Skip to main content
sharethis

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตั้งข้อกังขา หลังรายงาน EIA โรงงานน้ำตาล มิตรกาฬสินธ์ ผ่านการพิจารณาในรอบที่ 3 ยังหวั่นผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำของชุมชน

ถึงแม้มติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านอุตสาหกรรม และระบบสาธารณูปโภคที่สนับสนุน กรณีโรงงานน้ำตาลทราย ขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน ของบริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธ์ จำกัด จะผ่านรายงานการวิเคราะห์ในการพิจารณาในรอบที่ 3 เมื่อ 14 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา แต่ชาวบ้านที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรและอีกหลายชุมชนที่อาศัยอยู่ในลำน้ำเซบายยังมีข้อกังขาว่าผ่านได้อย่างไรเมื่อบริษัทไม่สามารถที่จะตอบโจทย์หลายเรื่องด้านการมีส่วนร่วม ด้านคมนาคม และที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม

โรงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายดังกล่าว ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด มีขนาดโครงการ 716 ไร่ 2 งาน 37 ตารางวา โดยมีกำลังการผลิต 20,000 ตันอ้อย/วัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้เป็นน้ำตาลดิบ ปริมาณ 302,520 ตัน/ปี

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ และเจ้าหน้าที่ สผ. ได้ลงตรวจสอบพื้นที่เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2560 และเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ในการประชุมครั้งที่ 26/2560 เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2560 มีมติไม่ให้ความเห็นชอบรายงานฯ โดยให้โครงการแก้ไขเพิ่มเติมตามแนวทางหรือรายละเอียดที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ กำหนด

ต่อมา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้รับรายงาน ฉบับชี้แจงเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2560 ในการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ครั้งที่ 42/2560 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2560 คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ มีมติไม่เห็นชอบรายงานฯ โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมตามแนวทางหรือรายละเอียดที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ กำหนด และถือว่าจบกระบวนการพิจารณารายงาน

แต่ต่อมาโครงการได้เสนอรายงานฯ ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2561 โดยขอลดขนาดพื้นที่โครงการ เป็น 702 ไร่ 2 งาน 53.77 ตารางวา คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เจ้าที่ สผ. ได้ตรวจสอบพื้นที่เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2561 ฝ่ายเลขาได้พิจารณารายงานดังกล่าวแล้วมีความเห็นเบื้องต้นให้แก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นการจัดการน้ำ รายละเอียดของโครงการและการใช้ประโยชน์ที่ดิน การคมนาคม การมีส่วนร่วมของประชาชน พื้นที่สีเขียว และมาตรการฯ กระทั้งมาถึงวันที่ 14 มี.ค. 2561 ทางคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ได้มีการพิจารณา และมีมติเห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทางบริษัทที่ปรึกษากลับไปทำรายงานฉบับสมบูรณ์

การที่มีมติจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ให้ความเห็นชอบต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงงานน้ำตาลผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ยังแนะให้บริษัทปฏิบัติตามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เสนอไว้ในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด

แต่กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมในรัศมี 5 กิโลเมตรและชุมชนที่อาศัยทรัพยากรน้ำจากลำเซบาย ก็มีข้อกังขาต่อมติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเด็น การมีส่วนร่วมตั้งเริ่มกระบวนการที่จะต้องมีก่อนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ประเด็นการจัดการน้ำในลำน้ำเซบาย ประเด็นความไม่เหมาะสมในพื้นที่ซึ่งจะมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และประเด็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นสำคัญในการผู้พิจารณาไม่ควรจะชี้แนะและให้โอกาสโรงงานอุตสาหกรรมในการแก้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมซ้ำแล้วซ้ำอีก

มะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีมติจากกรรมการผู้ชำนาญการฯ ให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด แต่ทางกลุ่มก็ยังมีข้อสงสัยหลายเรื่องโดยเฉพาะประเด็นการจัดการน้ำลำน้ำเซบาย เนื่องจากบ้านเชียงเพ็งเป็นหมู่บ้านรอยต่อระหว่างจังหวัดยโสธรและจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมีลำเซบายเป็นตัวกำหนดเขตแดน และเป็นสายเลือดหลักของชุมชนในการหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนด้านการใช้ประโยชน์จากน้ำ ทั้งเป็นแหล่งหาอาหารหลักของชุมชน สามารถสร้างเศรษฐกิจให้กับคนในชุมชน

ก่อให้เกิดรายได้ ทั้งในด้านการเกษตรโดยชุมชนอาศัยน้ำจากลำเซบายในการทำนาปี นาปัง ปลูกถั่วลิสง ปลูกพืชผัก ใช้เป็นน้ำประปาของหมู่บ้าน และการประมงของชุมชนทั้งสองฝั่งลำเซบาย ทำให้ชุมชนหลายชุมชนมีวิถีชีวิตในการผูกพันธ์กับทรัพยากรภายในชุมชน เนื่องจากสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มหรือชาวบ้านเรียกว่าพื้นที่ทามทางทิศตะวันออกของชุมชนมีลำน้ำเซบายไหลผ่าน และยังมีห้วยอีเลิศอยู่ทางทิศใต้ของชุมชน หนองหัวควายอยู่ทางทิศใต้หมู่บ้าน เป็นแหล่งห่วงโซ่อาหารให้พรานปลาได้หากิน โดยเฉพาะลำเซบายบายเป็นลำน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำมูน ซึ่งลำน้ำเซบายตอนกลาง ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร อีกฝั่ง ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ในส่วนตำบลเชียงเพ็งจะมีชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งในลำน้ำเซบาย และมีวิถีชีวิตในการเข้าใช้ทรัพยากรจากดิน น้ำ ป่า อย่างหวงแหนทรัพยากรและเข้าใจระบบนิเวศลุ่มน้ำ

การที่จะมีบริษัทขนาดใหญ่สร้างใกล้ลำน้ำเซบายซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังระบุว่าจะมีการดึงน้ำจากลำน้ำเซบาย 2 ล้าน ลบ.ม/ปี นั้น เรามองว่าจะเป็นการแย่งชิงทรัพยากรน้ำที่ชุมชนที่ใช้ประโยชน์ตลอดฤดูกาล  ที่ผ่านมาการออกมาปกป้องทรัพยากรของชุมชนเราได้มีกิจกรรมที่สะท้อนให้คนในชุมชนและคนภายนอกชุมชนได้เห็นมาตลอด โดยเฉพาะการจัดกิจกรรม สืบชะตาลำน้ำเซบายซึ่งครั้งนี้เราจัดเป็นครั้งที่ 2  ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่หลากหลายให้ความสำคัญและมีประชาชนในลุ่มน้ำเซบายเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่า มติ คชก.จะเห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน แต่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายก็ยังมีแนวทางในการคัดค้านรายงานวิเคราะห์ผลกระทบที่เราไม่เห็นด้วย

ด้านสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า การจัดงานสืบชะตาลำน้ำเซบาย ครั้งที่ 2 นี้ ทางกลุ่มก็มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า

1.เพื่อต่ออายุและความเป็นสิริมงคลจะได้เกิดขึ้นกับลำน้ำรวมทั้งผู้คนในชุมชนไปด้วย การสืบชะตาให้กับลำน้ำจึงเป็นการแสดงความศรัทธา ความเคารพ และเหนือสิ่งอื่นใดคือการร่วมกันแสดงออกถึงความห่วงใยต่อลำน้ำ

2.เพื่อเป็นการต่อชีวิตให้กับลำน้ำ และเป็นการขอขมาต่อลำน้ำ สายน้ำที่มีความสำคัญต่อสรรพสิ่งทั้งมวลรวมถึงผู้คนทั้งสองฝั่งลำน้ำและ เป็นการกระตุ้นเตือนให้คนที่อาศัยอยู่บริเวณลำน้ำมีจิตสำนึกช่วยกันรักษา สายน้ำแห่งนี้ให้ยืนยาวอย่างยั่งยืน

