Skip to main content
sharethis


“ขบวนการเอาคืนศาลยิ่งรณรงค์ยิ่งจ๋อย ชาวบ้านรู้ทันหูตาสว่างแล้วว่าใครทำมาแต่ต้น และอยู่นอกเขตอุทยานฯ ทั้งไม่มีอะไรผิดเลย เข้าไปดูเพจบางคนเมื่อครู่มีคนตามแค่ 2 คน พอได้แล้วมั้ง ปล่อยรัฐบาลท่านว่า ไปเถิด”

ไพศาล พืชมงคล ดิสเครดิตภาคประชาสังคมที่คัดค้านบ้านพักศาลดอยสุเทพ ดูเหมือนได้ผล คือโยนตัวเองเข้า กองไฟ มีคนเข้าไปคอมเมนต์ดุเดือดหลายสิบคน มีคนกดไลก์ 200 กว่าราย ขณะที่เพจ “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” นัดรวมพลังวันอาทิตย์ มีคนกดไลก์ 1.4 พัน แชร์ไป 900 ไม่ทราบผู้ช่วยรองนายกฯ ดูเพจไหนที่มีคนตามแค่ 2 คน

โยนตัวเองไม่เป็นไร อย่าโยนศาลเข้าไปด้วยเลย เพราะโต้กันไปโต้กันมา อารมณ์ชาวบ้านยิ่งบานปลาย

คนค้านบ้านพักศาลเป็นขบวนการเอาคืน? หมายถึงใคร คิดง่ายเหมาคนเชียงใหม่เป็นเสื้อแดงหมดรึไง ไม่เบิ่งเนตรดูเสียบ้างว่าหัวเรี่ยวหัวแรงคัดค้านส่วนใหญ่ไม่มีสี หรือเป็นเสื้อเหลืองด้วยซ้ำไป นักการเมืองที่หนุนให้รื้อบ้านพักศาลก็คืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนนายกฯ ด่าใครไม่รู้ว่าอย่าฉวยโอกาส

ขนาด “ดี้ นิติพงษ์” ยังบอกว่าทุบเถอะ อย่าเสียดายวัตถุเลย ตั้งต้นใหม่เสียเงินภาษีหลายร้อยล้านก็ยอม เพราะมูลค่าของการที่ประชาชนต้องเคารพการตัดสินของตุลาการ อย่างเต็มใจ แพงกว่าบ้านพักยิ่งนัก

“ข้าแต่ศาลที่เคารพ?นิ่งเสียเถิด อย่าปล่อยตัวเองให้เป็นเหยื่อคนที่กำลังจะอาศัยจุดอ่อนของท่าน มาทำลายความน่าเชื่อถือของอำนาจอธิปไตยหนึ่งในสามของบ้านเมืองเลย”

ฮั่นแน่ ดี้ก็ลงท้ายคล้ายกัน แต่ยังเข้าใจสถานการณ์มากกว่า รู้ว่าถ้าเรื่องบานปลายจะเสียหายต่อความเคารพศรัทธา

อันที่จริง การที่ประชาชนจะเคารพคำตัดสิน ต้องขึ้นกับเหตุผลในคำพิพากษา ไม่ใช่เพราะเชื่อว่าศาลเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใครวิจารณ์ติดคุก หรือเป็นเทพเหนือมนุษย์ ตัดสินยังไงก็ยุติธรรม

เพียงแต่การที่ชาวบ้านศรัทธาผู้พิพากษา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีกรอบจริยธรรม ประพฤติปฏิบัติเคร่งครัดมาตั้งแต่บรรพตุลาการ เช่น เข้มงวดการคบหาสมาคม ห้ามรับ จ๊อบ (เว้นแต่เขียนตำรา สอนหนังสือ) ครอบครัวก็ต้องทำอาชีพเหมาะสม (ผู้พิพากษาจึงเงินเดือนสูงกว่าคนอื่น)

“ผู้พิพากษาพึงมีความสันโดษ ครองตนอย่างเรียบง่าย สุภาพ สำรวม กิริยามารยาท มีอัธยาศัย” เขียนแบบนี้ วิชาชีพอื่นไม่มีนะครับ

กรณีบ้านพักศาล เป็นอย่างที่กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ทวีตว่า “ไม่มีใครบอกว่าผิดกฎหมายหรอก เขาบอกไม่ควรทำ ไม่เหมาะสมมากกว่า” แถมยังมา 2 เด้งอีกต่างหาก

เด้งที่ 1 ไม่ผิดซักนิดเดียว ขออนุมัติถูกต้องทุกประการ แต่โปรดดูภาพถ่ายทางอากาศหลายๆ ครั้ง ทำไมเขาเรียกว่า “หมู่บ้านป่าแหว่ง” นั่นคือดอยสุเทพ ที่คนเชียงใหม่เคารพศรัทธา ฉะนั้นเลิกเถียงเรื่องกฎหมายดีกว่า เลิกงัดเอามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏมาเทียบ

เด้งที่ 2 บ้านพัก 38 หลัง ผู้คัดค้านเปรียบเทียบว่าราวกับบ้านพักตากอากาศ ในขณะที่ภาพประทับแห่งความเคารพศรัทธาของสังคมคือ “สันโดษ เรียบง่าย สุภาพ สำรวม”

ฉะนั้น อย่าโยนเลยว่า ชาวบ้านรู้ทัน หูตาสว่าง ใครทำมาตั้งแต่ต้น ไพศาลก็ยืนยันเองว่าไม่ผิดกฎหมาย ใครล่ะ ควรรู้แก่ใจว่าไม่เหมาะสม

พูดอย่างนี้ไม่ได้มาเอาคืนหรือทำลายความน่าเชื่อถือ แต่มาเชียร์ดี้ต่างหาก ว่า “นิ่งเสียเถิด” เพราะอันที่จริง ผู้ต้องตัดสินใจควรเป็นรัฐบาล ศาลน่าจะบอกว่าแล้วแต่รัฐบาล ถ้ารัฐจัดงบให้รื้อย้าย หาที่ให้สร้างใหม่ ศาลก็ยินดี แม้อาจต้องเดินทางไกลหน่อย หรือระหว่างนี้ต้องหาที่พักชั่วคราวก่อน ผู้พิพากษาก็พร้อมลำบากลำบน เพราะมีหน้าที่ อำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน

กรณีบ้านพักศาล ถ้ารัฐบาลตัดสินใจให้งบรื้อย้ายคืนสภาพป่า ก็น่าจะจบ แต่อุทาหรณ์คือผู้พิพากษาน่าจะเข้าใจว่า เมื่อประชาชนเคารพ และรู้ว่าเป็นวิชาชีพที่ค่าตอบแทนสูง ข้อเรียกร้องและแรงกดดันก็ย่อมสูงตามไปด้วยเช่นกัน 

 

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/politics/news_1015948

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net