Skip to main content
sharethis

ปล่อย 'สมยศ' ผู้ต้องขังคดี 112 กับ 7 ปีเต็มที่อยู่ในคุกโดยไม่ได้สิทธิประกันตัว สมยศกล่าวขอบคุณคนที่สนับสนุน และกล่าวถึงประสบการณ์ในคุกที่ไม่ได้รับความไม่เป็นธรรม ด้านลูกสาวกล่าวนี่ไม่ใช่ตอนจบที่แฮปปี้เอนดิ้ง มองภาพรวมแล้วไม่ใช่ความสำเร็จ

จากซ้ายไปขวา ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข

30 เม.ย.2561 เวลาประมาณ 6.00 น. เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องขังในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้รับการปล่อยตัวหลังถูกคุมขังมาเป็นเวลา 7 ปีทั้งคดีนี้ รวมกับคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร โดยมีครอบครัวและกลุ่มประชาชนรอมอบดอกไม้ต้อนรับ

ทั้งนี้ในระหว่างการต่อสู้คดี สมยศ ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว แม้จะประกันตัวราว 15 ครั้ง และในระหว่างถูกจำขัง สมยศไม่ได้รับสิทธิในการพักโทษหรือลดโทษแต่อย่างไรแม้ว่าเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม

สมยศกล่าวว่า รู้สึกขอบคุณกลุ่มประชาชนที่ได้ต่อสู้และสนับสนุนตนมาตลอด 7 ปี ทำให้ได้รับอิสรภาพในวันนี้ มองสถานการณ์การเมืองในตอนนี้มีความน่ากังวลว่าจะนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงได้ หากมีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้ง ตนก็คงจะเข้าร่วม สิ่งที่อยากทำต่อจากนี้คือการเล่าถึงประสบกาณ์ที่ถูกจองจำ ซึ่งนักโทษได้รับความไม่เป็นธรรม เช่น การให้ใช้ผ้าห่มสามผืนในการนอน ตนได้ร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิฯ สิ่งได้ชี้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว แต่ก็ยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ

ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข ลูกสาวของสมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่ต่อจากนี้พ่อจะได้อยู่สบายขึ้น แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าวันนี้คือตอนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ตลอด 7 ปีที่ผ่านมามีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง ตนคิดว่ามองภาพรวมแล้วไม่ใช่ความสำเร็จ หลังจากนี้หากสมยศเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกตนก็เคารพการตัดสินใจ แม้ในฐานะลูกสาวคนหนึ่งตนอาจจะรู้สึกแย่ แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งตนรู้สึกเคารพในสิ่งที่พ่อทำ

อิศวรา บุญปาน หนึ่งในประชาชนที่มารอต้อนรับสมยศกล่าวว่า "รู้จักกับสมยศมานานและเคยร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองด้วยกันเขาไม่ใช่คนรุนแรง ฮาร์ดคอร์ เขาเป็นคนเงียบๆ แต่มีน้ำใจมาก เรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมกับเขาเลย"

สำหรับ สมยศ นอกจากบทบาทในเราเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและ บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin แลัว เขายังเป็นนักรณรงค์เรื่องสิทธิแรงงานมาตั้งแต่ทศวรรษ 2520 มีบทบาทสำคัญในการร่วมเรียกร้องเรื่องค่าแรงขั้นต่ำและการส่งเสริมการรวมตัวของกรรมกร รวมถึงระบบประกันสังคม

โดยในปี 2549 เขามีบทบาทต่อต้านการรัฐประหารของ คมช. เคยเป็นแกนนำ นปช. รุ่น 2 หลังแกนนำ นปช. รุ่นแรกถูกจำคุกจากเหตุชุมนุมในเดือนเมษายนปี 2552 และหลังจากนั้นไม่นานเขาก่อตั้งกลุ่ม “24 มิถุนาประชาธิปไตย” ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องประชาธิปไตย พร้อมกันนั้นเขายังเป็นพิธีกรรายการ “เสียงกรรมกร” ผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม DTV ด้วย

สมยศ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2554 หรือ 5 วันหลังจากที่มีการรณรงค์ล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อให้รัฐสภายกเลิกมาตรา 112 โดยในระหว่างสู้คดี เขาถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัว ระหว่างไต่สวนคดี สมยศยังถูกนำตัวไปขึ้นศาลยังจังหวัดต่างๆ ถึง 4 แห่งตามที่อยู่ของพยานโจทก์ ได้แก่ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สระแก้ว สงขลา ซึ่งทำให้ครอบครัวเพื่อนของเขาต้องเดินทางไปเยี่ยมด้วยความลำบาก เพราะจะมีการย้ายตัวจำเลยไปก่อน 2-4 สัปดาห์ ก่อนขึ้นศาล เขาถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการที่เขาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งตีความว่าบทความ 2 ชิ้นของผู้ใช้นามปากกา “จิตร พลจันทร์” มีลักษณะเสียดสีและเข้าข่ายผิดกฎหมายมาตรา 112 โดยสมยศต่อสู้ในประเด็นหลักว่าเขาไม่ใช่ผู้เขียนบทความ เป็นเพียงบรรณาธิการ และเนื้อหานั้นมิได้หมายความถึงสถาบันกษัตริย์

เพื่อน 'สมยศ พฤกษาเกษมสุข' จัดวันเกิดปีที่ 56 หน้าห้องเยี่ยมเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

FREE SOMYOT วันกรรมกรสากล คนงาน 'เกาหลี-อินโด' ชูป้าย 'ปล่อยสมยศ'

ข้อสังเกตบางประการต่อคำพิพากษาคดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข นับแต่ศาลชั้นต้นถึงชั้นฎีกา

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2556 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี ต่อมาวันที่ 19 ก.ย.2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และในวันที่ 23 ก.พ.2560 มีคำพิพากษาศาลฎีกา ระบุว่าที่จำเลยฎีกาต่อสู้ว่า มิได้มีเจตนากระทำผิด และข้อความในบทความหมายถึงอำมาตย์นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งในขั้นฎีกาไม่อาจต่อสู้ในข้อเท็จจริงได้อีก อย่างไรก็ตาม ตามที่จำเลยได้ต่อสู้มารับฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงบรรณาธิการ มิใช่ผู้เขียนและยังให้ข้อมูลว่าใครเป็นผู้เขียน จำเลยยืนยันว่ามีความจงรักภักดี อีกทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับอาชีพ อายุและประวัติของจำเลย ทั้งจำเลยก็ต้องโทษมาเป็นระยะเวลาพอควรแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นควรแก้โทษจำคุก เหลือกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง 6 ปี ทั้งนี้เมื่อรวมกับโทษจำคุกคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อีก 1 ปี ทำให้สมยศต้องจำคุกรวมเป็นเวลากว่า 7 ปี

ในช่วงที่ถูกจองจำ สมยศ ยังได้รับรางวัลนักสิทธิมนุษยชนที่น่ายกย่องประจำปี 2555 จากกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร และในเดือนพฤศจิกายนปี 2559 เขายังได้รับรางวัลชุน แต อิล จากสมาหพันธ์แรงงานกลางเกาหลี KCTU โดย "ประกายดาว" ลูกสาวของสมยศเดินทางไปรับรางวัลแทนพ่อผู้ถูกคุมขัง

13 ประเด็นสำคัญในคดี 112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิยูเอ็นเรียกร้องปล่อย 'สมยศ' ชี้โทษยังแรงเกินไป

ศาลฎีกาลดโทษ เหลือจำคุก 6 ปี คดี 112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net