3.เพื่อสร้างความตระหนักของชุมชน ความหวงแหน ความเห็นคุณค่าจากการใช้ประโยชน์จากลำน้ำเซบาย

4.เพื่อสร้างความสามัคคีของคนทุกเพศ ทุกวัย ของชุมชน หน่วยงานราชการ และคนภายนอกได้เข้าใจและให้เห็นความสำคัญของลำน้ำเซบายที่เราได้ใช้ประโยชน์อยู่ทุกวัน 5.เพื่ออนุรักษ์ลำน้ำเซบายตลอดจนให้ชุมชน ทุกหน่วยงาน ออกมาช่วยกันปกป้องลำน้ำเซบายให้อยู่คู่กับชุมชนต่อไป

ในขณะที่ มติ คชก. จะเห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในรอบที่ 3 เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2561 สิริศักดิ์ มองว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนและครอบคลุมซึ่งทำให้บริษัทที่ปรึกษาไม่สามารถอธิบายได้ ประเด็นที่หนึ่ง ความเหมาะสมในการดำเนินโครงการ ประเด็นนี้ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ทางบริษัทที่ปรึกษา จะต้องดำเนินการก่อนที่จะศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  การศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study) ทั้งในด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นขั้นตอนที่สำคัญในกระบวนการวางแผน เพื่อการพิจารณาตัดสินใจในการลงทุนสำหรับโครงการ โดยการศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ทางด้านวิศวกรรมจราจร เพื่อคาดการณ์สภาพและปริมาณการจราจรในอนาคตตลอดอายุโครงการ การสำรวจออกแบบเบื้องต้นของงานด้านวิศวกรรมต่างๆ สำหรับการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางในโครงการด้วยรูปแบบที่เหมาะสม การวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจสำหรับการลงทุนในการดำเนินโครงการ ด้วยการวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างมูลค่าการลงทุนและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ด้วยการสำรวจสภาพปัจจุบันและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการดำเนินโครงการ และกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Participation) ซึ่งทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง วิเคราะห์ว่า ความเหมาะสมในการดำเนินโครงการควรที่จะมีก่อนการศึกษาการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโรงงานอยู่ใกล้แหล่งน้ำสำคัญที่ชุมชนหลายชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงไม่เหมาะในการที่จะตั้งโรงงานในพื้นที่  

ประเด็นที่ 2 กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน การมีส่วนร่วมของของชุมชนถือว่าเป็นกระบวนการหลักถ้ามีโครงการหรือโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้น ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2550 มาตรา 67 ที่ผ่านมา ระบุถึง “การให้สิทธิแก่ชุมชน” ไว้ว่า “สิทธิ ของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จาก ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม” และปัจจุบันตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2560 มาตรา ตามมาตรา 57 (1) รัฐต้องอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงาม จัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับการทำกิจกรรม โดยต้องส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรท้องถิ่นมีส่วนร่วมด้วย ตามมาตรา 57 (2) รัฐต้องอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวิตภาพ โดยต้องให้ประชาชน และชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์ด้วย และตามมาตรา 78 รัฐต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ การจัดทำบริการสาธารณะ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชน
จากสาระสำคัญดังกล่าว ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐตื่นตัวในเรื่องการให้สิทธิชุมชนกับกระบวนการสร้าง การมีส่วนร่วม รัฐบาลตื่นตัวในการปรับการทำงาน ทั้งทางด้านนโยบาย และโครงสร้างการทำงาน โดยการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อนดำเนินการใดๆ เช่นเดียวกับพื้นที่จะมีโครงการอุสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน ที่จะเกิดขึ้นที่ ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดหวัดอำนาจเจริญ และกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ตำบลเชียงเพ็งก็อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ ทั้งบริษัทที่ปรึกษาและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงกับกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน ภายใต้กระบวนการ 5 ระดับ ตามระดับการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม คือ

การ มีส่วนร่วมในระดับให้ข้อมูลข่าวสาร ที่ภาครัฐจะทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูล ให้ภาคประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล

