้โมเดลนี้คนที่จนลงคือคุณ เพราะคุณต้องทำงานหนักและซื้อประกันแพงมากขึ้น แต่เมื่อดูประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการจะพบว่าเป็นประเทศที่เสียภาษีสูงมาก เช่น สวีเดนเสียภาษีเงินได้สูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ มี capital gains tax หรือการขายหุ้นในตลาดหุ้นเสียภาษี 28 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมืองไทยไม่มีเลย ถ้าเก็บภาษีเยอะก็ยิ่งต้องจนใช่ไหม คำตอบคือไม่ใช่ ประเทศพวกนี้มีดัชนีกำลังการซื้อของคนสูง มีดัชนีเสรีภาพสูง มีดัชนีทางด้านวัฒนธรรม คือคนมีรสนิยม เพราะคนมีเงิน ไม่ต้องคิดว่าจะเก็บเงินไปส่งลูกเรียนอินเตอร์ ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า คนมีทางเลือกมากขึ้น

“งานวิจัยของอ.เดชรัตน์ สุขกำเนิด บอกว่าคนไทยมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ค่าใช้จ่าย 70 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนหมดไปกับค่ากิน ซึ่งด้านหนึ่งมันเป็นปัจจัยพื้นฐานมาก จนทำให้คุณไม่สามารถไปซื้อตั๋วดูละครเวที มาฟังเสวนา หรือออกไปเที่ยว ตัวเลขรายได้ของคนไทยจึงต่ำมากจนเงินที่ได้มาหมดไปกับเรื่องปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต แต่ขณะที่คนรวยในประเทศหมดค่าใช้จ่ายไปกับการท่องเที่ยว

“ถ้าเทียบกับประเทศที่มีเงินเช่น สหรัฐอเมริกาซึ่งพร่ำบอกเรื่องอเมริกันดรีม การเลื่อนลำดับทางชนชั้น คนมีเสรีภาพ แต่เป็นประเทศที่มีสวัสดิการต่ำ เมื่อคิดตัวเลขดัชนีการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม เช่นถ้าคุณเกิดมาใน 20 เปอร์เซ็นต์ที่จนมีโอกาสสูงแค่ไหนที่คุณจะจบฐานะในการเป็น 20 เปอร์เซ็นต์จนเหมือนเดิม ปรากฎว่ามีโอกาสสูง 60-70 เปอร์เซ็นต์ที่จะอยู่ในฐานะแบบเดิม แต่ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการคนจะไม่ถูกขังเรื่องชาติกำเนิด และมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น แม้สหรัฐอเมริกาจะมีสวัสดิการสำหรับคนจน แต่ก็หมดค่าใช้จ่ายไปกับการจ้างพนักงานมาพิสูจน์ความจนเหมือนกับไทย การคอร์รัปชั่นเงินคนจน ซึ่งเป็นกระบวนการที่เสียค่าใช้จ่ายและคนไม่ได้ประโยชน์โดยตรง” ษัษฐรัมย์กล่าว

ใช้เงิน 4-5 แสนล้านบาทต่อปี สร้างรัฐสวัสดิการ ที่เด็กได้เงินตั้งแต่เกิดเดือนละ 2,000 บาท

ษัษฐรัมย์ได้ชี้ตัวเลขว่า การเก็บภาษีในไทยที่จะทำให้ไทยก้าวสู่รัฐสวัสดิการครบวงจรแบบกลุ่มประเทศนอร์ดิกนั้นใช้ภาษี 4-5 แสนล้านบาทต่อปีเท่านั้น งบประมาณรายจ่ายประจำปีของเราอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท งบกลาโหมอยู่ที่ 2 แสนกว่าล้านบาท และยังมีงบด้านอื่นที่ถูกใช้ไปในกลุ่มเฉพาะ เช่น การอุดหนุนราคาข้าว ราคายาง แต่ถ้าเราสามารถปรับงบประมาณเหล่านี้ได้เพื่อให้ไทยมีรัฐสวัสดิการ โดยที่ในระยะแรกอาจจะยังไม่กระทบเงินการคลังด้วยซ้ำไปแต่ก็มีฐานภาษีบางอย่างที่จำเป็นต้องเก็บแล้วเรายังไม่ได้เก็บ และเป็นเรื่องของการลดอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจด้วยเช่น ภาษีที่ดินของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ภาษีมรดก

เขาสมมติว่าด้วยเงินจำนวนนั้น เด็กทุกคนที่เกิดมาจะมีเงินเดือนเดือนละ 2,000 บาท จนอายุ 18 ปี เรียนมหาวิทยาลัยได้รับเงินเดือนต่อ มาทำงานปรับเงินสมทบประกันสังคมเพิ่มจะสามารถมีบำนาญได้สูงสุด 15,000 บาทต่อเดือน จากปัจจุบันอยู่ที่ 7,700 บาท และมีเบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 2,500 บาท ซึ่งเท่ากับเส้นความยากจนโดยเฉลี่ย การปรับตัวเลขเหล่านี้ใช้เงินเพียง 4-5 แสนล้านบาทต่อปีเท่านั้น คิดแล้วเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของรายจ่ายประจำปี

ในขณะที่บัตรทองหากเราสามารถขยับตัวเลขขึ้นได้ จาก 3,000 บาทต่อหัวไปที่ 5,000 บาทต่อหัว ซึ่งเป็นการจูงใจให้โรงพยาบาลต่างๆ รับคนไข้สิทธิบัตรทองมากขึ้น แน่นอนว่าต้องมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในระยะยาว

“มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ แต่ความเป็นไปได้ทางการเมืองเรากำลังต่อสู้กับ 40 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่เป็นชนชั้นกลางและไต่ขึ้นไปได้ 40 เปอร์เซ็นต์นี้ไม่ลำบากมาก เพราะความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจกำลังอยู่หน้าปากประตูเขา เขาต้องเก็บเงินส่งลูกเรียนอินเตอร์เพราะเชื่อว่าจะเป็นการเลื่อนลำดับทางชนชั้นได้ เขาต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกพ้นจากสังคมที่มันเส็งเคร็ง เพราะเขารู้สึกว่าข้างล่างมันน่ากลัวมาก แต่ถ้าเราทำให้สังคมรู้สึกปลอดภัย คนรวยคนจนคนชนชั้นกลางใช้ระบบประกันสุขภาพอันเดียวกัน ส่งลูกเรียนที่เดียวกันได้ อยู่ในชุมชนคนแก่แบบเดียวกันได้ ความเหลี่ยมล้ำ แตกต่าง ขัดแย้งระหว่างชนชั้นจะน้อยลง” ษัษฐรัมย์กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net