การมีส่วนร่วมในระดับหารือ คือ ระดับที่ภาคประชาชนจะเป็นฝ่ายให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจของภาครัฐ

การมีส่วนร่วมในระดับการเข้ามามีบทบาท ซึ่งจะเป็นระดับที่ภาครัฐ และประชาชน จะร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล และความคิดเห็นระหว่างกัน ในรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการ

การมีส่วนร่วมในระดับสร้างความร่วมมือ ภายใต้กระบวนการจัดตั้งคณะกรรมการ หรือที่ปรึกษาร่วมภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อการทำงานและตัดสินใจร่วมกัน

การมีส่วนร่วมในระดับให้อำนาจแก่ประชาชน คือ กระบวนการทำประชามติของภาคประชาชน ที่ภาครัฐจะดำเนินการตามการตัดสินใจของประชาชน

ภายใต้กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนข้างต้น ถือได้ว่าภาคบริษัทที่ปรึกษาและหน่วยงานภาครัฐจะต้องทำหน้าที่ให้เข้มข้นเพื่อดูทั้งเนื้อหาที่ภาคประชนนำเสนอข้อมูล และจะต้องฟังข้อมูลของคนในพื้นที่เพื่อนำไปตัดสินใจ แต่ที่ผ่านมากระมาบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้ครอบคลุมประเด็นทั้ง 5 ข้อ เพราะบริษัทละเลยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากภาคประชาชนที่เห็นต่าง และไม่เคยวิเคราะห์ถึงข้อมูลและเหตุผลของกลุ่มคนที่คัดค้านโรงงานน้ำตาล ซึ่งจะเห็นด้วยกับกลุ่มที่สนับสนุนใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ ฉะนั้นทำให้กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง วิเคราะห์ว่า บริษัทที่ปรึกษาซึ่งทำ EIA ของโรงงงานน้ำตาล ไม่ได้ทำตามขั้นตอนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่แท้จริง อย่างเช่น 1.ตามการมีส่วนร่วมทั้งในเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารของโรงงานน้ำตาล ทั้ง 2 ด้านคือด้านลบและด้านบวก เพื่อให้คนในพื้นที่และระดับนักวิชาการได้ร่วมพิจารณาตั้งแต่เริ่มต้นที่จะมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่าจะเหมาะสมกับพื้นที่หรือไม่ 3.การมีส่วนร่วมในการระดับหารือ ที่บริษัทจะต้องให้ภาคประชาชนจะต้องเป็นฝ่ายให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงนั้น ที่ผ่านมาแม้แต่กระบวนทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ยังไม่เห็นว่าบริษัทจะทำตามกระบวนการเพื่อหารือ เนื่องจากการหารือจะต้องฟังข้อมูลข้อจริงจากฝ่ายที่เห็นต่างหรือคัดค้านด้วยหรือแม้แต่การประชามติในพื้นที่จะต้องทำสองส่วนทั้งผู้ที่เห็นต่างและผู้สนับสนุน ที่ผ่านมาทางกลุ่มยังไม่พบการทำประชามติที่ประชาชนจะได้มี่สวนร่วมเลย ดังนั้นกระบวนการมีส่วนร่วมจึงเป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่จะมีโครงการโรงงานน้ำตาลซึ่งทางบริษัทไม่เคยที่จะยึดถือกระบวนการเหล่านี้ในการดำเนินตามขั้นตอน เป็นต้น

ถึงแม้ว่ากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายจะรับรู้แล้วว่า มติ คชก. เห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน แต่ชาวบ้านก็ยังมองว่ารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของบริษัทที่ปรึกษาทำนั้นไม่เป็นธรรมกับคนในพื้นที่จริง ซึ่งชาวบ้านก็ยังมีแนวทางในการคัดค้านต่อไป เพื่อยับยั้งกระบวนการ EIA ที่ไม่ชอบธรรม และเป็นรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ขัดแย้งกับข้อมูลในระดับพื้นที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net